การหาเรื่องหรือไอเดียมาเขียนโดยถามคำถาม what…if หรืออะไรจะเกิดขึ้นถ้า

การหาเรื่องมาเขียนโดยถามคำถาม what…if หรืออะไรจะเกิดขึ้นถ้า

มีนักอยากเขียนท่านหนึ่งถามผมทางหน้าเวปแห่งหนึ่งว่า ถ้าถาม what if เสร็จแล้ว จากนั้นจะพัฒนา plot หรือ story line สำหรับเขียนเรื่องสั้นไซไฟสักเรื่องยังไงต่อ คำถามน่าคิดต่อ

เช่น เราตั้งคำถามว่า “อะไรจะเกิดขึ้นถ้า เชื้อแบคทีเรียทีถูกมนุษย์ดาวอังคารกักเก็บไว้ในโดมขนาดใหญ่แห่งหนึ่งถูกปล่อยให้ออกมาโดยมนุษย์โลกกลุ่มแรกที่ไปเหยียบดาวอังคาร?”

ถาม what if ดูเหมือนไม่ยากนักแต่ถ้าจะเอาไอ้ที่ถามพัฒนาเป็นโครงเรื่องหรือสตอรี่เพื่อเขียนออกมา (เรื่องสั้น) เราจะคิดต่อยังไง? จะจบลงตรงไหน?

10 ความเห็นบน “การหาเรื่องหรือไอเดียมาเขียนโดยถามคำถาม what…if หรืออะไรจะเกิดขึ้นถ้า”

  1. สิ่งที่ได้จาก what…if คือ plot ถูกต้องไหมครับ
    โดยส่วนตัว สิ่งที่สำคัญอีกอย่าง นอกเหนือจาก plot คือ แก่นของเรื่องครับ
    (จริงๆแล้ว ผมว่า แก่นของเรื่อง สำคัญที่สุดนะครับ)

    ผมยกตัวอย่างเรื่อง ข้อมูล
    http://thaiscifi.izzisoft.com/?p=993
    แก่นของผมคือ การสื่อสาร ไม่ใช่ทางเดียว (ตอนที่คุณโยนความคิดออกไปนั้น มั่นใจได้อย่างไรว่า นั่นเป็นความคิดของคุณ)
    ตอนนั้นพอดีหลังประกวดเรื่องสั้นพลังจิต ผมเลยเอาเรื่องผลังจิตมาเป็น what…if (ถ้ามีคนที่มีพลังจิต และสร้างผลกระทบต่อประเทศ)
    จะเห็นว่า อันนี้ plot มาหลัง แก่นเรื่อง นะครับ
    ตอนนี้ ผมมีแก่นเรื่องแล้ว มี plot แล้ว … แล้วจะเล่าเรื่องอย่างไร?
    ผมจะเน้นไปที่แก่นของเรื่อง ครับ
    ผมก็เอาคนสองคนมานั่งคุยกัน นำเสนอความเป็นความคิดของคนหนึ่ง ก่อนจะตบกลับมาว่าเป็นความคิดของอีกคนต่างหาก
    แบบนี้ล่ะครับ

    อย่างกรณี
    “อะไรจะเกิดขึ้นถ้า เชื้อแบคทีเรียทีถูกมนุษย์ดาวอังคารกักเก็บไว้ในโดมขนาดใหญ่แห่งหนึ่งถูกปล่อยให้ออกมาโดยมนุษย์โลกกลุ่มแรกที่ไปเหยียบดาวอังคาร?”

    สิ่งที่จะถามต่อคือ จะเล่าเรื่องอะไร?
    ๑. สัญชาตญาณดิบของมนุษย์ (นำเชื้อโรคกลับโลกและทำให้เกิดการล้มตายจำนวนมาก เกิดการแย่งชิง เอาชีวิตรอด)
    ๒. การเสียสละ (นักสำรวจตัดสินใจฆ่าตัวตายทั้งหมด และฝังตนเองกับเชื้อโรค)
    ๓. จงมีสติ (การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของมนุษย์กลุ่มแรกนั้น เมื่อติดเชื้อ)
    ฯลฯ
    คุณก็จะได้ แก่นเรื่อง ที่คุณจะเล่น(เล่า) ครับ

    ถ้าเล่น “จงมีสติ”
    (เลือกเอาเพียงอย่างเดียวเป็นแก่นหลักนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีเรื่องสั้น ต้องมีเพียงแก่นเดียว เพราะพื้นที่ไม่พอ ครับ)

    ก็อาจจะเน้นไปที่เริ่มได้รับผลกระทบจากเชื้อโรค (เกริ่นตอนที่มาถึงดาวอังคารไม่ต้องมาก)
    เริ่มดิ้นรน บางคนก็พยายามหนีเอาตัวรอด บางคนเก็บตัวไม่พบปะใคร
    บางคนไล่ฆ่าคนติดเชื้อ แต่สุดท้ายตนเองติดเชื้อเสียเอง
    ตอนจบ ตัวละครตัวหนึ่งพยายามตรวจสอบ DNA อย่างใจเย็น แล้วพบว่า ให้ไปนอนอาบแดด (เชื้อโรคถูกฆ่าได้ด้วยรังสีอัลตร้าไวโอเล็ต)

    จะเห็นว่า ตัวละคร และ เหตุการณ์ จะตามมาหลังจากเรากำหนดประเด็นที่จะเล่า(เล่น)ได้แล้ว ว่าจะต้องมีตัวละครกี่ตัว และแต่ละตัวต้องเจออะไรบ้าง

    ของผมก็ประมาณนี้ล่ะครับ

    (ยังไม่พูดถึงการพัฒนาตัวละคร ในกรณีที่เป็นเรื่องยาว , บทสนทนา, กลวิธีในการเล่าเรื่อง เช่น มุมมองในการเล่า และ ลำดับการเล่าเรื่อง นะครับ)

  2. ผมเข้าไปอ่านเรื่องพลังจิตในลิงก์แล้วครับ สรุปว่าชอบครับ ดูเหมือนว่าถ้าเทียบกับพล็อตแล้วแก่นเรื่องสำคัญมากๆจนมองข้ามไม่ได้

    เรื่องที่ปราศจากแก่นเรื่องพออ่านจบเราอดจะตั้งคำถามไม่ได้ว่า คนเขียนจะบอกอะไรฟะ ดูแล้วล่องลอยชอบกล ถูกมั้ยครับ

    ถ้ามีแก่นเรื่องก่อนก็สามารถคิดพล็อตได้ง่ายขึ้น จะเอาไอเดียอะไรก็ได้มาสวมรับกับแก่นเรื่อง ผมบอกอย่างนี้ได้ไหมครับ

  3. ผมจะลองยกตัวอย่างเรื่องการเดินทางข้าวเวลาของชายแก่คนหนึ่ง

    แก่นเรื่อง: การหลบหนีความจริงที่โหดร้ายในช่วงเวลาปัจจุบัน
    ไอเดีย : จะเกิดอะไรขึ้นถ้ามหาเศรษฐีทุ่มเงินวิจัยสร้างยานเวลา
    จนเข้าลืมไปว่าตัวเองเป็นใคร

    คุณนิราจคิดว่าเช่นไรครับ การสร้างเรื่องเพื่อเขียนต่อไปต้องเป็นยังไ

  4. ผลของ แก่นเรื่อง ก็เหมือนกับ “นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า”
    การปรับเป็น “แก่น” คือการวางความคิดนั้นอยู่ในตำแหน่งสนใจของเรื่อง
    ถ้าเป็นเรื่องยาว ก็อาจจะต้องถูกนำเสนอเป็นครั้งคราว ระหว่างการเดินเรื่อง แต่ไม่ใช่เน้นย้ำ หรือซ้ำซากจนน่ารำคาญ เทกนิคคือ การสร้าง ความหลากหลายเชิงรูปแบบ
    (ยกตัวอย่าง ประเด็นความไม่ย้อท้อในการ์ตูนญี่ปุ่น)

    ฉะนั้น “การหลบหนีความจริงที่โหดร้ายในช่วงเวลาปัจจุบัน” อาจจะยังไม่สามารถเป็นแก่นได้
    แต่ถ้า “ความจริงเป็นสิ่งที่หนีไม่พ้น” อันนี้จะเป็นแก่นได้ นะครับ
    idea ก็จะกลายเป็น “จะเกิดอะไรขึ้นถ้ามีการเดินทางข้ามเวลาเพื่อหลบหนีความจริงที่โหดร้ายในช่วงเวลานั้นๆ จนจำไม่ได้ว่าตนเองเป็นใคร”
    คือถ้าเป็นอย่างนี้ ก็พอจะเห็นตอนจบว่า สุดท้ายก็จะค้นพบว่าตนเองเป็นใคร และยอมรับชะตากรรม(ความจริง)ของตนเองไป
    พอมองออกไหมครับ?

    คือพอเล่นเรื่องการเดินทางข้ามเวลา มันก็ไปได้หลากหลายเลยครับ อยู่ที่ว่าแก่น หรือ ประเด็นของเรื่อง ต้องการเล่นเรื่องอะไร ครับ

    มีคนสอนผมว่า แก่นเรื่องต้องเป็น หนึ่งประโยค บอกเล่า
    (แต่ไม่รู้เป็นอะไร ผมคิดออกมาเป็นประโยคคำถามทุกที)
    ยกตัวอย่างเช่น
    “ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย”
    “ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น”
    “ธรรมะ ชนะ อธรรม”
    อะไรทำนองนี้แหล่ะครับ

    แก่นเรื่อง บางเรื่องก็ไม่มีครับ(แต่เท่าที่ผมลองวิเคราะห์ดู เรื่องนั้นมักจะขาดพลัง ครับ)
    แก่นเรื่องบางครั้งก็ปรัชญา หรือ ฝังอยู่ลึกมากๆ แต่ผู้อ่านจะสามารถรับรู้ถึงความรู้สึกบางอย่างได้ แต่อาจจะไม่สามารถสรุปเป็นคำพูดออกมาได้ ซึ่งนักเขียนบางครั้งก็ใช้วิธีเขียนคำพูดนั้นลงไปในเรื่อง ซึ่งอันนี้ผมมองว่า เป็น style ของแต่ละคน ครับ

    เรื่องที่มีพลัง มักมีแก่นของเรื่องที่เข้าขั้นปรัชญา(ผลในระดับวิธีคิด) และ ถูกนำเสนออย่างเหมาะสมในระหว่างการเดินเรื่อง
    (ถ้าเรื่องสั้น ก็อาจจะปรากฎเพียงแค่ครั้งเดียวเป็นหักมุมแล้วปิดจบเลย แต่ถ้าเรื่องยาว ก็อาจจะต้องปรากฎตัวบ่อยหน่อย แต่ต้องรู้จักการใช้ความหลากหลายเพื่อใม่ให้เกิดความซ้ำซากน่าเบื่อ)

    น่าจะตอบคำถามนะครับ

  5. ขอบคุณมากครับคุณนิราจสำหรับคำอธิบาย เริ่มเห็นภาพชัดขึ้นครับ

    ถ้าผมจะลองนึกถึงเรื่อง Jurassic park หรือเรื่องสตาร์เกต (ฉบับหนังโรง) แก่นของเรื่องน่าจะเป็นอะไรครับ? เรื่องบางเรื่องดึงแก่นของมันออกมาได้ค่อนข้างยาก

  6. อีกคำถามครับ เรื่องสั้นต้องมีธีมเดียวเพราะหน้ากระดาษมีไม่เยอะ แต่นิยายสามารถมีหลายๆธีมได้ เพราะนิยายบางเรื่องเนื้อเรื่องซับซ้อนมาก ผมเข้าใจถูกไหมครับ?

  7. ผมพึ่งนึกขึ้นได้ what if ก็สามารถเอามาสร้างเป็นแกนเรื่องได้ เช่นเรื่อง นักเดินทางท่องเวลา
    http://thaiscifi.izzisoft.com/?p=640
    อย่าง กรณีนี้ ผมตั้งสมมุติฐานว่า เมื่อวัตถุเดินทางด้วยความเร็วใกล้แสง เวลาของวัตถุจะยืดออก(ตามทฤษฎีสัมพันธภาพที่เวลาของวัตถุที่เคลื่อนที่จะเดินช้ากว่าเวลาของวัตถุที่หยุดนิ่ง) ซึ่งเมื่อเดินทางด้วยความเร็วแสงแล้ว เวลาจะกลายเป็นอนันต์ แต่ถ้า การรับรู้เวลาของวัตถุยังคงเหมือนเดินล่ะ?
    “จะเกิดอะไรขึ้นถ้า การเดินทางด้วยความเร็วแสงทำให้เวลาของวัตถุเป็นอนันต์ แต่การรับรู้เวลาของวัตถุยังคงเหมือนเดิม”(การรับรู้เวลากับอายุขัย เป็นคนล่ะเรื่องกัน) จึงเขียนเป็นเรื่องนี้ขึ้นมา ครับ

    jurassic park: น่าจะเป็นประเด็นเรื่อง มนุษย์ พยายามทำตัวเป็นพระเจ้า และชี้ให้เห็นผลร้ายของมัน
    star gate: จริงๆเป็นหนังโปรอเมริกาครับ แก่นเรื่องไม่มีอะไรมาก

    ไม่ว่าเรื่องใด ควรมีธีมหลักเพียงธีมเดียว ครับ
    กรณีเรื่องยาว สามารถมีธีมย่อยได้ แต่ควรเป็นธีมที่สนับสนุนธีมหลัก

    ผมชอบที่จะยกตัวอย่าง นารูโตะ (จากที่ดูใน อนิเมะ นะครับ) แก่นมันคือความไม่ยอมแพ้ ซึ่งแก่นนี้ปรากฎอยู่ในตอนสั้นหลายๆตอน เช่น การฝึกวิชา หรือการต่อสู้กับศัตรู และขยายไปถึง การไม่สิ้นหวังต่อเพื่อนร่วมทีม และกำลังจะขยายไปสู่ การไม่ยอมแพ้ต่อความเกลียดชัง และความเคียดแค้น ซึ่งผมถือว่า น่าสนใจมาก

    ลืมตอบอันนี้ไป ครับ
    “…ถ้ามีแก่นเรื่องก่อนก็สามารถคิดพล็อตได้ง่ายขึ้น จะเอาไอเดียอะไรก็ได้มาสวมรับกับแก่นเรื่อง ผมบอกอย่างนี้ได้ไหมครับ…”
    ประมาณนั้น ล่ะครับ แต่ “คิดพล็อตได้ง่ายขึ้น” หรือเปล่า อันนี้ผมไม่แน่ใจนะครับ

  8. ผมคิดว่าthemeของเรื่องสามารถสร้างได้ง่าย เช่น จะเกิดอะไรขึ้นถ้าโลกของเราถูกแบ่งการทำงานเป็นกลางวันและกลางคืนเพื่อเพิ่มผลิตภาพ
    แต่พล็อตสร้างยากกว่า เช่น ผู้ชายและผู้หญิงที่รักกันกลับต้องถูกแบ่งแยกโซนเวลา และพยายามหาทางย้ายโซนเวลาของตัวเองเพื่อมาเจอกัน และมีตัวละครลับอีกตัวที่เป็นคนรักจริงๆของผู้หญิง และหักมุมว่าจริงๆแล้วผู้หญิงย้ายโซนเวลามานานแล้วและอาศัยอยู่ข้างห้องผู้ชาย โดยอาศัยอยู่กับตัวละครลับตัวนั้น
    หลังจากสร้างพล็อตคร่าวๆก็เริ่มใส่รายละเอียดและความเป็นเหตุเป็นผล และก็ค่อยๆแก้พล็อตไป เช่น ใส่เหตุผลว่าทำไมต้องแบ่งแยกกลางวันกลางคืน ทำไมถึงไปเจอกันไม่ได้ มีวิธีไหนสามารถทำให้ไปเจอกันได้บ้าง ใส่sub-plot ลงไป เช่น เล่าเรื่องความคิดของผู้ชายเกี่ยวกับดวงตะวันที่เขาไม่ได้เห็นมานานแล้ว เล่าเรื่องตัวละครลับที่มีสีหน้าแตกต่างจากคนส่วนใหญ่โดยสีหน้าเขาอิ่มเอิบและมีความสุข ซึ่งต่างจากพระเอกที่เศร้าระทมเพราะพรากจากนางเอกไป
    และที่ยากที่สุดคือ การลงมือเขียนให้เรื่องกระชับและลื่นไหล บางครั้งจะเกิดปัญหากับเรื่องที่ไม่ค่อยสมเหตุสมผล หรือเขียนเรื่องยืดเยื้อและใส่เนื้อหาที่ไม่จำเป็นเข้าไป

  9. บางทีผมก็คิดย้อนทางครับ
    เช่นมีความคิดในหัวว่าอยากอธิบายหรือถกเถียงเรื่องอะไรสักเรื่องขึ้นมาก่อน
    แล้วค่อยมาคิดพล็อตเอาทีหลัง

    ตัวอย่างที่คิดไว้ก็คือถ้าอยากให้มีการ debate เรื่องระบอบการปกครอง
    ว่าคอมมิวนิสต์-ประชาธิปไตย-เผด็จการ อย่างไหนมีข้อดีข้อเสียอย่างไร ?

    ถ้าเป็นนิยายวิทยาศาสตร์มันจะทำได้ง่ายมาก

    สมมติให้มีคนจำนวนหนึ่งถูก “ปล่อยเกาะ” ให้อยู่โดดเดี่ยวบนดาวล้าหลังดวงหนึ่ง
    แล้วคนที่ถูกปล่อยทิ้งเหล่านี้ก็มานั่งเถียงกันว่าจะให้ดาวของพวกเขาปกครองด้วยระบอบอะไร
    ทุกคนรู้และเคยเรียน หรืออาจมีประสบการณ์กับการปกครองแบบใดแบบหนึ่งมาแล้ว
    และถึงคราวที่ต้องเลือก มนุษย์ที่เคยมีอารยธรรมมาก่อนแล้วถูกลดระดับความเจริญลงไปจะเลือกอะไร ?

    มองข้ามไปตอนจบ ผมอาจยกคำพูดของ วินสตั้น เชอร์ชิล มาอ้าง ที่ว่า “ประชาธิปไตยเป็นการปกครองที่แย่ที่สุด เว้นแต่ว่าอย่างอื่นนั้นเราก็ได้ลองกันมาหมดแล้ว”

    อย่างนี้นับเป็นนิยายวิทยาศาสตร์ไหมเนี่ย ???

  10. เข้ามาอ่านความคิดเห็นของทุกท่านครับ

    สองวันที่ผ่านมาผมลองคิด plot โดยเริ่มจากธีมก่อน ตอนแรกรู้สึกแปลกๆครับ เพราะที่ผ่านมาจะเริ่มที่ แนวคิดหรือไอเดียที่จะนำเสนอก่อน แถมบางทีพอเขียนไปยังไม่รู้ตัวเลยว่ามีธีมอยู่ในนั้นหรือเปล่า คือธีมมันจะออกมาเอง

    ผมลองเอาเรื่องที่ไม่ผ่านการตีพิมพ์มานั่งพิจารณา พบว่าเรื่องเหล่านั้นธีมไม่ชัดเจนจริงๆด้วย (อาจจะเป็นหนึ่งในสาเหตุที่มันไม่ผ่านการพิจารณา)

    ตอนนี้ค่อนข้างเทใจให้ธีมแล้วครัล ว่าบางทีplotตามมาจากธีมได้เหมือนกัน แถมช่วยให้สร้างเรื่องได้ง่ายมากขึ้น

    ธีม+ไอเดีย+ตัวละคร (ที่มีปัญหา)=plot=story

ใส่ความเห็น