นิยายเก่า-เล่าใหม่ : Rendezvous with Rama (ดุจดั่งอวตาร)

โดย เชิงชัย ไพรินทร์

Rendezvous with Rama ชื่อไทย ดุจดั่งอวตาร ตั้งโดย “บรรยงก์”
แปลและทำสำนวนโดย คุณ ธนพงษ์ สิงห์ประเสริฐ

(Rendezvous -แรนเดอวูส์-การนัดพบ สถานที่นัดพบ มักใช้กับหนุ่มสาวซึ่งไม่ได้มาพบกันเพื่อถกปัญหาโซมาเลียหรือเจรจาค่าเงินบาท ครั้นถึงยุคอวกาศก็รวมไปถึงจุดพบกันของอวกาศยานด้วย)

ประเภท Hard sci-fi
แนว ยานอวกาศ-เทคโนโลยี-ชีวิตต่างดาว

นิยายเก่า-เล่าใหม่ฉบับนี้ขอนำ Rendezvous with Rama ของคุณปู่ อาเธอร์ ซี คลาร์ก มาบรรณาการแด่ท่านผู้อ่าน เนื่องเรื่องนี้ยิ่งใหญ่ไม่แพ้ 2001 Space Odyssey (ชื่อไทย 2001 พิชิตอวกาศ-ซึ่งอ่านแล้วน่าจะเป็นมนุษย์ถูกพิชิตในอวกาศมากกว่า) และที่น่าสนใจคือเรื่องนี้โกยรางวัลใส่กระบุงไปถึง 6 รางวัล แต่ยังไม่มีใครทำเป็นหนังให้ดูเสียอย่างนั้น

คุณปู่คลาร์กนำเสนอผลงานนี้เมือปี 1972(พ.ศ.2515)ขณะนั้น มนุษย์ไปทิ้งขยะบนดวงจันทร์แล้ว คอมพิวเตอร์ก็ทำท่าจะเป็น PC อยู่รอมร่อแต่สงครามเย็นยังฮึ่มแฮ่กันไม่หยุด

เรื่องกล่าวถึงคริสต์ศตวรรษที่ 22 (ค.ศ. 2130) ขณะนั้นมนุษยังไปไม่พ้นระบบสุริยะ ได้แต่ตั้งนิคมกันบนดาวอังคาร ดาวพุธ หรือดวงจันทร์ที่มีขนาดใหญ่ วันหนึ่งเรดาร์ตรวจจับอุกาบาตพบว่าดาวพระเคราะห็น้อยดวงหนึ่งมีวิถีโคจรไม่เหมือนใครแถมมีผิวเนียนโดยไม่ใช้นีเวีย

กรรมการหน้าเวทีจึงขนานนามดาวนี้ว่า “รามา” (อวตารหนึ่งของพระนารายณ์ เทพเจ้า สำคัญ 1 ใน3 ของฮินดู) พร้อมส่งยานไปสำรวจ แต่ผลออกมา รามา กลับไม่ไช่ดาวพระเคราะห็น้อย ไม่ใช่ร้านข้าวแกง หรือโรงแรมแต่เป็นอภิยานอวกาศทรงกระบอกเส้นผ่าศูนย์กลาง 20 กม.ยาว 54 กม.(ถ้านำมาวางเชิงสะพานปิ่นเกล้า มันจะยาวไปถึงนครปฐม และกว้าง ไปถึงนนทบุรีครับ )เท่านั้นยังไม่พอ กระบอกยักษ์นี่ควงรอบตัวเองทำให้เกิดแรงโน้มถ่วงเทียมอีกต่างหาก…มันต้องเป็นยานต่างดาวแน่ เพราะมนุษย์คงไม่สามารถทำอะไรขนาดนั้นได้

หากบ้านเราเจอเรื่องนี้ คงจะนั่งเทียนนั่งเถียงกันจนงาไหม้

แต่ประชาคมจักรวาลศตวรรษที่ 22 เขาใช้วิธีตั้งบุคลสมองใสมาเป็นกรรมาธิการเฉพาะกิจแถมสั่งให้ยานเอ็นดีฟเวอร์ตั้งเข็ม(รวมถึงปล้นเชื่อเพลิงจากยานพี่น้องอีก 2 ลำ)มุ่งสู่ “รามา”ทันที และนี่คือที่มาของชื่อ Rendezvous with Rama

ช่วงต้นท้าวความถึงการตรวจอุกาบาตอันตราย และการเดินเรื่องระหว่างคณะกรรมาธิการ(ต่อสู้กันทางความคิด)ในฐานะ Implement group กับลูกเรือเอ็นดีฟเวอร์ในฐานะ Work Group

หากบรรยายเฉพาะด้านกรรธิการ เถียงกันไปมา ผู้อ่านคงจะหลับคาหนังสือแน่ เรื่องจึงเทน้ำหนักไปที่กัปตันนอร์ตันกับลูกเรือเอ็นดีฟเวอร์ โดยปู่คลาร์กนำผู้อ่านเข้าไปพบกับโครงสร้างไตรนิยม(สามง่ามสามมุม 120 องศาครับ) ท่าเทียบยาน บันไดยาวสุดลูกตา ฯลฯ ราวกับได้ลงพบไปด้วยตัวเอง แต่สำหรับนักอ่านแนวแอ๊คชั่น(เดินเรื่องเร็ว-ต่อสู้ชกกันยิงกัน)ก็คงจะอึดอัดสักหน่อย

ที่เป็นอย่างนั้นเนื่องจาก ลุงคล๊ากเดินเรื่องจากเย็นไปร้อน จากเรียบไปสู่โลดโผนครับ คล้ายกับการเรียกน้ำย่อยก่อนอาหารจานหลัก เรียกว่าถ้าปล่อยให้ผู้อ่านทานจืดหรือเผ็ดตลอด ก็คงไม่มีโอกาสได้ดื่มด่ำกับเมนูทั้งชุด ด้วยเหตุนี้ผู้อ่านแนวฟาสต์ฟู๊ดอาจจะทำใจไม่ได้ หรือไม่ได้ทำใจ(แนะนำให้ไปโอสถสภา หาซึ้อกันคนละซองครับ)

เล่าต่อดีกว่า…ยานไม่มีผู้อยู่อาศัยมานานย่อมมีบรรยากาศลึบลับดำมืดครับ แบบว่ามืดมาก-มืดลึก-มืดเย็นยะเยือก แต่ก่อนจะมืดดึกดื่นไปกว่านั้นไฟก็เปิดขึ้น รามา เข้าสู่สภาวะ“กลางวัน”โดยไม่รอให้ไก่ขัน …ทุกคนพากันตื่นตาตื่นใจไปกับที่ราบในกระบอก (เป็นทรงโค้งที่กว้างมากจนเรียกว่าที่ราบได้) มีทะเลสาปคั่นหัว-ท้ายแถมมีเกาะกลางทะเลอีกต่างหาก นอกนี้ยังมีกลุ่มอาคาร (หรือเครื่องจักร) แปลกๆในตำแหน่งทำมุมกัน 120 องศา ลูกเรือหัวใสทำเรือออกไปสำรวจ แต่ก็ไม่สามารถข้ามตลิ่งสูง 500 เมตรที่ท้ายยาน…ลูกเรือหัวใสบางคนใช้จักรยานเวหา ข้ามไปพบกับเครื่องยนต์ทรงเจดีย์ 7 ยอด

เรื่องเร้าใจมากขึ้นเมื่อ รามาตื่นขึ้นมาพร้อมกับการปรากฏตัวของ ชีวกล หน้าตาแปลกๆ ลูกเรือเอ็นดีฟเวอร์จึงมีภาระกิจมากขึ้น ทั้งงานกู้ภัย การวิจัยชีวิตประหลาดๆ การกู้ระเบิดที่ยิงมาจากดาวพุธ รวมถึงกิจกรรมวิ่งหืดขึ้นคอก่อนรามาจะพุ่งออกไปอวกาศส่วนลึก …

ถึงตอนนี้อย่าดูถูกคุณปู่คลาร์กว่าแกนำเสนอยืดยาดนะครับ วลีที่ว่า “ฮื่อฮ่า…กรี๊ด…แล้วก็วิ่งตับแลบ…” ในจูราสสิคพาร์ค II ยังน้อยไปสำหรับบทวิ่งตับแลบในรามา

ผลงาน จากยุค 70 ของอาเธอร์ ซี คลาร์ก นอกจากความละเมียดละไม ตามด้วยตื่นเต้นระคนกับอารมณ์ขันแล้ว เรายังได้เรียนรู้ความเป็นผู้นำของกัปตันนอร์ตัน ผู้สามารถบริหารจัดการทั้งคนและลิงให้ทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ(จะเรียกว่าแนวทำงานแบบ One team No Star ก็พอได้) …และแน่นอน ผู้นำต้องมีทั้งความสุขุม ชาญฉลาด กล้าหาญและอดทนเช่นเดียวกับนายสำเภายุคโบราณ

เป็นที่น่ายินดีและน่าเสียดายที่ Rendezvous with Rama ถูกนำเสนอมาสู่ผู้อ่าน 2 ครั้ง (พ.ศ.2524 และ 2546) ดังนั้นฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 ยังพอหาอ่านได้ หากสงสัยว่ารูปเล่มหน้าตาอย่างไร ทางเราได้แนบภาพมาให้ดูด้วย

ส่วนตัวอย่างหนังทดลองทำ สารมารถดูได้ตามนี้ครับ

แต่สำหรับบ้านเรา อะไรดีๆที่ชาวบ้านชอบ บ้านเรากับไม่ชอบ หรือที่ชาวบ้านเขาไม่ชอบแต่บ้านเราชอบครับ

ภาคอื่นๆของรามาได้แก่
1.Rama II (1989) คลาร์ก เขียนร่วมกับ เจนทรี ลี
2.The Garden of Rama (1991) คลาร์ก เขียนร่วมกับ เจนทรี ลี
3.Rama Revealed (1993) คลาร์ก เขียนร่วมกับ เจนทรี ลี

บ้านเรายังไม่มีโอกาสได้ยลกันในฉบับภาษาไทย ทางคณะผู้จัดทำจึงนำปกและรีวิสั้นๆมาให้ดูกันครับ

ปกนวนิยาย “รามา” ชุดต่างๆ


ฉับบพิมครั้งที่ 1 ที่อังกฤษ รูปภายในรามา มีบันได(ล่างขวา) มีช่องแสง(เส้นสีเหลือง) ส่วนเมืองต่างๆ ทะเลสาปวงแหวนและเกาะอยู่ถัดเข้าไป ภาพนี้ผู้วาดแสดงให้เห็นชั้นเมฆหมอกบางๆลอยอยู่เหนือพื้น แต่ไม่เห็นเครื่องยนต์เจดีย์ 7 ยอดเพราะอยู่ลึกเข้าไปตรงรูดำๆข้างในสุด


ฉบับภาษาอังกฤษ อีกฉบับหนึ่ง เป็นยานเอ็นดีฟเวอร์กับรามามีรอยถลอกเหมือนในเรื่องเปี๊ยบ


ฉบับ ภาษาไทย พิมพ์ครั้งแรก 2524 เป็นเรือ รีโซลูชั่นกำลังแล่นในทะเลสาป มีเกาะแมนฮัดตั้น กับเครื่องยนต์ เจดีย์ 7 ยอด(โผลมาแค่ 4 ยอด)อยู่ด้านหลัง แสดงว่ากำลังแล่นกลับมาทางหัวยาน


ฉบับภาษาไทย พิมพ์ครั้งที่ 2 (2546) รามาลอยดุ่ยๆ อยู่เหนือโลกกับดวงจันทร์แบบไม่มีรอยถลอก

ภาคอื่นๆอันประกอบด้วย


Rama II (1989) คลาร์ก เขียนร่วมกับ เจนทรี ลี (ดุจดั่งอวตาร II ภาพภายในชัดจนมองเห็นเครื่องยนต์เจดีย์อยู่ตรงกลาง)

70 ปีหลังจากเหตุการณ์ครังแรก ยานรามาเข้ามาสูระบบสุริยะอีกครั้ง มนุษย์12 คนถูกส่งเข้าไปสำรวจ และด้วยข้อจำกัดหลายประการ(เตรียมตัวไม่พอ ขัดแย้งกันเอง ทำใจไม่ได้ ฯลฯ) ลูกเรือ 3 คนจึงติดอยู่ในยานรามา ขณะโจนเข้าสู่อวกาศส่วนลึก…พวกเขาจะอยู่อย่างไรในยานขนาดยักษ์(หรือนิคมอวกาศ)ลำนี้


The Garden of Rama (1991) คลาร์ก เขียนร่วมกับ เจนทรี ลี (อุทยานแห่งรามา หรือ หิมพานต์แห่งราม ทำนองนี้แหละ คราวนี้มีสถานีแม่กับยานพี่น้องด้วยครับ)

เรื่องต่อจากดุจดั่งอวตาร II นักบิน 3 คนที่ติดอยู่ในรามาได้ให้กำเนิดสมาชิกใหม่ 5 คน ครั้นผ่านไป 12 ปี รามาพบกับยานแม่(หรืออู่)ที่ระบบซีรีอุส เด็กเหล่านั้นเข้ารับการทดสอบและถูกส่งมายังระบบสุริยะเพื่อกลับมารับคนไป 2,000 คน มนุษย์ส่งยานชื่อพ้องกับกองเรือของโคลัมบัส (นีนา พินตา ซานตามาเรีย)ไปพบ แล้วความขัดแย้งของมนุษย์ก็ก่อหวอดขึ้นแบบที่ว่า แย่งที่ทำกิน แย่งถิ่นที่อยู่ แย่งชู้รักใคร่…ท้ายสุดหัวโจกผู้ก่อความวุ่นวายก็ถูกจัดการ…อะไรประมาณนั้น


Rama revealed (1993) คลาร์ก เขียนร่วมกับ เจนทรี ลี

ภาคสุดท้ายของรามา
นิคมมนุษย์ขยายใหญ่ขึ้นพร้อมกับความขัดแย้งระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง แบบที่ว่า ยามศึกเราร่วมรบ ยามสงบกัดกันเอง แต่แล้ววิถีชาวโลกต้องเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง เมื่อการมาเยือนของชาว ออคโตสไปเดอร์ (ดูน่าจะเป็นแมงมุมปลาหมึก !?!?) ตอนนี้นอกจากมนุษย์ขัดแย้งกันเองไม่พอ ดันไปมีเรื่องกับชาวเผ่าใหม่เข้าอีก…และในที่สุด ยานรามาเข้าเทียบสถานีแม่…ฤาจะรอให้กรรมการนอกเวทีมาตัดสินชะตากรรมของมนุษย์ขี้โมโห…

หนึ่งความเห็นบน “นิยายเก่า-เล่าใหม่ : Rendezvous with Rama (ดุจดั่งอวตาร)”

  1. เรื่องนี้ชอบจินตนาการของปู่ตอนที่พานักบินอวกาศเข้าไปใน RAMA แกบรรยายออกมาได้ได้ยิ่งใหญ่จนทำให้มนุษย์เปรียบเสมือนมดที่อยู่ในอุโมงค์ยักษ์ไปเลยครับ

    ผมอ่านจบไปรอบเดียว เสียดายที่ไม่มีเล่มสอง (แปล) ให้อ่านอีก เดี๋ยวว่าจะเอาเล่มแรกมาอ่านอีกรอบดีกว่า

ใส่ความเห็น