ชวนคุยเขียนเรื่องไซไฟ: สร้างเรื่องจากไอเดียเปลี่ยนเป็นพล็อต มาแชร์กัน

สวัสดีครับ ไม่ได้เข้ามาคุยนานมาก วันนี้อากาศร้อน แสงแดดสว่างจ้ามากๆ มาชวนคุยเรื่องกลวิธีเขียนเรื่องไซไฟครับ ^^

การสร้างเรื่องจากไอเดียแล้วเปลี่ยนให้เป็น plot เพื่อเขียนเป็นเรื่องสั้นไซไฟ เพื่อนๆที่เขียนเรื่องสั้น นิยายไซไฟ เริ่มต้นอย่างไรกันบ้างครับ?

ได้ไอเดียก่อนแล้วหาตัวละคร จากนั้นก็โยนปัญหาให้ตัวละครซึ่งมีความสัมพันธ์กับไอเดีย แล้วก็เล่าๆ

เพื่อนๆ มีขั้นตอนที่ใช้อย่างอย่าไร มาแชร์กันครับ

ยกตัวอย่าง เช่น ไอเดีย อ่านข่าวนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่ามี multiverse อยู่จริงๆ แต่เราไม่สามารถข้ามไปที่นั่นได้เพราะเวลาในจักรวาลคู่ขนานกับเราเดินช้ากว่า 50 เท่าของเวลาในโลกเรา

มาเขียนเรื่องสั้นแนวไซไฟ (sci-fi)ใน 5 ขั้นตอน (ตอนที่ 2)

สวัสดีอีกครั้งครับ เพิ่งผ่านสงกรานต์มาหลายๆท่านคงได้พักผ่อนกันหนำใจ อากาศในช่วงสงกรานต์ร้อนมากๆ จนไม่อยากทำอะไรนอกจาก อาบน้ำ นอนเล่นอยู่กับบ้าน ส่วนผมก็ใช้เวลาช่วงหยุดยาวสงกรานต์เขียนนิยายที่ค้างอยู่ต่อ สิ่งหนึ่งที่ค้นพบคือเขียนในตอนที่อากาศร้อนนี่ไม่สนุกเลยครับ หัวสมองพาลจะคิดไม่ออกเอา เลยทำได้แต่เขียนไปหยุดไป ท้ายสุดแล้วก็เข็นออกมาได้อีกบทพร้อมส่ง สนพ.

จริงๆแล้วเคยอ่านคำแนะนำจากนักเขียนท่านหนึ่งผู้ชำชองอยู่กับวงการนักเขียน ท่านบอกไว้ว่า นักเขียนต้องสามารถเขียนได้ทุกสภาวะ ไม่ว่าอากาศจะร้อน หนาว รวมถึงไม่อิงเอาอารมณ์อยากเขียนเป็นที่ตั้ง ดังนั้น นักเขียนต้องเขียนทุกวัน ทำให้เป็นนิสัย นั่งโต๊ะตามเวลาเดิมที่วางไว้ ลงมือเขียนและเขียน แม้กระทั่ง ไม่รู้จะเขียนอะไรก็ต้องนั่งที่โต๊ะ พิมพ์มั่วๆเอาก็ได้ สักพักก็จะเขียนออกเอง

อ่านแล้วก็เหมือนจะง่าย แต่ในทางปฎิบัติก็แอบยากนิดนึงเพราะผมก็ยังอดคิดไม่ได้ว่า งานเขียนนิยาย เรื่องสั้น เป็นงานศิลปะแบบหนึ่ง ดังนั้นศิลปินผู้สร้างงานต้องอาศัยอารมณ์ร่วมในงานด้วยจึงจะทำให้เกิดความอ่อนช้อยและความมีชีวิตชีวาในผลงานเขียน

เอาล่ะ เอาล่ะ นอกเรื่องมานานแล้ว แหะๆ มาว่ากันต่อครับ คราวที่แล้วผมค้างไว้ตรง 5 ขั้นตอนในการเขียนเรื่องสั้นไซไฟ ดังนี้

ขั้นตอนการเขียนเรื่องสั้นไซไฟกันครับ

1) หาเรื่องมาเขียน จากการอ่านบทความ ข่าว สารคดี หรือข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์

2) สร้างเรื่องขึ้นมา จากข่าวหรือข้อมูลในข้อหนึ่งที่ได้มา มีวิธีครับ ไม่ยากเดี๋ยวคราวหน้ามาดูกัน

3) คิดโครงเรื่อง ตอนต้น ตอนกลาง และตอนจบ + จุดหักมุม

4) ลงมือเขียน เขียนและเขียน เขียนให้จบนะครับ ทำไมต้องเขียนให้จบ คราวหน้าผมจะมาเฉลย เป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับคนที่อยากเป็นนักเขียน

5) ทิ้งไว้สักห้าวันหรือมากกว่านั้นแล้วค่อยเอามาอ่านดูเพื่อแก้ไข ปรับปรุง

สำหรับตอนที่ 2 นี้ จะคุยในหัวข้อที่ 1 ก่อนครับ

1) หาเรื่องมาเขียน จากการอ่านบทความ ข่าว สารคดี หรือข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์

ก่อนที่จะเขียนเรื่องสั้นแนวไซไฟหรือนิยายก็ตามที เราต้องมีเรื่องที่จะเขียนก่อน คำถามต่อมาคือ จะเขียนเรื่องอะไรดี ? คำถามนี้ตอบไม่ยากครับ แหล่งข้อมูลในการเขียนเรื่องมีอยู่รอบตัว ทั้งในหนังสือพิมพ์ หน้าข่าววิทยาศาตร์ ในอินเตอร์เน็ต วารสารแนววิทยาศาสตร์ (ในบ้านเราก็นิตยสาร Update ครับ เล่มนี้มีข้อมูลเยอะมากสำหรับเอาเป็นแหล่งวัตถุดิบในการสร้างเรื่อง) จากการพูดคุยกับเพื่อนๆหรือคนที่อาวุโสกว่า เราอาจจะลองถามเรื่องมันส์ๆเพื่อดูไอเดียของเพื่อนเราครับ เช่น นายรู้มั๊ยถ้าดวงจันทร์หายไป โลกของเราจะเป็นยังไง แรงดึดดูดจะเท่ากับ 9.8m/sec^2? นายคิดว่าไง … เราก็ปล่อยให้เพื่อนแสดงความคิดเห็นแล้วเราก็จำมาเพื่อเอามาต่อเติมเสริมจินตนาการของเราเข้าไป แค่นี้เราก็ะได้เรื่องมาเขียนแล้วครับ

แหล่งวัตถุดิบอื่นๆเช่น จากข่าวใน TV นิทรรศการวิทยาศาสตร์ของเด็กประถม มัธยม นี่ก็อย่ามองข้ามนะครับ ดูดีๆมีอะไรให้เอามาเขียนเพียบเลย

แล้วจะแปลงข้อเท็จจริง (fact) ที่เราอ่าน ดู ฟัง เป็นสิ่งที่เรียกว่า plot ได้ยังไง? อันนี้มีเทคนิคครับ ไม่ยากอีกนั่นแหล่ะ หลักการง่ายๆเราต้องระลึกถึงกฎเกณฑ์ของการเขียนที่สำคัญข้อหนึ่งครับ “นิยายหรือเรื่องสั้นเป็นเรื่องของตัวละคร อะไรเกิดกับตัวละครล่ะ?  ไม่ใช่เหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น” พูดง่ายๆคือ ตัวละครหลักในเรื่องจะเป็นผู้สร้างเรื่องให้เกิดขึ้นครับ แล้วเจ้าตัวละครหลักที่ว่าจะสร้างเรื่องอะไร? ตอบคำถามข้อนี้ ตัวละครหลักต้องการเปลี่ยนแปลงบางอย่างให้ดีขึ้นหรือเลวร้ายลงแต่อะไรๆมันไม่ง่ายเหมือนไปเซเว่นอีเลเว่น เพราะมันจะต้องมีอุปสรรคขัดขวางตัวละครหลักไม่ให้ทำสำเร็จ ดังนั้นตัวละครหลักของเราก็จะต้องสู้ยิบตาเพื่อให้บรรลุสิ่งที่ต้องการในตอนท้ายให้ได้ (อุปสรรค ไม่ว่าจะเป็น คนรอบกายตัวเอกคู่ปรับ เมีย กิ๊ก หรือคนขายปลาทูหรือความคิดสับสนของตัวเอกเอง สิ่งเหล่านี้เป็นศัตรูกับตัวเอกเราได้ครับ) อุปสรรคที่กล่าวถึงนี้จะทำให้เกิด “เรื่อง” ขึ้นมา ดังนั้นจึงทำให้เรามีเรื่องเล่า(โม้)และเขียน

ตัวละคร+ปัญหา=มีเรื่องให้นักเขียนเล่า ถ้าไม่มีปัญหาก็ไม่มีเรื่องให้เล่าให้อ่านสนุกจนวางไม่ลง

ไม่มีใครอยากอ่านเรื่องของตัวละครที่ประสบความสำเร็จทุกอย่าง ข้อนี้สำคัญครับ… เพราะมันไม่น่าสนใจและน่าเอาใจช่วย ยกตัวอย่างง่ายๆ ผมจะเขียนเรื่อง นายเอกเกิดมา เรียน สอบชิงทุนไปเรียนต่อต่างประเทศ กลับมาสร้างหุ่นยนต์ช่วยชาวนาไถนาได้สำเร็จ ได้ภรรยารวยล้นฟ้า แต่งงานและอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข จบ… น่าเบื่อไหมครับ ? ผมว่าโค ตะ ระ น่าเบื่อเลย

ถ้าคนเขียนเขียนแล้วไม่สนุกกับมันไม่ต้องพูดถึงคนอ่านเลยว่าจะรู้สึกยังไง ^^ เขียนเสร็จลองอ่านดูว่าสนุกไหม ถ้าเราสนุกก็เชื่อได้เลยว่าคนอ่านก็จะสนุก (คนอ่านคนแรกคือ บก. จัดว่าเป็นสิ่งมีชิวิตที่เอาใจและเข้าใจยาก รวมถึงโค ตะ ระเป็นคนละเอียดละออ…ดังนั้นท่าน บก. ต้องการอะไร ชอบแบบไหน บางทีเราก็ต้องตามใจท่าน)

คราวนี้เราจะมายกตัวอย่างจากของจริงกันครับ พอได้ข้อเท็จจริงหรือ facts แล้ว เราจะผูกเรื่องขึ้นมาได้ยังไง คราวหน้ามาต่อกัน ทิ้งท้ายก่อนปิด post ครับ ท่านใดมีวิธีเจ๋งๆก็มาแชร์กันได้ เพราะผมก็ไม่ใช่สุดยอดผู้เชี่ยวชาญอะไรมากนัก ส่วนใหญ่ก็อ่านและสอบถามจากผู้ที่เขียนมามากกว่าตัวผม (เช่นคุณวรากิจ ประธานชมรมของเรา) แล้วนำมาปรับ ประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับสไตล์ของตัวผมเอง ดังนั้นผมยินดีฟังทุก comment นะครับ

สวัสดีครับ 🙂