ประกาศผลการประกวดเรื่องสั้นวิทยาศาสตร์ครั้งที่ 3 หัวข้อ “พลังงานอนาคต”

คณะกรรมตัดสินการประกวดเรื่องสั้นวิทยาศาสตร์ครั้งที่่ 3 หัวข้อ “พลังงานอนาคต” ได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ว่า  ยังไม่มีผลงานใดสมควรได้รับรางวัลชนะเลิศ  เนื่องจากไม่มีเรื่องใดที่มีแนวคิดของเรื่องตรงกับเจตนารมณ์ของหัวข้อที่กำหนดให้ซึ่งต้องการเห็นจินตนาการเกี่ยวกับพลังงานชนิดใหม่และผลกระทบทั้งในด้านดีและร้ายที่มีต่อมนุษย์  แต่ได้คัดเลือกผลงานเรื่อง “ข้าพเจ้า เขา เตียง และเธอ” ซึ่งแต่งโดย คุณดนุภัทร  บุญเฉลิมวิเชียร  นามปากกา Elijah ให้ได้รับรางวัลของที่ระลึกจากชมรมนิยายวิทยาศาสตร์ไทยเป็นพิเศษ    สำหรับเจ้าของผลงานที่ส่งเข้าประกวดทุกท่าน  จะได้รับใบประกาศนียบัตรผู้เข้าร่วมกิจกรรมพร้อมลายเซ็นต์ของ รศ.ดร.ชัยวัฒน์  คุประตกุล เพื่อเป็นที่ระลึก  ซึ่งทางชมรมนิยายวิทยาศษสตร์ไทยจะจัดส่งให้โดยเร็วที่สุด

จากการประกวดเรื่องสั้นทั้ง 3 ครั้งที่ผ่านมา  ทางชมรมฯมีความประสงค์จะรับทราบความคิดเห็นเกี่ยวกับการพิจารณาให้รางวัลจากสมาชิกชมรมฯและผู้สนใจทุกท่านดังต่อไปนี้

1.ท่านเห็นด้วยหรือไม่  หากคณะกรรมการฯจะพิจารณาไม่ให้รางวัลชนะเลิศแก่ผลงานที่ส่งเข้าประกวดทั้งหมดหากมีความเห็นตรงกันว่า  ไม่มีผลงานใดสมควรได้รับรางวัลชนะเลิศเพื่อให้การประกวดมีมาตรฐาน  หรือว่าคณะกรรมฯควรพิจารณาให้รางวัลชนะเลิศแก่ผลงานที่ดีที่สุดเพื่อเป็นกำลังใจแก่นักเขียน

2. ท่านเห็นด้วยหรือไม่หากจะนำผลงานที่ส่งเข้าประกวดทั้งหมดเผยแพร่ทางเว็บไซท์ของชมรมนิยายวิทยาศาสตร์ไทยพร้อมคำวิจารณ์จากคณะกรรมการเพื่อให้นักเขียนได้พัฒนาผลงานของตนเอง

—-
เรื่องส่งประกวด
ข้าพเจ้า เขา เตียง และเธอ
เครื่องปฏิพลัง
โคลด์ ฟิวชั่น
ภวังค์
รามสูร
แหวนพลังงาน
The End of Eternity

15 ความเห็นบน “ประกาศผลการประกวดเรื่องสั้นวิทยาศาสตร์ครั้งที่ 3 หัวข้อ “พลังงานอนาคต””

  1. สวัสดีครับ เรียนกรรมการและสมาชิกทุกท่าน ตอบคำถามข้าต้น
    1. เห็นด้วยสำหรับการสงวนรางวัลชนะเลิศหากผลงานยังไม่มีความเหมาะสมครับ ในกรณีที่ไม่มีเรื่องไหนได้รางวัลชนะเลิศนั้น ผมอยากให้มีลำดับของผู้ได้คะแนนเพื่อให้ทราบว่าในกลุ่มผู้เข้าประกวดด้วยกันนั้นมีเรื่องใดบ้างที่พอจะเข้าตาคณะกรรมการอยู่บ้างตามลำดับ ถึงจะไม่มีใครได้รางวลัก็ตามครับ (พอจะเป็นกำลังใจให้ผู้เขียนได้บ้าง)

    2. โดยส่วนตัวเห็นด้วยครับ ปัญหาคือหากเรื่องใดได้รางวัลแล้วเจ้าของต้องการนำไปตีพิมพ์หรือส่งเข้าประกวดก็อาจติดเงื่อนไขของการตีพิมพ์หรือการประกวดได้ แต่สำหรับผมนั้นไม่เป็นปัญหาครับ นำมาลงได้เลย ยิ่งได้คำวิจารณ์จากคณะกรรมการยิ่งดีขึ้นครับ จะได้เอาไปปรับปรุงผลงานต่อไปครับ

    ข้อเสนอเพิ่มเติมครับ คือผมอยากให้มีรางวัล “writer award” หรือ “popular award” เพิ่มขึ้นมาในการประกวดแต่ละครั้งครับ โดยหลังจากปิดรับผลงานแล้ว(หรือหลังจากประกาศผลแล้ว) อยากให้เอาผลงานทั้งหมดทั้งที่ได้รางวัลและไม่ได้รางวัลมาลงในเว็บด้วยครับ ให้ผู้เขียนทุกท่านและผู้อ่านได้อ่านกันเต็มที่

    รางวัล writer award นั้นให้ผู้เขียนท่านอื่นเข้าไปลงคะแนน + วิจารณ์ ผลงานของท่านอื่นที่ร่วมประกวด ใครได้คะแนน vote มากที่สุดก็ได้รางวัล writer award ไปครอง (ไม่ได้คาดหวังรางวัลเป็นสิ่งของใด ๆ นะครับ แค่คำชมเชยและคำวิจารณ์นั้นก็ช่วยได้มากแล้วครับ)

    สำหรับรางวัล popular award นั้นถ้าจะให้มีก็คือให้คนทั่วไปที่ไม่ได้ส่งผลงานเ้ข้าไป vote ให้ผลงานที่ชื่นชมมากที่สุด ใครได้คะแนนมากก็ได้รางวัลไป (เช่นกันกับข้างบนนะครับ เป็นคำชมเชยจากท่านอื่นก็เพียงพอแล้ว)

    เรื่องจะมีการโกงคะแนน vote นั้นผมเชื่อว่าไม่มี เพราะวงนี้เป็นวงเล็ก ๆ และเชื่อว่าการที่เราพิมพ์งานออกมาให้คนอื่นอ่านฟรี ๆ แบบนี้นั้นอย่างน้อยก็ต้องแสดงความจริงใจให้กันอยู่แล้วครับ

  2. เห็นด้วยและยินดีทั้งสองข้อครับ
    ความเห็นเพิ่มเติม

    1.ควรจะมีการประกาศรายชื่อกรรมการที่ตัดสินพร้อมเหตุผลของแต่ละกรรมการครับ ตัวอย่างซีไรท์ อมตะที่ชาวไซไฟบอกไม่ผ่านพอดูกรรมการแล้วก็เข้าใจ เพราะกรรมการไม่มีพื้นความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ดีพอจึงตัดสินแบบค้านสายตาชาวนักอ่านไซไฟจริงๆ

    2.หัวข้อครั้งนี้อาจเป็นปัญหา เพราะว่าเป็นหัวข้อกว้างสามารถเขียนกันได้หลายประเด็น คนเขียนส่งประกวดต้องเดาใจกรรมการ หรือไม่กรรมการก็ควรเปิดกว้างในทุกประเด็น ที่อยู่ภายใต้หัวข้อดังกล่าว

    เป็นเพียงข้อแสดงความคิดเห็นส่วนตัวเห็นครับ

  3. กำลังมีแนวคิดที่จะเปิด vote อยู่เหมือนกันครับ
    แต่อยากให้คน vote ให้คะแนนอย่างเป็นระบบด้วย เช่น
    กำหนดกรอบการให้คะแนนเป็นหัวข้อ แต่ละหัวข้ออาจจะมีคะแนนไม่เท่ากัน
    เช่น
    ความเป็นนิยายวิทยศาสตร์(10), โครงเรื่อง(5), วิธีการนำเสนอ(5), ภาษา(5), ความน่าสนใจพิเศษ(5) อะไรทำนองนี้
    แต่ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปอย่างชัดเจน ครับ

    ผลงานประกวด “พลังงานอนาคต” ผมมองว่า อาจจะมีผลมาจาก การตัดสินเรื่อง “ยานอวกาศ” อยู่ค่อนข้างมาก เพราะหลายๆเรื่อง กลายเป็นไปพูดถึง “พลังงานเพื่ออะไร” แทบ(จริงๆคือทั้งหมด)ไม่มีใครพูดถึง “พลังงานอะไร” เลยแม้แต่ท่านเดียว
    และบางเรื่อง กลายเป็นนิยาย action บนบริบทของนิยายวิทยาศาสตร์ มากกว่า
    ซึ่งยอบรับว่าอาจจะเป็น message ที่ผิด จากผลของการตัดสินก่อนหน้า ครับ

  4. เฉพาะหัวข้อ “พลังงานอนาคต” ก็ถกเถึยงกันได้อีกยาวเลยครับ ในความเห็นผมหัวข้อนี้กว้างมาก ไม่ได้ระบุไปว่าต้องการพลังงานชนิดใหม่ หรือพลังงานอะไร หรือผลกระทบต่อพลังงาน หรือการประหยัดพลังงาน หรือพลังงานมีผลกระทบต่ออะไร หรือทัศนคติของผู้คนต่อพลังงาน ดูมันช่างกว้างเหมือนเปิดคำถามกว้างๆ แต่คำเฉลยแคบๆ หากกรรมการมีภาพในใจน่าจะเพิ่มคำอธิบายหัวข้ออีกนิดนะครับ

  5. การประกาศผลไม่ได้เป็นการเรียงลำดับตามคะแนนครับ ในการประกวดงานเขียนทั่วไปแม้แต่ของสวทช. จะไม่มีการให้คะแนนผลงานที่ส่งเข้าประกวดนะครับ วิธีการพิจารณาคือ ให้กรรมการแต่ละท่านอ่านแล้วคัดออกทีละเรื่องจนเหลือเรื่องที่ชอบ แล้วจึงนำมาเปิดกันว่าตรงกันแค่ไหน หากตรงกันหมดก็ไม่มีปัญหา ตัดสินได้เลย หากมีความแตกต่างกันก็จะนำมาถกกันด้วยเหตุผลของแต่ละท่านแล้วโหวตเพื่อเลือกเรื่องที่ได้รางวัลครับ หลายครั้งที่เมื่อนำเสนอเหตุผลของแต่ละท่านแล้ว กรรมการบางท่านก็อาจเปลี่ยนใจตามเหตุผลของกรรมการท่านอื่นได้ครับ ตอนผมเป็นกรรมการตัดสินการ์ตูนไซ-ไฟของสวทช. มีผลงานส่งเข้าประกวดมากร่วม 100 ผลงานก็ใช้เกณฑ์การตัดสินแบบนี้ครับ ส่วนมากความคิดของกรรมการแต่ละท่านมักจะใกล้เคียงกัน
    วรากิจ เพชรน้ำเอก

  6. จริงๆแล้ว ตั้งใจให้หัวข้อเปิดกว้างนะครับ เพราะอยากเห็นความหลากหลาย

    แต่ถ้าอ่านดูจะพบว่า ที่ส่งมา มุ่งเน้นไปที่ “เพื่ออะไร” กันเป็นส่วนใหญ่ และพยายามมุ่งเน้น ผลเชิงอารมณ์มากกว่า (อย่างที่บอกว่า อาจจะเป็นเพราะผลการตัดสินครั้งที่ผ่านมา) ทั้งที่บางเรื่อง มีโครงสร้างที่จะเป็น hard sci-fi ที่ดีได้

    โดยส่วนตัว
    บางครั้งการที่พยายามมุ่งเน้นผลเชิงอารมณ์มากเกินไป ก็เลยกลายเป็น “จับยัด”
    ซึ่งให้ผลเสียมากกว่าผลดี นะครับ

  7. สถิติที่น่าสนใจเกี่ยวกับการจัดประกวดเรื่องสั้น
    ครั้งที่ 1 ให้เวลาเขียน 15 วัน
    ครั้งที่ 2 ให้เวลาเขียนประมาณ 60 วัน
    ครั้งที่ 3 ให้เวลาเขียนประมาณ 90 วันแต่ถูกขยายเวลาไปกับผลพวงจากน้ำท่วมกลายเป็น 180 วันโดยประมาณ

    ครั้งแรกมีจำนวนเรื่องที่ส่ง 6 เรื่อง
    ครั้งที่สองมีจำนวนเรื่องที่ส่ง 6 เรื่อง
    ครั้งที่สามมีำจำนวนเรื่องที่ส่ง 7 เรื่อง แต่มีจำนวนคนส่งเรื่อง 5 คน (มีสองคนที่ส่งสองเรื่อง)

  8. ดูจากข้อมูลคุณ HooNo2000 ผมมองว่า กลุ่ม เราค่อนข้างคงที่
    จำนวนคนเขียนเรื่อง น่าจะค่อนข้างคงตัว
    (และจำนวนวันไม่มีผลต่อ จำนวนเรื่อง 😀 )

    ดูจากการ post ใน web ผมก็มองว่า ไม่ค่อยมีการขยายตัว สักเท่าไร

    แต่ในอีกมุมมองหนึ่ง
    อย่างที่หลายๆคนมองกัน นิยายวิทยาศาสตร์ เป็นตลาดที่ค่อนข้างเล็กอยู่แล้ว ในบ้านเรา
    โดยส่วนตัว ผมเลยมองว่า ค่อยๆสร้างกลุ่มให้แข็งแรง
    ค่อยๆสะสม คนที่รัก นิยายวิทยาศาสตร์ จริงๆ
    ไม่ต้องรีบร้อนให้เติบโตมากมายนัก

    หรือผมอาจจะเป็นพวก conservative มากไป หว่า? 😀

  9. อ่านครบแล้วครับ มิน่ากรรมการถึงเหนื่อย พออ่านครบจึงรู้สึกว่าที่พี่วรากิจบอกว่ามีผลมาจากการตัดสินครั้งที่แล้ว คือเล่นกันที่อารมณ์นั้นถูกครึ่งหนึ่ง คือเรื่องส่วนใหญ่มีเรื่องอารมณ์เป็นประเด็นหลักจริง แต่ไม่คิดว่ามาจากการตัดสินครั้งที่แล้ว อย่างที่ผมเขียนก็ไม่ใช่ว่าเพราะ Zhivago เขียนแบบนี้จึงได้รางวัลจึงเขียนตาม ผมก็ยังเขียนแบบนายหูโน่เหมือนเดิม แต่คิดว่าเพราะหัวข้อมากกว่าที่ทำให้เรื่องส่วนใหญ่ออกมาแบบนี้ มันเหมือนกระแส เหมือนการสะท้อนมุมมองของยุคสมัย เหมือนสมัยล่าอณานิคม ไม่ว่างานเขียนหรือจิตกรรมก็ล้วนมองผู้ล่าเป็นผู้ร้าย

    ในหัวข้อนี้ในช่วงนี้มันยากที่จะให้ผู้เขียนหลุดจากความคิดห่วงใยเรื่องพลังงานครับ แต่ถ้าผ่านไปอีกยุคนิยามของพลังงานคงเปลี่ยนไปด้วย

    คนอื่นเห็นเป็นอย่างไรครับ

  10. สวัสดีครับ ผม pommm หนึ่งในกรรมการตัดสินของชมรมนิยายวิทย์ไทย

    โดยปกติ ผมจะไม่ค่อยได้เข้ามาแสดงหรือให้ความเห็นเพิ่มเติมอีก เพราะความเห็นของคุณวรากิจก็ดี สมาชิกท่านอื่นก็ดี ล้วนก็มีเหตุผลดีๆจากมุมมองของทุกท่านอยู่แล้ว

    ด้วยเรื่องราวที่แต่งส่งกันเข้ามาให้อ่านนั้น มันก็เป็นโลกที่ผู้แต่งสมมุติขึ้น จินตนาการขึ้น ฝันขึ้น เพราะฉะนั้นตรรกะของโลกในท้องเรื่องของแต่ละท่านมันก็จะมีแบบฉบับเฉพาะตัว หากจะหากฏเกณฑ์ใดๆมาตัดสิน ชี้วัดความถูกผิดโดยกรรมการหรือ ผู้อ่านท่านอื่นให้ยอมรับและถูกใจของผู้แต่งนั้น คงทำได้ลำบาก

    ดังนั้นผมจึงตั้งกฏ 3 ข้อแรก ของการตัดสิน (แข่งกับกฏ 3 ข้อ ของหุ่นยนต์) ขึ้นมาดังนี้
    – ถูกภาษา…..(ไม่ว่าจะการสะกด, โครงสร้างประโยค ,ความต่อเนื่อง (time line),มีลักษณะเป็นงานวรรณกรรมเป็นต้น)
    -ถูกกติกา……( ตรงตามหัวเรื่อง ,จำนวนหน้า ,วันกำหนดส่ง,ไม่ลอกงานใครมา เป็นต้น)
    -ถูกใจ………..(ข้อนี้สำคัญสุด คุณจะจินตนาการอย่างไรก็ได้ แต่ถ้ากรรมการอ่านแล้วพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “เขียนอะไรมาเนี่ย อ่านแล้วปวดหัว” ก็จบ)

    หากท่านผ่านกฎ 3 ข้อนี้ไปได้ พวกผมก็จะแสดงความคารวะ ยกย่องท่านให้เป็นนักเขียนขั้นเทพ

    ขอบพระคุณครับ

    ข้อต่อไป ผมนำของสะสมจากสตาร์วอร์สชิ้นหนึ่งมาให้ชมกัน เป็นหนังสือที่มีภาพวาดจากหนัง
    และภาพเหล่านั้น สามารถเคลื่อนไหวไปมาได้ ผมถ่ายเป็นคลิปวิดีโอฝากไว้ให้ดูที่นี่ครับ

    http://www.youtube.com/watch?v=MkbyK2JJb6g

    นอกจากนี้ยังมี หนังเรื่อง สตาร์เทร็ค 8 พากษ์ไทยเต็มเรื่องมาไว้ให้ชมที่

    http://www.youtube.com/watch?v=KRS93HpYA9Q&feature=related

    หนังจะแบ่งเป็น 2 ไฟล์นะครับเพราะเอามาจากวีซีดี แต่คุณภาพของภาพและเสียง ค่อนข้างดี
    รวมถึงหนังไซ-ไฟหาดูยากเรื่องอื่นๆอีก ลองแวะเข้าไปชม

    ขอบพระคุณอีกครั้งครับ

    นัยpommm
    ( บล็อคส่วนตัว http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=pommm-houseofmuseum&group=1 )

ใส่ความเห็น