คู่มือการเขียนนิยายวิทยาศาสตร์(2): พัฒนาการและแนวเรื่องของนิยายวิทยาศาสตร์

พัฒนาการและแนวเรื่องของนิยายวิทยาศาสตร์
โดย รศ.ดร.ชัยวัฒน์ คุประตกุล

(คัดลอกจากส่วนหนึ่งของบทความเรื่อง “พัฒนาการและแนวเรื่องของนิยายวิทยาศาสตร์ นิตยสารอัพเดท ฉบับที่ 151 เดือนมีนาคม พศ.2543)

พัฒนาการของนิยายวิทยาศาสตร์โลก
นิยายวิทยาศาสตร์แบ่งโดยทั่วๆไปออกได้เป็นสองประเภทใหญ่ คือ นิยายวิทยาศาสตร์เชิงแฟนตาซี หรือ science fantasy และนิยายวิทยาศาสตร์จริงๆ หรือ science fiction ซึ่งมักจะเรียกกันสั้นๆเพียงนิยายวิทยาศาสตร์
ในส่วนของนิยายวิทยาศาสตร์จริงๆหรือ science fiction ยังแบ่งออกได้เป็นอีกสองประเภทใหญ่ๆ คือ hard science fiction และ soft science fiction

นิยายวิทยาศาสตร์เชิงแฟนตาซีเป็นนิยายวิทยาศาสตร์ที่ผู้เขียนสามารถจินตนาการได้อย่างไม่มีขีดจำกัด เช่น การสร้างโลก สร้างจักรวาล สร้างมนุษย์ สร้างสัตว์ สร้างทุกสิ่งทุกอย่าง รวมทั้งวิทยาศาสตร์ได้ตามใจชอบ ที่มีกันมากคือ เรื่องเชิงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์เหนือธรรมชาติ เรื่องของเทพเจ้า เรื่องของสัตว์ประหลาด ดังเช่น มังกรและอาวุธวิเศษในตำนานหรือเทพนิยาย เรื่องการผจญภัยในดินแดนมหัศจรรย์ เรื่องของอำนาจเหนือธรรมชาติ (ที่ไม่ใช่ไสยศาสตร์บริสุทธิ์)

นิยายวิทยาศาสตร์ประเภท hard science fiction เป็นนิยายวิทยาศาสตร์ที่อ้างอิงกฎเกณฑ์และหลักการต่างๆของวิทยาศาสตร์ยุคใหม่ ส่วนนิยายวิทยาศาสตร์ประเภท soft science fiction เป็นนิยายวิทยาศาสตร์ที่ไม่เน้นกฎเกณฑ์และหลักการต่างๆของวิทยาศาสตร์จริงๆ ดังเช่น hard science fiction แต่เน้นบทบาทและผลกระทบของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่อมนุษย์

ตามประวัติพัฒนาการของนิยายวิทยาศาสตร์โลก นิยายวิทยาศาสตร์เชิงแฟนตาซีมีกำเนิดมาก่อนนิยายวิทยาศาสตร์จริงๆเป็นเวลานานมาก นานออกไปไกลถึงเรื่องราวในคัมภีร์ไบเบิลของศาสนาคริสต์ที่ อีซีเคียส ผู้มองเห็นอนาคตกล่าวถึงวงล้อไฟในท้องฟ้าที่มีเสียงดังคล้ายน้ำตก ซึ่งคล้ายคลึงกับสิ่งที่เรียกกันว่า UFO (ยูเอฟโอ หรือ ยูโฟ) ในปัจจุบัน

แต่ถ้าจะมองหานิยายวิทยาศาสตร์เชิงแฟนตาซีที่เป็นนิยายโดยสมบูรณ์มากกว่าเรื่องในคัมภีร์ไบเบิลแล้ว มหากาพย์อีเลียต (The Iliad เรื่องราวเกี่ยวกับสงครามกรุงทรอย) และมหากาพย์โอดิสซี (The Odyssey การผจญภัยของยูลิสซิส) ของกวีกรีก โฮเมอร์ (ประมาณ 800 ปีก่อนคริสตกาล) ซึ่งคาดกันว่าโฮเมอร์ได้เล่าเอาไว้ (เพราะโฮเมอร์เป็นคนตาบอดและภาษาเขียนยังไม่มีในกรีกยุคนั้น) เมื่อประมาณ 800 ปีก่อนคริสตกาลก็ถือได้ว่าเป็นนิยายวิทยาศาสตร์เชิงแฟนตาซีเรื่องแรก (สองเรื่อง) ของโลกที่สมบูรณ์ได้

หลังนิยายวิทยาศาสตร์เชิงแฟนตาซีเรื่องแรกๆ ของโลกอยู่นานกว่าสองพันปี จนกระทั่งลุถึงคริสต์ศตวรรษที่ 16 นิยายวิทยาศาสตร์ยุคใหม่จึงเริ่มถือกำเนิดขึ้นมา ดังเช่นเรื่อง Utopia โดย เซอร์ โทมัส มอร์ (ค.ศ.1478 – 1535) โดยแต่งเป็นภาษาลาตินก่อนในปี พ.ศ. 2059 และแปลเป็นภาษาอังกฤษในปี พ.ศ. 2094

ทว่านิยายวิทยาศาสตร์ยุคใหม่ก็เดินหน้าต่อมาอย่างช้าๆ ร่วมขบวนโดยนักคิดนักเขียนสำคัญ เช่น โยฮันเนส เคปเลอร์ (ค.ศ. 1571 – 1630) โจราโน เดอ เบอเกอเรซ (ค.ศ. 1619 – 1653) จนกระทั่งถึงศตวรรษที่ 19 นิยายวิทยาศาสตร์จึงได้ฝังรากหยั่งลึกมั่นคงขึ้น โดยนักเขียนสำคัญสองคน คือ แมรี เฃลลีย์ และ เอ็ดการ์ อัลแลน โพ

แมรี เชลลีย์ นี้เองที่เป็นผู้เขียนเรื่อง แฟรงเกนสไตน์ ในปีพ.ศ.2361 ซึ่งนับเป็นนิยายวิทยาศาสตร์ที่รู้จักกันมากที่สุดในโลกเรื่องหนึ่ง ส่วนเอ็ดการ์ อัลแลน โพ ผู้มีชื่อเสียงในด้านการเป็นนักเขียนเรื่องประเภทลึกลับ สยองขวัญนั้น ได้เขียนนิยายวิทยาศาสตร์ไว้หลายเรื่อง ที่สำคัญมี เช่น The Narrative of Arther Gordon Pym,s Adventure ในปีพ.ศ. 2381

จากนั้น โลกนิยายวิทยาศาสตร์ก็เขยิบเข้าสู่ยุคนักเขียนสองคน ผู้ได้รับการยกย่องเป็นผู้บุกเบิกนิยายวิทยาศาสตร์อันแท้จริงของโลกคือ จูลส์ เวิร์น (ค.ศ.1828 – 1905) และ เอช.จี.เวลล์ (ค.ศ.1866 – 1946) เพราะจูลส์ เวิร์น และ เอช.จี.เวลล์ เป็นนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์สองคนแรกของโลกที่พยายามเขียนนิยายวิทยาศาสตร์โดยอิงวิทยาศาสตร์จริงเป็นหลัก ไม่ใช่นักเขียนที่สร้างวิทยาศาสตร์ขึ้นมาเองสำหรับเรื่องที่เขียนดังเช่นเรื่องของ เอ็ดการ์ อัลแลน โพ

จูลส์ เวิร์น และ เอช.จี.เวลล์จึงเป็นนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์สองคนแรกของโลกที่เขียนนิยายวิทยาศาสตร์ประเภท hard science fiction
ด้วยเหตุนี้เอง จูลส์ เวิร์น และ เอช.จี. เวลล์ จึงได้มีบทบาทสำคัญช่วยให้นิยายวิทยาศาสตร์เขยิบฐานะขึ้นมาเป็นวรรณกรรมประเภทหนึ่งของโลก มิใช่เป็นเพียงเรื่องแต่งไร้สาระเพ้อเจ้อ

“เมื่อยานแห่งกาลเวลาแทรกผ่านกำแพงแห่งมิติจักรวาลที่แบ่งแยกอดีตออกจากปัจจุบันและอนาคต มิติที่รอมันอยู่เบื้องหน้า คือกาลเวลาอีกยาวไกลซึ่งยังมาไม่ถึงเมื่อเศษเสี้ยววินาทีที่ผ่านมา แต่บัดนี้ กาลเวลานั้นได้ปรากฏขึ้นแล้ว และได้ทิ้งอดีตให้กลายเป็นเพียงประวัติศาสตร์ไปในชั่วพริบตา…..”

เรื่องราวอันมหัศจรรย์เช่นนี้ไม่อาจพบได้ในงานเขียนอื่นใดได้เลยนอกจากงานเขียนประเภท “นิยายวิทยาศาสตร์เท่านั้น” นี่คือเสน่ห์อย่างหนึ่งของนิยายวิทยาศาสตร์ที่ชวนให้ผู้อ่านเคลิบเคลิ้มไปกับจินตนาการที่หลุดพ้นจากกรอบของความคิดในโลกของความเป็นจริง นิยายวิทยาศาสตร์ เปรียบเสมือน “สตาร์เกท” หรือประตูสู่ดวงดาวซึ่งเผยให้เห็นโลกอีกโลกหนึ่งที่เต็มไปด้วยความตื่นเต้น ความตื่นตาตื่นใจ ไปกับเรื่องราวของอนาคต การค้นพบทางวิทยาศาสตร์ที่น่าอัศจรรย์ใจ สิ่งประดิษฐ์ล้ำยุค และแนวคิดกับหลักการวิทยาศาสตร์ที่ปลุกเร้าจินตนาการให้หลุดพ้นจากการเป็นเพียงจินตนาการที่เพ้อฝันสู่การเป็นจินตนาการที่อาจจะเป็นจริงได้ในอนาคต
ก้าวแรกสู่การเป็นนักเขียนไซ-ไฟ

บางทีนักวิทยาศาสตร์อาจจะไม่สามารถเป็นนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ที่ประสบความสำเร็จ เช่นเดียวกับนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ก็อาจจะไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ก็เป็นได้ นั่นหมายถึงประตูสู่การเป็นนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ไม่ได้ปิดตายสำหรับผู้ที่ไม่ได้ร่ำเรียนมาทางสายวิทยาศาสตร์ แต่แน่นอน นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ก็ควรเป็นผู้ที่ใฝ่รู้และสนใจในวิทยาศาสตร์พอที่จะใช้จินตนาการในการเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ให้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นวิทยาศาสตร์เพื่อมิให้จินตนาการนั้นเป็นจินตนาการที่เลื่อนลอย และการนำความรู้ หลักการ หรือแนวคิดทางด้านวิทยาศาสตร์มาประกอบในงานเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ ย่อมทำให้เรื่องราวในนิยายวิทยาศาสตร์นั้นมีความสมเหตุสมผลถึงแม้ว่าในความเป็นจริงแล้ว มันอาจจะเป็นไปไม่ได้เลยก็ตาม ผู้ที่ต้องการเป็นนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์จึงจำเป็นต้องพยายามค้นคว้าหาความรู้ต่างๆเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ทุกๆแขนงซึ่งไม่มีอะไรดีไปกว่า “การเป็นนักอ่าน”

ในโลกแห่งการเรียนรู้เช่นปัจจุบัน เป็นความโชคดีที่มีแหล่งความรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์มากมายให้เราได้ศึกษาค้นคว้า ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ นิตยสาร รายการสารคดีทางโทรทัศน์ หรือแม้แต่อินเทอร์เน็ต ถึงแม้ว่า เราอาจจะไม่สามารถเข้าถึงความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ที่ลึกซึ้งถึงแก่นได้เท่ากับผู้ที่เป็นนักวิทยาศาสตร์หรือผู้ที่ได้ร่ำเรียนมาทางด้านวิทยาศาสตร์โดยตรงได้ก็ตาม แต่เราก็สามารถมีความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์เพียงพอที่จะเป็นนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ได้อย่างไม่ยากนัก บางครั้ง เราอาจจะเริ่มต้นเรื่องราวด้วยจินตนาการ แล้วจึงแสวงหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาอธิบายจินตนาการของเราให้มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ แต่ในบางครั้ง ความรู้ที่เราค้นพบก็อาจจะเป็นตัวจุดประกายให้เกิดจินตนาการได้อย่างน่าสนใจเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น ความรู้และจินตนาการจึงเปรียบเสมือนวัตถุดิบสำคัญที่นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ต้องมีอยู่ในตัวและจะต้องพยายามแสวงหาและสะสมให้เพิ่มมากขึ้นเพื่อมิให้หนทางสู่การเป็นนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์พบกับทางตัน

ข้อจำกัดของนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ที่ไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์หรือเป็นผู้ที่มีความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์อย่างลึกซึ้งก็คือ เราอาจจะไม่สามารถเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ที่เป็น Hard Sci-Fi ซึ่งมีเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับความเป็นวิทยาศาสตร์ที่เข้มข้นจริงจังและอ้างอิงหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้ที่ถูกต้อง แต่ข้อจำกัดนี้ก็ไม่ใช่ปัญหาสำคัญอะไร เพราะเราสามารถเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ประเภท Soft Sci-Fi ซึ่งมีเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์ผสมผสานกับจินตนาการอย่างที่เรียกว่า Sci-Fi Fantasy ได้อย่างไม่มีขอบเขตจำกัด และเป็นประเภทของนิยายวิทยาศาสตร์ที่ได้รับความนิยมในหมู่ผู้อ่านมากกว่านิยายวิทยาศาสตร์แบบเข้มข้นซึ่งมีความซับซ้อนเข้าใจได้ยาก บางครั้งเคร่งเครียดจนกระทั่งผู้คนจำนวนมากไม่ยอมอ่านนิยายวิทยาศาสตร์เลยก็มี

ไม่มีข้อจำกัดในนิยายวิทยาศาสตร์
นิยายวิทยาศาสตร์เรื่องหนึ่งๆ ไม่จำเป็นจะต้องมีเฉพาะเรื่องราวที่เป็นวิทยาศาสตร์เท่านั้น หากแต่นักเขียนสามารถนำเสนอเรื่องราวอื่นๆในนิยายวิทยาศาสตร์ได้อย่างไม่มีข้อจำกัด ไม่ว่าจะเป็นเรื่อราวของความรัก ความใคร่ ความเศร้า การเมือง ความตลกขบขัน ความสนุกสนาน การผจญภัย ชีวิตครอบครัว หรือแม้แต่ปรัชญาและศาสนา ซึ่งการนำเรื่องราวเหล่านี้มาใช้ในงานเขียนนิยายวิทยาศาสตร์กลับช่วยเพิ่มสีสันให้นิยายวิทยาศาสตร์เป็นนิยายที่มีชีวิตชีวา ไม่แข็งกระด้าง และน่าสนใจ อย่างเช่น เรื่อง Bicentennial Man ของ Isaac Asimov นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ระดับโลก ซึ่งเป็นเรื่องราวความรักของหุ่นยนต์กับหญิงสาวคนหนึ่ง และพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองให้กลายเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์เพื่อที่จะสามารถใช้ชีวิตร่วมกันกับหญิงที่ตนรักได้ หรือเรื่อง Star War ซึ่งเป็นเรื่องราวการต่อสู้ระหว่างฝ่ายธรรมะกับฝ่ายอธรรม

นอกจากนั้นเรายังสามารถเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ในรูปของวรรณกรรมเยาวชน โดยนำเสนอเรื่องราวที่สนุกสนานและอาจสอดแทรกความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์เพื่อให้เหมาะสมกับการรับรู้ของผู้อ่านที่เป็นเด็กและเยาวชนอีกด้วย

กรอบความคิดคือกรงขังที่ปิดกั้นจินตนาการ
หากเราได้อ่านนิยายวิทยาศาสตร์ประเภทเรื่องสั้นที่เขียนโดยนักเขียนไทยหน้าใหม่ๆ ทั้งที่เป็นงานเขียนเพื่อเสนอต่อนิตยสารต่างๆหรือเพื่อส่งเข้าประกวดแล้ว เราจะพบได้ว่า มักจะเป็นเรื่องราวที่วนเวียนอยู่กับเรื่องของสภาวะแวดล้อม ปัญหาสังคม เรื่องของมลภาวะ การทำลายธรรมชาติ ซึ่งมักจะนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับอนาคตอันเลวร้ายของโลกซึ่งมักก่อให้เกิดความรู้สึกหดหู่ใจและมักจะมีทัศนคติเกี่ยวกับมนุษย์ว่าเป็นสิ่งชั่วร้ายที่ทำลายโลกของตัวเอง ทำให้วงการนิยายวิทยาศาสตร์ของไทยขาดนิยายวิทยาศาสตร์ที่มีความหลากหลายและความแปลกใหม่เท่าที่ควร ที่เป็นเช่นนี้ก็เป็นเพราะ นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ยังคงมีกรอบความคิดปิดกั้นจินตนาการของตนเองอยู่นั่นเอง ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า การเขียนนิยายวิทยาศาสตร์นั้น เราสามารถนำเสนอเรื่องราวได้อย่างไม่มีข้อจำกัด นักเขียนสามารถจินตนาการเกี่ยวกับจักรวาลที่อยู่ไกลออกไป เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตจากดาราจักรอื่นๆ เกี่ยวกับสิ่งประดิษฐ์แห่งโลกอนาคต การเดินทางข้ามกาลเวลา หรือแม้แต่เรื่องของการสร้างสิ่งมีชีวิตด้วยวิธีการทางวิศวพันธุกรรมศาสตร์ การที่เรามีกรอบความคิดอยู่บ้างนั้นอาจจะช่วยให้งานเขียนของเราไม่ออกนอกลู่นอกทางไปมากนักก็ตาม แต่หากเรายึดติดกับกรอบความคิดมากจนเกินไป กรอบความคิดนั้นก็จะเปรียบเสมือนกรงขังที่ขัดขวางนักเขียนไม่ให้สามารถใช้จินตนาการและศักยภาพได้อย่างเต็มที่

วิธีการทำลายกรอบความคิดก็คือ การเป็นผู้มีทัศนคติหรือมุมมองในสิ่งต่างๆรอบๆตัวที่หลากหลายและแตกต่างไปจากมุมมองเดิมๆที่เคยเป็น รวมทั้งการเป็นผู้ที่ใฝ่รู้เพื่อให้เกิดความรู้ในด้านต่างๆซึ่งสามารถเป็นจุดเริ่มต้นของจินตนาการใหม่ๆได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้น ยังจะต้องศึกษาจากงานเขียนของนักเขียนอื่นๆ โดยเฉพาะงานเขียนของนักเขียนที่มีชื่อเสียงเพื่อศึกษาถึงวิธีการสร้างจินตนาการ รวมทั้งวิธีการนำเสนอของนักเขียนเหล่านั้นเพื่อนำมาปรับปรุงงานเขียนของตนเอง

คิดไม่ออกบอกใครดี
ปัญหาหนึ่งของนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ก็คือ คิดพล็อตเรื่องไม่ออก ปัญหานี้เกิดจากกรอบความคิดที่ปิดกั้นจินตนาการนั่นเอง และทำให้หลายคนละทิ้งความใฝ่ฝันที่จะเป็นนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ไปอย่างน่าเสียดาย ทั้งๆที่เราไม่จำเป็นจะต้องรอให้คิดพล็อตเรื่องออกแล้วจึงค่อยลงมือเขียนแต่อย่างใด หลายครั้งเราเริ่มงานเขียนจากชื่อเรื่องที่เราประทับใจ แล้วจึงต่อยอดเรื่องราวออกไปจากชื่อเรื่องที่คิดได้ บางครั้งเราก็เริ่มต้นงานเขียนจากเหตุการณ์บางอย่างที่อยากจะให้เกิดขึ้นในเรื่องราวที่จะเขียน บางทีเราอาจจะตั้งเป้าหมายไว้ก่อนก็ได้ว่า จะนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับหุ่นยนต์ มนุษย์ต่างดาว หรือการทดลองที่ผิดพลาดจนทำให้เกิดความวินาศตามมา และบางครั้ง เราก็อาจจะลองเริ่มเรื่องจากคำง่ายๆสักคำหนึ่งที่ไม่ใช่ส่วนสำคัญของเรื่องเลยก็ได้ อย่างเช่น เราอาจลองคิดคำขึ้นมาสักคำหนึ่ง สมมุติว่าเป็นคำว่า “ปากกา” เราก็อาจจะเริ่มบรรทัดแรกได้ว่า ตัวละครตัวหนึ่งของเรื่องได้หยิบปากกาขึ้นมาเขียนอะไรบางอย่างลงบนกระดาษ และเนื่องจากเป็นนิยายวิทยาศาสตร์ ปากกานั้นอาจจะมีคุณสมบัติพิเศษที่แตกต่างไปจากปากกาทั่วไป เช่น เป็นปากกาที่สามารถบันทึกข้อความที่เขียนได้ในตัว แล้วจึงค่อยๆสร้างเรื่องราวต่อไปที่ละฉากทีละตอน การทดลองเริ่มเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ด้วยวิธีนี้ เป็นการฝึกการใช้จินตนาการและการสร้างพล็อตเรื่องได้เป็นอย่างดี และจะช่วยให้ไม่มีทางตันในเส้นทางการเป็นนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ อีกประการหนึ่งก็คือ การเริ่มต้นลงมือเขียนด้วยวิธีนี้ จะช่วยให้ความคิดลื่นไหลไม่ติดขัด เราควรเขียนไปก่อน ถึงแม้จะไม่ใช่ความคิดที่ดีที่สุดก็ตามแล้วจึงค่อยแก้ไขดัดแปลงและแต่งเติมในภายหลังและบางครั้งก็ทำให้สามารถคิดพล็อตเรื่องที่แตกต่างไปจากความคิดเริ่มต้นโดยสิ้นเชิง และจะช่วยให้เส้นทางการเป็นนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ของเราไม่มีวันพบกับทางตันได้เลย

ปรุงรสให้ถูกลิ้น
งานเขียนที่ดีนั้น จะตรึงใจให้ผู้อ่านได้อ่านอย่างเพลิดเพลินตั้งแต่ต้นจนจบอย่างที่เรียกกันว่า “วางไม่ลง” ซึ่งหากจะเปรียบการเขียนนิยาวิทยาศาสตร์เป็นเหมือนการปรุงอาหารสักจานหนึ่ง เครื่องปรุงที่จะช่วยปรุงเสน่ห์ให้กับงานเขียนของเราเป็นที่ประทับใจแก่ผู้อ่านจึงมีดังต่อไปนี้
1. ความแปลกใหม่ หมายถึงการสร้างพล็อตเรื่องให้มีความแตกต่างโดดเด่นจากงานเขียนของคนอื่น ไม่ซ้ำซากจำเจ
2. ลีลาและวิธีการนำเสนอ นิยายวิทยาศาสตร์ที่น่าอ่านจะต้องมีลีลาการนำเสนอที่น่าสนใจน่าติดตาม กระชับ ไม่เยิ่นเย้อจนเกินไป
3. การหักมุม เรื่องที่มีการหักมุมทั้งระหว่างเรื่องและตอนจบทำให้ผู้อ่านไม่สามารถคาดเดาเรื่องได้ ช่วยให้เกิดความประทับใจและจดจำ
4. อารมณ์ขัน ในบางเรื่อง เราสามารถสอดแทรกอารมณ์ขันในนิยายวิทยาศาสตร์ เพื่อไม่ให้เกิดความน่าเบื่อและเกิดความสนุกสนานในการอ่าน รวมทั้งช่วยให้ผู้อ่านได้ผ่อนคลายในกรณีที่เรื่องนั้นเป็นเรื่องที่ซับซ้อนหรือเป็นเรื่องราวที่น่าหวาดกลัว เคร่งเครียด
5. อารมณ์ งานเขียนที่ดีจะต้องมีลักษณะสะเทือนใจ ความสะเทือนใจนั้นไมได้หมายถึงเฉพาะความโศกเศร้าเท่านั้น แต่ยังหมายถึงอารมณ์แห่งความสุข ความรัก ความห่วงหาอาทร งานเขียนใดที่สามารถสร้างอารมณ์ของผู้อ่านให้คล้อยตามได้ ก็จัดได้ว่างานเขียนชิ้นนั้นประสบความสำเร็จ
6. เกร็ดความรู้ การสอดแทรกเกร็ดความรู้ต่างๆทั้งที่เป็นความรู้ทางวิทยาศาสตร์หรือความรู้อื่นๆ ช่วยให้งานเขียนของเรามีน้ำหนักความน่าเชื่อถือ ความสมเหตุสมผล และมีคุณค่า
7. สำนวนกินใจ การใช้สำนวนภาษาที่มีความไพเราะและสามารถสื่อให้เห็นภาพและสะท้อนอารมณ์ของเรื่องได้อย่างชัดเจน ไม่สับสน ช่วยเพิ่มอรรถรสในการอ่านได้เป็นอย่างดี

ความสำเร็จเกิดจากความพอดี
เป้าหมายของงานเขียนทุกชนิด คือ การให้ความบันเทิงให้แก่ผู้อ่านโดยอาจสอดแทรกสาระต่างๆเข้าไปในงานเขียนนั้นๆเพื่อให้เป็นงานเขียนที่มีคุณค่า แต่หากเราตั้งใจที่จะให้สาระในงานเขียนของเรามากจนเกินไป ย่อมทำให้เกิดความรู้สึกถึงความพยายามที่จะยัดเยียดความรู้ ความคิด และกลายเป็นความกดดันจนผู้อ่านอาจจะต้องใช้ความอดทนอย่างมากที่จะอ่านให้จบและเป็นการอ่านด้วยความทุกข์ ทั้งนี้ย่อมขึ้นอยู่กับวิธีการนำเสนอที่เหมาะสมและสำนวนภาษาด้วย เพราะฉะนั้น ในการเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ เราจึงควรเริ่มต้นด้วยการทำจิตใจให้ผ่อนคลาย และไม่มุ่งเน้นที่จะสอดแทรกสาระหรือตั้งใจที่จะนำเสนอแนวคิดของตนจนเกินความจำเป็น งานเขียนที่ดีจะต้องสามารถทำให้ผู้อ่านซึมซับสาระและแนวคิดต่างๆอันเป็นประโยชน์ได้โดยไม่รู้ตัว

แช่แข็งเพื่อแก้ไข
วิธีการหนึ่งที่มีประโยชน์ในการแก้ไขปรับปรุงงานเขียนของเราก็คือ การแช่แข็ง หมายถึง การที่เราทิ้งงานเขียนที่เขียนเสร็จแล้วไว้สักระยะหนึ่ง อาจจะเป็นสัก 2 สัปดาห์หรืออาจจะเป็นเดือน เพื่อให้เราลืมสิ่งที่เราเขียนเสียก่อน แล้วจึงนำงานเขียนนั้นกลับมาอ่านใหม่ แล้วเราจะพบว่า ข้อผิดพลาดทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นพล็อตเรื่อง การดำเนินเรื่อง สำนวนภาษา คำผิดต่างๆ จะปรากฏออกมาให้เห็นได้อย่างชัดเจนทีเดียว ซึ่งข้อผิดพลาดเหล่านี้มักจะมองไม่เห็นในช่วงที่เพิ่งเขียนเสร็จใหม่ๆ เมื่อแก้ไขเสร็จแล้ว เราก็ควรแช่แข็งอีกครั้งหรือหลายครั้ง ข้อบกพร่องทั้งหลายที่ยังมีอยู่ ก็จะปรากฏขึ้นอีก ทำเช่นนี้จนกว่าจะรู้สึกว่า ไม่จำเป็นต้องแก้ไขอีกต่อไป จึงจะถือได้ว่า งานเขียนชิ้นนั้นเป็นงานเขียนที่เสร็จสมบูรณ์อย่างแท้จริง

ถังขยะสร้างนักเขียน
คำกล่าวนี้ยังคงเป็นความจริง แม้ว่าในปัจจุบัน นักเขียนส่วนมากมักจะเขียนในคอมพิวเตอร์แทนที่จะเป็นกระดาษก็ตาม ในอดีต นักเขียนมักจะทิ้งผลงานที่ไม่พอใจลงในถังขยะ หรือบางรายถึงกับเผาทิ้งกันเลยทีเดียว ยิ่งทิ้งมากก็ยิ่งมีประสบการณ์ในการเขียนมากจนสามารถก้าวสู่ความเป็นนักเขียนมืออาชีพได้สำเร็จ เพราะฉะนั้น หากเรารู้สึกว่าผลงานที่เราเขียนขึ้นนั้นยังไม่เป็นที่พอใจหรือไม่มีคุณภาพ จงอย่าเสียดายที่จะทิ้งผลงานนั้นแล้วเขียนขึ้นใหม่ถึงแม้ว่าจะเขียนไปแล้วหลายสิบหรือเป็นร้อยหน้าก็ตาม

ความสำเร็จใดๆก็ตาม ย่อมเกิดจากการมุ่งมั่นทำในสิ่งนั้นอย่างสม่ำเสมอไม่ย่อท้อ ความล้มเหลวไม่มีในโลก เพราะอันที่จริงแล้ว ความล้มเหลวก็คือการค้นพบอย่างหนึ่ง ในโลกนี้ไม่มีผู้พ่ายแพ้ หากมีแต่ผู้ที่ยังวิ่งไม่ถึงเส้นชัยเท่านั้น หากเรายังคงวิ่งต่อไปด้วยความเพียรพยายาม ย่อมถึงเส้นชัยได้ในวันหนึ่งข้างหน้าอย่างแน่นอน

ใส่ความเห็น