คู่มือการเขียนนิยายวิทยาศาสตร์(3): ตัวอย่าง hard science fiction : เครื่องสลายสสารหมายเลข 3

เรื่อง: เครื่องสลายสสารหมายเลข 3
โดย: ประยูร สงวนไทร
ประเภท: hard science fiction

วันนี้เป็นวันเปิดตัวสิ่งประดิษฐ์ชิ้นใหม่ของยอดนักประดิษฐ์หญิงชื่อดังของเมืองไทย “ศาสตราจารย์ ด๊อคเตอร์ สิริสรรภางค์ แพรวพราวพิลาศพิไล” ผู้ซึ่งมีผลงานที่น่าทึ่ง น่าอึ้ง มากมายหลายชิ้น

อย่างที่รู้จักกันดีชิ้นหนึ่งก็คือ “เครื่องแปลงเสียงไพเราะโสต หมายเลข 4” เป็นอุปกรณ์ซึ่งนิยมกันในหมู่ผู้ที่ชื่นชมการร้องเพลงคาราโอเกะเป็นชีวิตจิตใจ โดยการสวมอุปกรณ์นี้ไว้รอบคอของเราแล้วร้องเพลง ไม่ว่าปกติแล้วเสียงของเราจะระคายหู ผิดคีย์ หรือเหมือนเสียงกระบือก็ตามที เครื่องมือนี้ก็จะช่วยส่งพลังงานมาบังคับกล่องเสียงของเราให้สามารถเปล่งเสียงร้องเพลงต่างๆได้อย่างไพเราะชวนฟังดังกังวานสดใส ดุจดังนักร้องอาชีพโดยไม่มีผิดเพี้ยน และยังเพิ่มพลังเสียงให้สามารถร้องเพลงต่อเนื่องยาวนานได้หลายๆสิบเพลงต่อกันโดยเสียงไม่มีตกหรือแหบเครือ

แต่เจ้าเครื่องนี้มีข้อเสียอยู่ว่ามีราคาแพงมากและหลังจากใช้แล้ว ผู้ใช้มักมีอาการเสียงแหบแห้ง เจ็บคอ และกล่องเสียงบวม เนื่องจากร้องเพลงเกินขนาดไปหลายวัน แต่กระนั้นชาวคาราโอเกะทั้งหลาย ก็ยังไว้วางใจเรียกหาเช่า เจ้าเครื่องที่ว่านี้ไปใช้งานกันอย่างแพร่หลาย ว่ากันว่าถ้าสถานให้บริการคาราโอเกะไหนไม่มีเจ้าเครื่องมือนี้ให้บริการละก็ สถานที่นั้นถึงกับต้องเจ๊ง ปิดกิจการกันไปเลยทีเดียว

หรือนวัตกรรมอีกชิ้นหนึ่งที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่สนองโครงการรัฐ”ครัวไทย ครัวโลก” ได้อย่างดีนั่นก็คือ “จานชามขจัดสารพิษ หมายเลข2” ชื่อ
ก็บอกแล้วว่าเป็นภาชนะใส่อาหาร เมื่อเราซื้อพืชผักและเนื้อสัตว์จากตลาดทั่วไปมาประกอบอาหาร อาจจะมียาฆ่าแมลงและสารพิษตกค้างเป็นอันตรายอยู่ ถ้าเรามี จาน ชามขจัดสารพิษ ดังกล่าวเพียงแต่นำอาหารที่ปรุงเสร็จแล้วมาใส่ เปิดสวิทช์ใต้จานชาม เครื่องก็จะส่งคลื่นพลังงานมาดึงโมเลกุลของสารที่ไม่พึงปรารถนาออกจากอาหารของเรา นับว่าเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่มีคุณค่าไม่ต้องสงสัย แต่ปัญหาเดียวของ “จานชามขจัดสารพิษ02”ก็คือมันต้องใช้เวลาในการขจัดสารพิษนานไปหน่อยประมาณสองชั่วโมงอาหารจึงจะพร้อมรับประทานได้ รอจนหิวแย่

และในวันนี้เป็นโอกาสดีที่ที่ท่าน ศาสตราจารย์ ด๊อคเตอร์ สิริ แพรวพิลาศพิไล จะเปิดตัวนวัตกรรมใหม่ล่าสุดที่ว่ากันว่า จะพลิกโฉมวงการวิศวกรรมของโลกเลยทีเดียว ท่านด๊อคเตอร์จึงได้ออกจดหมายเชิญ นัดสื่อมวลชนจากทุกสำนักข่าวมาชมการเปิดตัวในเวลาบ่ายสองโมงของวันนี้ (นัยว่าจะได้ไม่ต้องเลี้ยงอาหารกลางวันนักข่าว) ณ ที่บ้านของท่านซึ่งอยู่แถวๆรังสิตอันมีนามว่า “คฤหาสน์แพรวพราวพิลาศพิไล” ท่ามกลางรั้วรอบขอบชิดอันแน่นหนา ทั้งกล้องวงจรปิด เครื่องจับสัญญาณอินฟราเรดจากผู้บุกรุก ยามและสุนัขเฝ้าตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง อีกทั้งห้องทดลองที่อยู่ลึกใต้ดิน ราวกับว่าท่านดร.ได้ซุกซ่อนความลึกลับอันสำคัญยิ่งยวดไว้

เมื่อถึงเวลาที่ได้นัดหมายกันไว้ บ่ายสองโมงตรง ผู้คนในห้องประชุมใต้ดินยิ่งแน่นขนัด ที่ๆจัดไว้ให้สื่อมวลชนและพยาน 50ที่ไม่เพียงพอ แต่ก็ไม่มีใครบ่นว่าอะไรเพราะความอยากรู้อยากเห็น ในความลับที่กำลังจะถูกเปิดเผย ด้วยตาตนเองในอีกไม่กี่นาทีข้างหน้านี้ และแล้วผู้ช่วยของดร.สิริฯทั้งสี่คนก็ปรากฏตัวออกมา พวกเขาช่วยกันเข็นวัตถุชิ้นหนึ่งรูปร่างเป็นแท่งสี่เหลี่ยม สูงประมาณท่วมหัวคน มีผ้าคลุมสีดำห่อหุ้มไว้ มาหยุดตรงที่ที่จัดไว้ต่อหน้านักข่าว ห่างไปจากวัตถุนั้นราวๆ15เมตร ก็มีกำแพงอิฐก่อขึ้นใหม่หนาประมาณหนึ่งฟุตและสูงเท่ากับวัตถุลึกลับใต้ผ้าคลุม และแล้วท่าน ดร.สิริฯ ก็ก้าวออกมาพบกับสื่อมวลชนท่ามกลางเสียงปรบมือต้อนรับ

“สวัสดีค่ะ ทุกๆท่าน ที่ดิฉันนัดพวกท่านทั้งหลายมาที่ คฤหาสน์แพรวพราวพิลาศพิไลของดิฉันในวันนี้ก็เพื่อเป็นสักขีพยานในการแถลงข่าวเปิดตัวสิ่งประดิษฐ์ชิ้นใหม่ล่าสุดของดิฉัน ซึ่งเป็นประดิษฐ์กรรมอันสลับซับซ้อนที่ได้จากการค้นพบทฤษฏีใหม่ซึ่งแหวกข้อจำกัดและกฎเกณฑ์เดิมๆ ทั้งใช้เงินทุนอันมหาศาลในการวิจัยเพื่อสร้างมันขึ้นมา เป็นเวลาหกปีเต็มที่ดิฉันต้องตรากตรำทำงานหนักอย่างลับๆกว่าจะได้มาถึงวันนี้ และแน่นอนเมื่อมีความลับมันก็จะต้องมีผู้ที่อยากจะรู้ความลับนั้น เพื่อจะได้ช่วงชิงโอกาสประดิษฐ์สิ่งนี้ให้ได้ก่อนดิฉัน โดยเฉพาะบริษัทต่างชาติที่มักจะพยายามส่งคนลอบเข้ามาหรือใช้หุ่นยนตร์เครื่องบินเล็กบินสอดแนมบ่อยๆ นั่นเป็นเหตุให้“คฤหาสน์แพรวพราวพิลาศพิไล ต้องมีระบบการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด และห้องทดลองจะต้องถูกสร้างอย่างมั่นคงไว้ใต้ดิน” เธอเว้นวรรคแป็บหนึ่ง มองเข้าไปในตาอันกระหายใคร่รู้ของผู้ฟัง

“เอาละค่ะดิฉันทราบว่าพวกท่านคงกระวนกระวายใจอยากจะเห็นสิ่งที่อยู่ใต้ผ้าคลุมแล้ว ณ บัดนี้ขอเชิญท่านพบกับ “เครื่องสลายสาร หมายเลข3” ได้แล้วค่ะ”

ฉับพลันผู้ช่วยของ ดร.สิริฯ ก็ดึงผ้าคลุมของเจ้าวัตถุลึกลับออกท่ามกลางเสียงฮือฮาของบรรดานักข่าวทั้งหลาย วัตถุที่ปรากฏอยู่ตรงหน้ามีลักษณะเป็นตู้สี่เหลี่ยม มองแล้วคล้ายๆตู้เย็น ขนาดประมาณสิบหกคิว บุรอบๆด้วยโลหะเป็นมันเงาคล้ายๆสแตนเลส ด้านที่อยู่ด้านเดียวกับประตูตู้เย็น มีจอมอนิเตอร์และแผงคีย์บอร์ดติดตั้งแบบฝังเข้าไปในฝาตู้ ส่วนด้านหลังนั้นพบว่าเป็น คอล์ยแกนโลหะสีเงินอมฟ้าที่ถูกพันรอบๆด้วยลวดทองแดง และมีคอล์ยโลหะอย่างนี้ถูกติดตั้งไว้หลังตู้ถึงสิบแกน

ผู้ช่วยทั้งสี่ช่วยกันหันด้านที่มีคอล์ยของตู้ลึกลับนั้นไปยังกำแพงที่เป็นเป้าทดลอง เมื่อท่านดร.เปิดเครื่อง สักครู่ทุกคนก็ได้ยินเสียงครางแบบความถี่ต่ำๆดังขึ้นมา “เอาละค่ะ ระหว่างนี้เครื่องต้องชาร์ทพลังงานไว้ในตัวราวๆสักสองนาที จึงจะพร้อมทำงาน ระหว่างนี้ดิฉันจะอธิบายหลักการอย่างคร่าวๆที่จะพอเข้าใจได้ให้ฟัง”

“ ตามทฤษฎีฟิสิกส์ยุคปัจจุบันเราเชื่อว่า อนุภาคที่มีขนาดเล็กที่สุดของบรรดาสสารต่างๆในจักรวาลนั้น มีการสั่นสะเทือนอยู่ตลอดเวลา อนุภาคแต่ละชนิดจะสั่นสะเทือนด้วยความถี่ที่ไม่เท่ากัน ซึ่งทำให้เกิดเป็นสสารที่มีคุณสมบัติแตกต่างกันมากมายตามที่เราได้รู้จักกันในชีวิตประจำวัน ฉะนั้นถ้าเราสามารถวัดค่าความถี่ของการสั่นของอนุภาคชนิดต่างๆที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นวัตถุแล้ว เราก็จะสามารถสังเคราะห์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีความสั่นสะเทือนเข้าไปหักล้างความถี่ของอนุภาค และทำให้มันสลายตัวไป เหมือนดังคลื่นเสียงที่มีความถี่เท่ากันจะหักล้างกันเอง ทำให้เกิดความเงียบ”

ท่ามกลางเสียงฮือฮาอีกรอบหนึ่ง นักข่าวคนหนึ่งเกิดอดรนทนไม่ได้รีบลุกขึ้นแย่งพูด “ท่านด๊อคเตอร์คะ ขออภัยที่ต้องแย่งถาม แต่ ไม่ทราบว่าแท้จริงแล้วการทำอย่างนั้นจะมีประโยชน์อย่างไร”

“เอาละไม่เป็นไร เพราะดิฉันก็นึกอยู่แล้วว่าคนส่วนใหญ่จะต้องมีปฏิกิริยาไปในทางลบ เพราะยังไม่เข้าใจว่าเครื่องมือนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์อะไรได้บ้าง”

“ลองคิดดูซิว่าในการก่อสร้างและงานทางวิศวกรรมปกติก็มักจะต้องมีงานที่เกี่ยวข้องกับการ ทุบ รื้อ เจาะ ขุด ระเบิด กันเป็นประจำอยู่แล้ว เช่นการรื้อถอนอาคารเก่าที่ชำรุดทรุดโทรมกลางชุมชน การเจาะอุโมงค์ลอดภูเขา ทางรถไฟใต้ดิน หรือทางลอดใต้แม่น้ำ ซึ่งทั้งสิ้นเปลืองเงินทอง เวลา และบางครั้งก็มีอันตราย ต่อชีวิตและทรัพย์สิน ถ้าเรามีเครื่องสลายสสารงานทั้งหลายก็จะง่ายขึ้น อย่างการเจาะอุโมงค์เข้าไปในภูเขาเมื่อเราใช้เครื่องสลายสสารบรรดาหินแข็งๆก็จะสลายกลายเป็นฝุ่นทรายขนย้ายได้สะดวก สำหรับการรื้ออาคารเก่าในเมืองก็สามารถสลายตึกจากชั้นบนลงมาชั้นล่างได้อย่างง่ายดายและปลอดภัย” บรรดานักข่าวและพยานต่างพยักหน้าอย่างเห็นด้วย พอดีไฟเขียวที่หน้าปัดเครื่องกระพริบขึ้น

“อ้อ ได้เวลาพอดี ไฟชาร์ทเต็มแล้ว ดิฉันจะเริ่มทำการสาธิตเดี๋ยวนี้”

ดร.สิริฯสั่งให้ผู้ช่วยหันเครื่องเล็งให้คอล์ยส่งพลังงานตรงกับกำแพงอิฐที่ก่อเอาไว้เพื่อการทดลอง ดร.สิริฯ กดสวิทช์เดินเครื่อง เสียงครางต่ำเหมือนในคราวแรก ทุกคนเงียบกริบราวกับไม่กล้าไม่หายใจ

โดยปราศจากแสงสี หรือเปลวไฟใดๆ กำแพงทดลองกำลังสลายตัวกลายเป็นผงร่วงลงสู่พื้นเหมือนกำแพงทำด้วยทรายที่ถูกน้ำราด ทุกคนจ้องมองตาค้างดูผลการทดลองอันมหัศจรรย์ ไม่ถึงครึ่งนาทีกำแพงหนาๆก็สลายตัวหายไปหมด ผู้ชมต่างปรบมือและส่งเสียงแสดงความยินดี ไฟแฟลชกล้องสว่างวูบวาบอย่างต่อเนื่อง หลายคนคิดว่านี่คือการปฏิวัติอุสาหกรรมแห่งศตวรรษที่21 บางคนก็เข้าไปจับมือแสดงความยินดีต่อยอดนักประดิษฐ์หญิง ท่ามกลางการแสดงความปิติยินดีกันอยู่นั้น หลายคนเริ่มสังเกตว่ามีความสั่นสะเทือนเบาๆเกิดขึ้น ฝุ่นทรายก็กำลังตกลงมารอบๆตัว ใครคนหนึ่งตะโกนออกมา
“ดูซิผนังกำลังละลาย”
อีกหลายคนตะโกน
“หนีเร็ว”

โดยไม่ต้องให้เตือนซ้ำทุกคนก็แย่งกันออกมาจากห้องนั้นโดยไว

ผนังห้องทดลองใต้ดินทุกด้านกำลังละลาย บางคนก็วิ่งเหยียบคนอื่นแต่ไม่มียอมหยุดช่วยใครเพราะแต่ละคนต่างก็พายามเอาตัวรอดก่อน ทันใดนั้นคานที่ค้ำเพดานก็หล่นลงมาทับดร.สิริฯที่ถูกทิ้งไว้รั้งท้ายสุดพอดี ก่อนที่เธอจะสิ้นสติไปเธอยังอุตส่าห์คิดออกว่าความผิดพลาดทั้งหมดนี่มาจากความหลงลืมละเลยเรื่องง่ายๆพื้นๆทางฟิสิกส์แท้ๆ ที่ว่าด้วย”การสะท้อนของคลื่นสลายสสาร” นั่นเอง
…….แล้วทุกอย่างก็ดับวูบไป
……………

หนึ่งความเห็นบน “คู่มือการเขียนนิยายวิทยาศาสตร์(3): ตัวอย่าง hard science fiction : เครื่องสลายสสารหมายเลข 3”

ใส่ความเห็น