เรื่องสั้นส่งประกวด ในหัวข้อ “พลังงานอนาคต”: แหวนพลังงาน

สี่สิบปีที่แล้วเราเหลือทางเลือกด้านพลังงานไม่มากนัก พลังงานฟอสซิลได้ถูกเผาผลาญไปจนสิ้น มีการหารือในภาคีพลังงานเพื่อหาแหล่งพลังงานใหม่ ในขณะที่ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นจากปรากฏการเรือนกระจก ก่อเกิดปัญหาพื้นผิวดินลดน้อยลงส่งผลต่อพื้นที่เพาะปลูก พื้นที่ป่า และ พื้นที่อยู่อาศัย การสร้างฟาร์มพลังงานเช่นฟาร์มเซลแสงอาทิตย์และฟาร์มกังหันลม ต่างต้องใช้พื้นที่ขนาดใหญ่ซึ่งเบียดเบียน พื้นเกษตร ที่อยู่อาศัย และผืนป่าเหล่านั้น จนเกิดการประท้วงการสร้างฟาร์มพลังงานและเริ่มเรียกร้องให้ทบทวนพลังงานจากโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ขึ้นในหลายภูมิภาค ยังมีการถกเถียงในการใช้พลังงานทางเลือกอื่นๆ เช่นพลังงานคลื่นจากมหาสมุทร พลังงานความร้อนใต้พิภพ แต่ที่สุดแล้วก็ตกลงกันที่พลังงานจาก….วงแหวนพลังงานโคจร

*-*-*-*

หลังจากจรวดหลายพันเที่ยวได้ขนส่งและติดตั้งดาวเทียมแม่เหล็กโบรอนในวงโคจรโลกต่ำ ดาวเทียมโบรอนดวงสุดท้ายของแนววงแหวนพลังงานโคจรก็เข้าสู่ตำแหน่งที่กำหนดอย่างแม่นยำ วงแหวนดาวเทียมแม่เหล็กเหล่านั้นจะโคจรรอบโลกผ่านแกนขดลวดขนาดยักษ์สิบเอ็ดแกนด้วยความเร็วสูงถึงหนึ่งชั่วโมงสี่สิบห้านาทีต่อหนึ่งรอบโลก ซึ่งจะสร้างกระแสไฟฟ้าไหลผ่านแกนขดลวดแจกจ่ายไปตามประเทศต่างๆ ทั้งเจ็ดภูมิภาค

จากนั้นมายามใดที่เราแหงนขึ้นมองท้องฟ้าก็จะเห็นวงแหวนสีเงินสะท้อนแสงอาทิตย์จางๆอยู่หลังม่านเมฆ แม้จะมีบางคนไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว แต่หลายคนก็พึงพอใจที่ได้มองเห็นมัน

*-*-*-*

เสียงเคาะผ่านประตูไม้หนาหนักดังขึ้นทำลายความอึดอัดที่ อัสมาร สัจเดว เลขาธิการสหประชาชาติกับ ดอกเตอร์ แวน็อก แกรนด์ รองเลขาธิการฯฝ่ายความมั่นคงกำลังเผชิญอยู่

“เข้ามาได้” อัสมาร กล่าว หนุ่มผมบลอนท่าทางสุภาพแง้มประตูเข้ามาในห้อง

“ประทานโทษครับ ทางสถานทูตรัสเซียขอให้ท่านรีบตัดสินใจกลุ่มสหภาพโซเวียตกำลังจะเข้าฤดูหนาวอันยาวนาน ทางเกาหลีเหนือก็พึ่งประกาศขู่จะใช้หัวรบนิวเคลียร์หากท่านไม่รีบตัดสินใจ” ผู้ช่วยหนุ่มของอัสมาร พยายามรายงานสถานการณ์ที่น่าอึดอัดนี้อย่างราบเรียบ

“อืม…อืม.. ตอนนี้เหลือเวลาอีกเท่าไหร่” อัสมารถามหนุ่มผมบลอน

“ประมาณยี่สิบนาทีครับ ตอนนี้เหลือสิบเก้านาทีแล้วครับ”

“เหลือเวลาแค่สิบเก้านาที ยากที่จะส่งยานฉุดลากไปทัน” ดร.แกรนด์หันไปมอง อัสมาร

“ออกไปก่อน”อัสมารโบกมือ หนุ่มผมบลอนถอยจากห้องพร้อมปิดประตูไว้อย่างเดิม

“กลัวหรือ..? ” ดร.แกรนด์ถาม อัสมารนิ่งไม่ตอบ ในครั้งหนึ่งเขาเคยออกคำสั่งให้ เครื่องบินเอฟห้าสิบเก้าของนาโต้ถล่มผู้นำเผด็จการในแอฟริกาใต้เป็นเหตุให้มีผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตหลายสิบคน ในครั้งนั้นเขาโดนตำนิอย่างแรง ซึ่งอัสมารยังพอแก้ตัวได้ แต่เมื่อเทียบกับแรงกดดันในครั้งนี้ อัสมารในฐานะผู้นำสูงสุดของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติก็ยากที่จะต้องตัดสินใจเซ็นต์คำสั่งฆ่าผู้บริสุทธิ์โดยตรง

“ความจริงเราต้องพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ” “ใช่แต่เราไม่มีเวลาแล้วอัสมาร” ดร.แกรนด์เตือน

“เราไม่สามารถใช้ขีปนาวุธได้เพราะมันโจ่งแจ้งมากว่านั่นเป็นคำสั่งจากเลขาธิการสหประชาชาติโดยตรง ”อัสมารเหลือบมองนาฬิกา เวลาผ่านไปอีกนาที เขาเกลียดที่ความชราทำให้เขาเชื่องช้า และความเชื่องช้าทำให้เวลาเดินเร็วเกินไป

“เราต้องใช้เครื่องบินรบ”

“หมายถึง จัดฉาก” ดร.แกรนด์เลิกคิ้วเล็กน้อย

“หากเราไม่ทำอะไรซักอย่างจะมีคนตายมากกว่านี้นะแวน็อก”

*-*-*-*

สามสิบนาทีก่อนยาน กราฟแกรม ยานโดยสารขนาดใหญ่ที่บรรทุกผู้โดยสารกว่าร้อยชีวิตได้สูญเสียการควบคุมทะลุวงโคจรระดับกลางผ่านแนวป้องกันทั้ง 3 ชั้น ตรงเข้าสู่แนวศูนย์สูตร อีกสิบเก้านาทียาน กราฟแกรมจะชนเข้ากับแกนขดลวดยักษ์ของระบบพลังงานวงแหวนพลังงานโคจร ด้านทะเลเอเซียแปซิฟิก หากแกนขดลวดยักษ์ถูกชนเสียหายประเทศแถบเอเชียตะวันออก รวมทั้งออสเตรเลียบางส่วนจะสูญสิ้นพลังงานกว่าหกสิบเปอร์เซ็นต์ จะมีผู้คนอดอยากและหนาวตายเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นผลพลักดันให้โรงงานนิวเคลียร์จะถูกเดินเครื่องอีกครั้ง

ห้านาทีต่อมาเครื่องบินเอฟหกสิบเอ็ดติดเครื่องหมายนาโต้สองลำทะยานขึ้นจากเกาะไต้หวัน ซีเจ. ซัมเมอร์ จ่าฝูง กับจอห์นนี่ ลี นักบินอีกลำนำเครื่องโฉบใกล้วงโคจรระดับต่ำ ลีมองผ่านกระจกค๊อกพิตเห็นเครื่องจ่าฝูงของ ซีเจ. บินตัดกับเส้นโค้งขอบฟ้า เหนือขึ้นไปวงแหวนดาวเทียมโบรอนโคจรพาดผ่านเครื่องบินทั้งสองอย่างรวดเร็ว ซีเจ.พยักหน้าตอบ ในไม่ช้าเครื่องเอฟหกสิบเอ็ดก็ทะยานมาถึงแกนขดลวด ซีเจ.นำเครื่องบินอ้อมสนามพลังที่ปกคลุมเขตห้ามบินรอบแกนขดลวดโดยมี ลี บินตามมาติดๆ เมื่อเอฟหกสิบเอ็ดของ ซีเจ.อ้อมผ่านสนามพลังออกมาอีกด้าน ซีเจ. เห็นวัตถุขนาดใหญ่ในจอเรด้ากำลังเคลื่อนที่ตรงเข้าหาแกนขดลวดด้วยความเร็ว 300 ไมล์ต่อชั่วโมง

“เราเห็นยานกราฟแกรมแล้ว” ซีเจ.วิทยุเรียกฐาน

“นี่ฐานรับทราบเปลี่ยน”

“จะให้ทำอย่างไรต่อเปลี่ยน”

“ตอนนี้เป้าหมายอยู่ห่างไปเท่าไหร่”

“เป้าหมายห่างไป 3 นาทีเปลี่ยน”

“ขอให้ใช้รหัสคำสั่ง ปีกแดง” ซีเจ.แปลกใจเล็กน้อย ลีเองก็เช่นเดียวกัน รหัสปีกแดงหมายถึง สถานการณ์การก่อการร้ายขั้นรุนแรงให้ทำลาย ขณะที่ซีเจ.กำลังแปลกใจอยู่นั้น ลีได้วิทยุเข้าหา ซีเจ.

“หัวหน้า มีวิทยุเรียกเข้ามาจากกราฟแกรม” ลีว่า

“มีอะไรหรือลี”

“ช่องสมัครเล่น!..หัวหน้าต้องฟังเอง”

“สำคัญหรือเปล่า”

“มาก” ลีตอบห้วนๆ ซีเจ.เปิดวิทยุช่องสมัครเล่นนั้นทันที

“ผมกัปตันยานกราฟแกรม…ได้โปรดช่วยเราด้วย มันเป็นเหตุสุดวิสัย”

“คนร้ายมีกี่คน”ซีเจถามกลับไป

“ไม่มีครับ ลูกเรือพร้อมผู้โดยสารร้อยสิบสองคน .. มันเป็นอุบัติเหตุ”

          “ไม่มีคนร้ายหรือ” ซีเจย้ำ

“ไม่มีครับ..ได้โปรด”

ซีเจ. ย้ำรหัสปีกแดง ย้ำรหัสปีกแดง” เสียงจากฐานแทรกเข้ามา

“ขอเวลาก่อนครับ”

“ไม่มีเวลาแล้ว ซีเจ. คุณต้องทำตามคำสั่งเท่านั้น”

“หัวหน้า” ลีเรียกเข้ามา

“ หัวหน้าต้องยิงเพื่อเปลี่ยนทิศทาง โอเคไหม”

“ถ้าหวังจะยิงยานกราฟแกรมเพื่อจะเปลี่ยนทิศทางของยาน ทันทีที่มิสไซด์กระทบลำยานมันจะระเบิดจนฉีกตัวถังของยานออกแต่ไม่สามารถเปลี่ยนทิศทางของยานได้ นอกจากจะยิงมันให้ระเบิดกระจุยไปเลย” ซีเจเตือน

“รหัสปีกแดง กัปตันซีเจ ปฏิบัติเดี๋ยวนี้” เสียงสั่งจากวิทยุสื่อสารย้ำเตือน

“แล้วหัวหน้าจะทำอย่างไร” ลีวิทยุแทรกเข้ามา ซีเจ.เหลือบตาขึ้นหนึ่งครั้งเหมือนชั่งใจ

“ยิง” ซีเจตอบอย่างหนักแน่น

“ไม่นะ หัวหน้า”

เป้าถูกล็อค มิสไซด์สองลูกพวยพุ่งจากใต้ปีกของเอฟหกสิบเอ็ดที่ซีเจขับทะยานเข้าสู่เป้าหมายฉับไว ซีเจ และลีเชิดหัวเครื่องตีวงหลบออกมา เกิดเสียงระเบิดกึกก้อง เศษชิ้นส่วนปลิวว่อนไปทั่ว ดาวเทียมแม่เหล็กโบรอนที่โดนมิสไซด์จากเครื่องบินของซีเจดวงหนึ่ง แฉลบออกจากวงโคจรด้วยความเร็วสูงกระเด็นพุ่งชนส่วนหางของยานกราฟแกรมเสียงดังสนั่น ตัวถังด้านข้างยานกราฟแกรมยับย่นในทันที ยานกราฟแกรมเริ่มเอียงไปอีกทางและกำลังเบนห่างออกจากแนวเดิม

“เหลือเชื่อ ..มันได้ผล”ลีร้อง

ยานกราฟแกรมทะยานห่างจากแนวชนออกไปเรื่อยๆ ในที่สุดยานกราฟแกรมก็พ้นแนวชนแกนขดลวดได้อย่างเฉียดฉิวและพุ่งตัวลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกเบื้องล่าง ทันทีที่น้ำทะเลอันราบเรียบถูกชำแรกโดยยานขนส่งกราฟแกรมเบาะอากาศอัตโนมัติของยานก็กางตัวรองรับยานอย่างฉับพลัน ส่วนดาวเทียมโบรอนดวงนั้นหลังจากพุ่งชนยานกราฟแกรมก็ตกไปในมหาสมุทรอีกฝากหนึ่ง

*-*-*-*

คืนนี้ท้องฟ้าแจ่มใส เจซี.เหม่อมองแสงจันทร์ส่องตัดกับเงาวงแหวนพลังงานที่ยังคงโคจรบนท้องฟ้า

“ใช่ แหวนนั่นมันยังอยู่ดี” เสียง ผู้คุมดังทักผ่านลูกกรง ซีเจในชุดเรือนจำหันตามเสียง

“สวัสดีหัวหน้า” ลี ตามผู้คุมเข้ามา ซีเจ.ยิ้มทัก

“เอานี่วันนี้ผมซื้อเค้กมาให้” ลีไสเค้กในกล่องนั้นผ่านลูกกรงเข้ามา

“ยังจำได้” ซีเจ รับกล่องนั้นไว้

“จำได้แน่นอน ครบสองปีแล้ว ถ้าไม่ได้หัวหน้า คงมีคนตายกว่านี้อีกเยอะ”

“ตายไปสิบเก้าคน” ซีเจ.ค้าน

“เฮ่อ ไอ้นักการเมืองบ้าพวกนั้นมันทำกับหัวหน้าได้ พวกนั้นก็แค่อยากหาคนรับผิดแทนก็เท่านั้น ได้ข่าวว่าพวกเขาจะขอลดโทษให้หัวหน้าเหลือสามปี”

“แค่นี้ก็ดีแล้ว” ซีเจ.ยิ้ม แล้วหันไปมองแสงจันทร์ผ่านลูกกรง วงแหวนพลังงานยังคงโคจรตัดกับแสงจันทร์อย่างเช่นเคย ลีและผู้คุมหันมองตาม

“ใช่…มันดีมาก”

 

จบ

21 ความเห็นบน “เรื่องสั้นส่งประกวด ในหัวข้อ “พลังงานอนาคต”: แหวนพลังงาน”

  1. เรื่องนี้ส่งเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2554 (คริสมาสอิฟ) ไม่ทราบว่ากรรมการรับไว้พิจารณาหรือเปล่าครับ อาจเลยกำหนด

    อยากให้เป็นเรื่องสั้นวิทยาศาสตร์อ่านสนุกและแนวคิดพลังงานใหม่ๆที่ยังไม่มีใครคิดถึง แต่พลังงานนี้จะเป็นไปได้แค่ไหน ผมคนเขียนยังสงสัยอยู่ ขอคอมเม้นท์ด้วยครับ

  2. นี่เป็นอีกเรื่องที่ผมชอบ(เป็นการส่วนตัว) เพราะมันมีศักยภาพที่น่าจะเป็น hard sci-fi ที่ดีได้
    แต่พอจบ แกนของเรื่องกลับกลายเป็นไปเน้นเป้าหมายเชิงอารมณ์ มากไปหน่อย(หรือเปล่า)

    แถมถ้าตัด “วงแหวนพลังงาน” ออก
    แล้วโยนฉากบ่อน้ำมันใน อิรัก หรือเหตุการณ์อื่น เช่น เครื่องบินโดยสาร จะชนกับเครื่องบินประธานาธิบดี เข้าไปแทน เงื่อนไข แทบจะไม่ต่างกันเลย
    ถึงแม้ผู้เขียนจะพยายามเอาส่วนของ “วงแหวนพลังงาน” มาใช้เป็นตัวแก้ปัญหา แล้วก็ตามแต่ผมก็ยังขัดใจอยู่
    เพราะอะไรหรือครับ

    ก็เพราะตัว “ดาวเทียม” ใน “วงแหวนพลังงาน” นั่นล่ะ ที่มันขัดความรู้สึกผม
    เพราะถ้ามันจะเดินทางเร็วกว่า ความเร็วเชิงมุม มันต้องมีแรงขับ ครับ
    (ไม่ใช่ หนึ่งชั่วโมงสี่สิบห้านาทีต่อหนึ่งรอบโลก แต่จะเป็นแบบว่า เห็นลอยนิ่งอยู่บนท้องฟ้าแบบดาวเทียม แต่จริงๆแล้วมันเคลื่อนที่ไปตามโลก)
    และอีกครั้งด้วยกฎทรงพลังงาน พลังงานที่ใส่เข้าไป (ถึงแม้จะอยู่ในสภาพไร้น้ำหนักก็ตาม)
    เพราะคุณกำลังสร้างเครื่องกำเนิดพลังงานที่ต้องใส่พลังงานเข้าไป มันดูขัดแย้งกันอย่างไรก็ไม่รู้ ครับ
    ถ้าให้มันใช้ความเร็วต่ำ แล้วเคลื่อนตัวไปตามแรงเหวี่ยงของโลก ผมกลับรู้สึกดีกว่า ครับ

    จากที่ว่ามา
    ผมเลยสรุปได้ว่า คุณ HooNo2000 ให้พื้นที่กับ “วงแหวนพลังงาน” น้อยเกินไป
    แต่ไปให้พื้นที่กับ การพยายามแก้ปัญหาและประเด็นว่าด้วยเรื่องคุณค่าของชีวิตมากกว่า

    ทั้งๆที่ถ้าให้พื้นที่กับ “วงแหวนพลังงาน” มากขึ้น คุณสามารถเล่นกับ”ระบบป้องกัน” ได้มากขึ้นด้วย (ซึ่งผมเข้าใจว่า รายละเอียดเหล่านี้ คุณ HooNo2000 เองก็ยังคิดไม่จบ เพราะกรณี “อุบัติเหตุ” คืออะไร ก็ข้ามไปเสียเฉยๆ)

    หลายๆอย่างใน “วงแหวนพลังงาน” ยังมีพื้นที่ว่างอีกเยอะ ครับ
    เช่น ระบบป้องกัน เพราะ อยู่ในอวกาศ จริงๆ มีความเสี่ยงต่อ อุกาบาต, เทหวัตถุ มากมาย รวมถึงดาวเทียมสื่อสารอื่นๆ

    ยิ่งถ้าสามารถสร้างเงื่อนไขให้ได้ว่า “วงแหวนพลังงาน” เอง ทำให้เกิด อุบัติเหตุต่อเครื่องบินโดยสาร
    (สร้างเงื่อนไขขึ้นมาเองเลยครับ จากอุปกรณ์ หรือ ขั้นตอนการทำงานของ “วงแหวนพลังงาน” เองนี่แหล่ะ)

    ผมว่า นี่จะยอดมากเลย
    เป็น hard sci-fi ดีๆ ได้เลย ครับ
    เอาใจช่วยนะครับ

    soft sci-fi มีเยอะแล้ว อยากได้ hard sci-fi เยอะๆ ครับ
    โลภมากไปหน่อยไหมนี้ เรา 😛

  3. ถูกของคุณนิราศเลยครับ เรื่องนี้เป็นผมพยายามคิดรูปแบบของพลังงานใหม่ที่ไม่เคยมีใครคิดมาก่อน ด้วยคิดว่าถ้าเอาพลังงานการหมุนรอบตัวเองของโลกมาเป็นพลังงาน เหมือนลูกข่างไดนาโม ขนาดยักษ์

    แต่ด้วยกว่าจะคิดได้ก็แทบจะหมดเวลาส่งประกวด (ดูไ้ด้จากวันส่งประกวดคือ 24 ธค 54) จึงแทนที่จะเล่นกับวงแหวนพลังงานตรงๆ จึงจับเอาไปเป็นแค่แบล็กกราวน์แทน

    สิ่งที่ผมสงสัยในแหวนพลังงานคือตอนแรกคิดว่ามันน่าจะอยู่ในอวกาศนิ่งๆกับที่แล้วให้แกนขดลวดหมุนรอบแหวนพลังงานก็น่าจะเป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่ชั้นบรรยากาศมันต้องสูงจากผิวโลกมากๆ การสร้างแกนพลังงานน่าจะยากไม่คุ้มกัน แต่พอศึกษาเรื่องชั้นของดาวเทียมถ้าต่ำกว่าชั้นคล๊าก (อาเธอซีคล๊าก ชั้นค้างฟ้า) จะเป็นวงโคจรโลกต่ำ ซึ่งจะหมุนรอบโลก แต่ดูจากดาวเทียมของ ม.มหานครซึ่งเป็นชั้นโคจรโลกต่ำก็ปรากฎว่ามันยังสามารถโคจรรอบโลกอยู่ได้หลายปีโดยไม่มีพลังขับเคลื่อนในตนเอง ก็คิดว่าน่าจะใช้วงโคจรนี้ได้ ลึกๆคิดว่ามันคงจะตกสู่โลกถ้าไม่มีการปรับวงโคจร ดาวเทียมโบรอนตามท้องเรื่องจริงๆก็ควรมีพลังงานขับเคลื่อนของตนเองอยู่บ้างครับ แต่มันจะจริงแท้แค่ไหนผมไม่ทราบเพราะเวลาที่จำกัดหาข้อมูลได้แค่นี้

    เรื่องนี้เขียนส่งทันก็นับว่าโชคดีมากๆแล้วครับส่วนตัวชอบไอเดียที่บรรเจิด หลุดจากกรอบพลังงานเดิมๆได้ แต่ยังไม่ตกผลึกในเนื้องาน แต่เมื่ออ่านงานของ หมอ Zhivago แล้วรู้สึกว่างานของตนเองไม่มีอะไรให้คิดต่อได้มากมายนัก

    ข้อจำกัดของเรื่องนี้คือมันเป็นแนวความคิดที่ใหม่มากๆ ทำให้ต้องเสียเวลาในการหาข้อมูลมากมาย เป็นไปได้ไหมที่ต่อไปชมรมตั้งหัวข้อแล้วให้เวลาคิดกันครึ่งปี ทำเป็นปฏิทินกันไปเลย เช่น ตอนนี้เดือนกุมภาพันธ์ ก็ตั้งหัวข้อสำหรับเดือนกันยายน และตั้งหัวข้อของเดือนพฤศจิกายน มกราคม ต่อเนื่องไปเลยจะได้มีเวลาหาข้อมูลได้มากขึ้นครับ

  4. ปล. ในดาวเทียมมีแค่แม่เหล็กเท่านั้นครับไม่มีกลไกใดๆ คือให้แม่เหล็กวิ่งผ่านขดลวดแบบไดนาโมมิได้เอาเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไปไว้ในดาวเทียมครับ โดยมีโลกทำหน้าที่หมุนเหมือนลูกข่าง พอแม่เหล็กในดาวเทียมโคจรตัดแกนขดลวดที่ทำเป็นเสาจากพื้นโลกจะเกิดกระแสไฟฟ้าแจกจ่ายไปตามแกนอีกทีครับ

  5. การปรับวงโคจร ต้องมีครับ ไม่งั้นมันจะตก
    แต่มันใช้เฉพาะตอนปรับ
    ไม่ใช่ ใส่พลังงาน(ให้มันวิ่งเร็วๆ)ให้ได้พลังงานออกมา(เพราะมันขัดกับกฎการทรงพลังงาน หรือถ้าจะให้ขัด ก็ต้องสร้างเงื่อนไขขึ้นมาว่ามันขัดได้อย่างไร)

    ถ้าโดยแนวคิดว่า เป็นวงโคจรดาวเทียมที่เคลื่อนไปพร้อมกับผิวของโลก (ใช้แรงเหวี่ยงจากแรงดึงดูด) จะดูมีเหตุผลมากกว่า แต่ถ้าเป็นเช่นนั้น ก็น่าจะเป็นไปได้ว่า ตัว”วงแหวน”เองก็จะเคลื่อนที่ไปในทิศทางเดียวกัน เช่นเดียวกัน ผลก็คือไม่เกิดการตัดผ่านแนวคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า
    และไม่เกิดพลังงานนั่นเอง
    😀

    จริงๆโลกมีแนวแม่เหล็กไฟฟ้าอยู่แล้วนิ เล่นอะไรกับมันได้หรือเปล่า?
    น่าสนุกดี ครับ

    เรื่อง โคลด์ฟิวชั่น โดยส่วนตัว ผมกลับเฉยๆ นะครับ
    เดี๋ยวเข้าไป comment ในนั้นอีกที

  6. ที่คุณนิราศพูดถึงเรียกวงโคจรค้างฟ้า

    วงโคจรประจำที่ (Geostationary Earth Orbit “GEO”)

    เป็นดาวเทียมเพื่อการสื่อสารเป็นส่วนใหญ่ อยู่สูงจากพื้นโลก 35,786 กม. เส้นทางโคจรอยู่ในแนวเส้นศูนย์สูตร (Equatorial Orbit) ดาวเทียมจะหมุนรอบโลกด้วยความเร็วเชิงมุมเท่ากับโลกหมุนรอบตัวเองทำให้ดู เหมือนลอยนิ่งอยู่เหนือ จุดจุดหนึ่งบนโลกตลอดเวลา (เรียกทั่ว ๆ ไปว่า “ดาวเทียมค้างฟ้า”)

    ดาวเทียมจะอยู่กับที่เมื่อเทียบกับโลกมีวงโคจรอยู่ในระนาบเดียวกันกับ เส้นศูนย์สูตร อยู่สูงจากพื้นโลกประมาณ 35,786 กม. วงโคจรพิเศษนี้เรียกว่า “วงโคจรค้างฟ้า” หรือ “วงโคจรคลาร์ก” (Clarke Belt) เพื่อเป็นเกียรติแก่นาย อาร์เทอร์ ซี. คลาร์ก ผู้นำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับวงโคจรนี้ เมื่อ เดือนตุลาคม ค.ศ. 1945

    วงโคจรคลาร์ก เป็นวงโคจรในระนาบเส้นศูนย์สูตร (EQUATOR) ที่มีความสูงเป็นระยะที่ทำให้ดาวเทียมที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็วเชิงมุมเท่า กันกับการหมุนของโลก แล้วทำให้เกิดแรงเหวี่ยงหนีศูนย์กลางมีค่าพอดีกับค่าแรงดึงดูดของโลกพอดี เป็นผลให้ดาวเทียมดูเหมือนคงอยู่กับที่ ณ ระดับความสูงนี้ ดาวเทียมค้างฟ้าส่วนใหญ่ใช้ในการสื่อสารระหว่างประเทศและภายในประเทศ เช่น ดาวเทียมอนุกรม อินเทลแซต ๆลๆ

    http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%94%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A1

    ประเด็นนี้ผมก็คิดก่อนจะเขียนครับ แต่เมื่อมองจากมุมมองโลกมันจะอยู่นิ่งๆ ทำให้มันไม่ตัดกับแกนขดลวด หากจะสร้างแกนขดลวดลอยอยู่ในอวกาศนิ่งๆแล้วให้ดาวเทียมโคจรตัดผ่าน ก็ยากจะส่งพลังงานคืนสู่โลกครับ เป็นปัญหาของผู้เขียนอยู่เหมือนกันครับ

    ปกติผมชอบคุณนิราศวิจารณ์งาน ตรงประเด็น อะไรที่พยายามซ่อนไว้ จะโดนคุณนิราศคุ้ยขึ้นมาเสมอ ตอนนี้ได้คุยกับคุณนิราศแล้วก็ตกผลึกจะเอางานไปปรับปรุงใหม่ครับ ขอบคุณที่วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา

    ปล.ผมว่านิยายวิทยาศาสตร์บางครั้งมันก็มีแนวคิดที่ใหม่มากผิดขนบโดยทั่วไป เป็นที่คลางใจของกรรมการ หากเป็นไปได้ประเด็นสงสัยตรงไหนของกรรมการที่มีต่อเรื่องที่ประกวดจะเปิดโอกาสให้นักเขียนชี้แจงก่อนตัดสินโดยไม่ต้องไปคำนึงถึงขนบการประกวดนิยายทั่วๆไปก็จะดีมากครับ

  7. ขอบคุณ และ ยินดีเป็นอย่างยิ่ง ครับ
    นานๆทีจะได้รับคำชมจากการวิจารณ์คนอื่น
    หวังว่าจะมีส่วนช่วยในการทำให้เกิดนิยายวิทยาศาสตร์ ที่ดีๆ ครับ ผมจะได้อ่านด้วย 😀

    ส่วนเรื่องการเปิดให้มีการชี้แจงอาจจะต้องมองให้ละเอียดนิดหนึ่ง
    1. จะเกิดการโต้เถียงกันเองหรือไม่
    2. ในความเป็นจริง ผู้เขียนมีโอกาสชี้แจงกับผู้อ่านผ่านทางเรื่องที่เขียนเท่านั้น ฉะนั้น การชี้แจงควรเบ็ดเสร็จอยู่ในเรื่องที่เขียน ครับ

  8. ตอบ 1. คงไม่โต้เถียงครับ เพราะถ้าให้ชี้แจงแล้วกรรมการก็เก็บไปพิจารณาเองคงไม่โต้ไปโต้มา
    2.จริงครับ เพียงแต่ผมคิดไปว่าถ้ามันใหม่จนคนอื่นตามไม่ทัน จะด่วนสรุปไปหรือไม่ว่าเป็นไปไม่ได้

    ขอบคุณครับ

  9. ผมคิดว่าเรื่องนี้พูดถึงเรื่องแหวนพลังงานน้อยไป และเน้นไปที่การต่อสู้ที่ผมไม่รู้ว่าสู้เพื่ออะไร
    สงสัยต้องอ่านใหม่อีกรอบ (อ่านมาสามรอบแล้ว 555)

  10. ครับเรื่องนี้ข้อเสียคือให้วงแหวนพลังงานเป็นแค่ background ไม่มีข้อโต้แย้งใดๆครับ เรียกว่างานเผาก็ได้เพราะเรื่องยังตกผลึกดีพอต้องรีบส่ง ส่วนการต่อสู้หรือครับ ไม่ใช่ประเด็น ประเด็นคือทางเลือกของนักบินครับ เลือกทางหนึ่งคือคนในยานขนส่งตาย เลือกอีกทางคือไม่ปล่อยให้คนบนยานตายแต่ทำให้เกิดการขาดแคลนพลังงาน ซึ่งจะมีคนตายอีกเหมือนกัน สรุปคือเลือกทางที่สามยอมให้ตัวเองรับผิดแทน ประมาณนี้ครับ

  11. สรุปอีกนิด เมื่อวานได้คุยกับนักวิทย์ ได้ความว่ามันก็พอจะทำได้แต่ไม่คุ้มเมื่อเทียบกับทางเลือกอื่นๆบนโลกเรานี้ ถ้าเรื่องนี้ไปเกิดบนเงื่อนไขอื่น หรือดาวดวงอื่น ความน่าเชื่อถือของแหวนพลังงานน่าจะดีกว่า เช่นไปบนดาวที่ไม่มีพลังงานทางเลือกอื่น หรือเลือกอย่างอื่นเป็นแหวนพลังงานแทนดาวเทียม ที่ผมกำลังคิดอยู่คือพวกดาวหางครับ

  12. คุณHooNo2000 ครับ
    จริงๆแล้ว พลังงานทางเลือก จะเกิด(ใช้งานจริง)ได้ก็ต่อเมื่อมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ นี่คือความจริงที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่นเมื่อ น้ำมัน มีราคาแพงมากๆ หรือ เมื่อกระบวนการกำจัดฝุ่นคาร์บอน จากการ สันดาปภายใน แพงมากๆ

    รถ cell เชื่อเพลิง หรือ พลังงานไฟฟ้า ยังไม่เกิด เพราะ ราคาน้ำมัน ยังยอมรับได้อยู่
    (hybrid เป็นแค่การลดการใช้น้ำมันเท่านั้น)

    และ technology ส่วนใหญ่ จริงๆแล้วเกิดจากการพัฒนาทางการทหาร (เช่น internet หรือ นิวเคลีย) ฉะนั้น พาหนะ ทางการทหาร ยังคงเป็นสิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงถึง

    โดยส่วนตัวผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับการ “ปลูก” พลังงาน (เพราะมันจะแย่งพื้นที่อาหาร และสุดท้าย การปลูก ก็จะมีต้นทุนอยู่ดี)

    แต่ชอบที่จะเห็น การ”หยิบจับ” สิ่งที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ มาสร้างพลังงานมากกว่า
    (เช่น ก๊าซจากการหมักขยะ, พลังลม, พลังแสงอาทิตย์)
    แนวคิดวงแหวนพลังงาน ก็คล้ายๆแบบนั้น (มั้ง) เหมือนปั่นกระแสไฟ จากการไหลของน้ำ หรือการเกิดของคลื่นในทะเล

    เคยคิดว่า วันๆ เราต้องเดินอยู่แล้ว น่าเอาการ กด และ คลาย ของยางพื้นรองเท้า มาผลิตกระแสไฟฟ้า
    (มีรายการหนึ่งของอังกฤษ เด็กคิดเอาการเคลื่อนไหวของ choke จักรยานไปผลิตกระแสไฟฟ้า ให้โทรศัพท์มือถือ)

    เอ๊ะ มาเรื่องนี้ได้อย่างไร ??

    สรุปคือ ความคุ้มค่าหรือไม่ ในนิยาย คงระบุไม่ได้ เพราะเราไม่รู้ว่า “ต้นทุน” ในสถานะการณ์ตอนนั้น คือเท่าไร?
    จึงน่าจะเหมาเอาว่า สิ่งที่เลือกทำ(ในนิยาย) “คุ้ม” แล้ว(ในบริบทที่กำหนดขึ้น)
    ครับ

  13. คือที่คุยกับนักวิทย์ จริงครับที่เขามองในปัจจุบันเทียบกับน้ำมัน แต่เขาก็มองแบบนักวิทยาศาสตร์คือเขาบอกว่ามันจะมีแรงต้านจากแม่เหล็กไฟฟ้ากลับมาในทิศตรงข้าม ส่วนการหมุนของโลกไม่ค่อยเกี่ยวกับการเหวี่ยงดาวเทียมเท่าไหร่(แต่ผมก็ว่าเกี่ยวนะ เหมือนหวงแหวนดาวเสาร์ทำไมมันอยู่แต่ในแนวศูนย์สูตร) แต่จากที่หาข้อมูลถ้าอยู่ในชั้นโคจรสูงๆไม่ต้องใช้แรงขับมาก (ใช้ไนโตรเจนเหลวก็ขับเคลื่อนได้เป็นสิบปี) แต่ปัญหาคือแกนขดลวด ผมถามว่าใช้คลื่นไมโครเวฟส่งกลับมาได้ไหม คำตอบคือได้ แต่สถานีรับต้องห่างไกลบ้านเรือนผ้คน ซึ่งก็ควรทำ (ดีกว่าใช้สายไฟ)

    แต่ในมุมมองของนักเขียน ผมคิดว่ามันคือการนำเสนอแนวคิดนะครับ แค่ว่าพอมีทางจะเป็นไปได้มันก็ O.K. แล้ว เหมือนจูนเวิร์น เขียนนอติลุส มั่นยังไม่มีเทคโนโลยีเพียงพอตอนที่เขียน และไม่คุ้ม แต่สุดท้ายมันก็เป็นจริงขึ้นมา

    แต่อีกส่วนก็ยอมรับว่าคนอ่านนิยายวิทยาศาสตร์ส่วนหนึ่งคือนักวิทย์ ถ้าเขาอ่านแล้วมันขัดๆก็ทำให้เขาไม่อยากจะอ่าน คือสิ่งที่คุณนิราจและเพื่อนนักวิทย์คนนั้นถกเถียงกับผมคือสิ่งที่จะขัดเกลางานให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น จริงๆก่อนจะเขียนผมน่าจะถามเพื่อนนักวิทย์คนนั้นให้ดีเสียก่อนเสียแต่ว่าตอนนั้นพึ่งรู้จักกันทางเฟซบุ๊คครับ

    รถเซลล์เชื้อเพลิงไฟฟ้าผมว่ามาแน่ เพราะว่ามันง่ายในการพัฒนา มันไม่ต้องพัฒนาเป็นระบบเหมือนพวกพลังงานจากพืช คนไทยมองว่าราคาพืชผลจะได้สูงขึ้น แต่ผมเห็นเหมือนคุณนิราจว่ามันไปแย่งพื้นที่ปลูกพืชอาหาร และจากตรงนี้ผมมองต่อว่า ราคาผลิตผลทางการเกษตรจะสูงขึ้นอย่างแน่นอน ยิ่งมีการรวมกลุ่มกันกำหนดราคาอาหารโลกเหมือนพวกโอเป็กกำหนดราคาน้ำมันด้วยแล้วราคาผิตผลทางการเกษตรจะยิ่งสูงขึ้นไปอีก

    ในเรื่องนี้ผมพยายามมองหาวัตถุดิบในการใช้พลังงานที่คนอื่นยังมองไม่เห็นและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว เหมือนลม เหมือนคลื่น อย่างที่คุณนิราจพูดถึงครับ รองเท้าสร้างพลังงานผมเคยอ่านเจอนะครับเอาไปช๊าตแบตมือถือได้

    ผมว่า hard scifi มันยากส์อย่างนี้มั้งครับคนเลยขยาด เพราะมันต้องมีข้อมูลเพียงพอในระดับหนึ่ง พอจะเป็นไปได้ กว่าผมจะหาประเด็นอะไรเจอมันก็สายเกินจะขัดเกลา แต่ยังรู้สึกดีมากๆที่ได้นำเสนอแนวคิดออกไปและเป็นที่ถกเถียงกันขึ้นมา

  14. “…มันคือการนำเสนอแนวคิดนะครับ แค่ว่าพอมีทางจะเป็นไปได้…” ถูกต้องเลยครับ
    แต่ก็ต้อง cover วิทยาศาสตร์พื้นฐาน เท่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน หรือหากจะขัดแย้งก็ต้อง”สร้าง”เงื่อนไขที่เหมาะสม ซึ่งพอจะเป็นเหตุเป็นผลได้

    เหมือน time machine หรือการเดินทางที่เร็วกว่า(หรือเท่ากับ)แสง หรือรูหนอน
    ซึ่งสิ่งเหล่านี้ยังไม่เกิดขึ้น(ใช้งาน)จริง แต่ละไว้ว่า “ถ้ามันเกิดขึ้นได้ล่ะ”

    การเอาแม่เหล็กวิ่งผ่านขดลวด จะเกิดกระแสไฟฟ้าออกมา แต่ก็จะเกิดสนามแม่เหล็กกลับในทิศทางตรงกันข้าม ถูกต้องแล้ว และพิสูจน์แล้ว เพราะมันมีการใช้จริงอยู่
    (และเป็นการยืนยันกฎการคงพลังงาน) สิ่งที่เราเห็นๆกันอยู่ก็คือ ขดลวดไดนาโม นั่นเอง
    ดังนั้นมันต้องมีการใส่พลังงานเข้าไป เพื่อเอากระแสไฟฟ้าออกมา เช่น ลม หรือ น้ำจากเขื่อน

    ในกรณีวงแหวนพลังงาน ถ้าใช้แรงดึงดูดของโลกเหวี่งดาวเทียมแม่เหล็ก แล้วหาวิธีตรึงวงแหวนพลังงานไว้ได้(ไม่เคลื่อนที่ไปกับผิวโลก) ก็อาจจะเป็นไปได้ (คงต้องลงรายละเอียดกันยาวเหมือนกัน เพราะ คงต้องตั้งคำถาม กับสนามแม่เหล็กที่เกิดขึ้น)

    หรือหากดักจับพายุสุริยะได้ ก็น่าจะเก็บเกี่ยวพลังงานมาใช้ได้ (หรือเปล่า?)

    กรณีส่งพลังงานกลับมาในรูปของ ไมโครเวฟ มีการพูดถึงการมาสักระยะหนึ่งแล้ว
    แต่ผมก็นึกไม่ออกเหมือนกันว่า มันจะเข้มข้นขนาดไหน และ บรรยากาศรอบๆนั้นจะเป็นอย่างไร?

    ฉะนั้น ผมจึงมักจะเลี่ยงเรื่องพวกนี้(สิ่งที่ใช้ technology ปัจจุบัน)
    แต่ไปพูดถึง technology ที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงๆ(จังๆ)มากกว่า เช่นพวก nano
    ยังพอมีพื้นที่ให้เล่นอยู่

    ยานอวกาศที่เคลื่อนที่ด้วย เลเซอร์ หรือ ลมสุริยะ ก็มีการพูดถึงกันไปบ้างแล้ว (และมีการศึกษากันอย่างจริงจังแล้วด้วย บางสิ่งเกิดในห้องทดลองแล้ว)
    ฉะนั้น ผมว่ายิ่งนานไป ก็เหมือนกับว่า “ของแปลกๆ” เหล่านี้จะมีให้เขียนได้น้อยลง
    นอกจากจะเปลี่ยนบริบทของ technology ไปเลย ก็อาจจะเกิดช่วงก้าวกระโดดอีกครั้ง

    เช่นชุดเดินอวกาศที่ไม่ใช่ใช้”สวมใส่” แต่ใช้วิธี”กิน”ลงไปแทน(อาจจะเป็นสารเคมีที่ไปปรับระดับความดันในร่างกาย)ซึ่งถ้าเขียนออกมาตอนนี้ ด้วยบริบทที่เป็นอยู่ตอนนี้ ก็อาจจะขัดใจเกินไปได้
    เพราะนึกไม่ออกว่าจะเปลี่ยนวิธีไปทำไม(ก็ต้องสร้างเหตุผลว่าทำไมถึงมาใช้วิธีนี้แทน ให้ผู้อ่านเข้าใจ)

    ผมกลับมองว่า hard sci-fi มันสนุกตรงนี้แหล่ะครับ
    ตอนเขียนอาจจะไม่รู้ แต่พอเขียนแล้ว ก็เลย “ได้รู้” ไงครับ

  15. โลกมีวงแหวนเป็นภาพที่อลังการตื่นตาตื่นใจดีครับ น่าเสียดายที่ไม่ได้เน้นเรื่องพลังงานที่ได้จากวงแหวนแม่เหล็กโบรอนและไม่ได้บอกว่าทำไมจึงมีคนไม่เห็นด้วยกับการสร้างวงแหวนพลังงานทั้งๆที่ก็เป็นแหล่งพลังงานอย่างดีสำหรับโลก เนื้อเรื่องยังขาดแง่มุมที่น่าสนใจเพราะเป็นเพียงเรื่องของยานกราฟแกรมที่เกิดอุบัติเหตุกำลังจะชนวงแหวนจึงต้องส่งเครื่องบินรบไปทำลายเท่านั้น ไม่เกี่ยวอะไรกับพลังงานอนาคตเลย ควรจะนำเสนอในแง่ที่ว่า เมื่อโลกเกิดวิกฤตพลังงานจึงมีการพยายามสร้างแหล่งพลังงานใหม่ มีการส่งดาวเทียมโบรอนขึ้นสู่อวกาศมากมาย(อธิบายหลักการว่าดาวเทียมโบรอนสามารถสร้างพลังงานได้อย่างไร) โดยยังไม่เปิดเผยว่ามันคืออะไรแล้วค่อยเปิดเผยในตอนจบให้เห็นภาพของวงแหวนล้อมรอบโลกทำให้เกิดภาพที่ยิ่งใหญ่อลังการ หรือนำเสนอในแง่ วงแหวนทำให้เกิดผลกระทบอะไรกับโลกและเกิดอะไรขึ้นกับวงแหวนในท้ายที่สุด

  16. ความเป็นไปได้ของการสร้างพลังงานแบบนี้อาจไม่ใช่ประเด็น เพราะไม่ได้เขียนสารคดี

    ปัญหาอยู่กับการสร้างสิ่งแวดล้อมในเรื่อง อ่านแล้วความต่อเนื่องมันกระโดด อะไรตั้งอยู่ตรงไหน ห่างกันเท่าไร ความบังเอิญที่ดาวเทียมจะกระเด็นไปถูกเป้าหมาย ที่ห่างกันเท่าไรไม่รู้ การใช้ยานรบไปช่วยยานขนส่ง ทำให้คนอ่านเริ่มไม่อินกับเรื่อง คงต้องปรับกันใหม่

    รวมถึงภาษาที่ใช้อาจคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่มันก็ทำลายคุณค่างานเขียนของเรา อย่างเช่น

    “มิสไซด์สองลูกพวยพุ่งจากใต้ปีกของเอฟหกสิบเอ็ด” กริยาพวยพุ่งใช้กับของเหลวครับ ไม่ใช้กับจรวด
    อีกอย่างยานรบที่ผลิต หรือออกแบบใหม่ในในยุค ปี2012เป็นต้นไป อาวุธจะไม่ติดใต้ปีกครับ
    เขาจะเก็บใว้ในลำตัว

    นัย pommm

  17. อ่านเรื่องนี้แล้วผมนึกถึงคำพูดของอดีตประธานาธิบดีฝรั่งเศส ชาร์ล เดอ โกล ที่ว่าการเมืองเป็นเรื่อง “ซีเรียส” เกินกว่าจะปล่อยให้อยู่ในมือของนักการเมือง คือพอมีนักการเมืองเข้ามายุ่มย่ามเรื่องแบบนี้ทีไร อะไรที่มันควรจะเข้าที่เข้าทางก็จะกลายเป็นเละเทะไปเสียหมด (คนพูดก็นักการเมืองเหมือนกัน)

    ประเด็นวงแหวนพลังงานนี่ถ้าขยายความอีกนิดผมว่าจะทำให้เรื่องดูหนักแน่นขึ้นนะครับ เสียดายตรงที่ทิ้งไว้แบบไม่ลงรายละเอียด(เรื่องที่ผมเขียนก็แบบนี้เลย)แล้วหันไปจับเรื่องการเมืองเร็วไปนิด ถ้าค่อย ๆ เล่ารายละเอียดแล้วค่อย ๆ ดึงคนอ่านให้ไปยังประเด็นการเมือง น่าจะทำให้เรื่องมีการต่อเนื่องมากขึ้นและกลมกลืนมากขึ้นครับ

    ขออภัยเช่นกันที่ตอบช้าครับ งานราษฎร์-งานหลวงช่วงนี้แน่นมากครับผม

  18. ต้องมาอยู่แล้วครับ ไม่พลาดแน่นอน มีเรื่องสั้นให้อ่านเพียบแบบนี้พลาดไม่ได้ครับ
    เรื่อง vote งานประกวด คงขึ้นกับกรรมการชมรมนะครับ (ผมเข้าไป comment ไว้แล้วครับ)

ใส่ความเห็น