เรื่องสั้นส่งประกวด ในหัวข้อ “พลังงานอนาคต”: ข้าพเจ้า เขา เตียง และเธอ

ข้าพเจ้า เขา เตียง และเธอ
โดย: ตนุภัทร

พลังงาน สิ่งที่ใช้ขับเคลื่อนทุกสิ่งในจักรวาล ไม่มีตัวตนที่จับต้องได้ มีแต่นิยามที่กำกับว่ามันคืออย่างโน้น อย่างนี้ บ้างอยู่ตามสายไฟฟ้า เขาก็เรียกว่าพลังงานไฟฟ้า บ้างอยู่ในน้ำร้อนชงกาแฟ เขาก็เรียกกันว่าพลังงานความร้อน 

     ในตัวของคนเราก็มีพลังงาน แต่สะสมอยู่ในพันธะอิเล็กตรอนที่เชื่อมอะตอมสองตัวเข้าไว้ด้วยกัน นักวิทยาศาสตร์เรียกโมเลกุลนี้ว่า เอทีพี 

     ไม่น่าเชื่อว่าโมเลกุลที่ประกอบด้วยเอ และพีสามตัวหรือสามกลุ่มฟอสเฟตนี้ได้กำเนิดมานานตั้งแต่สิ่งมีชีวิตตัวแรกถือกำเนิดขึ้นบนโลก ยากที่จะเชื่อว่าคนที่เต็มไปด้วยมันสมองใช้โมเลกุลให้พลังงานเดียวกับแบคทีเรีย สิ่งนี้เป็นหลักฐานของวิวัฒนาการ กาลเวลาที่แปรผันก่อให้เกิดสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาจากสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว สิ่งนี้ทำให้ข้าพเจ้ากลัวที่จะคิดต่อไปถึงสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ที่ต้องถือกำเนิดขึ้นในอนาคต มันต้องอยู่รอดได้ดีกว่า สมบูรณ์กว่า แต่ก็คงยังไม่สมบูรณ์แบบ เพราะวิวัฒนาการอิงอยู่บนความไม่แน่นอนของการคัดลอกสารพันธุกรรม หรือแม้แต่สิ่งประดิษฐ์โดยมนุษย์เองก็ไม่มีสิ่งไหนที่สมบูรณ์พร้อม และก็ยากที่จะเทียบกับการเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปผ่านเวลายาวนานนับล้านปีจนยากที่จะจินตนาการถึง

     ทุกกิจกรรมในร่างกายต้องใช้เอทีพีเป็นแหล่งพลังงาน รวมถึงการหดและคลายตัวของกล้ามเนื้อด้วย
     ตอนนี้ขาของข้าพเจ้าปวดระบมอย่างแสนสาหัส ขาที่ต้องใช้ปั่นแป้นเย็นๆที่อยู่ใต้ฝ่าเท้า รอบแล้วรอบเล่า  ไม่มีวันจบสิ้นตราบจนลมหายใจเฮือกสุดท้าย
    ……………

    ข้าพเจ้าไม่รู้ว่าตัวเองเป็นใคร มาจากไหน และต้องทำอะไร

    โลหะผุๆเก่าๆสีเทาแกมเขียวของตะไคร่น้ำและทองแดงจากสนิมเหล็กคือสิ่งเดียวที่ปรากฏอยู่ในสายตา 
    ซักพักหนึ่ง การรับรู้ของประสาทรับสัมผัสต่างๆจึงเริ่มกระจ่างชัด ร่างกายเปลือยเปล่าเอนตัวนอน เบื้องหน้าคือเพดานผุๆ เสียงโลหะกระทบดังก๊องแก๊งสอดรับกับเสียงหึ่งๆดังค่อยสลับกันราวแมลงด้วง กลิ่นและรสเค็มปร่าของเหล็กกระจายอยู่ทุกอณูต่อมรับรสและโพรงจมูก แผ่นหลัง ท่อนแขน ขา และฝ่าเท้าแนบวัตถุเย็นๆ หนังท้องตึงให้ความรู้สึกเหมือนช่องท้องเปิดสู่อากาศภายนอก 

    เวลาผ่านไปเท่าใดไม่ทราบได้ ข้าพเจ้าเริ่มคุ้นชินกับสิ่งแวดล้อม กล้ามเนื้อหลายมัดที่กดกับพื้นผิวของ’เตียง’เริ่มแสดงอาการ ข้าพเจ้าบิดตัวด้วยความปวดเมื่อย กระแสไฟฟ้าแล่นผ่านต้นคอและกระดูกสันหลังเจ็บแปลบ

    ชั่วขณะที่สายตาเอนคลอนตามศีรษะ บางสิ่งได้ปรากฏที่สุดขอบของระยะการมองเห็น สิ่งนั้นทำให้ข้าพเจ้าต้องหันไปดูให้แน่ใจ 
    ภาพของสิ่งมีชีวิตหายใจรวยริน ร่างที่ปราศจากเนื้อ เหลือเพียงหนังห่อหุ้มกระดูก สิ่งมีชีวิตที่ข้าพเจ้าเรียกว่า’เขา’ นอนอยู่บนเตียง ศีรษะหันตรง ตาปิดสนิท ที่หน้าท้องของ’เขา’มีวัตถุสีขุ่นกลวงยื่นยาวจากช่องท้อง เนื้อหนังโดยรอบสิ่งที่เรียกว่า’ท่อ’ ปิดสนิทอย่างประณีต ขนาดของ’ท่อ’ใกล้เคียงกับข้อมืออันผอมบาง 

     ร่างกายของ’เขา’ มิได้อยู่นิ่ง แต่ท่อนขาและเท้ากำลังปั่นแป้นบางอย่างใต้ฝ่าเท้าเป็นวงกลมรอบแล้วรอบเล่าอย่างเอาเป็นเอาตาย ไม่น่าเชื่อว่าร่างกายอันซูบซีดยังมีพลังงานเหลือพอ

     สายตาของข้าพเจ้ามิอาจละจาก’เขา’ได้ ทันใดนั้นเอง เหมือน’เขา’รับรู้ ศีรษะตรงหน้าหันมาสบตากับข้าพเจ้า นัยน์ตาสีดำสนิทไม่แสดงอารมณ์ความรู้สึกใดๆ นิ้วมือขยับพลางชี้มาที่ข้าพเจ้า 

     เสียงของ’เขา’ดังอู้อี้ในลำคอ ข้าพเจ้าส่งเสียงเดียวกันกลับไป เสียงเจือไปด้วยความสงสัย ชั่วขณะข้าพเจ้าสัมผัสถึงความสิ้นหวัง บางทีอาจเป็นความสูญเสีย หรือความหวาดกลัว ไม่รู้แน่ ที่แน่ๆคือเป็นความรู้สึกที่ทุกชีวิตอยากกำจัดทิ้งหรือหนีไปให้พ้นๆ

     ท่อนขาของเขาหยุดปั่นแป้นใต้ฝ่าเท้ากะทันหัน ซี่โครงขยับขึ้นลงอย่างหอบเหนื่อย หายใจเข้าและออกอย่างไม่สม่ำเสมอ นัยน์ตาสีดำสนิทเหมือนหลุมดำที่ดูดกลืนทุกแสงสว่างเข้าไป

     หัว’เตียง’ยกตัวสูงขึ้น ร่างของ’เขา’ไหลลงสู่หุบเหวทางปลายเตียง
     ทันใดนั้น ข้าพเจ้าเริ่มใช้เท้าขวาดันแป้น แป้นทางขวาเคลื่อนลงพร้อมๆกับแป้นทางซ้ายที่ยกขาของข้าพเจ้าขึ้น เริ่มปั่น เสียงจากกงล้อดังหึ่งๆประสมกับเสียงเดียวกันจำนวนนับไม่ถ้วนก่อให้เกิดเสียงดังและค่อยที่ไม่สม่ำเสมอ กล้ามเนื้อขาของข้าพเจ้าหดและคลายตัวรอบแล้วรอบเล่า ไม่รู้ว่าเพราะอะไร ข้าพเจ้าไม่อาจหยุด   บางทีอาจเป็นเพราะข้าพเจ้าไม่อยากเป็นเหมือน’เขา’
     ……………

    พลังงานเคมีจากเอทีพีกลายเป็นพลังงานจลน์ในกล้ามเนื้อที่ขับเคลื่อนแกนของจักรยาน ขดลวดตัดกับสนามแม่เหล็กก่อเกิดกระแสไฟฟ้าที่แล่นตามสายไฟหลายล้านเส้นวกวนเป็นเขาวงกตมุ่งสู่เมืองหลวง 
    ตึกสูงหลายร้อยชั้นยาวจนสุดลูกหูลูกตาเรียงกันนับพันๆตึก แต่ละตึกมนุษย์หลายแสนคนนอนเรียงกันบนเตียงปั่นจักรยานอย่างแข็งขัน เสียงแมลงด้วงดังระงม
     ……………

     “หยุดทารุณสัตว์”
     “หยุดการแก้แค้น”
     “จริยธรรมเป็นของผู้เจริญแล้ว”
     “ปฏิเสธการใช้พลังงานจากสัตว์”
     “รัฐบาลไร้จริยธรรม”
     “ใช้พลังงานทางเลือก”

     แผ่นป้ายประท้วงนับสิบริมถนนใจกลางเมืองชูระนาว สิ่งมีชีวิตรูปร่างแตกต่างกัน บางตัวรูปร่างเหมือนจานคว่ำ บางตัวเป็นทรงกระบอกที่มีแขนออกมาสองข้าง ผู้ประท้วงตะโกนคำขวัญต่อต้านรัฐบาล แต่เสียงรถราพาหนะน้อยใหญ่กลับกลบเสียหมด สิ่งมีชีวิตเดินถนนสองตัวเดินผ่านอย่างไม่ไยดี แต่กลับพูดคุยถึงหนังเรื่องล่าสุด 

      “หนังเรื่องใหม่ พระเอกหล่อมากๆ”
     “จริงดิเคที เราไม่ชอบหนังแนวนี้เท่าไหร่” สิ่งมีชีวิตพูด หน้าเหม่อลอย
      “กอหอ รอเคทีก่อนนะ แป๊ปนึงจ้ะ” สิ่งมีชีวิตที่เรียกตัวเองว่าเคที เดินเข้ากล่องสี่เหลี่ยมดูคล้ายตู้โทรศัพท์สมัยก่อน ‘เธอ’ดึงสายสีดำออกจากเดือยที่ใช้แขวน แล้วเสียบเข้าที่ด้านหลัง
      “อ่า อืม” เคทีครางอย่างมีความสุข กระแสไฟฟ้าแล่นเข้าแบตเตอรี่ในร่างของ’เธอ’

9 ความเห็นบน “เรื่องสั้นส่งประกวด ในหัวข้อ “พลังงานอนาคต”: ข้าพเจ้า เขา เตียง และเธอ”

  1. สรุปสิ่งมีชีวิตยุคใหม่คือหุ่นยนต์หรือเป็นสิ่งมีชีวิตรูปแบบใหม่ครับ ถ้าเป็นหุ่นยนต์ไม่น่าเข้านิยามของสิ่งมีชีวิต(เติบโต สืบพันธุ์ ขยายพันธุ์)

    การใช้พลังงานจากสิ่งมีชีวิตโดยเฉพาะมนุษย์ไม่น่ามีประสิทธิภาพเท่าไหร่ เทียบกับสัตว์ที่มนุษย์เคยใช้กำลังของมันทำงานให้ยังมีประสิทธิภาพสูงกว่า เช่นใช้ช้างลากซุง ใช้วัวสีข้าว

    น่าคิดสมองใช้พลังงานเกือบๆจะครึ่งหนึ่งที่ร่างกายรับเข้าไป(ทางการกิน)

    เคยคิดว่าจะใช้พลังงานจากมนุษย์ เช่นการใช้พลังสมองตอนนอนแต่ก็ดูเหมือนจะไปซ้ำกับเรื่อง เมทริกซ์ และมีอีกเรื่องที่เอาคนแก่ใกล้ตายมาทำเป็นอาหาร(ให้พลังงาน)เลี้ยงดูประชากรโลก จำไม่ได้แล้วว่าเรื่องอะไร

    หรือการที่สิ่งมีชีวิตยุคใหม่จะรับพลังงานจากทางอื่นโดยตรงเช่นสังเคราะห์แสงเอง เหมือนกับเรื่องของเจ้า maze น่าจะสูญเสียพลังงานระหว่างกระบวนการน้อยกว่า

    แต่อย่างไรก็ตามเครื่องอำนวยความสะดวกอื่นๆก็ยังต้องใช้พลังงานอยู่ดี

    โลหะผุๆเก่าๆสีเทาแกมเขียวของตะไคร่น้ำและทองแดงจากสนิมเหล็ก <–ทองแดงจากสนิมเหล็กคืออะไรครับ ทองแดงมีสนิมสีเขียว

    กลิ่นและรสเค็มปร่าของเหล็ก<— ไม่เคยชิม เคยแต่ดมสนิมเหล็กกลิ่นมันเหมือนเลือดสดมากๆ (เลือดสดก็มีสนิมเหล็กเยอะหนิ)

    ไม่ได้อธิบายว่าใครจับ หรือบังคับให้คนทำตามท้องเรื่องด้วยวิธีใด แต่ทำให้นึกถึงการใช้แรงงานทาสอย่างชาวยิว ของนาซี

    เป็นเรื่องที่แหวกดีครับ

  2. จุดเด่นของเรื่องนี้เลย คือ การประชดประชันเสียดสี
    (ในตอนท้ายของเรื่อง)
    ในแง่วิทยาศาสตร์จริงๆ อาจจะไม่ค่อยเข้มข้นเท่าไร
    เช่น รายละเอียดของการใช้ พลังงาน เพราะมีวิธีอื่นที่(น่าจะ)สูญเสียพลังงาน(waste)น้อยกว่านี้

    แวบแรกที่ผมอ่าน คือ matrix

    การพยายามเล่นกับอารมณ์ช่วงแรก ได้น่าสนใจดี แต่พอโดนบีบด้วยพื้นที่(มั้ง)ก็เลยดูไม่ค่อยเต็มที่เท่าไร

    เรื่องเลยดูเหมือนถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน
    คือ ส่วนอารมณ์ เหงา สิ้นหวัง กับ ส่วนเสียดสี ประชดประชัน
    ซึ่งน่าสนใจดี

    ใช้พื้นที่ส่วนแรกค่อนข้างเยอะ แต่โดนพื้นที่ส่วนที่สอง(ซึ่งสั้นกว่ามากๆ) ตี แล้วชนะไปเลย
    พอผมอ่านจบ ผมเลยเกิดอารมณ์แปลกๆ ซึ่งบอกไม่ได้ว่ามันคืออะไร

  3. การเชื่อมต่อระหว่างส่วนแรกกับส่วนที่สองยังไม่สมบูรณ์ การส่งต่ออารมณ์ไปในส่วนที่สองน้อยไปนิดนะครับ ทำให้เหมือนกับอ่านเรื่องสองเรื่องที่ไม่เกี่ยวกัน ตอนผมอ่านส่วนที่สองเลยรู้สึกอารมณ์ร่วมไม่ค่อยมี ส่วนท้ายกลายเป็นส่วนที่พยายามอธิบายการกระทำในส่วนแรกที่ไม่ค่อยน่าสนใจสำหรับผม ถ้าผู้เขียนจะละเมียดละไมขึ้นอีกนิดในการเชื่อมสองภาคเข้าด้วยกันก็จะเยี่ยมกว่านี้ เช่นคนที่กลับสบายในเมืองอันศิวิไล ก็คือเธอผู้เป็นที่รักของเขาที่กำลังผลิตพลังงานให้ น่าจะซาบซึ้งกินใจ ได้ใจความ และได้อารมณ์ต่อเนื่องดีกว่า

    เห็นเป็นอย่าไรครับ

  4. ในเรื่องนี้หุ่นยนต์กลายเป็นอารยธรรมใหม่ที่เกิดจากวิวัฒนาการ โดยการสร้างสรรค์ด้วยมนุษย์ แต่หุ่นยนต์ก็ต้องผ่านการพัฒนาของตัวเอง บางอย่างก็ไม่มีเหตุผลหรือมีปรัสิทธิภาพมากพอทั้งๆที่ศักยภาพของหุ่นยนต์นั้นคงจะทำได้ เหมือนมนุษย์ที่มีศักยภาพสูงแต่ก็เต็มไปด้วยการกระทำที่ได้เหตุผล

  5. ชื่อเรื่องโดนใจพอสมควร แต่ไม่ค่อยจะเข้ากับเนื้อเรื่องสักเท่าไหร่ ไซ-ไฟแนวประชดประชันเสียดสีสังคมมีไม่มากนัก แต่เรื่องนี้เขียนได้ดี เหมือนการแก้แค้นมนุษย์ที่เคยแต่เอารัดเอาเปรียบสิ่งมีชีวิตอื่นๆจนวันหนึ่ง ตัวเองต้องถูกใช้เป็นแหล่งพลังงานบ้างก็สะใจดีไม่น้อย หักมุมได้เจ็บแสบ เพียงแต่วิธีการปั่นจักรยานเพื่อผลิตพลังงานดูล้าหลังไปนิด น่าจะใช้วิธีสร้างพลังงานจากเซลล์มนุษย์เสียเลย ค่อยโหดสะใจกว่าหน่อย

  6. ก็ยอมรับว่าเรื่องนี้ มีภาษาและข้อเท็จจริงบางอย่างต้องปรับปรุงบ้าง แต่สารของเรื่องมันสื่อโดนใจกรรมการเข้าเต็มๆ ครับ

    นัยpommm

  7. ผมชอบเรื่องนี้มากครับ มันเป็น matrix ฉบับ flim noir แบบที่ผลักมนุษย์ไปจนสุดขั้วดีครับ

    อยากให้ลองเปลี่ยนเอาช่วงที่ 2. มาขึ้นเป็นตอนแรก แล้วเอาท่อนแรกมาคั่นก่อนจะถึงฉากหักมุมตอนจบ ปรับเปลี่ยนนิดหน่อยให้รู้สึกว่าพลังงานที่ได้จากการปั่นนั้นจำเป็นสำหรับชีวิตของทั้งคนปั่นและคน(ตัว)รับพลังงาน จะทำให้ความน่าสนใจมีมากขึ้นไปอีกครับ

    เปิดฉากขึ้นมาด้วย “ข้าพเจ้าไม่รู้ว่าตัวเองเป็นใคร…” ให้คนอ่านสับสนไปสักพัก แล้วย้ำว่าที่ปั่น ๆ กันอยู่นั้นเป็นการปั่นที่เอาเป็นเอาตายและมีความจำเป็นมากเพียงใด จากนั้นหักมุมตอนจบให้คนอ่านตกเก้าอี้ จะช่วยย้ำเรื่องให้น่าติดตามขึ้นครับ

    ปล. เรื่องที่คุณ Hoono พูดถึงที่ว่าเอาคนตายมาทำเป็นอาหารคือเรื่อง make room! make room! ครับ เรื่องนี้ผมได้ดูจากวิดีโอ ไม่ได้อ่านจากหนังสือ เป็นเรื่องของอนาคต(จากเนื้อเรื่องคือปี 1999) ที่คนล้นโลก อาหารขาดแคลน รัฐบาลเลยประกาสให้คนแก่ไปฆ่าตัวตายให้มากขึ้น ก่อนตายก็มีการฉายหนังเป็นภาพธรรมชาติ ทุ่งนาป่าเขา มีภาพกวางวิ่งไปมาให้ดูก่อนตาย พระเอกของเรื่องเป็นเพื่อนร่วมห้องของคนแก่คนนี้แล้วตามไปดูจนเห็นว่าเขาเอาศพไปเข้าโรงงานทำอาหารสำเร็จรูป แล้วเอามาแจกจ่ายให้คนกินกันครับ

ใส่ความเห็น