มาเขียนเรื่องสั้นแนวไซไฟ (sci-fi)ใน 5 ขั้นตอน (ตอนที่ 2)

สวัสดีอีกครั้งครับ เพิ่งผ่านสงกรานต์มาหลายๆท่านคงได้พักผ่อนกันหนำใจ อากาศในช่วงสงกรานต์ร้อนมากๆ จนไม่อยากทำอะไรนอกจาก อาบน้ำ นอนเล่นอยู่กับบ้าน ส่วนผมก็ใช้เวลาช่วงหยุดยาวสงกรานต์เขียนนิยายที่ค้างอยู่ต่อ สิ่งหนึ่งที่ค้นพบคือเขียนในตอนที่อากาศร้อนนี่ไม่สนุกเลยครับ หัวสมองพาลจะคิดไม่ออกเอา เลยทำได้แต่เขียนไปหยุดไป ท้ายสุดแล้วก็เข็นออกมาได้อีกบทพร้อมส่ง สนพ.

จริงๆแล้วเคยอ่านคำแนะนำจากนักเขียนท่านหนึ่งผู้ชำชองอยู่กับวงการนักเขียน ท่านบอกไว้ว่า นักเขียนต้องสามารถเขียนได้ทุกสภาวะ ไม่ว่าอากาศจะร้อน หนาว รวมถึงไม่อิงเอาอารมณ์อยากเขียนเป็นที่ตั้ง ดังนั้น นักเขียนต้องเขียนทุกวัน ทำให้เป็นนิสัย นั่งโต๊ะตามเวลาเดิมที่วางไว้ ลงมือเขียนและเขียน แม้กระทั่ง ไม่รู้จะเขียนอะไรก็ต้องนั่งที่โต๊ะ พิมพ์มั่วๆเอาก็ได้ สักพักก็จะเขียนออกเอง

อ่านแล้วก็เหมือนจะง่าย แต่ในทางปฎิบัติก็แอบยากนิดนึงเพราะผมก็ยังอดคิดไม่ได้ว่า งานเขียนนิยาย เรื่องสั้น เป็นงานศิลปะแบบหนึ่ง ดังนั้นศิลปินผู้สร้างงานต้องอาศัยอารมณ์ร่วมในงานด้วยจึงจะทำให้เกิดความอ่อนช้อยและความมีชีวิตชีวาในผลงานเขียน

เอาล่ะ เอาล่ะ นอกเรื่องมานานแล้ว แหะๆ มาว่ากันต่อครับ คราวที่แล้วผมค้างไว้ตรง 5 ขั้นตอนในการเขียนเรื่องสั้นไซไฟ ดังนี้

ขั้นตอนการเขียนเรื่องสั้นไซไฟกันครับ

1) หาเรื่องมาเขียน จากการอ่านบทความ ข่าว สารคดี หรือข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์

2) สร้างเรื่องขึ้นมา จากข่าวหรือข้อมูลในข้อหนึ่งที่ได้มา มีวิธีครับ ไม่ยากเดี๋ยวคราวหน้ามาดูกัน

3) คิดโครงเรื่อง ตอนต้น ตอนกลาง และตอนจบ + จุดหักมุม

4) ลงมือเขียน เขียนและเขียน เขียนให้จบนะครับ ทำไมต้องเขียนให้จบ คราวหน้าผมจะมาเฉลย เป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับคนที่อยากเป็นนักเขียน

5) ทิ้งไว้สักห้าวันหรือมากกว่านั้นแล้วค่อยเอามาอ่านดูเพื่อแก้ไข ปรับปรุง

สำหรับตอนที่ 2 นี้ จะคุยในหัวข้อที่ 1 ก่อนครับ

1) หาเรื่องมาเขียน จากการอ่านบทความ ข่าว สารคดี หรือข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์

ก่อนที่จะเขียนเรื่องสั้นแนวไซไฟหรือนิยายก็ตามที เราต้องมีเรื่องที่จะเขียนก่อน คำถามต่อมาคือ จะเขียนเรื่องอะไรดี ? คำถามนี้ตอบไม่ยากครับ แหล่งข้อมูลในการเขียนเรื่องมีอยู่รอบตัว ทั้งในหนังสือพิมพ์ หน้าข่าววิทยาศาตร์ ในอินเตอร์เน็ต วารสารแนววิทยาศาสตร์ (ในบ้านเราก็นิตยสาร Update ครับ เล่มนี้มีข้อมูลเยอะมากสำหรับเอาเป็นแหล่งวัตถุดิบในการสร้างเรื่อง) จากการพูดคุยกับเพื่อนๆหรือคนที่อาวุโสกว่า เราอาจจะลองถามเรื่องมันส์ๆเพื่อดูไอเดียของเพื่อนเราครับ เช่น นายรู้มั๊ยถ้าดวงจันทร์หายไป โลกของเราจะเป็นยังไง แรงดึดดูดจะเท่ากับ 9.8m/sec^2? นายคิดว่าไง … เราก็ปล่อยให้เพื่อนแสดงความคิดเห็นแล้วเราก็จำมาเพื่อเอามาต่อเติมเสริมจินตนาการของเราเข้าไป แค่นี้เราก็ะได้เรื่องมาเขียนแล้วครับ

แหล่งวัตถุดิบอื่นๆเช่น จากข่าวใน TV นิทรรศการวิทยาศาสตร์ของเด็กประถม มัธยม นี่ก็อย่ามองข้ามนะครับ ดูดีๆมีอะไรให้เอามาเขียนเพียบเลย

แล้วจะแปลงข้อเท็จจริง (fact) ที่เราอ่าน ดู ฟัง เป็นสิ่งที่เรียกว่า plot ได้ยังไง? อันนี้มีเทคนิคครับ ไม่ยากอีกนั่นแหล่ะ หลักการง่ายๆเราต้องระลึกถึงกฎเกณฑ์ของการเขียนที่สำคัญข้อหนึ่งครับ “นิยายหรือเรื่องสั้นเป็นเรื่องของตัวละคร อะไรเกิดกับตัวละครล่ะ?  ไม่ใช่เหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น” พูดง่ายๆคือ ตัวละครหลักในเรื่องจะเป็นผู้สร้างเรื่องให้เกิดขึ้นครับ แล้วเจ้าตัวละครหลักที่ว่าจะสร้างเรื่องอะไร? ตอบคำถามข้อนี้ ตัวละครหลักต้องการเปลี่ยนแปลงบางอย่างให้ดีขึ้นหรือเลวร้ายลงแต่อะไรๆมันไม่ง่ายเหมือนไปเซเว่นอีเลเว่น เพราะมันจะต้องมีอุปสรรคขัดขวางตัวละครหลักไม่ให้ทำสำเร็จ ดังนั้นตัวละครหลักของเราก็จะต้องสู้ยิบตาเพื่อให้บรรลุสิ่งที่ต้องการในตอนท้ายให้ได้ (อุปสรรค ไม่ว่าจะเป็น คนรอบกายตัวเอกคู่ปรับ เมีย กิ๊ก หรือคนขายปลาทูหรือความคิดสับสนของตัวเอกเอง สิ่งเหล่านี้เป็นศัตรูกับตัวเอกเราได้ครับ) อุปสรรคที่กล่าวถึงนี้จะทำให้เกิด “เรื่อง” ขึ้นมา ดังนั้นจึงทำให้เรามีเรื่องเล่า(โม้)และเขียน

ตัวละคร+ปัญหา=มีเรื่องให้นักเขียนเล่า ถ้าไม่มีปัญหาก็ไม่มีเรื่องให้เล่าให้อ่านสนุกจนวางไม่ลง

ไม่มีใครอยากอ่านเรื่องของตัวละครที่ประสบความสำเร็จทุกอย่าง ข้อนี้สำคัญครับ… เพราะมันไม่น่าสนใจและน่าเอาใจช่วย ยกตัวอย่างง่ายๆ ผมจะเขียนเรื่อง นายเอกเกิดมา เรียน สอบชิงทุนไปเรียนต่อต่างประเทศ กลับมาสร้างหุ่นยนต์ช่วยชาวนาไถนาได้สำเร็จ ได้ภรรยารวยล้นฟ้า แต่งงานและอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข จบ… น่าเบื่อไหมครับ ? ผมว่าโค ตะ ระ น่าเบื่อเลย

ถ้าคนเขียนเขียนแล้วไม่สนุกกับมันไม่ต้องพูดถึงคนอ่านเลยว่าจะรู้สึกยังไง ^^ เขียนเสร็จลองอ่านดูว่าสนุกไหม ถ้าเราสนุกก็เชื่อได้เลยว่าคนอ่านก็จะสนุก (คนอ่านคนแรกคือ บก. จัดว่าเป็นสิ่งมีชิวิตที่เอาใจและเข้าใจยาก รวมถึงโค ตะ ระเป็นคนละเอียดละออ…ดังนั้นท่าน บก. ต้องการอะไร ชอบแบบไหน บางทีเราก็ต้องตามใจท่าน)

คราวนี้เราจะมายกตัวอย่างจากของจริงกันครับ พอได้ข้อเท็จจริงหรือ facts แล้ว เราจะผูกเรื่องขึ้นมาได้ยังไง คราวหน้ามาต่อกัน ทิ้งท้ายก่อนปิด post ครับ ท่านใดมีวิธีเจ๋งๆก็มาแชร์กันได้ เพราะผมก็ไม่ใช่สุดยอดผู้เชี่ยวชาญอะไรมากนัก ส่วนใหญ่ก็อ่านและสอบถามจากผู้ที่เขียนมามากกว่าตัวผม (เช่นคุณวรากิจ ประธานชมรมของเรา) แล้วนำมาปรับ ประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับสไตล์ของตัวผมเอง ดังนั้นผมยินดีฟังทุก comment นะครับ

สวัสดีครับ 🙂

4 ความเห็นบน “มาเขียนเรื่องสั้นแนวไซไฟ (sci-fi)ใน 5 ขั้นตอน (ตอนที่ 2)”

  1. แต่ละคน ต่างมี style และวิธีการ แตกต่างกันไป
    ไม่มีวิธีที่ ดีที่สุด หรือ ถูกต้องที่สุด หรอกครับ
    ขึ้นอยู่กับว่า วิธีการนั้นๆ เหมาะสมกับ คนคนนั้น หรือไม่
    และทุกๆวิธีการ ล้วนเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้เสมอ

    สุดท้าย style ของตนเอง สำคัญที่สุด
    แต่การเรียนรู้ style หรือ วิธีการของคนอื่น
    ก็ถือเป็น ประโยชน์ อย่ามากเช่นกัน
    เพื่อการปรับใช้ และปรับปรุง style ของตนเอง นั่นเอง

    ต้องขอขอบคุณ คุณuranus
    ที่เอาวิธีการ มา share และแลกเปลี่ยนกัน เพราะถือเป็นประโยชน์อย่างมากต่อทุกฝ่าย
    ครับ

    ขอบคุณอีกครั้ง ครับ

    ปล.โดยส่วนตัวผมยังไม่สามารถ ตกผลึก style และ วิธีการเขียนของผมเอง ออกมาเป็นตัวอักษรได้ น่ะครั้บ
    ยังเป็น วลีสั้นๆ ลอยไป ลอยมา ในอากาศ 😛

  2. หลังจากที่(ผม)เขียนงานตนเองเสร็จ
    (ผม)ก็ออกมา เพ่นพ่านระราน ชาวบ้าน 😀

    ก็พบว่าบทความผม ค่อนข้างใกล้เคียงกับของคุณ uranus
    แต่ของคุณ uranus ทิ้งไว้แค่ข้อหนึ่ง
    2-5 ยังไม่เห็นมาต่อเลย

    เอ้า! มาต่อครับ อย่าทิ้งขว้าง
    (แต่เรื่องยาวที่ผมเขียนทิ้งไว้ ไม่ต้องทวงนะครับ 😛 )

ใส่ความเห็น