เรื่องสั้นเป็นวรรณกรรมประเภทหนึ่ง ได้รับอิทธิพลมาจากตะวันตกมีความยาวประมาณ 1000-10000 คำ ส่วนไทยเราก็กำหนดความยาวของเรื่องว่าประมาณ 5 ถึง 8 หน้า อาจจะสั้นกว่าหรือยาวกว่านั้น ก็ยังถือว่าเป็นเรื่องสั้นอยู่ เช่น บางเรื่องอาจยาวเพียง 1 หน้ากระดาษฟูลสแก๊ป เรียกว่าเป็นเรื่องสั้นขนาดสั้น ถ้าเรื่องยาวมากถึงขนาด 4 ตอนจบ ก็เรียกว่าเรื่องสั้นขนาดยาว ผู้เขียนเขียนขึ้นโดยใช้จินตนาการของตนเองอย่างสมจริงสมจัง มีขนาดสั้น ตัวละครไม่มาก ดำเนินเรื่องด้วยความรวดเร็วและมีจุดมุ่งหมายเดียวโดยอาศัยศิลปะการเขียนที่ ชวนให้น่าอ่านและมีคติธรรมแทรก มีลักษณะพิเศษเฉพาะที่น่าสนใจเพราะมีศิลปะการแต่งผิดไปจากเรียง ความ ประเภทอื่น คือเรื่องสั้นจะมีจุดหมายซึ่งแสดงความคิดอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงข้อเดียว
สารบัญ
* 1 ประวัติและวิวัฒนาการของเรื่องสั้น
* 2 การเขียนเรื่องสั้น
* 3 ชนิดของเรื่องสั้น
* 4 วิธีเขียนเรื่องสั้น
4.1 เค้าโครงเรื่อง (plot)
4.2 ตัวละคร
4.3 ฉาก
4.4 บทสนทนา
4.5การเปิดเรื่อง
4.6 การดำเนินเรื่อง
4.7 การปิดเรื่อง
* 5 ลักษณะเฉพาะของเรื่องสั้น
* 6 ความเเตกต่างกันระหว่างเรื่องสั้นและนวนิยาย
* 7 ประเภทของเรื่องสั้น
* 8 ลักษณะของเรื่องสั้นไทย
* 9 ส่วนประกอบของเรื่องสั้น
* 10 เทคนิคการเขียนเรื่องสั้น
ประวัติและวิวัฒนาการของเรื่องสั้น
เรื่องสั้นแบบนิทาน การเริ่มต้นของการเขียนเรื่องสั้นเริ่มด้วยเรื่องเล่าแบบนิทานก่อน เกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังไม่เป็นลักษณะของเรื่องสั้น คนสมัยนั้นไม่คุ้นเคยกับเรื่องสั้นจะมีก็แต่นิทาน เรื่องเล่า หรือเรื่องจักรๆวงศ์ๆ การเกิดเรื่องสั้นครั้งแรกคือ พ.ศ. 2417 เมื่อมีหนังสือพิมพ์ ดรุโณวาท ซึ่งเจือ สตะเวทิน (2521: 2) กล่าวไว้ดังนี้ “รุ่งอรุณแห่งเรื่องสั้นฉายขึ้นในหนังสือดรุโณวาทของพระองค์เจ้าเกษมสันต์ โสภาคย์ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับแรกของเมืองไทยที่เจ้าของและบรรณาธิการเป็นคนไทย หนังสือพิมพ์ฉบับนี้พิมพ์จำหน่ายเป็นครั้งแรกในวันอังคาร เดือน 8 แรม 9 ค่ำ ปีจอ จ.ส. 1236 (พ.ศ. 2417)” หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ มีนิทานพิมพ์ออกมาให้ผู้อ่านได้อ่านเล่นสนุกๆ ลักษณะนิทาน ผิดแปลกไปจากนิทานที่เคยมีมาก่อน คือ เป็นเรื่องของคนธรรมดาสามัญที่มีอยู่จริง และไม่*มีอภินิหารแทรกอยู่เลย เรื่องมีจุดมุ่งหมายเด่นชัด เมื่ออ่านจบก็รู้ทันที
การเขียนเรื่องสั้น
j. Berg Esenwien ได้กล่าวถึงลักษณะเรื่องสั้นที่ดีไว้ว่า
* 1. ต้องมีพฤติการอันสำคัญอันเป็นต้นเรื่องแต่เพียงอย่างเดียว
* 2. ต้องมีตัวละครที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในท้องเรื่องแต่เพียงตัวเดียว
* 3. ต้องมีจินตนาการหรือมโนภาพให้ผู้อ่านคล้อยตามไปด้วย
* 4. ต้องมีพล๊อตหรือการผูกเค้าเรื่องให้ผู้อ่านฉงนหรือสนใจ
* 5. ต้องมีความแน่นหรือเขียนอย่างรัดกุม
* 6. ต้องมีการจัดรูป ลำดับพฤติการณ์ให้มีชั้นเชิงชวนอ่าน
* 7. ให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์หรือความรู้สึกอย่างใดอย่างนึง
ชนิดของเรื่องสั้น
การเขียนเรื่องสั้น แยกเป็นประเภทต่างๆได้ดังนี้
* 1. ชนิดผูกเรื่อง (plot Story) คือเรื่องสั้นที่มีโครงเรื่องซับซ้อนและจบลงในลักษณะที่ผู้อ่านคาดไม่ถึง
* 2. ชนิดเพ่งเล็งที่จะแสดงลักษณะของตัวละคร (Character Story) คือเรื่องสั้นที่เน้นตัวละครเป็นใหญ่หรือเน้นให้ตัวละครเป็นผู้เล่าเรื่อง หรือดำเนินเรื่อง โดยต้องการแสดงลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งของตัวละครเป็นสำคัญ
* 3. ชนิดถือฉาก เป็นสำคัญ (Atmosphere Story) คือ เรื่องสั้นที่ผู้เขียนบรรยายฉากหรือสถานที่หรือแห่งนั้น ทำให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึก ทำให้ผู้เกิดความรู้สึกคล้อยตามอารมณ์และและความคิดของตัวละคร
* 4. ชนิดที่แสดงแนวความคิดเห็น (Theme Story) คือ เรื่องที่ผู้เขียนมีอุดมคติหรือต้องการชี้ให้เห็นข้อคิดหรือสัจธรรมของชีวิต
ฐะปะนีย์ นาครทรรพ ได้เสนอการเขียนเรื่อสั้นไว้ว่า “พึ่งประสบการณ์อ่านให้มาก นึกอยากเขียน เพียรฝึกฝน สนใจมนุษย์ จุดหมายเด่น เฟ้นภาษา หาเชื้อเพลิงและสำเริงอารมณ์”
วิธีเขียนเรื่องสั้น
วิธีเขียนเรื่องสั้นให้น่าอ่านชวนให้ติดตามควรมีรายละเอียดต่อไปนี้คือ
เค้าโครงเรื่อง (plot)
คือ การสร้างเหตุการณ์หนึ่งขึ้นมาเริ่มเรื่องและจบเรื่อง การสร้างโครงเรื่องนี้มีหลัก 3 ประการคือ
1 โครงเรื่องต้องมีความสับสนวุ่นวาย มีปัญหาต้องแก้ไข มีการผูกปมที่ซับซ้อน
2. ในการดำเนินเรื่อง จะไม่ราบรื่น หากแต่ต้องมีอุปสรรคทำให้เรื่องสนุก หรือมีเหตุการณ์ที่ทำให้ผู้อ่านรอคอยต่อไป
3. ปมนั้นค่อยๆคลี่คลาย จนถึงจุดสุดยอดของเรื่อง (cli-max) เป็นการจบหรือปิดเรื่อง
ตัวละคร
1. สร้างตัวละครให้สมจริง
2. การแสดงอุปนิสัยของตัวละคร อาจบรรยายหรือเป็นบทที่ตัวละครพูดเอง
3. การแสดงอุปนิสัยของตัวละครต้องเสมอต้นเสมอปลายตั้งแต่เริ่มเรื่องจนจบเรื่อง
4. ตัวละครไม่มากเกินไป
ฉาก
เป็นสถานที่หรือสิ่งแวดล้อม รวมทั้งบรรยากาศต่างๆที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับตัวเรื่อง
1. เลือกฉากให้เหมาะสมกับเรื่อง และดำเนินเรื่องตามบรรยากาศที่ถูกต้อง
2. ผู้เขียนต้องเขียนฉากที่ตนรู้จังดีที่สุด เพราะจะได้ภาพที่แจ่มชัด
บทสนทนา
มีข้อปฏิบัติคือ
1. ไม่พูดนอกเรื่อง
2. เป็นคำพูดนอกเรื่อง
3. เป็นคำพูดง่ายต่อการเข้าใจ เหมาะสมแก่ฐานะของตัวละคร
4. รู้จักหลากคำ ไม่ใช้คำซ้ำซาก
การเปิดเรื่อง
เป็นหัวใจของการเขียนเรื่อง เพราะจะทำให้ผู้อ่านติดตามต่อไปหรือไม่ ขึ้นอยู่กับวิธีการเปิดเรื่อง ซึ่งมีอยู่หลายวิธี คือ
1 สร้างเหตุการณ์หรือการกระทำให้เกิดความสนใจ น่าตื่นเต้น
2. เปิดเรื่องโดยใช้บทสนทนาที่มีถ้อยคำแปลกในความหมายและเนื้อเรื่อง ก่อให้เกิดความอยากรู้อยากเห็น อยากติดตามเรื่องต่อไป
3. เปิดเรื่องโดยการพรรณนา พรรณนาฉาก หรือบรรยายฉากที่ชวนให้ผู้อ่านสนใจ
การดำเนินเรื่อง
ต้องคำนึงถึงคือ
1. ควรดำเนินเรื่องไปสู่จุดหมายโดยเร็ว
2. ปมของเรื่องควรมีความขัดแย้ง 1 แห่ง แล้วค่อยๆคลายปมทีละน้อย สมดังความปรารถนาของผู้อ่านที่รอคอย
การปิดเรื่อง
เป็นตอนที่สำคัญที่สุด ผู้อ่านจะทราบว่าเรื่องจะจบลงอย่างไร ซึ่งเป็นจุดสุดยอดของเรื่อง คือ
1. จบลงโดยที่ทำให้ผู้อ่านประหลาดใจ คาดไม่ถึง
2. จงลงด้วยความสมปรารถนา หรือสิ้นหวังอย่างใดอย่างหนึ่ง
ในการเขียนเรื่องสั้นนั้น จะเลือกเขียนในแนวใดก็ได้ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ ความรู้และอารมณ์ของแต่ละคนที่จินตนาการ ซึ่งมีความแตกต่างกันไป โดยไม่จำเป็นต้องยึดหลักการเขียนเรื่องสั้นเป็นแบบแผนนัก ขึ้นอยู่กับผู้เขียนว่าจะมีแนวคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆขึ้น อันเปรียบเสมือนเอกลักษณ์ของตนเองมากกว่า
ลักษณะเฉพาะของเรื่องสั้น
* 1. เรื่องสั้นจะต้องมีโครงเรื่อง โครงเรื่องคือกลวิธีแห่งการสร้างเรื่องให้สนุกสนาน โดยมีข้อขัดแย้งระหว่างตัวละคร และจบลงด้วยผล อย่างใดอย่างหนึ่ง
* 2. มีจุดมุ่งหมายอย่างเดียว และมีผลสรุปอย่างเดียว
* 3.ใช้เวลาน้อย
* 4. มีตัวละครน้อย
* 5. มีขนาดสั้น ต้องเขียนด้วยการประหยัดถ้อยคำตรงไปตรงมา ขนาดพอเหมาะอยู่ระหว่าง 4,000-5,000 คำ หรืออ่านจบในเวลา 15-50 นาที
* 6. มีต้นบท( Theme) บทเดียวและสร้างความประทับใจอันหนึ่งอันเดียวกันแก่ผู้อ่าน เช่น ให้ผู้อ่านได้รับความประทับใจในเรื่องความหึงของสามี ความดุเดือดของลิงกัดกัน ความเสียสละครั้งหนึ่งของหญิงโสเภณีคนหนึ่ง เป็นต้น
* 7. เป็นเรื่องเกิดจากจินตนาการและสมจริง (แต่ทว่ายังไม่เป็นเรื่องจริงโดยแท้)
* 8. เป็นเรื่องเสนออย่างเทียมละคร(dramatic) และมิใช่เรื่องเล่นแบบ narration หรือไม่ใช่ เป็นอย่างที่เรียกว่าภาษาอังกฤษว่า anecdote คำว่า dramatic แปลว่า acting out ซึ่งหมายถึงการบอกเล่าเรื่องหนึ่งเรื่องใดด้วยการกระทำหรืออากัปกิริยาของ ตัวละคร
* 9. ถ้าจะเทียบกับวิชาพฤกษศาสตร์นั้น ถ้าเราต้องการจะเรียนเกี่ยวข้องกับหน้าที่ของท่ออาหาร ท่อน้ำ เซลล์ เปลือกของกิ่งไม้กิ่งหนึ่ง เราก็จะเฉือนกิ่งไม้มาแว่นหนึ่ง แล้วก็เอามาส่องกล้องดู รัสนิยาย* หนึ่งเรื่อง ก็มีสภาพคล้ายคลึงกับแว่นหนึ่งของกิ่งไม้กิ่งหนึ่งนั้น
* 10. เพื่อให้ได้ใจความในข้อ 9 ชัดเจนขึ้น อาจกล่าวเพิ่มเติมได้ว่ารัสนิยาย ไม่ใช่บทประพันธ์ที่เล่าอุบัติการณ์ในทำนอง ถ่ายทอดเรื่องต่อเรื่อง เหตุการณ์ ต่อเหตุการณ์ ต่อเนื่องกันไปเหมือนคำบรรยายวิชาประวัติศาสตร์หรือการเขียนรายงานการไป เที่ยวประเทศอินโดนีเซีย และเรื่อง “หยาดเหงื่อของพ่อ” นั้น เป็นเรื่องสั้นหรือเรื่องสั้นๆ ก็จริง แต่ไม่ใช่ รัสนิยายเหตุผลที่ข้าพเจ้าใช้ “รัสนิยาย” อยู่ตรงนี้ด้วยอีกประการหนึ่ง คือไม่ให้ เข้าใจผิดว่า เป็นเองสั้นหรือเรื่องสั้นๆ
ความเเตกต่างกันระหว่างเรื่องสั้นและนวนิยาย
* 1. เรื่องสั้นมีข้อจำกัดที่ความยาวของเรื่อง ซึ่งไม่เหมือนกับนวนิยายจะเขียนยาวเท่าใดก็ได้
* 2. เรื่องสั้นนั้น เมื่อต้องบังคับขนาดความยาวเรื่องจึงจะมัวเสียเวลาบรรยายละเอียดพิสดารไม่ ได้ ต้องมีความรวดเร็วตรงไปสู่จุดจบทันที
* 3. แก่นของเรื่อง (Theme) จะมีเพียงแก่นเดียว นอกจากตัวละครน้อยแล้ว ที่เด่นก็เฉพาะตัวแก่นของเรื่องเท่านั้นตัวละครอื่น หรือเหตุการณ์อื่นเป็นเพียงส่วนประกอบย่อยในการผูกเรื่อง
ในการเขียนเรื่องไม่ว่าจะเป็นเรื่องสั้นหรือเรื่องยาว นักเขียนได้ฝึกฝนการเขียนตามประสบการณ์ ความอยากเขียน และจินตนาการ ส่วนทฤษฎีนั้นมีผู้ศึกษารวบรวมขึ้นมาทีหลัง พอจัดเป็นหมวดหมู่ดีแล้วก็มีคนศึกษาตามแล้วนำเอาไปเป็นแบบอย่างในการเขียน ได้ด้วยแบบอย่างของการเขียนอาจมีการแปลกใหม่ออกไปก็ได้ ทั้งนี้ย่อมแปรผันไปตามกาลเวลาสำหรับความรู้เกี่ยวกับเรื่องสั้นพอเป็น สังเขปมีดังนี้
ประเภทของเรื่องสั้น
* 1.ประเภทผูกเรื่อง เน้นการผูกเรื่องเป็นสำคัญ
* 2.ประเภทสร้างตัวละคร เน้นที่ตัวละครเป็นสำคัญ
* 3. ประเภทให้แนวคิด เน้นแนวคิดอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นสำคัญ
* 4. ประเภทสร้างบรรยากาศ เน้นที่การสร้างฉากให้ผู้อ่านคล้อยตามเป็นสำคัญ
ลักษณะของเรื่องสั้นไทย
การเขียนเรื่องสั้นของไทยมีพัฒนาการมาจากการแต่งนิยาย นิทานของไทยแต่เดิม ประกอบกับการรับอิทธิพล ทางแบบอย่างการเขียนมาจากนักเขียนชาวตะวันตก เช่น โอ. เฮ็นรี่ และ กีย์ เดอ โมปัสซังค์ ทำให้เกิดเป็นวรรณกรรมบันเทิงคดีร้อยแก้ว อย่างใหม่ของไทยขึ้นในราวปี พ.ศ. ๒๔๗๒ และนิยมเขียนกันอย่างแพร่หลายในช่วงเวลาระหว่าง พ.ศ. ๒๔๗๒ – ๒๕๑๖ เรื่องสั้นในระยะแรกนี้มีลักษณะสำคัญที่พอจะสังเกตเห็นได้ชัดคือ
* 1.ความยาว เรื่องสั้นมักมีความยาวพอประมาณโดยทั่วไปนิยมกำหนดความยาวของเรื่องสั้นจาก เวลาที่อ่านคือภายในระยะเวลา 5 – 50นาที หรือจากจำนวนคำประมาณ 2,000 – 12,000 คำ
* 2.โครงเรื่อง (plot) เรื่องสั้นควรมีโครงเรื่องเดียว และเป็นโครงเรื่องง่ายๆ ไม่ซับซ้อนเพราะมีข้อจำกัดในเรื่องความยาว โครงเรื่องที่ดีควรประกอบด้วยข้อขัดแย้ง (conflict) อุปสรรค (obstacles) และการต่อสู้ (struggle)
* 3.แก่นเรื่องหรือแนวคิด (theme) เรื่องสั้นมุ่งเสนอแนวคิดหรือแก่นของเรื่องแต่เพียงข้อเดียว
* 4.ตัวละคร (character) เรื่องสั้นมีตัวละครน้อย โดยเฉพาะตัวละครที่มีบทบาทสำคัญหรือเป็นตัวละครเอก มักมีเพียง 2-3 ตัว เท่านั้น
* 5.บทสนทนา (dialogue) เรื่องสั้นควรมีบทสนทนาที่ใช้ภาษาได้สมจริงสอดคล้องกับตัวละครและสภาพแวดล้อม
* 6.ฉาก (setting) และบรรยากาศ (Atmosphere) ฉากและบรรยากาศ ควรมีความสัมพันธ์กันและควรสอดคล้องกับเนื้อเรื่องและที่สำคัญที่สุดคือต้อง สมจริง
* 7.ตอนจบของเรื่อง (ending) เรื่องสั้นอาจมีจุดจบแบบธรรมดา (satisfying ending) คือ จุดจบเรื่องเป็นไปตามความคาดหมายของผู้อ่าน หรือมีจุดจบเรื่องแบบพลิกความคาดหมาย (twist ending) คือจุดจบของเรื่องมิได้เป็นไปตามที่ผู้อ่านคาดหมายไว้ตลอดเวลาที่อ่าน เรื่องสั้นนั้นตั้งแต่ต้นมาก็ได้
* 8.ความแน่น เรื่องสั้นควรมีความแน่นพอดี หมายถึงต้องมีกลวิธีการทำบทสนทนา การพรรณนาฉาก บรรยากาศและตัวละครให้กระชับรัดกุมและมีประโยชน์ต่อการดำเนินเรื่องมาก ที่สุด
แต่หลังจากปี พ.ศ. 2510 เป็นต้นมาแล้ว เรื่องสั้นของไทยเริ่มมีพัฒนาการที่คลี่คลายขยายตัวไปจากเดิมมากทั้งในด้าน รูปแบบ แนวคิด เนื้อหา และกลวิธีการแต่ง พอจะสรุปได้ดังนี้
* 1.ในด้านรูปแบบ รูปแบบของการเขียนเรื่องสั้นมีวิวัฒนาการเป็น 2 ลักษณะ ที่เห็นได้ชัดคือ
1.1ใช้ “เหตุการณ์” เป็นหลัก
ทำให้มีลักษณะโครงเรื่องแบบฉบับกล่าวคือ ผู้เขียนจะเริ่มต้นด้วยการเสนอปมปัญหาให้ผู้อ่านสงสัย แล้วใช้กลวิธีต่างๆ ดึงความสนใจของผู้อ่านให้ติดตามเรื่อง โดยผู้เขียนจะขมวดปมหรือเขม็งเกลียวปัญหาให้เคร่งครัดขึ้นจนผู้อ่านแทบจะ รู้สึกว่าหายใจไม่ออกหรือลืมหายใจ แล้วจึงค่อยคลายปมนี้ออกและจบเรื่องในแบบหักมุมหรือพลิกความคาดหมาย เพื่อทำให้ผู้อ่านเกิดความประหลาดใจ สนเท่ห์ ตื่นเต้น พิศวง ฯลฯ พร้อมกันนี้ก็เกิดความประทับใจและจดจำเรื่องนั้นๆ เรื่องสั้นลักษณะนี้มักนิยมสร้างโครงเรื่องให้แปลก เหลือเชื่อ เกินความคาดหมาย แล้วดำเนินเรื่องด้วยบทสนทนาที่คมคาย เช่น เรื่อง “ซาเก๊าะ” ของมนัส จรรยงค์ เรื่อง “ตาลยอดด้วน” ของเรียมเอง เรื่อง “สัญชาตญาณมืด” ของ อ.อุดากร เป็นต้น การเขียนเรื่องสั้นแบบนี้ได้รับอิทธิพลจากงานเขียนตะวันตก เช่น กีย์ เดอ โมปัสซัง และ โอ. เฮ็นรี่ นิยมเขียนกันมากในช่วงเวลาระหว่าง พ.ศ. 2472 – พ.ศ. 2516 นักเขียนที่มีชื่อเสียงโงดังในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ ได้แก่ ศรีบูรพา ดอกไม้สด ก.สุรางคนางค์ มนัส จรรยงค์ ยาขอบ ไม้เมืองเดิม เรียมเอง อิศรา อมันตกุล เสนีย์ เสาวพงศ์ อิงอร สุวัฒน์ วรดิลก วิลาส มณีวัต นิตยา นาฏยสุนทร อาจินต์ ปัญจพรรค์
1.2 ใช้ “ความคิด” หรือ “อารมณ์” เป็นหลัก
เรื่องสั้นชนิดนี้มักดำเนินเรื่องด้วยการพรรณนาหรือบรรยายความคิด ความรู้สึกของผู้เขียนไปเรื่อยๆ จนกว่าผู้เขียนจะรู้สึกว่าความรู้สึกนึกคิดทั้งปวงของเขาหลั่งไหลออกมาจนหมด สิ้นแล้วและพอแก่ความต้องการแล้วเขาก็จะหยุดเขียน ลักษณะการเขียนเช่นนี้ทำให้เรื่องสั้นแนวใหม่บางเรื่องไม่มีตัวละครและ บทสนทนาเลย มีแต่บทพรรณนาของผู้เขียน ทั้งนี้เป็นเพราะว่าผู้เขียนเรื่องสั้นประเภทนี้มักจะมุ่งแสดงความคิด หรือสื่อความหมายและความรู้สึกของตนไปยังผู้อ่านมากกว่าจะมุ่งเสนอเรื่องราว หรือลำดับเหตุการณ์ในเรื่องให้ต่อเนื่องเป็นเหตุเป็นผลต่อกันตั้งแต่ต้นจนจบ ตามลักษณะการวางรูปแบบของเรื่องสั้นแบบเดิม หรือกล่าวอีกอย่างได้ว่านักเขียนเรื่องสั้นแนวใหม่นี้มักจะให้ความสนใจกับ เนื้อหามากกว่ารูปแบบนั่นเอง เรื่องสั้นในแนวเรื่องแบบใหม่จึงมีรูปแบบการขึ้นต้นเรื่องและจบเรื่องเป็นไป ตามความพอใจของผู้เขียน ซึ่งส่วนใหญ่มักจะไม่สอดคล้องกับความคิดของผู้อ่าน เมื่อเป็นเช่นนี้จึงมีผลทำให้นักอ่านส่วนหนึ่งไม่สนใจอ่านเรื่องสั้นที่มี รูปแบบใหม่ เพราะอ่านแล้วบางคนก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องไร้สาระ เนื่องจากนักเขียนบางคนพรรณนาแต่อารมณ์ส่วนตัว จนทำให้ผู้อ่านรู้สึกเหมือนแอบอ่านบันทึกความในใจของใครสักคน ขณะเดียวกันผู้อ่านบางคนมีความรู้สึกลึกลับซับซ้อนต่อสิ่งที่เขาพบเห็นใน สังคมมากเกินไป จนผู้อ่านไม่สามารถติดตาม “ความรู้สึกหรือความคิดอันลึกซึ้ง” ของผู้เขียนได้ นอกจากนี้ก็อาจเป็นเพราะว่านักเขียนเรื่องสั้นรุ่นใหม่บางคนไม่นิยมชี้นำ ทางออกหรือมีข้อสรุปให้ผู้อ่าน หากแต่นิยมทิ้งปัญหาไว้ให้ผู้อ่านคิดหาคำตอบและแนวทางแก้ไขเอาเอง เป็นต้น
นักเขียนที่มีชื่อเสียงในการเขียนเรื่องสั้นตามแนวนี้ได้แก่ ไพบูลย์ สุวรรณกูฏ ในเรื่อง “ส้มป่อยดอกเหลือง” นิคม รายยวา ในเรื่อง “คนบนต้นไม้” นิเวศน์ กันไทยราษฎร์ เรื่อง “คนสีเหลือง” ภักดี ริมมากุลทรัพย์ ในเรื่อง “มิติที่สี่ของบาป” วิทยากร เชียงกูล ในเรื่อง “ถนนสายที่นำไปสู่ความตาย” สุชาติ สวัสดิ์ศรี ในเรื่อง “รถไฟเด็กเล่น” ธงชัย สุรการ ในเรื่อง “และน้ำนั้นย่อมชะตลิ่ง” วิวัฒน์ รุจิทิฆัมพร ในเรื่อง “จำเลยมนุษย์” วัฒน์ วรรลยางกูร ในเรื่อง “ความในใจของกระดูกจระเข้” อัศศิริ ธรรมโชติ ในเรื่อง “ขุนทอง…เจ้าจะกลับเมื่อฟ้าสาง” เป็นต้น
2.ในด้านแนวคิด แนวคิดที่ปรากฏในเรื่องสั้นไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพของสังคม กล่าวคือ ในระยะที่สังคมไทยยังมีการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชและประชาชนที่มีการ ศึกษาสูงยังมีเป็นจะนวน้อยนั้น เรื่องสั้นไทยส่วนใหญ่ในระยะแรกนี้ มักมีแก่นเรื่องแสดงความรักบ้าง แสดงความเชื่อที่งมงายไร้สาระบ้าง หรือแสดงความเชื่อเรื่องกรรมตามหลักของศาสนาพุทธบ้าง ฯลฯ แต่หลังจากที่ไทยเปลี่ยนการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยในปี พ.ศ. 2475 และประชาชนส่วนใหญ่มีการศึกษาสูงขึ้นและมีเศรษฐกิจดีขึ้นตามนโยบายของรัฐบาล แล้ว แนวคิดที่ปรากฏในเรื่องสั้นของไทยก็เริ่มเปลี่ยนแนวจากการสะท้อนแนวคิด เกี่ยวกับเรื่องส่วนตัวมาเป็นการสะท้อนเกี่วกับเรื่องส่วนรวมมากขึ้น เช่นการสะท้อนปัญหาสังคมหรือการแสดงผลกระทบของการแสดงออกแก่ประชาชนมากยิ่ง ขึ้น แนวคิดในเรื่องสั้นก็พัฒนาไปถึงขั้นปลุกเร้าความคิดของผู้คนให้รับรู้ปัญหา บ้านเมืองและชักชวนให้ร่วมมืร่วมใจกันต่อสู้เพื่อสร้างสรรค์สังคมที่ดีกว่า เดิม แนวคิดดังกล่าวนี้จะเห็นได้ชัดจากเรื่อง คนบนต้นไม้ ของนิคม รายยวา เรื่อง ขุนทอง…เจ้าจะกลับเมื่อฟ้าสาง ของ อัศศิริ ธรรมโชติ เรื่อง ความในใจของกระดูกจระเข้ ของวัฒน์ วรรลยางกูร เรื่อง นาน้ำฟ้า ของสถาพร ศรีสัจจัง เรื่อง แก้วหยดเดียว ของศรีดาวเรือง เรื่อง บ้านเราอยู่ในนี้…ซอยเดียวกัน ของ วาณิช จรุงกิจอนันต์ ฯลฯ
นอกจากนี้ นักเขียนบางคนยังนิยมสะท้อนแนวคิดตามหลักปรัชญาของตะวันตกไว้ในเรื่องสั้น อีกด้วย เช่น ลาวคำหอมสะท้อนแนวความคิดแบบธรรมชาตินิยม (Naturalism) ไว้ในเรื่อง ฟ้าโปรด อัศศิริ ธรรมโชติ สะท้อนแนวคิดแบบสัจนิยม (Realism) ไว้ในเรื่อง เมื่อเย็นย่ำ ของวันอันร้าย วิทยากร เชียงกูร สะท้อนแนวความคิดแบบอัตถิภาวะนิยม (Existentialism) ไว้ในเรื่อง ถนนสายที่นำไปสู่ความตาย เป็นต้น
3.ในด้านเนื้อหา เนื้อหาของเรื่องสั้นก็มีการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพของสังคมอีกเช่นกัน กล่าวคือ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 แล้วเรื่องสั้นส่วนมากมักมีเนื้อหาแสดง “กิจกรรมทางสังคมและการเมือง” ซึ่งเป็นกิจกรรมส่วนรวมของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศมากกว่ามีเนื้อหาแสดง “กิจกรรมส่วนตัวของชนชั้นสูง” ซึ่งเป็นชนส่วนน้อยในประเทศ เช่น เรื่องสั้นในชุด “ฟ้าบ่กั้น” ของ “ลาวคำหอม” เรื่องสั้นชุด “เฒ่า” ของมนัส จรรยงค์ เรื่องสั้นชุด “ขุนเดช” ของสุจิตต์ วงษ์เทศ เรื่องสั้นชุด “ขุนทอง…เจ้าจะกลับเมื่อฟ้าสาง” ของอัศศิริ ธรรมโชติ เรื่องสั้นชุด “ก่อกงทราบ” ของไพฑูรย์ ธัญญา และเรื่องสั้นชุด “อัญมณีแห่งชีวิต” ของอัญชัน เป็นต้น
สำหรับแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องสิทธิและความเสมอภาค ซึ่งเป็นอุดมการณ์สำคัญของ “คณะราษฎร์” นั้น นอกจากจะทำให้สตรีเกิดความคิดที่จะเรียกร้องสิทธิเสมอภาคในสังคมแล้ว ยังมีผลทำให้เนื้อหาของเรื่องสั้นมีการเปลี่ยนแปลงแนวจากเรื่องที่สะท้อน ความรักแบบคลุมถุงชนมาเป็นเรื่องที่ให้เสรีภาพในการเลือกคู่ครองแก่สตรีเป็น อย่างมาก จนบางครั้งถึงกับกำหนดให้ฝ่ายหญิงเป็นฝ่าย “เกี้ยว” ผู้ชายก่อนก็มี เช่น เรื่อง “คนเมืองหลวง” ของ ไพโรจน์ สาลีรัตน์ เป็นต้น
4.ในด้านกลวิธีการเขียน เรื่องสั้นแนวใหม่มีกลวิธีการเขียนที่พัฒนาไปจากเดิมหลายประการ เช่น
* 1.กลวิธีการสร้างตัวละคร ตัวละครในเรื่องสั้นแนวใหม่จะมีลักษณะเปลี่ยนภาพพจน์ตัวละครเอกของเรื่องั้น แนวเก่าจากที่เคยเป็นคนเก่งกล้า สามารถเข้าใจตนเองและผู้อื่นได้ทะลุปรุโปร่ง กลายเป็นภาพพจน์ตัวละครเอกที่มีลักษณะค้านหรือไม่ก็ขบถกับตนเอง หรือที่เรียกว่า Anti-hero ดังเช่น ตัวละครเอกในเรื่อง “ถนนสายที่นำไปสู่ความตาย” ของวิทยากร เชียงกูล ที่ค้นพบความเหลวไหลไร้สาระของการมีชีววิตจึงเลือกที่จะคิดฆ่าตัวตายด้วยการ กระโดจากสะพานสูง แต่ขณะที่เขากำลังจะกระโดดลงมานั้น เขากลับพบว่าคนอื่นๆ ที่เป็นบรรดา “ไทยมุง” อยู่ข้างล่างของสะพานกำลังใช้ความกระหายใคร่รู้ในชะตากรรมของตัวเขาเองเป็น เครื่องบังคับให้ตัวเขา “ต้องกระโดด” ลงมา ดังนั้นเพื่อให้คนอื่นๆ ที่คิดเอาเปรียบต่อการตายของเขสได้พบกับความผิดหวัง “ตัวละครเอก” จึง “คิดขบถ” ต่อตัวเองและสังคม (คนที่มามุงดู) ด้วยการเลือกที่จะตัดสินใจ “ไม่ฆ่าตัวตาย” แทน เป็นต้น
ส่วนกลวิธีการเสนอตัวละครนั้น ผู้แต่งนิยมใช้วิธีการที่เรียกว่า Untitle-hero คือ ผู้แต่งจะไม่บอกให้ผู้อ่านทราบตั้งแต่ตอนต้นเรื่องว่าตัวละครเป็นใคร มาจากไหนและจะไปไหน แต่จะให้ผู้อ่านรู้มากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อติดตามอ่านว่าตัวละครกำลังจะทำอะไรที่ไหน เมื่อไร อย่างไร เช่น “เรื่องคนบนต้นไม้” ของ นิคม รายยวา เป็นต้น
* 2.กลวิธีการดำเนินเรื่อง จะใช้กลวิธี “ย้อนกลับสู่อดีต” และ “เดินทางไปสู่อนาคต” เพิ่มเข้ามาพร้อมกับกลวิธี “ย้อนกลับไปกลับมา” (Flashback) เช่นเรื่องความในใจของกระดูกจระเข้ ของวัฒน์ วรรลยางกูร
* 3.กลวิธีการทำบทบรรยาย บทสนทนา การแสดงความคิดมีลักษณะดึงเอาจิตใต้สำนึกของตัวละครมาตีแผ่ ทำนอง “เปิดเผยตัวเอง” (Self – Revelation) มากขึ้น สิ่งที่ “ถูกเอามาบรรยาย” นั้นเป็นวิธีการวิเคราะห์ถึงแรงกระตุ้นและปฏิกิริยาโต้ตอบของอารมณ์ประเภท ต่างๆ ทำนองคล้ายกับเป็น “คำสารภาพ” หรือ “การแอบมองเรื่องของคนอื่นๆ” (Voyeurism) มักใช้วิธีการปล่อยให้ภาษาของจิตใต้สำนึกพรั่งพรูออกมา (Stream of Consciousness) หรือออกมาในลักษณะของ Monologue คือตัวละครพูดกับตัวเอง ส่วนบทสนทนาที่เคยใช้ “เลขนอก เลขใน” กำกับ ก็เปลี่ยนมาใช้วิธี “การบรรยายบทสนทนา” แทน
* 4.กลวิธีการจบเรื่อง นิยมใช้วิธีการจบเรื่องแบบชีวิตจริง กล่าวคือ เป็นวิธีการจบเรื่องโดยผู้แต่งยังไม่ได้เฉลยวิธีการแก้ปัญหาที่ได้สร้างไว้ ตอนต้นเรื่อง แต่จะปล่อยให้อ่านคิดหาคำตอบเอาเอง วิธีการจบเรื่องแบบนี้จึงเป็นวิธีการที่เปิดโอกาสให้ผ่านได้ขบคิดแก้ปัญหา หรือจินตนาการเรื่องต่อได้ตามใจชอบ
ส่วนประกอบของเรื่องสั้น
1. แก่นเรื่อง
คือ แนวความคิดหรือจุดสำคัญของเรื่องที่ผู้แต่งมุ่งจะสื่อให้ผู้อ่านทราบ แต่เนื่องจากเรื่องสั้นมีขนาดจำกัด เรื่องสั้น จึงมีแก่นเรื่องเพียงแก่นเดียว หรือมุ่งสะท้อนแนวคิดของผู้แต่งเพียงประการเดียว เช่น ชี้ให้เห็นความแปลกประหลาดเพียงเรื่องเดียว หรือแสดงอารมณ์อย่างใดอย่างเพียงอย่างเดียว หรือแสดงชีวิตในแง่มุมที่แปลกเพียงแง่เดียว หรือเผยทัศนะของผู้แต่งเพียงข้อเดียว เป็นต้น
2. โครงเรื่อง
คือเค้าโครงเรื่องที่ผู้แต่งกำหนดไว้ก่อนว่าจะแต่งเรื่องไปในทำนองใด จึงจะสามารถดึงดูดความสนใจของผู้อ่าน ให้ติดตามเรื่อง อย่างตื่นเต้นและกระหายใคร่รู้ไปได้ตลอดทั้งเรื่อง โครงเรื่องที่มีลักษณะดังกล่าวนี้ จำเป็นต้องอาศัยกลวิธีการผูกปม (Complication) การคลายปม(Denouement) และการหน่วงเรื่อง (Suspense) ตลอดจนกลวิธีการเปิดเรื่อง การปิดเรื่องและกลวิธี การดำเนินเรื่องที่ดีของผู้แต่ง และกลวิธีการผูกปมที่ดีนั้นจะต้องประกอบด้วยข้อขัดแย้ง (Conflict) อุปสรรค (Obstacles) และการต่อสู้ (Struggle) ด้วย อย่างไรก็ตาม เรื่องสั้นที่ดีควรจะมีโครงเรื่องง่ายๆ ไม่ซับซ้อนเพียงโครงเรื่องเดียว เพราะมีข้อจำกัดในเรื่องความยาว
3. ตัวละคร
คือผู้แสดงบทบาทสมมุติตามที่ผู้แต่งกำหนด โดยทั่วไปผู้แต่งมักกำหนดให้ตัวละครในเรื่องสั้นมีน้อยตัว เพราะเรื่องสั้นมุ่งแสดงแก่นของเรื่องเพียงแก่นเดียวหรือมุ่งแสดงผลของ เรื่องเพียงข้อเดียว ฉะนั้นเพื่อให้เรื่องดำเนินไปสู่จุดหมายปลายทางได้เร็วที่สุด ผู้แต่งจึงนิยมสร้างตัวละครให้มีน้อยตัว คือตัวละครเอกเพียงหนึ่งหรือสองตัว จะมีตัวละครประกอบที่เป็นประโยชน์ต่อเรื่องจริงๆ อีก 2-3 ตัวเท่านั้น
4. บทสนทนา
คือถ้อยคำที่ตัวละครใช้พูดจาโต้ตอบกัน บทสนทนาอาจมีประโยชน์ต่อการเขียนเรื่องสั้น เพราะช่วยทำให้เรื่อง ดำเนินคืบหน้าไปได้โดยผู้แต่งไม่ต้องอธิบายความให้ยืดยาว ช่วยสะท้อนบุคลิกลักษณะเฉพาะตัวของตัวละคร หรือช่วยสร้างบรรยากาศ ของเรื่อง ให้เป็นไปตามธรรมชาติ และพร้อมกันนี้ก็อาจช่วยหลีกเลี่ยงความซ้ำซากของการบรรยายไปในตัวด้วยก็จริง แต่ทุกคนก็ต้อง ยอมรับว่าบทสนทนาที่นอกเรื่องย่อมมีผลทำให้เรื่องสั้นดำเนินเรื่องช้าลงและ ทำให้เรื่องขาดเอกภาพได้เช่นกัน ฉะนั้นเพื่อให้การเขียน บทสนทนามีประโยชน์ต่อเรื่องสั้นมากที่สุด ผู้แต่งจึงควรใช้บทสนทนาอย่างประหยัดและใช้ให้ตรงประเด็นของเรื่อง
5. ฉาก
คือสถานที่ที่เกิดเหตุการณ์ในเรื่อง ซึ่งหมายรวมถึงเวลาและสภาพที่แวดล้อมเหตุการณ์นั้นๆ ด้วย ฉากที่สำคัญ ในเรื่องสั้น มักจะมีกล่าวถึงเพียงฉากเดียวเพราะผู้แต่งถือหลักว่า “ยิ่งใช้เหตุการณ์ สถานที่ และเวลาในเรื่องน้อยเท่าใด ก็ยิ่งมีผลทำให้แนวคิด ของเรื่องชัดขึ้นเท่านั้น” ประกอบกับการเขียนเรื่องสั้นมีข้อจำกัดในเรื่องของขนาด ด้วยเหตุนี้ผู้แต่งเรื่องสั้น จึงมักจะเลือกเอา เหตุการณ์สำคัญของเรื่องมากล่าวอย่างละเอียดเพียงเหตุการณ์เดียว พร้อมกันนี้ก็กล่าวถึงระยะเวลาที่เกิดเหตุการณ์ในเรื่อง ด้วยช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้น
6. บรรยากาศ
คือ อารมณ์ต่างๆ ของตัวละครที่เกิดจากประสาทสัมผัสทั้ง 5 และมีอิทธิพลทำให้ผู้อ่าน เกิดอารมณ์คล้อยตาม ไปตามด้วย การสร้างบรรยากาศจำเป็นต้องอาศัยรายละเอียดจากส่วนประกอบอื่นๆ ของเรื่องด้วย เช่น สิ่งของเครื่องใช้ สีหน้า ท่าทาง เครื่องแต่งกายและบทสนทนาของตัวละครตลอดจน เครื่องประกอบฉาก เช่น แสง สี และเสียง เป็นต้น เพราะสิ่งแวดล้อมเหล่านี้จะทำให้ตัวละครและผู้อ่าน เกิดอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ผ็แต่งต้องการได้ เรื่องสั้นที่ดีจะต้องมีฉากและบรรยากาศที่สมจริง และที่สำคัญคือทั้งสองสิ่งนี้จะต้องสัมพันธ์กันและต้องสอดคล้องกับ เนื้อเรื่องด้วย โดยทั่วไป ผู้แต่งเรื่องสั้น จะถือว่าบรรยากาศเป็นส่วนประกอบที่สำคัญอย่างหนึ่งของฉาก เพราะมีส่วนช่วยทำให้ผู้อ่านเข้าใจเรื่องราว ได้ดียิ่งขึ้น ดังนั้นการสร้างบรรยากาศในเรื่องสั้นจึงนิยมทำควบคู่ไปกับ การสร้างฉาก พร้อมทั้งใช้หลักเกณฑ์ แบบเดียวกัน
เทคนิคการเขียนเรื่องสั้น
* 1. ต้องมีการระบายสภาพและบรรยากาศ (Local Colour) หมายถึงการพรรณาภาพอันใดอันหนึ่งเพื่อนำความคิดของผู้อ่าน ให้ซาบซึ้ง ในท้องเรื่อง ให้เห็นฉากที่เราวาดด้วยตัวอักษรนั้นชัดเจน
* 2. การวางเค้าเรื่อง (Plot) มีหลักใหญ่ๆอยู่ สองแบบดังนี้
แบบที่ 1 คือเริ่มนำเรื่องอย่างใดอย่างหนึ่งที่จุด ก. แล้วพาผู้อ่านเกิดความพิศวงตามเส้น ก. ข. โดยจัดเรื่องให้มีความยุ่งยาก เกิด ความฉงนขึ้นทุกที่จนถึงปลายยอดที่ ข. ซึ่งในภาษาการประพันธ์เรียกว่า ไคลแมกซ์ (Climax) และจบเรื่องลงโดยเร็ว ให้ผู้อ่านโล่งใจ เข้า ใจ สะเทือนใจอย่างใดอย่างหนึ่ง และจบลงในจุด ค.
แบบที่ 2 เป็นแบบสองซ้อน คือเริ่มต้นด้วยเหตุการณ์สำคัญอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วย้อนต้นกล่าวถถึงเหตุการณ์สำคัญนั้นว่ามีมูลเหตุเป็นมาอย่างไร จากจุด ก. มายังจุด ข. แล้วดำเนินเรื่องต่อไปยังจุด ค. เช่นเดียวกับแบบ ที่ 1 โดยขมวดปมไปตามระยะทาง ข. ค. สร้างความฉงนสนเท่ห์ จนถึงจุด ค. ซึ่งเป็นไคลแมกซ์ของเรื่อง และจบลงในจุด ง. โดยเร็ว
* 3. การจัดตัวละครและให้บทบาท เรื่องสั้นจะมีตัวละครน้อย จะต้องมีตัวหนึ่งซึ่งเป็นตัวสำคัญของเรื่อง ตัวละครนี้จะต้องมีบทบาทเพื่อ แสดงลักษณะนิสัยอย่างหนึ่งอย่างใด ก่อให้เกิดเรื่องราวขึ้น
* 4. การบรรยายเรื่อง มี 2 วิธี วิธีแรก ให้ข้าพเจ้าหรือผู้เขียนเข้าไปอยู่ในเรื่อง อีกวิธีให้บุรุษที่สาม ได้แก่ ตัวละครแสดงบทบาทของตนเอง เป็นวิธีที่ดีที่สุด
* 5. การเปิดเรื่อง เรื่องสั้นไม่ควรเปิดเรื่องให้อืดอาดยืดยาว มีวิธีเปิดเรื่องดังนี้
5.1 เปิดเรื่องโดยให้ตัวละครพูดกัน 5.2 โดยการบรรยายตัวละคร 5.3 โดยการว่างฉากและการบรรยายตัวละครประกอบ 5.4 โดยการบรรยายพฤติการณ์และตัวละคร 5.5 เปิดเรื่องโดยขมวดแนวคิด วิธีเปิดไม่บังคับตายตัวตามแต่ผู้เขียน
* 6. บทเจรจา หรือคำพูดของตัวละคร (Dialogue) ต้องเขียนให้เป็นภาษามนุษย์พูดกัน และต้องให้เหมาะกับบทบาทและเหตุการณ์ที่เกี่ยว กับตัวละคร
* 7. ต้องมีความแน่น (Compresion) คือพูดให้ตรงไปตรงมา เข้าใจง่าย ไม่ใช้คำฟุ่มเฟือย
* 8. ต้องทำตัวของตัวเราให้ชัดเจน คือก่อนเขียนต้องจินตนาการลักษณะตัวละครให้ชัดเจนก่อน แล้วเขียนตามที่เห็น จึงจะทำให้คนอ่านเห็น ตามด้วย
* 9. การให้ชื่อตัวละครและชื่อเรื่อง การตั้งชื่อตัวละคร ควรตั้ชื่อให้ใกล้เคียงกับชื่อคนจริงๆ ส่วนชื่อเรื่อง ควรพยายามตั้งชื่อเรื่องให้ผู้อ่าน เกิดความอยากอ่าน โดยใช้คำสั้นๆเพียง 2-3 คำ แต่ให้น่าทึ่ง
* 10. การทำบท คือการบรรยายให้ตัวละครแสดงบทบาทเช่นเดียงกับการแสดงละคร ต้องพรรณาถึงกิริยาท่าทาง อาการรำพึงรำพัน ฯลฯ
คัดลอกมาจาก
คลังปัญญาไทย(http://www.panyathai.or.th/wiki/)
เห็นว่า น่าจะเป็นบทความที่มีประโยชน์
ถึงแม้ว่า โดยส่วนตัวจะเชื่อว่า งานศิลปะ(รวมทั้งวรรณกรรม และ เรื่องสั้น)
ไม่ได้มีกรอบที่ชัดเจนขนาดนั้น
ฉะนั้น ผมมองว่า ทุกอย่างที่อ่านมา คือ เป็นแนวทาง แต่ไม่ใช่ข้อกำหนดตายตัว
สามารถ(และควรจะ หาโอกาส)แหกกรอบได้ตลอดเวลาในทุกๆส่วน
ซึ่งแน่นอน อาจจะได้ผล หรือ ไม่ได้ผล
แต่อย่างน้อย ความพยายาม ก็มีคุณค่าในตัวเองของมันอยู่
แล้ว เรื่องสั้นวิทยาศาสตร์ ล่ะ
โดยหลักการแล้ว ก็จะคล้ายกับเรื่องสั้นธรรมดานี่แหล่ะ
เพียงแต่ว่า มีเงื่อนไข มุมมอง และ หลักการทางวิทยาศาสตร์ เพิ่มเติมเข้าไป
มี ตรรกะ แบบที่เป็นวิทยาศาสตร์ มีทฤษฎี มีสมมุติฐาน มีเหตุ มีผลสนับสนุน
(ถึงแม้บางเรื่องจะหักล้าง แนวคิดพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เราคุ้นเคยเสียด้วยซ้ำ)
ประโยคที่เรามักจะเห็นอยู่บ่อยๆเมื่อพูดถึง นิยาย(เรื่องสั้น)วิทยาศาสตร์ คือ
What if (จะเกิดอะไรขึ้น ถ้า …) ซึ่งสามารถกระตุ้น และ ปลุกเร้า จินตนาการ ได้ดีทีเดียว
ได้ความรู้เยอะมากๆและได้ทบทวนความรู้ที่เคยลืมเลือนไปแล้วด้วย
ขอบคุณครับผม