วิธีการในงานเขียนของผม (๓)

๓. ลงมือเล่า
นี่คือส่วนที่สำคัญที่สุดในทุกขั้นตอนก็ว่าได้
เพราะหากไม่เริ่มลงมือ”เล่า”แล้ว ทุกๆขึ้นตอนก่อนหน้านี้ก็จะไม่มีความหมาย และขั้นตอนหลังจากนี้ก็คงจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้

การพัฒนาตัวละคร การพัฒนาเหตุการณ์
(character development, situation development)
การเล่าต้องมีความคืบหน้า หรือให้รายละเอียดเพิ่มเติ่มที่มีความสำคัญกับโครงเรื่อง
ไม่ว่าจะในแนวตั้ง(ลงลึกไปในรายละเอียดของตัวละครหรือเหตุการณ์)
หรือแนวนอน (เกิดผลกระทบ เกิดการแสดงออก เกิดความเปลี่ยนแปลง เกิดผลกระทบ ของตัวละคร หรือเกิดการคืบหน้าของเหตุการณ์)
การเน้นย้ำซ้ำๆ สามารถกระทำได้ แต่ต้องระมัดระวังระวัง เพราะอาจจะกลายเป็นความซ้ำซากน่าเบื่อได้
หลีกเลี่ยงการใช้คำเดิมๆ, เหตุการณ์หรือสถานะการณ์แบบเดิมๆ และ พึงเพิ่มระดับความเข้มข้นในแต่ละการเน้นย้ำ(ถ้ามี)
อักษร(ประโยค)ใดที่ไม่ส่งผลต่อ แนวแกนใดแนวแกนหนึ่งที่กล่าวมา รวมถึงการสร้างผลกระทบเชิงอารมณ์ต่อผู้อ่าน
มีความเป็นไปได้สูงที่จะไม่มีความจำเป็นต่อการเล่า

ภาษา กับ สื่อที่ใช้
บทความนี้ มีลักษณะผสมระหว่าง งานเขียนทั่วๆไป(เรื่องสั้น, นวนิยาย) และงานเขียนบทภาพยนตร์
เพราะงานเขียนทั่วๆไปอาจจะไม่มีการใช้บทพูดเลยก็ได้ รวมถึงอาจจะไม่ได้ระบุฉากหลังอย่างชัดเจน
แต่เนื่องจากปัจจุบัน งานเขียนเริ่มมีลักษณะปนเปของงานภาพยนตร์ หรือ หนังสือการ์ตูน ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดอะไร
เพียงแต่ว่า การหลงลืม คุณสมบัติของ”สื่อ” สามารถสร้างความผิดพลาด(ผิดที่ผิดทาง)ในงานนั้นๆได้
เช่นการเอาวิธีเล่าเรื่องแบบละครวิทยุไปอยู่ในภาพยนตร์ หรือ หนังสือ
หรือการเอาวิธีการเล่าแบบภาพยนตร์ และ หนังสือการ์ตูน มาอยู่ในงานเขียน

เนื่องจากจะเน้นที่งานเขียน ฉะนั้น สื่อที่ใช้คือตัวหนังสือ
ไม่ใช่การ์ตูน ไม่ใช่ภาพยนต์ ไม่ใช่ละครวิทยุ(ที่เป็นภาพหรือเสียง)
ฉะนั้น จึงควรใช้ ตัวหนังสือ ให้เหมาะสมกับสื่อ
จะพบบว่า ปัจจุบัน จะเห็นงานหลายชิ้น(โดยเฉพาะงานบนweb)ที่ใช้วิธีการเล่าเรื่องแบบการ์ตูนมาใช้ในงานเขียน โดยลืมไปว่า การ์ตูนใช้ภาษาภาพ ไม่ใช่ภาษาเขียน
(เสียงในการ์ตูน เป็นส่วนหนึ่งของภาพ ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของภาษาเขียน)

ภาพยนต์ มีส่วนประกอบของทั้ง ภาพและเสียง จึงสามารถใช้ประโยชน์ได้จากทั้งสองส่วน
ละครวิทยุ ใช้ได้แต่เสียง จึงต้องเล่าเรื่องด้วยคำพูด ความคิด
การ์ตูน เล่าเรื่องด้วยภาพ ไม่มีเสียง สิ่งที่เรารับรู้ว่าเป็นเสียงในงานการ์ตูน จริงๆแล้วคืองานภาพ
นิยาย ใช้ตัวอักษร ไม่ใช่ภาพ ไม่ใช่เสียง
เป็นการใช้ตัวอักษร สร้างผลกระทบต่อระบบประสาทและจินตนาการของผู้อ่าน (ข้อมูลจริงๆเกิดขึ้นในความคิดของผู้อ่านเอง)

ภาษาพูดและภาษาเขียน มีความแตกต่างกันในการแสดงออก
ในงานเขียนจึงควรใช้ภาษาเขียน ส่วนที่พอจะอนุโลมได้ก็คือบทพูด แต่ถ้าเป็นไปได้ก็ควรจะหลีกเลี่ยง เพราะมักจะทำให้การอ่านสะดุด เนื่องจากความรู้สึกว่า”เขียนผิด”นั่นเอง

บทพูดและการบรรยายฉากและตัวละคร
สิ่งที่ต้องระวังในบทพูด
-คำพูดไม่เกิดความคืบหน้า ของเรื่อง (เช่น เจ็บหรือเปล่า ในเชิงการเล่า ไม่มีความจำเป็นที่จะถาม)
-คำพูดไม่ส่งผลใดๆต่อตัวละคร
-ระวังคำพูดที่ไม่ใช้กัน นอกจากตั้งใจจะบ่งบอก character ของตัวละคร

การบรรยายฉาก พึงให้ได้บริบทของเหตุการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนที่มีผลกระทบต่อเหตุการณ์นั้นๆ
การบรรยายตัวละคร ช่วยสร้างความจดจำในระหว่างการเล่าเรื่อง เป็นการง่ายที่จะทำให้ผู้อ่านสามารถจินตนาการถึงตัวละครที่อยู่ในเรื่องเพื่อไม่เกิดความสับสนระหว่างตัวละครและระหว่างการดำเนินเรื่อง
(อ้วน ผอม สูง เตี้ย ดำ ขาว ผู้ชาย ผู้หญิง ใครกำลังทำอะไร ที่ไหน)

อารมณ์ ของตัวละครและเหตุการณ์
พึงระวังการใส่อารมณ์ที่ไม่เหมาะสม ไม่สมเหตุสมผล ในสถานะการณ์ที่ต่อเนื่องกัน เช่น ความเศร้าเสียใจ ที่ต่อเนื่องกับความกลัว ทั้งๆที่ในสถานะการณ์ตอนนั้น มันควรจะถูกครอบงำด้วยความกลัว หรือไม่ก็เปลี่ยนไปเป็นความสิ้นหวังโดยสิ้นเชิง
ในเรื่องของอารมณ์ อาจจะต้องใช้ประสบการณ์ชีวิต และ ตรรกะเชิงจิตวิทยา มาประกอบด้วย

ความต่อเนื่องลื่นไหล
งานเขียน คือการใช้ภาษาเขียน ซึ่งจำเป็นต้องมีความลื่นไหลของทั้งตัวภาษา และ อารมณ์
เมื่อเกิดอาการชะงักงันของการอ่าน ก็ควรจะมีการปรับเปลี่ยนคำ การใช้ภาษา หรือลำดับในการเล่าเรื่อง ซึ่งสามารถตรวจพบได้จากการอ่านทวนและสามารถแก้ไขได้ในขั้นตอนrewrite
ต่างกับความลื่นไหลทางอารมณ์ ที่อาจจะต้องรอให้อารมณ์ในการเขียนขั้นแรกสงบลงก่อน หรืออาจจะต้องย้อนอ่านต่อเนื่องเพื่อกำหนดอารมณ์ที่ต้องการ

กระบวนการวนซ้ำในระหว่างขั้นตอนการเล่า
ในระหว่างการเล่าเรื่องไม่ใช่เรื่องผิดอะไรที่จะเกิดการอ่านทวน, เกิดการ rewrite, เกิดการบิดของแก่นเรื่อง หรือเกิดแนวคิดใหม่ๆในระหว่างการเขียน
สิ่งที่สำคัญคือ การมีสติ ไม่ลำเอียง และตรวจสอบดูว่า สิ่งเหล่านั้น มีผลต่อเรื่องที่เล่าในลักษณะใด ส่งเสริม หรือทำลาย

หากเกิดแนวคิดใหม่ๆในระหว่างการเขียน แนวทางที่เป็นไปได้คือ
a. นำไปใช้เป็น sub-plot
ใช้ได้ในกรณีที่แก่นเรื่องใหม่ส่งเสริ่มแก่นเรื่องเดิม สามารถใช้ได้กับงานเขียนขนาดยาว ไม่น่าจะสามารถใช้ได้กับงานเขียนขนาดสั้น
b. เก็บไปใช้เขียนเรื่องใหม่ โดยเขียนเรื่องเก่าให้จบ
เป็นวิธีที่แนะนำอย่างยิ่ง อย่าฝืน เพราะจะสร้างผลเสียมากกว่าผลดี
c. หยุดงานเขียนเรื่องเก่า แล้วเขียนเรื่องใหม่ โดยเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด
เป็นวิธีที่ไม่แนะนำอย่างยิ่ง เพราะเป็นการสิ้นเปลืองกำลังโดยใช่เหตุ
นอกเสียจากว่าจะพบข้อบกพร่องขนดใหญ่ในงานเขียนตั้งต้น
ยกตัวอย่าง ผมเคยพยายามเขียนเรื่องเกี่ยวกับการโคลนนิ่งอะไหล่มนุษย์(คล้ายๆ the island แต่เขียนให้เป็นยุคปัจจุบัน และ เหยื่อเป็นเด็กที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้) แต่ปรากฎว่า แนว technology ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน มีแนวโน้มว่า จะเป็น การสร้าง(clone)อวัยวะเป็นชิ้นๆไป ฉะนั้น งานเขียนเรื่องนี้จึงต้องพับไป

(ยังมีต่อ)



ใส่ความเห็น