Desire

     ชีวิตทุกชีวิตเต็มไปด้วยความต้องการ

     เงาสีดำพาดผ่านใบหน้าและลำตัวของหญิงสาว ท่อนแข็งสอดแทรกเข้ามาในร่างกายเบื้องล่างของเธอ เป็นความรู้สึกที่อธิบายเป็นคำพูดไม่ได้ เจ็บปวดแต่ก็ไม่ต้องการปฏิเสธ เหมือนเธอรู้อยู่ว่าหลังจากความเจ็บปวดได้เลยผ่านไป ความสุขจะเยื้องกรายเข้ามา แสงสีเหลืองสว่างจากเบื้องบนท่ามกลางพื้นหลังสีดำขุ่นมัวค่อยๆถูกบดบัง เหมือนราหูที่ค่อยๆกลืนกินพระจันทร์จนแสงบนฟากฟ้าสูญไป ใบหน้าของชายหนุ่มปรากฎตรงหน้าเธอ เหงื่อหยดย้อยจากโหนกแก้มลงสู่ใบหน้าของหญิงสาว 
     ร่างกายของเธอสั่นตามจังหวะที่ชายหนุ่มขยับกายเข้าออก ความเจ็บเพิ่มทวีทุกๆครั้งที่เธอถูกสอดใส่ ความเจ็บปวดยังเกิดขึ้นที่แผ่นหลัง พื้นสากกระด้างขูดเนื้อหนังไหล่และบั้นท้่ายอย่างต่อเนื่อง โลหิตสีแดงไหลนอง

     ความสุขเป็นฉากลวงของความต้องการ

    ความสุขเพิ่มขึ้นพร้อมๆกัับความเจ็บปวดแสนสาหัส น้ำกระเซ็นจากใบหน้าของชายหนุ่มผสมกับน้ำที่ไหลจากตาและใบหน้าของเธอ ความร้อนไม่ได้มีเพียงอากาศร้อนอบอ้าวไร้กระแสลมเท่านั้น แต่ยังมาจากอวัยวะภายในร่างกายของทั้งคนทั้งสอง โลหิตสูบฉีดแรง หัวใจเต้นระรัว มือและเท้าเกร็งแข็ง เสียงครางของหญิงสาวบางเบาดังลอดริมฝีปากฉ่ำน้ำ 
     ความรู้สึกของหญิงสาวใกล้ถึงจุดสูงสุด แต่การเคลื่อนไหวของชายหนุ่มยังคงเป็นจังหวะที่มั่นคง โดยไม่มีท่าทีที่จะเปลี่ยน ใบหน้าของเธอร้อนผ่าว ความเจ็บปวดทั่วสรรพางค์กายและน้ำเกลือที่เจือปนในลูกตาทำให้น้ำตาไหลริน
     เสี้ยววินาทีที่เธอมีความสุขที่สุดในชีวิต ร่างของชายหนุ่มได้ผละออกจากจากเธอ ความเย็นวูบผ่านทุกซอกทุกมุมของร่างกายอันเปลือยเปล่าของหญิงสาว เธอเห็นชายหนุ่มถูกลากถูไถไปกับพื้นโดยสิ่งมีชีวิตสองขาในชุดสีดำทะมึน 

     ความต้องการพื้นฐานของสิ่งมีชีวิต

………………………………

     “ผมแค่อยากให้รินรู้ว่าผมรักรินมากแค่ไหน” 

     คำพูดไม่กี่คำวนเวียนซ้ำไปมาในห้วงความคิดของจักรพลทั้งวันทั้งคืนมาได้สองอาทิตย์แล้ว รินคือหญิงสาวที่เขาแอบรักมาตั้งแต่มัธยมปลาย ความจริงคือเขาไม่ได้แค่แอบรัก เพราะเขาเคยซื้อของขวัญวันเกิด เคยเขียนจดหมายบอกรัก และทำให้เธอทุกอย่างที่เธอขอ เพียงแต่เขาไม่เคยพูดคำว่ารักออกจากปาก 
     จักรพลรักรินตั้งแต่แรกพบ ทั้งใบหน้าที่ได้รูป เส้นผมสลวย ดวงตากลมโต น้ำเสียงอ่อนหวาน ผิวขาวผ่อง และนิสัยน่ารักของริน ชักนำให้เขาต้องการเป็นเจ้าของเธอทั้งกายและใจ แต่เธอก็เหมือนเด็กสาวหลายคน เธออยากเด่นอยากดัง อยากมีแฟนหล่อๆ เป็นนักกีฬา ถึงแม้เขาจะรักเธอขนาดที่ยอมได้ทุกอย่างในชีวิตแต่เขารู้อยู่ในใจว่าไม่มีวันที่เธอจะรักเขาเพราะเขาไม่มีลักษณะใดๆที่เธอต้องการ บุคลิกของเขาแทบจะตรงกันข้ามด้วยซ้ำ เขาใส่แว่น อ่านตำราเล่มหนา ไม่เล่นกีฬา และไม่ชอบพบปะผู้คน
     จักรพลเป็นผู้ชายคนแรกที่รินรู้จักในโรงเรียนใหม่ แต่เวลาที่หมุนเวียนไปทำให้ความสัมพันธ์ที่สนิทชิดเชื้อกลายเป็นความห่างเหิน   ความฝันของเขาที่จะได้อยู่เคียงข้างรินจึงมอดลง ถึงกระนั้นความรู้สึกร้อนผ่าวยังคงคุกรุ่นข้างในทุกครั้งที่เขาได้สบตาริน และเขารู้สึกยินดีทุกครั้งที่ได้เห็นรินเหมือนครั้นสมัยยังเยาว์ที่เขามักจะตื่นเต้นดีใจเสมอที่ได้ยินเสียงรถยนต์ของพ่อและแม่กลับถึงบ้าน ถึงแม้เขาไม่ได้กระโดดโลดเต้นเหมือนตอนเด็กๆ แต่ภายในใจกลับรู้สึกเช่นเดิมทุกครั้ง ความแตกต่างอย่างเดียวระหว่างการได้เห็นหน้าพ่อแม่กลับถึงบ้านและการได้พบริน คือ เขาไม่รู้จะพูดกับรินอย่างไร หลายๆครั้งที่ผ่านมาเขาไม่ได้พูดอะไรกับเธอเลย

     “ผมแค่อยากให้รินรู้ว่าผมรักรินมากแค่ไหน”

     จักรพลเผลอเขียนข้อความที่เขาคิดลงบนกระดาษที่เต็มไปด้วยชื่อภาษาวิทยาศาสตร์ผสมตัวเลขยากที่จะเข้าใจ ลูกศรโยงไปมาวุ่นวายเหมือนถนนในกรุงเทพมหานคร ลายเส้นปากกาเส้นแล้วเส้นเล่าถูกบันทึกบนกระดาษ มือที่สวมถุงมือยางสีขาวกุมปากกาหมึกซึมไว้แน่น ปากกาด้ามนี้เป็นของขวัญวันเกิดชิ้นแรกและชิ้นเดียวที่ได้จากริน 
     ห้องแล็ปสีขาวสว่างปราศจากเชื้อ มีอุปกรณ์ต่างๆมากมาย ทั้งจานเพาะเชื้อ ไมโครปิเปตต์ เครื่องพีซีอาร์ และขวดสารเคมีหมายเลขต่างๆ ริมห้องด้านหนึ่ง หนูทดลองตัวเล็กสีขาวนับสิบตัวในกล่องกระจกแยกจากกันเหมือนอพาร์ตเมนท์ พวกมันวิ่งวนอยู่ในกล่องใสโดยไม่รู้ชะตากรรมของตน เครื่องมือราคาแพงตั้งอยู่อีกด้านหนึ่งของห้อง กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนเครื่องใหญ่ และ gas chomotography ที่ใช้ระบุชนิดของสาร 
     ขวดบรรจุของเหลวขุ่นนับสิบบนโต๊ะตัวที่เขานั่งอยู่ ด้านข้างแปะกระดาษที่ระบุ สารพันธุกรรมชนิดต่างๆกันแต่ล้วนแล้วต้องการที่จะอยู่รอดต่อไปในจักรวาล สารพันธุกรรมที่เรียกว่าไวรัส ไวรัสเป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องการอยู่รอดต่อไปเหมือนสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เสือออกล่ากวางเพื่ออาหารเลี้ยงชีวิต กวางวิ่งหนีเสือเพื่อชีวิตของตัวเอง แต่ไวรัสกลับใช้อุบายที่แยบคายกว่านั้น พวกมันฝังสารพันธุกรรมไว้ในเซลล์ของสิ่งมีชีวิตอื่น คนส่วนน้อยเท่านั้นที่รู้ว่าดีเอ็นเอหนึ่งในห้าของมนุษย์มาจากไวรัส 
     จักรพลหยิบขวดแก้วบรรจุของเหลวที่มีไวรัสเอชไอวีแล้วเขย่า ไวรัสนี่แหละคือสิ่งที่ทำให้รินรับรู้ถึงความรักที่เขามีให้ มันจะทำให้รินรักเขาโดยไม่มีข้อแม้ รักเขาจากก้นบึ้งของหัวใจ 
     เสื้อกาวน์สีขาวสะบัดพลิ้วขณะที่เขาผลักเก้าอี้เคลื่อนจากโต๊ะตัวหนึ่งไปยังโต๊ะอีกตัว เขาหยดของเหลวสีขาวขุ่นใส่จานเพาะเชื้อ สายตาอันแน่วแน่จ้องมองจานที่อยู่ตรงหน้า ก่อนที่จะใช้มือทั้งสองเลื่อนบานกระจกของตู้ปรับสภาพแวดล้อมลง  แล้วเฝ้ารอ 

    “รินจะรู้ว่าผมรักรินมากแค่ไหน อีกไม่กี่วันเท่านั้น”
……………………

     “เป็นไปไม่ได้หรอก อาจารย์” ชายสูงวัยสวมแว่นตาหนาเตอะ ศีรษะเริ่มล้านตามวัยที่ได้ผ่านพ้นปีเกษียณ และพันธุกรรมเพศชายบนโครโมโซมวายที่พ่อให้มา ด้วยผลงานที่มีประโยชน์ต่อคนจำนวนมาก ศ.ดร.สมศักดิ์ ชีวะนันท์ นักชีววิทยาด้านพันธุศาสตร์จึงได้เป็นนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ด้วยผลงานวิจัยไวรัสเอชไอวีก่อโรคเอดส์ เขาคิดค้นวิธีการรักษาด้วย ‘ยีนบำบัด’ โดยการสร้างโพรบที่เข้าไปเปลี่ยนการแสดงออกของโปรตีนที่แสดงออกบนเม็ดเลือดขาวเพื่อกันไวรัสเกาะติดเซลล์ เซลล์เม็ดเลือดขาวจึงรอดจากการจู่โจมของไวรัสไปได้ แต่ก็เป็นเพียงชั่วระยะหนึ่งเท่านั้น เพราะการลอกสำเนาของไวรัสเพื่อการแพร่พันธุ์นั้นไม่เสถียรอย่างยิ่ง ความหลากหลายของโปรตีนบนผิวของไวรัสจึงมีสูง ไวรัสบางตัวจึงเกาะผิวเซลล์ได้และเข้าโจมตีเซลล์เม็ดเลือดขาว ถึงกระนั้นผลงานของศาสตราจารย์ได้ช่วยผู้คนหลายล้านคนไม่ให้เสียชีวิต 
     ศาสตราจารย์สมศักดิ์ใช้ส้อมจิ้มชิ้นเนื้อฉ่ำน้ำเกรวี่เข้าปากแล้วเช็ดปากของตัวเอง
     “การดัดแปลงพันธุกรรมของไวรัสเยื่อหุ้มสมองอักเสบให้ใช้รีเวอร์สทรานคริปชั่นโดยแทรกยีนของมันเข้าไปในเซลล์ประสาท เพื่อทำลายเซลล์ประสาทเฉพาะที่ ไม่มีทางทำได้หรอกคุณ”
     “ผมคิดว่าต้องเป็นไปได้ ถ้าเราตัดต่อพันธุกรรมไวรัสเอชไอวีตัดต่อกับไวรัสเยื่อหุ้มสมองอักเสบ” นักวิทยาศาสตร์หนุ่มไฟแรงแย้งอาจารย์ประสบการณ์สูงอย่างมั่นใจจนศาสตราจารย์รู้สึกอึดอัด แต่ด้วยประสบการณ์ที่สั่งสมมานานหลายสิบปีทำให้ ศาสตราจารย์สมศักดิ์ ตอบกลับไปอย่างสุขุม
     “ถ้าเธอจะทำอย่างนั้น ความจำเพาะของเซลล์ประสาทก็ยังไม่มี เพราะทุกเซลล์ประสาทในสมองนั้นเหมือนกันหมด ไม่มีความแตกต่าง อย่ากระนั้นเลย ไวรัสเยื่อหุ้มสมองอักเสบเองยังไม่จำเพาะต่อเซลล์ประสาทเลยด้วยซ้ำ เพราะมันจู่โจมเยื่อหุ้มสมอง” 
     นักวิทยาศาสตร์หนุ่มกำมือแน่นด้วยความมั่นใจในความรู้ของตน สายตาจ้องเขม็งไปยังศาสตราจารย์ ผมยาวของชายหนุ่มยุ่งเหยิงแข็งเป็นสังกะตัง เสื้อเชิ้ตสีหมองไม่เข้ากับร้านอาหารหรูเจ้าประจำของศาสตราจารย์สมศักดิ์ ท่านยังคงเอร็ดอร่อยกับชิ้นเนื้อตรงหน้า เนื้อแต่ละชิ้นถูกตัดและจิ้มเข้าปากอย่างประณีต 
     “ถ้าเธอศึกษามาเพิ่ม เธอจะรู้ว่าที่เธอคิดน่ะมันเป็นไปไม่ได้ สั่งเมนูสเต๊กซักจานสิ มื้อนี้อาจารย์เลี้ยงเอง” 
     ชายหนุ่มรู้สึกเหมือนถูกตบหน้าฉาดใหญ่ กล้ามเนื้อของเขาสั่นระริก ก่อนจะตอบกลับไปด้วยเสียงสงบนิ่งต่างจากร่างกายที่แสดงอารมณ์
     “ผมจึงเรียกคุณมาคุยไงล่ะ ผมรู้ว่าคุณสามารถเปลี่ยนยีนที่คุมการแสดงออกของโปรตีนบนผิวเซลล์ได้…” ชายหนุ่มขยับกล้ามเนื้อผ่อนคลาย
     “…ผมจะใช้งานวิจัยของคุณเป็นแม่กุญแจ ผมให้คุณสร้างโปรตีนบนผิวเซลล์ประสาทที่จำเพาะต่อไวรัสเอชไอวีที่เปรียบเสมือนลูกกุญแจ ทีนี้ไวรัสเอชไอวีก็จำเพาะต่อเซลล์ประสาทที่เราต้องการ”
     ศาสตราจารย์ชะงักงัน ส้อมและมีดหล่นจากมือกระแทกจานเสียงบาดหู ลูกค้าในร้านเงียบกริบ บางคนหันมองทางโต๊ะของนักวิทยาศาสตร์ทั้งสอง  ชายหนุ่มยังพูดต่อไป
     “…ส่วนยีนของไวรัสเยื่อหุ้มสมองอักเสบเปรียบเหมือนคนนำทางข้ามblood brain barrier ที่กั้นระหว่างสมองและหลอดเลือด ไวรัสจึงจู่โจมเซลล์สมองได้ แล้วเซลล์สมองที่จำเพาะนั้นก็จะถูกทำลาย” ศาสตราจารย์สมศักดิ์สบสายตากับนักวิทย์หนุ่มเขม็ง
     “คุณต้องการอะไรจากงานนี้”
     “ผมบอกไม่ได้ เป็นเรื่องส่วนตัว”
     “วิทยาศาสตร์ไม่มีเรื่องส่วนตัว”
     “เอางี้ ผมจะบอกคุณเมื่อการทดลองสำเร็จแล้ว” ชายหนุ่มยังจ้องมองศาสตราจารย์ไม่กะพริบ ความอึดอัดเกิดขึ้นในใจของนักวิทยาศาสตร์ผู้ช่ำชองโลก เขาถอนหายใจพร้อมๆกับหลบสายตาแข็งกระด้างของชายหนุ่ม ความกลัวสุดแสนประหลาดผุดขึ้นในจิตใต้สำนึก เขาไม่เข้าใจอะไรเลยเกี่ยวกับผู้ชายคนที่นั่งอยู่ด้านหน้าเขา มีสิ่งเดียวที่เขารู้ ชายหนุ่มคนนี้มีอะไรไม่ชอบมาพากล
     “เดี๋ยวก่อน ว่าแต่ผมจะเปลี่ยนโปรตีนบนผิวเซลล์ประสาทให้จำเพาะบางเซลล์ได้อย่างไร ถ้าจะทำก็ต้องทำทั้งสมอง” หลังจากนักวิทยาศาสตร์หนุ่มได้ยินคำถามของศาสตราจารย์ ความเกรี้ยวกราดก็ดูเจือจางลง มือของเขาคลายออกจากกัน กล้ามเนื้อร่างกายคลายตัวทิ้งก้อนเนื้อลงพิงพนักเก้าอี้ สายตาของเขาละจากนักชีววิทยาผู้มีประสบการณ์โชกโชนแล้วกวาดไปรอบห้องอาหาร เสียงแผ่วเบาแต่ชัดเจนอย่างน่าประหลาดผ่่านปากที่แทบไม่ขยับ
     “อืม คุณคงเข้าใจแล้วสินะว่าต้องทำอะไร ผมจะส่งแผนที่ของสมองไปให้คุณ แผนที่จะระบุตำแหน่งของยีนที่เปิดปิดในสมองแต่ละส่วน คุณแค่สร้างโพรบที่ทำหน้าที่เปลี่ยนยีนที่ใช้สังเคราะห์โปรตีนบนผิวเซลล์สมองในตำแหน่งที่ผมระบุไว้โดยดูจากยีนที่เปิดทำงาน ส่วนเงินค่าทำงานนี้ ผมจะโอนไปให้”
     ความสุขุมเยือกเย็นของศาสตราจารย์ ดอกเตอร์สมศักดิ์ ชีวะนันท์ หายไปหมดสิ้น เหลือเพียงชายชราผู้ไร้เขี้ยวเล็บ เขาเอ่ยปากรับคำเบาๆ “ได้…ได้ คุณจักรพล ผมขอเวลาหนึ่งอาทิตย์” 
     ชายหนุ่มผละออกจากเก้าอี้ไม้หรู ทิ้งชายชราไว้เบื้องหลังกับเสต๊กเนื้อเย็นชืด ถ้านักวิทยาศาสตร์หนุ่มรู้สึกพึงพอใจ เขาก็ยังไม่ได้แสดงมันออกมาแม้เพียงเสี้ยวเดียว
     
….…………………………

     “ฮัลโหล สวัสดีค่ะ นั่นใครคะ” เสียงใสๆดังผ่านลำโพงโทรศัพท์มือถือ เสียงที่แทบจะทำให้หัวใจของชายหนุ่มละลายอยู่ตรงนั้น
     “ผมเอง เจตต์ ผมมีเรื่องอะไรที่ต้องคุยกับคุณหน่อย” ชายหนุ่มพูดด้วยน้ำเสียงทุ้มต่ำฟังดูจริงจัง 
     “อ๋อ เจตต์เองหรอ นึกว่าใคร ทำไมเบอร์ไม่คุ้นเลย เปลี่ยนมือถือใหม่หรอ”
     “ใช่ ริน เจอกันที่เดิมนะ พรุ่งนี้ผมจะโทรไปหา”
     “ได้…เจตต์” ใจหนึ่งของหญิงสาวชะงักตอนพูดชื่อของชายหนุ่มที่โทรมา อีกใจหนึ่งได้ปฏิเสธความสงสัยภายในจิตใต้สำนึก

….…………………………

     เมล็ดพืชตัดต่อพันธุกรรมถูกผสมในของเหลวอุ่นๆที่เต็มไปด้วยเยื่อกระดาษ เด็กชายชื่อ จักรพล บรรจงเกลี่ยเยื่อกระดาษลงบนตะแกรงมุ้งลวดที่เขานำมาจากมุ้งลวดขาดๆหลังบ้าน แสงอาทิตย์อันแรงกล้าสาดส่องตะแกรงและใบหน้าของเด็กชาย เขานั่งรออย่างกระวนกระวาย
     จักรพลเขียนจดหมายถึงเด็กสาวคนหนึ่ง ข้อความในจดหมายเล่าเหตุการณ์ประทับใจ ทั้งรอยยิ้มของเธอในวันที่พบกันครั้งแรก ตอนเย็นวันหนึ่งที่เขาช่วยเธอทำการบ้านในห้องเรียนสองต่อสอง กระดาษสีฟ้าแทรกจุดสีดำของเมล็ดพืชเต็มไปด้วยข้อความจากน้ำหมึก
     เขาพับจดหมายใส่ซองแล้วเขียนข้อความด้านหลัง จักรพลหันมองออกไปทางหน้าต่างห้อง กระถางนับสิบถูกวางอย่างเป็นระเบียบ พืชสีเขียวในกระถางเติบโตชูยอดใบ รูปร่างของกิ่งก้านใบวงตัวอย่างประหลาด บางต้นขดวนเป็นเกลียว บางต้นสานเป็นตะกร้าครึ่งใบ แต่มีต้นเดียวเท่านั้นที่กิ่งและใบซ้อนทับและถักทอเป็นรูปทรงหัวใจ หัวใจสีเขียวแทนดวงใจของจักรพล   

……

     วันนี้เป็นวันเกิดของเธอ ของขวัญจากเพื่อนชายมากหน้าหลายตาอยู่ในกระเป๋า เพื่อนๆของเธอคิดว่าเธอเป็นคนที่ไม่จริงจังกับใคร ทั้งที่ใจจริงต้องการการเอาใจใส่จากใครคนหนึ่ง แต่จะทำอย่างไรได้ เราต้องเลือกคนที่ดีที่สุด 
     เธอรู้สึกเห็นใจผู้ชายบางคนที่ชอบเธอแต่เธอไม่สนใจโดยเฉพาะจักรพล บางครั้งเธอเห็นใจในความจริงใจของเขา แต่ส่วนใหญ่ เธอคิดว่านี่เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ไม่สามารถควบคุมได้ บางทีเธออาจชอบการที่มีคนชอบเธอ
     ชายหนุ่มคนหนึ่งยื่นกล่องของขวัญให้ เธอถอดหูฟังที่กำลังเล่นเพลงไทยร่วมสมัย หัวใจของเธอพองโต
     “ขอบคุณนะ” เธอส่งรอยยิ้มเบิกบานกลับไป สายตาของชายหนุ่มยังไม่ละจากเธอ สายตาที่กำลังพิเคราะห์ส่วนโค้งเว้าบนใบหน้าของเธอ
     “แกะดูสิ ริน” 
     “แกะเลยหรอ” เธอไม่ลังเล เธอจินตนาการถึงของที่อยู่ภายใต้กระดาษสีสันสวยงาม เสียงกระดาษที่ฉีกออกจากกันทำให้เธอนึกถึงความสวยหรูของกระดาษห่อของขวัญที่เป็นเพียงม่านไร้ประโยชน์ สิ่งที่อยู่ภายในต่างหากที่แท้จริง อย่างไรก็ตามคนเราก็ขาดกระดาษห่อของขวัญไปไม่ได้ 
     ตอนนี้ในมือของเธอมีตุ๊กตาหมีสีน้ำตาลเข้ม ดวงตาสีดำกลมโตสะท้อนแสงเป็นประกาย ตุ๊กตาหมีใส่เสื้อผ้ากำมะหยี่สีแดงเลือดหมูปักวันที่และเดือนเกิดของเธอ เธอร้องด้วยความดีใจ
     “ว้าว ไม่เคยมีใครซื้ออะไรแบบนี้ให้เลย ขอบคุณมากนะ เจตต์ น่ารักจัง”
     “หมายถึงผมหรอริน”
     “ชั้นหมายถึงตุ๊กตาหมีย่ะ” ทั้งสองหัวเราะ “ผมไปก่อนนะ เพื่อนมันชวนไปเล่นบาส” เจตต์ขยิบตาให้เธอ
     “อืม ขอบใจนะเจตต์” 
     เพื่อนสาวของรินเดินมาในมือถือกล่องของขวัญ
     “ชั้นอิจฉาเธอว่ะ ริน ได้ของขวัญเยอะแยะ”
     “อะไรกันเก๋ เดี๋ยววันเกิดเก๋ เก๋ก็ได้แหละ อย่างน้อยก็จากชั้น” รินหัวเราะ
     “จ้ะๆ นี่ของชั้น ส่วนนี่ของคนที่รู้ว่าใคร” เก๋ยื่นซองจดหมายสีขาวให้ริน
     “ใคร …อ๋อ จักรพลหรอ”
     “อือ”
     รินแกะห่อของขวัญของเก๋ออก ข้างในคือกรอบรูปสร้างจากอิฐ ด้านหน้ามีหุ่นคนงานกำลังขุดหัวใจออกจากพื้น รูปของรินและเก๋ทำหน้าประหลาดๆอยู่ในกรอบรูปนั้น เธอรีบเก็บจดหมายใส่กระเป๋า
     แสงจันทร์ส่องเข้ามาในห้องแต่มิอาจสู้แสงไฟจากหลอดฟลูออเรสเซนท์ เธอทิ้งตัวลงบนเตียงพร้อมกระเป๋าหนังสือและของขวัญเกือบสิบชิ้น เธอถอนหายใจก่อนที่จะหยิบการบ้านในกระเป๋าขึ้นมาดู
     “อยู่ไหนนะ” เธอพึมพำกับตัวเอง เธอคุ้ยกระเป๋าอยู่นานเกือบนาทีก่อนที่จะหมดความอดทนและเทของในกระเป๋าออกมา จดหมายฉบับหนึ่งตกอยู่ตรงหน้า เธอหยิบขึ้นดูข้อความบนซองที่ไม่ค่อยมีเหตุผล ก่อนจะเปิดจดหมายภายในซอง จดหมายสีฟ้าเต็มไปด้วยเรื่องราวของเธอและจักรพล 
     เด็กสาวในชุดนอนสีชมพูพลิกตัวผ้านวมผืนหนากองอยู่ด้านข้าง โต๊ะเขียนหนังสือข้างเตียงมีกระถางใส่ดินตั้งอยู่ กระดาษสีฟ้าถูกกลบอยู่ใต้ดินสีดำ 


     “ผ่านมาสามปีแล้วสำหรับการบรรยายไซฟิวเจอร์ โดยครั้งนี้จัดเป็นครั้งที่สามสิบเจ็ด การบรรยายครั้งนี้มีผู้เชี่ยวชาญทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ หัวข้อการบรรยายที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ได้แก่ ‘การทำนายตลาดหลักทรััพย์โดยเคออสอัลกอริทึม’ ของ ศ.ดร.สิทธิกร อภิวานิช นักวิทยาศาสตร์ไทยรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ‘วิทยาศาสตร์สมองมิติใหม่’ โดย นพ.ดร.กิตติศักดิ์ กาญจนรักษ์ ศัลยแพทย์ประสาทที่เก่งที่สุดในประเทศไทย ‘A.I. BioComputer’ โดย Prof. Hammond David   ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยนอกซ์ผู้คิดค้นศาสตร์ด้านBiocomputering และ ‘การบรรยายเรื่องภาษาและวิวัฒนาการสังคมมนุษย์’ โดย อาจารย์เสรี ตั้งสิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขาทั้งพันธุศาสตร์ สมอง วิวัฒนาการและพัฒนาการสังคมมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านภาษาและการสื่อสาร” เสียงของพิธีกรบนเวทีดังก้องหอประชุม ผู้คนกำลังทยอยเข้า
     ห้องประชุมของมหาวิทยาลัยชื่อดังในกรุงเทพมหานครถูกใช้เป็นสถานที่ในการบรรยายครั้งนี้ ห้องประชุมอัดแน่นไปด้วย นักวิทยาศาสตร์ นักศึกษาปริญญาโท-เอก และอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญวิทยาศาสตร์ทั่วทุกสารทิศของประเทศไทยนับพันคน ที่นั่งถูกจับจองตั้งแต่ก่อนเปิดงานทำให้มีคนอีกหลายร้อยคนต้องยืนฟัง หนึ่งในนั้นคือเด็กนักเรียนชายชั้นมัธยมปลายที่ยืนอย่างโดดเดี่ยวอยู่มุมห้อง ในมือของเขามีสมุดโน้ตเล่มหนาและปากกาลูกลื่นเตรียมจดทุกสิ่งที่ผู้บรรยายได้พูดออกมา แว่นตาหนาเตอะบดบังสายตาที่ฉายแววมุ่งมั่น 
     “สวัสดีครับ ผู้ร่วมงานไซฟิวเจอร์ครั้งที่สามสิบเจ็ด เราก็ได้จัดมาปีนี้เป็นปีที่สามแล้วนะครับ…”
     พิธีกรคู่ชายหญิงพูดแนะนำการบรรยายและผู้สนับสนุนต่างๆจนจบ ในงานแบบนี้ยังมีโฆษณาจากเครื่องดื่มที่ใช้บำรุงสมอง ทำให้เขารู้ว่าความเชื่อบางอย่างก็แก้ยาก ผู้บรรยายคนแรกคือ ศ.ดร.สิทธิกร อภิวานิช การบรรยายน่าสนใจดีแต่บุคลิกบนเวทีและการเสยผมของเขาทำให้นึกถึงดารา เขาควรได้ตุ๊กตาทองมากกว่ารางวัลโนเบล ผู้บรรยายหลายคนส่งไม้ผลัดขึ้นไปบนเวที จนถึงการบรรยายเรื่อง ‘ภาษาและวิวัฒนาการสังคมมนุษย์’ ของอาจารย์เสรี ตั้งสิริวรรณ 
       “เมื่อสองแสนปีที่แล้วมนุษย์เดินมาถึงทางแยกสองทาง ทางหนึ่งจะต้องอยู่ในสังคมเล็กๆเพราะการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีเกิดจากการมองเห็นและลอกเลียนแบบคนอื่นๆเท่านั้น อีกทางหนึ่งคือการอยู่เป็นสังคมใหญ่ที่เกื้อกูลกัน ที่จะทำอย่างนี้ได้มนุษย์ต้องมีเครื่องมือที่จะใช้สื่อสาร เครื่องมือนั้นเองคือภาษา
     “…ภาษาเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์อยู่ร่วมกัน และเกิดการเรียนรู้แบบสังคม เราสามารถฝังความคิดของเราให้แก่คนอื่นได้ และคนอื่นๆก็สามารถฝังความคิดให้กับเราเช่นกัน สิ่งนี้ทำให้เกิดการสะสมของความคิด ทำให้เรามีรถม้าที่ต่อมาจะกลายเป็นรถยนต์ เรามีขวานหินที่ต่อมาจะกลายเป็นขวานสำริด หอกโลหะ หรือมีดพับ ภาษาทำให้เราก้าวขยายเผ่าพันธุ์ไปทั่วโลก ลองดูญาติห่างๆของเรา เช่นชิมแพนซี ชิมแพนซีสามารถใช้เครื่องมือง่ายๆเช่นไม้ที่แหย่ลงไปในรูเพื่อกินแมลง ชิมแพนซีตัวอื่นก็อาจทำตามได้เช่นกัน แต่อีกหลายพันเจเนอเรชั่นผ่านไป ชิมแพนซีก็ยังคงใช้ไม้เขี่ยแมลงแบบเดิม เราลองมาดูที่ทางแยกที่ทำให้เราเป็นอย่างปัจจุบันนี้กันดีกว่า มีเครื่องมืออะไรที่ทำให้เรามีภาษาขึ้น”
     “…อย่างแรกคือการวิวัฒนาการผ่านการคัดเลือกโดยธรรมชาติ ทำให้เรามียีนที่ใช้ในพัฒนาการของสมอง ทำให้เราสร้างหลักไวยากรณ์ และ การควบคุมเสียงพูด…”
     “…ความคิดของมนุษย์ก็สัมพันธ์กับภาษามาก บางชนเผ่าในแอฟริกามีการใช้จำนวนตัวเลขแค่สามตัว คือ หนึ่ง สอง และมากกว่านั้น สิ่งนี้จึงส่งผลกับการคิดคำนวณของชนเผ่านี้ เพราะคนในเผ่าไม่สามารถคำนวณตัวเลขที่มากกว่าสองได้ อย่างเช่น ผมจะเข้าใจถ้าผมมีวัวหนึ่งตัวและคุณมีวัวหนึ่งตัว รวมกันจะมีวัวสองตัว แต่ถ้่าผมมีวัวสองตัว และคุณให้วัวผมมาเพิ่มอีกสองตัว แล้วมีคนถามว่าผมมีวัวกี่ตัว ผมก็จะทำหน้างงและตอบกลับไปว่าผมมีวัวหลายตัว…” เสียงหัวเราะดังขึ้นในห้องประชุม
     “…สิ่งนี้เป็นหลักฐานหนึ่งที่ยืนยันได้ว่าภาษาส่งผลต่อความคิด แต่ในทางกลับกัน จำนวนของคำใหม่ๆที่เกิดขึ้นในโลกของเรา รวมทั้งภาษาไทยด้วย เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่าความคิดก่อให้เกิดภาษา มีคำถามไหมครับ” มือของคนจำนวนหนึ่งชูขึ้นบนอากาศ พิธีกรเลือกนักวิทยาศาสตร์ด้านหน้า
     “ผมรู้มาว่านีแอนเดอทัลที่สูญพันธุ์ไปและเป็นญาติใกล้ชิดกับโฮโมซาเปียน มียีนฟอกซ์พีทู (FOXP2) ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ภาษา เหมือนมนุษย์เป๊ะ ยีนนี้แสดงให้เห็นว่านีแอนเดอทัลสามารถพูดได้ แล้วทำให้เกิดการสะสมของเทคโนโลยี แต่ทำไมนีแอนเดอทัลใช้ขวานหินรูปแบบเดิมๆ มาถึงสามแสนปี” 
    “เป็นคำถามที่ดีมาก ภาษาเป็นเครื่องมือที่ทำให้เราเป็นสปีชี่ส์เดียวที่อยู่ในทุกส่วนของโลก มีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ากว่าพวกเอปอื่นๆ แต่ยีน FOXP2 ไม่ใช่ทุกสิ่งที่เกี่ยวกับภาษาของเอป อาจมียีนอื่นๆอีกที่ยังไม่พบที่เกี่ยวกับการพัฒนาการของสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพูด ถ้าพูดถึงนีแอนเดอทัล ก็เหมือน เราเป็นเครื่องบินที่มีมอเตอร์หมุนใบพัด นีแอนเดอทัลก็มีมอเตอร์หมุนใบพัดแต่อยู่ในเรือหางยาว นีแอนเดอทัลก็บินไม่ได้ …คำถามต่อไปครับ” เสียงปรบมือดังประปราย
     “สมมติถ้าอยู่ดีๆคนๆหนึ่งปราศจากภาษาโดยสิ้นเชิงล่ะคะ” นักศึกษาหญิงริมเวทียิงคำถาม
     “อืม มีอาการทางสมองบางชนิดที่สมองส่วนการรับรู้ทางภาษาเสียหาย หรือ Wernicke’s aphasia เกิดจากความเสียหายของสมองส่วนเวอร์นิกเกแอเรีย บริเวณเทมเพอรอลโลป ผู้ที่เป็นโรคนี้จะพูดไม่มีความหมาย บางครั้งเอาคำธรรมดามาต่อๆกัน บางครั้งก็เป็นคำประหลาดๆที่ไม่มีในพจนานุกรม คนเหล่านี้จะไม่เข้าใจคำพูดของคนอื่น แต่ผู้ที่เป็นโรคนี้ยังเกี่ยวข้องกับภาษาอยู่ การคิด การพูด ก็เป็นภาษา แต่เป็นภาษาที่ผิดเพี้ยนไป…
     “แต่จากคำถามที่ถามผม น่าจะพูดถึงคนที่ปราศจากภาษาโดยสิ้นเชิง อืม ก็น่าจะเป็นเมาคลีลูกหมาป่าอะไรอย่างนั้น คนที่ไม่เคยได้ยินภาษามาตั้งแต่เกิด เท่าที่ผมรู้คนเหล่านี้มีอยู่จริง และมีบางคนได้กลับบ้านตอนโตอีกด้วย หนึ่งในนั้นเป็นเด็กสาวกัมพูชา เท่าที่ผมรู้เด็กสาวคนนั้นพูดไม่ได้เลย สิ่งที่เด็กสาวทำคือลอกเลียนแบบคนอื่น คนอื่นเดินเธอก็เดิน คนอื่นนอนเธอก็นอน คนอื่นถุยน้ำลายเธอก็ถุยตาม เหมือนที่ผมได้พูดไปตอนต้นนี่คือทางแยกที่สองของมนุษย์…” ศาสตราจารย์กลืนน้ำลายก่อนที่จะพูดต่อ
     “…ถ้าคนที่ปราศจากภาษาโดยสิ้นเชิงหลายๆคนอยู่ร่วมกันเป็นสังคม เราคงไม่ต่างจากเอป เช่นการแบ่งอันดับชั้นตัวผู้ของชิมแพนซี หรือฮาเร็มของกอริลลา บางทีความซับซ้อนของมนุษย์อาจก้าวข้ามขีดจำกัดของการสื่อสารนั้น แล้วใช้ภาษาท่าทาง ทั้งการแสดงออกทางใบหน้า ดวงตา หรือการวางมือ ที่อาจสื่อถึงความรู้สึกหรือตัวตนของปัจเจกบุคคลได้อย่างสมบูรณ์ บางทีความเข้าใจผิดที่เกิดขึ้นจากการใช้ภาษาอาจหายไป ทั้งสงคราม การแบ่งชั้นวรรณะ …หรือแม้แต่การพูดกับผู้หญิง”
เสียงหัวเราะดังครืนในห้องประชุม คนทั้งห้องคงเห็นด้วยกับประโยคสุดท้ายของ อาจารย์เสรี ตั้งสิริวรรณ 
     การสื่อความรู้สึก บางทีอาจรวมถึงความคิดทัั้งหมดของมนุษย์คนหนึ่งจะคิดได้ เราจะเข้าใจทุกอย่างที่ปัจเจกคิด บางทีเราอาจรู้สึกเหมือนเรากลายเป็นปัจเจกนั้น หรือว่า การไม่มีภาษาจะเป็นวิวัฒนาการขั้นต่อไปของมนุษย์ ‘การสื่อสารสมบูรณ์แบบ’ จักรพลกำจัดความคิดนั้นทิ้งไป 

     ก่อนที่ความคิดนี้จะเป็นสิ่งที่ชี้ชะตาชีวิตของเขาและโลกในอีกห้าปีข้างหน้า

………………………………

     “ริน” บนถนนยามค่ำคืนไร้ผู้คน มีเพียงแสงไฟสีเหลืองจากเสาไฟข้างถนน พื้นถนนสว่างเป็นช่วงๆ เว้นเพียงช่องว่่างระหว่างเขากับริน แสงไฟตกกระทบใบหน้าขาวผ่องของเธอ รินยังเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลงนอกจากชุดเดรสของคนทำงานกับผมยาวสลวย 
     “โห จักร ไม่ได้เจอตั้งหลายปี ทำไมอยู่ดีๆเธอถึงหายไป ไม่ติดต่อมาบ้าง”
     จักรพลยืนใต้แสงไฟพอดิบพอดี แถบเงาสีดำพาดใบหน้าของเขา เสื้อผ้ายับยู่ยี่ ผมกระเซอะกระเซิง
     “ผมไปเรียนต่อนอกหลังจากรินเป็นแฟนกับเจตต์” รินขยับตัวเข้าใกล้เขา
     “เธอไปเรียนต่อนอกหรอ นี่จักรจำต้นไม้ของเธอได้ไหมที่เธอให้เป็นของขวัญวันเกิดชั้นน่ะ”
     “อืม จำได้สิ ชอบไหมล่ะ”
     “ชอบสิ ตอนนี้ต้นไม้หัวใจของเธอยังไม่ตายเลยนะ” เธอขยับเข้าใกล้อีกแต่ช้าลง
     “ใช่สิ ริน หัวใจผมก็เช่นกัน” รินหยุด ห่างจากเขาเพียงหนึ่งเมตร เธอจ้องมองดวงตาในความมืดของจักรพล
     “อย่าพูดอย่างนี้อีกนะ เราไม่ชอบเลย” 
     เวลาที่จักรพลพูดหน่วงไปหลายวินาที 

     “ริน” ความเงียบเข้าปกคลุม อากาศนิ่งสนิท

     “อย่าเรียกชั้นอย่างนั้นสิ ว่าแต่เธอเห็นเจตต์หรือเปล่า เขานัดชั้นไว้ตรงนี้”
     เขาเว้นวรรคนานกว่าเดิม “ริน” 
     หญิงสาวเริ่มรู้สึกผิดปกติ เจตต์ไม่ได้เป็นคนนัดเธอมาที่นี่ เธอรู้แล้วว่าน้ำเสียงในโทรศัพท์ที่เธอสงสัยคือ จักรพล
     “จักร เธอโทรนัดชั้นออกมาใช่มั้ย”
     จักรพลล้วงเข็มฉีดยาอันเล็กออกมาจากกระเป๋ากางเกง “ผมไม่ทำร้ายรินหรอก สิ่งนี้จะทำให้รินเข้าใจผม โดยที่ผมไม่ต้องใช้คำพูดใดๆ” 
     “อย่านะจักร เธอจะทำอะไร” รินยื่นกระเป๋าถือมาด้านหน้าหวังใช้ป้องกันตัว เธอหันมองทางหนี
     “สิ่งนี้สำคัญมาก ผมไม่สามารถอธิบายเป็นคำพูดได้ ที่ผมทำได้คือสิ่งที่อยู่ในมือผม”
     “ไม่ จักร เธอต้องไม่ทำอย่างนี้” รินหันหลังออกวิ่ง รองเท้าส้นสูงหลุดออก เธอไม่รู้ว่าจักรตามมาหรือไม่ แต่สิ่งเดียวที่เธอต้องทำคือวิ่ง วิ่งไปเรื่อยๆ
     “อ๊าาาก” เธอกรีดร้องก่อนล้มลง เศษหินบาดลึกลงไปในฝ่าเท้า เลือดไหลนอง  จักรพลเดินเข้ามาใกล้ รินตัวสั่น ยกมือขึ้นไหว้ 
     “อย่า ชั้นขอล่ะ อย่า ขอร้องล่ะ อั๊กก” เข็มฉีดยาถูกกดลงบนไหล่อันเปลือยเปล่าของเธอ ไม่รู้สึกเจ็บแม้แต่นิดเดียว อาจจะเป็นเพราะฮอร์โมนที่พุ่งพล่านในร่างกาย เธอจ้องมองจักรพลน้ำตาคลอเบ้า ชายหนุ่มย่อตัวลงบนเข่า ขยับเข้าใกล้เธอ 
     “อากาลา ปาพา” ชายหนุ่มเปล่งเสียงไม่เป็นภาษา รินสังเกตเห็นต้นแขนของเขามีพลาสเตอร์ปิดแผลติดอยู่ “ดา ปา กา กา” จักรพลยังคงเปล่งเสียงไม่มีความหมายต่อไป
       จักรพลจับไหล่ของเธอแน่น ลูกตาของเขากรอกไปมา รินตะโกนสุดเสียงขอความช่วยเหลือแต่ก็ไม่เป็นผล จักรพลเริ่มล่วงล้ำร่างกายของเธอ
       ทันใดนั้นความคิดของเธอเริ่มเปลี่ยนไป ความคิดบางอย่างค่อยๆซึมหายไปเหมือนแก้วน้ำรั่ว บางทีการใช้คำว่าความคิดคงไม่ถูกต้องทีเดียวนักเพราะสิ่งที่สูญหายไป มีทั้งความทรงจำ ความรู้ รวมถึงจิตวิญญาณของเธอ การสูญหายที่เกิดขึ้นไม่เหมือนกับพลังงานที่อาจดูเหมือนมลายหายไปแต่แท้จริงแล้วแค่เปลี่ยนไปเป็นรูปอื่น ความคิดของเธอมลายหายไปกับความว่างเปล่า ไม่มีที่มาและไม่มีที่ไป ไม่สามารถย้อนกลับได้ บางทีคนตายคงเป็นอย่างนี้เช่นกัน เผชิญหน้ากับ ‘ความว่างเปล่า’ 
      การใช้เหตุผลและตรรกะเริ่มขาดหาย การคิดถึงอนาคต การกระทำของจักรพล ความก้าวหน้าในอาชีพการงาน ความกลัวและหวาดระแวง
      ตามมาด้วยการคิดเชิงนามธรรม ความเห็นอกเห็นใจ ความเกรงใจ ความสวยงาม ความสงบ ความสุข ความดี ความชั่ว 
      ชื่อเรียกสิ่งของรอบตัวค่อยๆหายไปทีละชิ้น หลอดไฟ เสาไฟฟ้า ท้องฟ้า ถนน ผู้คน
     
      ชั่วเสี้ยวหนึ่งของเวลา ความคิดที่ใช้ภาษาของเธอได้แทรกตัวเข้าในการรับรู้ของจิตวิญญาณ
      ‘ริน รับ รู้ ความ รัก ของจักร แล้ว และ รินก็ รัก จักร เช่น กัน’
     
…………………………
   
     “วอ หนึ่ง เรียก วอ สอง มีคนแจ้งความพบชายและหญิงเปลืิอยริมถนนในซอย7 เปลี่ยน”
     “ผมจ่าอ้วน อยู่บนถนน14 กำลังไป” ตำรวจมีอายุรูปร่างท้วมขับรถเลี้ยวเข้าซอย ด้านข้างเขาคือคู่หูเป็นชายผิวคล้ำบึกบึน 
     “อะไรกันเนี่ยจ่า โป๊ทีสองคนเลย ผมขอจับผู้หญิงนะ” นายตำรวจผิวคล้ำพูดกับจ่าที่กำลังขับรถ
     “เออ มึงจะเลือกจับใครก็เลือกไป…” จ่าอ้วนหมุนพวงมาลัยเลี้ยวเข้าซอย7
     “…แต่ข้าว่าช่วยกันจับก็ได้นะเว้ย ไอ้แท่ง” จ่าหัวเราะ
     รถแล่นไปบนถนน จ่าอ้วนไม่เปิดเสียงหวอเนื่องจากประสบการณ์อันโชกโชนของจ่า การเปิดแสงไฟและเสียงหวอใส่คนบ้าเท่ากับการไล่พวกมันไป 
     ท่อนไม้ขวางถนนอยู่ถัดไปร้อยเมตร จ่าเตรียมหักหลบ
     “จ่า นั่นมันคนหรือเปล่า”
     “ไหนวะเอ็ง” จ่าเห็นวัตถุที่นึกว่าเป็นท่อนไม้กำลังขยับอย่างเป็นจังหวะ จ่าอ้วนเหยียบเบรก
     “เฮ้ย ไปจับพวกมันแยกกัน”
     นายสิบดึงตัวผู้ชายร่างกายเปลือยเปล่าออกจากตัวของหญิงสาว ร่างที่กำลังชักกระตุกนอนอาบเลือดสีแดงเข้มที่เจิ่งนองบนพื้น  คาดว่ามาจากแผลที่เท้าของหญิงสาวที่ไม่รู้ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร จ่าอ้วนควักปืนที่อยู่ข้างเอวเล็งไปที่ชายผิวขาวร่างเปื้อนเลือด 
      หญิงสาวที่นอนแผ่หราบนพื้นลุกขึ้นยืนโซเซ
      หญิงและชายร่างเปลือยจ้องมองซึ่งกันและกันเหมือนโหยหาอะไรบางอย่าง 
     “เรื่องนี้มันยังไงกันจ่า” นายสิบร่างใหญ่รัดตัวชายเปลือยที่พยายามขัดขืนไว้แน่น ส่วนจ่าอ้วนเก็บอาวุธปืนตรงเข้าโอบไหล่พยุงร่างของหญิงสาว
     “ข้าก็ไม่รู้เหมือนกันว่ะ จับกลับไปโรงพักก่อน” 
     “อะไรนะจ่า”
     “ข้าบอกให้จับกลับไป”
     “จ่าพูดอะไร ผมไม่เห็นรู้เรื่องเลย”
     “ไอ้แท่ง เอ็งจับมันใส่กุญแจมือแล้วจับมันขึ้นรถ”
     “จ่า อะ ไร ปะ อา” 

……………………………

     บนหน้าจอโทรทัศน์ของบ้านหลังหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ภาพของนายกรัฐมนตรีหญิงของประเทศไทยใต้หน้ากากกันเชื้อโรคสีดำขนาดใหญ่ปรากฎขึ้นบนหน้าจอ ท่านนายกฯจัดเสื้อสูทให้ตึง
     “จนถึงวันนี้เราต้องยอมรับว่ายังไม่ทราบจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโรคบีคัมไวลด์ (become wild disease) แต่คาดว่ามีจำนวนมาก มีรายงานการพบผู้ติดเชื้อในทุกจังหวัดของประเทศ รวมทั้งประเทศในแถบเอเชีย ทั้งฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ลาว จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย โดยจำนวนผู้ติดเชื้อยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง …”
     “สำหรับรายละเอียดโรคบีคัมไวลด์ โรคนี้จะทำให้คนเหมือนเป็นสัตว์ป่า พูดจาไม่ได้ และมีสัญชาติญาณสัตว์ เช่น การมีเพศสัมพันธ์ในที่สาธารณะ การแสดงท่าทางตามคนอื่น เป็นต้น รัฐบาลขอให้ผู้คนอยู่แต่ในบ้านจนกว่าจะค้นพบวิธีการรักษา แต่ถ้าจำเป็นต้องออกจากบ้านให้ใช้หน้ากากปิดปากและจมูกทุกครั้ง และให้หลีกเลี่ยงผู้คนที่ติดเชื้อนี้โดยสังเกตลักษณะการแต่งกาย เพราะโดยปกติแล้วผู้ติดเชื้อจะไม่สวมเสื้อผ้าใดๆ…”
     “…กระทรวงสาธารณะสุขคาดว่าโรคนี้เกิดจากไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ที่มีระยะฟักตัวสั้นมาก โดยคนปกติเมื่อได้สัมผัสกับเชื้ิอในอากาศจะเริ่มแสดงอาการภายในสามนาที ขณะนี้ยังไม่มีวิธีการรักษาใดๆ โปรดอย่าหลงเชื่อคำหลอกลวงของผู้ที่ประกาศว่าพบวิธีการรักษา เพราะนอกจากจะทำให้อาการทรุดลงแล้ว ยังทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้ไม่สะดวก…
     …ประกาศจากสำนักนายกรัฐมนตรี”
     ชายร่างอ้วนนั่งโซฟาตบมือชอบใจ ก่อนที่จะกรีดร้องเหมือนหมูถูกเชือดขณะที่ไฟดับ ทั้งประเทศตกอยู่ในความมืดมิด
     
……………………………
สองพันปีผ่านไป
     
     วัตถุทรงกลมพื้นผิวโลหะลอยผ่านผ่านแขนโอไรออนของทางช้างเผือก เข้าสู่ระบบสุริยะ ผ่านดาวพฤหัสและดาวอังคาร ดาวที่มีชีวิตสีฟ้าปรากฎตรงหน้าสิ่งมีชีวิตสองตัวในยานทรงกลมนั้น ทั้งสองสื่อสารกันด้วยพลังจิต
     “รายงานสิ่งมีชีวิตบนดาวเคราะห์โลก”
     “มีสิ่งมีชีวิต แบบ DNA base จำนวน 8,121,432สปีชีส์ รวมสปีชี่ส์กึ่งกลาง 100,789สปีชีส์”
     “แล้วโลกสำคัญอย่างไรบ้าง”
     “โลกเป็นต้นกำเนิดของสิ่งมีชีวิตทรงปัญญา นามว่า Homo sapiens แต่เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสเมื่อ 2,000 ปีก่อนทำให้มนุษย์สูญพันธุ์ และ…” สิ่งมีชีวิตที่กำลังสื่อสารอยู่นั้นมีสัญญาณความคิดแทรก เป็นสิ่งไร้สาระ ขยะของความทรงจำ
    “…ผมรู้สึกรำคาญที่สุดที่มีขยะแห่งความทรงจำ ขยะเหล่านี้เป็นผลจากการวิวัฒนาการแท้ๆเลย Homo sapiens ทิ้งยีนขยะมาให้พวกเราตั้ง 217ยีน”
    “ช่วยไม่ได้จริงๆนะ ยีนเหล่านี้แหละที่เป็นเครื่องมือสร้างพวกเรา Homo sapiens psychy”
    
    ยานอวกาศทรงกลมบินผ่านโลกไป เป้าหมายคือ ดาวเคราะห์โร้ก ในแขนเพอร์ซีอุสของทางช้างเผือก การสื่อสารของคนทั้งคู่ขณะผ่านดาวเคราะห์โลกกินเวลาเพียงเสี้ยววินาที เป็นการสื่อสารที่มนุษย์ไซคีทั้งสองคนเข้าใจซึ่งกันและกันอย่างลึกซึ้งที่สุดโดยไม่อาจอธิบายได้ด้วยภาษา เครื่องมือชิ้นใหม่ของมนุษย์ ‘การสื่อสารสมบูรณ์แบบ’

    
  

     

29 ความเห็นบน “Desire”

  1. แนวคิดดีครับ แต่พล็อตมีความซับซ้อนไม่น่าเหมาะเป็นเรื่องสั้น อ่านแล้วกว่าครึ่งเป็นเล็กเชอร์ มึนไปเลย แต่ถ้าเป็นคนที่มีพื้นมาเยอะอย่างท่านหมอเอกน่าจะอ่านไปได้เร็วกว่าผมเยอะ

  2. ก่อนอื่่น การวิจารณ์ เป็นความคิดเห็นส่วนตัว
    ผู้สร้างสรรผลงาน จำเป็นต้องวิเคราะห์ “งานวิจารณ์” เพื่อเลือกที่จะ นำ หรือ ไม่นำ มาใช้ปรับปรุงงานของตนเอง
    นะครับ

    ก่อนอื่น ผมต้องบอก กรอบในการวิจารณ์ ของผมก่อน
    โดยหลัก ผมจะดู เนื้อหา (เรื่องอะไร, ประเด็น หรือ แก่นของเรื่อง คืออะไร)
    การใช้ภาษา (ซึ่งโดยส่วนตัวผมก็ไม่ได้เก่งภาษาอะไรหรอก แค่อ่านดูไม่สะดุดมาก ก็ดีแล้ว ไม่ถึงขั้นภาษาสวย)
    กลวิธีการเล่าเรื่อง จะ ไม่ใช่จุดวิจารณ์ของผมนัก เพราะมันมักเกี่ยวพัน อย่างหลวมๆกับเนื้อหา และ style ของผู้เขียน ซึ่งเป็นเรื่องของเอกลัษณ์

    และขอออกตัวก่อนว่า ส่วนตัวผมก็ใช่ว่าจะมีงานเขียนที่ดี ฉะนั้น คำวิจารณ์ น่าจะเป็นเพียงมุมมองของคนอ่านคนหนึ่งเท่านั้น

    เข้าเรื่อง
    คำวิจารณ์ปลีกย่อย น่าจะเป็นตัวละครที่ไม่จำเป็น
    ส่วน fact ทางวิทยาศาสตร์ อันนี้ ไม่ทราบจริงๆครับ จึงไม่ขอกล่าวถึง
    คำวิจารณ์หลักคือ
    หลังจากอ่านจบ ผมค่อนข้างจะ งงๆ กับ “ประเด็น” ของเรื่องที่อ่าน
    ถ้าประเด็นคือ “ความอยาก” (ตามชื่อ และ ประโยค เกริ่นนำ)
    เช่นนั้นการพูดเรื่องภาษา คงเป็นอาการเป๋
    หรือถ้าจะเทียบ ภาษาเป็น จุดเชื่อต่อ (เปรียบเทียบกับ ไวรัส) ผมว่ามันก็ไม่ชัดขนาดนั้น
    (โดยส่วนตัว ภาษา ไม่ใช่ตัวกำหนด การอยู่ร่วมกัน เป็นเรื่องของพื้นที่มากกว่า ส่วนการสื่อสารต่างหากที่เป็นตัวสร้างภาษา)
    และ ภาษาท่าทาง เกิดขึ้นก่อนภาษาพูดนะครับ (ภาพ และการเลียนแบบ เกิดขึ้นก่อน ภาษาเขียน)
    แถม การวิจัยดูจะไร้เป้าหมาย (ผมเชื่อว่านักวิทยาศาสตร์ที่ทำการวิจัยจะมีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่าความรักฉันท์ชู้สาว)
    แถมวิธีการนี่ ผมว่า ปืน กับ ยาสลบ (หรือสารเคมีบางประเภท) ง่ายกว่าเยอะ
    ฉะนั้น โดยส่วนตัวผม ความเชื่อ ที่จะดึงผมไปตามทาง(เรื่อง) จึงไม่เกิด ครับ

    ถ้าจะเล่นเรื่อง “การสื่อสาร” หรือ “ภาษา” ผมว่าคงต้องจับประเด็นใหม่นะครับ

    โดยสรุป
    ผมว่าเรื่องนี้ พยายามจะเป็น นิยายวิทยาศาสตร์ โดยไม่จำเป็น ครับ

  3. 555 เฮียนิราศก็คิดไม่ต่างกะผมเลยครับ
    เรื่องสั้นตามปกติมักมีประเด็นหลักประเด็นเดียว หากมีหลายประเด็นจะกลายเป็นเรื่องยาวขนาดสั้นหรือเรื่องยาว ตอนแรกเน้นไปที่ไวรัส แล้วตัดมาที่ภาษาอย่างเฉียบพลันทำให้สับสนกับประเด็น มันเลยไม่รู้ว่าจะสื่ออะไรมากกว่า ยิ่งตอนจบกลายเป็นอีกแบบมันหักมุมแบบมึนตึ๊บไปหมด

    หากต้องการนำเอาเรื่องไวรัสกับภาษามาเชื่อมเข้าหากันต้องเขียนบรรยายตรงนี้อีกยืดยาว ตรงนี้แหละที่ผมว่ามันเหมาะจะเป็นเรื่องยาว พอเขียนแล้วมันก็หนักหัว กับศัพท์วิทยาศาสตร์ ศัพท์แพทย์ ก็ต้องมาอธิบายเพิ่ม เรื่องมันก็ทั้งอืดและไม่น่าสนุกก็ต้องเพิ่มฉากเร้าใจเป็นระยะๆ ทำไปทำมามันก็ไม่จบง่ายกลายเป็นเรื่องยาวซะงั้น

    ประเด็นต่อมาคือความน่าเชื่อถือ อันแรกเลย นักวิทยาศาสตร์หนุ่มมีเงินเยอะมากขนาดจ้างศาสตราจารย์เจ้าของรางวัลอะไรนะ แล้วศาสตราจารย์ก็ทำให้ซะง่ายเชียว สองสัปดาห์รู้ผล ความจริงหากจะทำอะไรที่ยิ่งใหญ่มันน่าจะทำเพื่อมวลชนไม่ใช่เรื่องส่วนตัว หากจะทำด้วยเรื่องความรัก ทำให้เกิดคำถามตามมาว่าใช้วิธีอื่นไม่ง่ายกว่าหรือ เช่น ถ้ารวยขนาดนั้นใช้เงินเข้าซื้อก็ได้ หรือใช้วิธีขู่บังคับ น่าจะง่ายกว่า ประมาณนั้น

    นอกจากนี้ตอนจักรหลอกรินออกมามันดูไม่น่าเชื่อที่สุดก็คือว่า จักรรู้ได้อย่างไรว่ารินยังไม่แต่งงานกับเจตต์ เวลาโทรไปรู้ได้ไงว่าเจตต์กับรินไม่อยู่ด้วยกันตอนรับสาย ขึ้นโทรไปโกหกแล้วเขากำลังนอนคุึยกันก็แผนแตก ยิ่งเวลามาเจอหน้ากันก็โกหกไม่เนียน น่าจะเป็นแบบ
    “อ้าว ไอ้เจตต์ก็นัดผมมาเหมือนกันแต่ทำไมมันไม่โผล่หัวมาซักที” พอรินเผลอก็แอบหอมแก้มหนึ่งฟอด เอ๊ยไม่ใช่ก็โป๊ะยาสลบไปเลย

    ในส่วนท้ายที่ฉีดไวรัสแล้วทำให้เสียภาษาอย่างรวดเร็วมันไม่เร็วไปเหรอ อีกอย่างเสียความสามารถด้านภาษาแต่ไม่เสียความรู้สึกผิดชอบชั่วดีไปด้วยใช่ไหม

    ตอนแรกการแพร่ไวรัสทำโดยการฉีดยา แต่ตอนหลังทำไมมันแพร่ไปเร็วมากด้วยวิธีไหนกัน

    หากพัฒนาไวรัสอย่างนั้นได้ทำไมไม่พัฒนาไวรัสให้รินมารักจักรไปตรงๆเลย

    อ่านเรื่องนี้มันมึนๆหนักๆ อ่านแล้วเมื่อไหร่จะจบเสียที พอจบก็จบแบบมึนๆ โดนคอมเม้นไปเยอะคนเขียนคงมึนๆไปเหมือนกันเนอะ

  4. อ้อลืมไป หากเป็นเรื่องสั้นเวลาสัมนาแล้วต้องเอ่ยชื่อพิธีกรคนนั้นคนนี้ทั้งที่ไม่มีบทบาทในเรื่องมันน่าเบื่อมากสำหรับคนอ่าน น่าจะรวบรัดไปตอนสัมนาเลยก็ได้รวบแบบไม่ต้องบอกชื่อผู้บรรยาย ไม่ต้องพูดนำเรื่อง สรุปเรื่อง แบบเจาะเอาเฉพาะตอนเด็กชายจักรไปแอบฟังแล้วพอดีได้ฟังท่อนสำคัญไปเลยก็น่าจะได้เรื่องจะได้ดำเนินไปอย่างรวดเร็วขึ้น

  5. ขอบคุณสำรหับคำวิจารณ์ครับ โดนเต็มๆเลย คือผมยังมือใหม่อาจทำอะไรขาดๆเกินๆไปบ้าง ไว้แก้ตัวนะคับ

    คือเรื่องนี้ อยากสื่อว่าสิ่งที่พระเอกต้องการที่สุดคือความรักจากริน แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร

    แล้วอยากให้พระเอกเข้าขั้นจิตผิดปกติ(ในสายตาของคนทั่วไป) และพระเอกคิดว่าถ้าเขาและรินใช้ภาษาไม่ได้จะทำให้สื่อสารกันได้ดีขึ้น!!! ซึ่งความคิดนี้มาจากงานสัมมนาครั้งนั้น

    ส่วนตัวแล้วผมไม่ได้ร่างพล็อตก่อนเขียนเลย นึกเรื่องได้ก็เรียบเรียงในหัวแล้วเขียนเลย

    ส่วนใจจริงๆเรื่องนี้อยากสร้างให้เรื่องนี้ต่างจากเรื่องอื่นๆ แล้วพยายามทำให้นัวร์ๆ ดาร์กๆ ^^

    ส่วนรงกลางที่มีงานสัมมนา ผมก๊อปมาแปะจากอีกเรื่องที่เขียนไม่จบ ก็เลยดูเกินๆ และก็ไม่ได้แก้เสียด้วยสิ
    อบคุณที่แนะนำครับ ยาวเชียว 555

  6. เออ ส่วนชื่อเรื่องอาจไม่สัมพันธ์ เท่าไหร่ ตนที่ตั้งชื่อก็คิดอยู่ว่าไม่ค่อยเกี่ยว แต่ก็ไม่มีชื่ออื่นอยู่ในหัว อาจคิดได้ว่า desire คือความต้องการธรรมชาติของมนุษย์ ส่วนความต้องการของพระเอกก็มีมากๆจนลงทุนกับอะไรบางอย่างโดยคิดว่าถูกต้อง

  7. 😛
    คุณขอบโลก ก็อย่าถอดใจไปก่อนล่ะกัน ละครับ
    😀
    ค่อยๆอ่าน ค่อยๆเขียน ค่อยๆแก้ไปครับ
    คำวิจารณ์ของผม ก็อย่าเชื่อผมมาก คุณขอบโลกต้อง พินิจพิเคราะห์ด้วยตนเองนะครับ
    จริงๆแล้ว งานเขียนที่เขียนออกมาได้นี่ ผมก็ถือว่าประสบความสำเร็จ 50% แล้วครับ
    ส่วนที่เหลือคือการพัฒนา

    That which does not kill you makes you stronger.
    Neitzsche

    ครับ

  8. ส่วนเรื่องภาษา ผมคิดว่าภาษาเป็นสิ่งที่สร้างความคิด ทำให้คนอยู่รวมกันมากขึ้น ขยายขนาดชุมชนกลายเป็นเมือง เป็นประเทศ และภาษาเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดจริยธรรม ศีลธรรม และภาษาเองก็เป็นสิ่งที่กีดขวางการสื่อสารที่คนๆหนึ่งต้องการสื่อกับคนอีกคนหนึ่ง เหมือนว่าลิงที่ใช้ภาษากายสามารถสื่อสารได้เข้าใจกันมากกว่าคนที่ใช้ภาษาพูดกัน

    สรุปความคิดเห็นส่วนตัว ภาษากีดขวางการสื่อสาร และความคิด ความต้องการพื้นฐาน แต่ก็เพิ่มความคิด สร้างมาตรฐานใหม่ๆ มีไอเดียใหม่ๆ และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆอย่างเช่นจริยธรรมเป็นต้น

    เหมือนมีคนบอกว่า เราไม่มีทางเข้าใจคนอื่นได้เลยแม้จะอยู่ร่วมชายคาเดียวกันมาสี่สิบห้าสิบปี บางทีเราอาจจะยังไม่เข้าใจตัวเองอย่างถ่องแท้เลย

  9. จริงๆ ประเด็นเรื่องภาษา ผมเห็นแย้งกับคุณ ขอบโลกนะครับ
    “ภาษาเป็นสิ่งที่สร้างความคิด”
    ผมกลับมองว่า ความคิด ต่างหาก ที่สร้างภาษา

    “ภาษากีดขวางการสื่อสาร” อันนี้ ผมเห็นด้วยครับ
    เพราะภาษามีการตีความ และ การตีความของแต่ละคนไม่เหมือนกัน
    (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาษาไทย จะสังเกตุว่า ภาษาอังกฤษ ไม่ค่อยเป็น ซึ่งผมมองว่า เป็นเพราะบริบททางสังคม มากกว่า “ภาษา” ครับ)

    ภาษาไม่ได้สร้างอะไรใหม่
    ภาษาเป็นเพียง สื่อ ในการส่งผ่านข้อมูลต่อไป(เช่นการจดบันทึก) เท่านั้นเอง
    (และจะเห็นว่า การจดบันทึกมีทั้งที่เป็นตัวอักษร และ ภาษาภาพ หรือแม้กระทั่ง รูปถ่าย)
    การสร้างสิ่งใหม่ๆคือคน แล้วใช้ภาษาในการถ่ายทอดอีกที
    ซึ่ง ภาษา สามารถ “แปล” ได้ แม้จะไม่สมบูรณ์ 100% ก็ตาม

    ส่วนการขยายขนาดชุมชน ก็ไม่เกี่ยวกับภาษาอีกนั่นล่ะครับครับ
    ดูอย่างชุมชนคนจีนในประเทศไทยตอนเริ่มต้น(ทั้งสุโขทัย ทั้งอยุธยา ทั้งกรุงเทพ หรือการเข้ามาอยู่อาศัยของชาวต่างชาติในประเทศไทยในปัจจุบัน)ก็ได้ ครับ

    ส่วนการเข้าใจ คนอื่น และ ตัวเอง ไม่เกี่ยวกับภาษาครับ
    (เพราะการทำความเข้าใจตนเอง ไม่ต้องใช้ภาษา)

    ความเห็นส่วนตัวผม
    ภาษาที่สื่อสารได้ดีที่สุด คือภาษาที่ปราศจากการตีความ นั่นคือ math นั่นเองครับ

  10. อืม ผมจะลองยกตัวอย่างให้ดู (บอกไว้ก่อนว่าผมไม่ชำนาญเรื่องนี้เท่าไหร่)
    1จากเนื้อเรื่องชนเผ่าแอฟริกาที่นับเลขได้แค่1,2และmany <สิ่งนี้คือภาษา ส่งผลให้คนในชนเผ่่านี้รู้สึกสับสนเมื่อเจอจำนวนของสัตว์หรืออะไรที่มากกว่านั้น
    2คนเกาหลีจะใช้คำศัพท์ที่แสดงความเป็นเครือญาติ(คล้ายๆคนไทย) เหมือนกับการเรียกป้าที่ขายส้มตำ หรือเรียกพี่ที่อาวุโสกว่าในบ้านเราเป็นต้น แอร์โฮสเตสสายการบินหนึ่งในเกาหลีไม่กล้าที่จะพูดคุยกับหัวหน้าเพื่อแนะนำการบริการ สายการบินนี้จึงบังคับให้ทุกคนพูดอังกฤษที่ไม่มีคำแสดงความอาวุโส ผลออกมาคือแอร์โฮสเตสสาวกล้าพูดมากขึ้น มั่นใจในตัวเองมากขึ้น
    3ภาษาเป็นเครื่องมือถ่ายทอดที่มีประสิทธิภาพมาก ความรู้ที่เกิดขึ้นมา ถ้าคนอื่นจะลอกเลียนแบบก็คงทำได้ในวงจำกัด แต่เมื่อมีภาษา ทุกคนในชุมชนก็แนะนำต่อๆกันทำให้ทุกคนทำได้เหมือนกันหมด อันนี้พูดรวมๆนะครับ ไม่เหมือนกับลิงที่พูดกันไม่ได้ทำให้ไม่มีการสะสมและต่อยอดของเทคโนโลยี ลิงยังคงใช้ไม้เขี่ยปลวกมาไม่ว่าจะกี่เจเนอเรชั่น สิ่งนี้ทำให้สังคมขยายใหญ่ขึ้น เกิดกฎระเบียบ การจัดการที่มีประสิทธิภาพโดยใช้ภาษาเป็นเครื่องมือ!!
    4และความคิดเห็นส่วนตัว คนจะเข้าใจตัวเองได้ก็ผ่านทั้งภาษาและความรู้สึก เราไม่สามารถคิดเป็นความรู้สึกได้ หรือวิเคราะห์เรื่องราวที่ผ่านเข้ามาด้วยรูปภาพได้เพียงอย่างเดียว ทุกครั้งที่เราคิดล้วนผ่านการใช้ภาษาทั้งสิ้น

  11. 5(เพิ่มเติม)การใช้ภาษาถูกบันทึกอยู่ในพันธุกรรมของมนุษย์!!! เคยมีการทดลองเอาเด็กที่ถูกสอนภาษาที่สร้างขึ้นใหม่โดยนักวิทยาศาสตร์เป็นภาษาง่ายๆไม่ซับซ้อน สามารถเรียกสิ่งที่เป็นรูปธรรมได้บ้าง พอเอาเด็กหลายๆคนมารวมกัน ปรากฎว่าภาษาที่ใช้กลับซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆด้วยตัวของมันเอง ทั้งแกรมม่า คำศัพท์เรียกนามธรรมต่างๆ บางทีอาจจะมี universal grammar ก็ได้นะ สิ่งนี้แสดงให้เห็นเหมือนกันว่า ความคิด>>สร้างภาษา โดยความคิดน่าจะหมายถึงสมองซะมากกว่า สมองก็เป็นผลผลิตจากพันธุกรรมนั่นเอง
    และอีกอย่างหนึ่งคือยีนการใช้ภาษา foxp2 ในเรื่องก็เกี่ยวดองกับการใช้ภาษาด้วย

    ผมจึงคิดว่า ความคิด>>ภาษา ภาษา>>ความคิด เป็นลูป (พูดแล้วคิดถึงleonardo de caprioในอินเซปชั่นที่เขียนลูปความฝัน ความจริง)

  12. ความคิดก่อภาษา <– ถูกต้องนะคร๊าบ
    ภาษา คือ media ของความคิด ก่อให้เกิดการเข้าใจกัน
    การต่อยอดความคิดไม่จำเป็นต้องใช้ภาษา ? ใช้การสาธิตแทนได้?
    พัฒนาการครั้งสำคัญที่สุดของภาษาคือการกำเนิดภาษา
    พัฒนาการครั้งสำคัญต่อมาของภาษา คือการบันทึก
    การบันทึกทำให้องค์ความรู้ไม่ตกหล่นสุญหาย ขาดตอน ทำให้การต่อยอดองค์ความรู้ดำเนินไปอย่างราบรื่นและรวดเร็ว

    หากไม่มีภาษา มนุษย์จะยังเป็นสังคมไหม ก็คงจะยังเป็นเพราะมนุษย์ยุคก่อนภาษาก็ยังเป็นสัตว์สังคม
    มนุษย์ที่สูญเสียความสามารถทางภาษาจะยังคงความเป็นมนุษย์ และศีลธรรม ได้ไหม น่าสนใจนะ เลยมีกรณีศึกษาบ้างไหมว่าผู้ป่วยที่สูญเสียความสามารถทางภาษา เช่นคนหูหนวก หรือคนที่เป็นโรคประมาณดีสแล็กเซีย จะยังอยู่ในสังคมได้หรือไม่

    กลับมาที่เรื่องสั้น

    ไวรัสที่พัฒนาน่าจะโจมตีไปที่ความเป็นมนุษย์ หรือสัตว์ป่า ได้เลยโดยตรงไม่ต้องไปโจมตีที่ภาษา ในเรื่องนี้ถ้าจะเน้นภาษาก็น่าจะลดทอนรายละเอียดของเรื่องไวรัสลงและเน้นประเด็นของภาษาให้เด่นขึ้น เหมือนมันเด่นทั้งสองอย่าง

  13. ถกกันเชิงปรัชญาแนวคิด ผมคิดว่า คงต้องรอเวลาตกผลึกกันหน่อยกระมังครับ

    ผมเคยตั้งสมมุติฐานว่า มนุษย์จริงๆแล้วเป็น หุ่นยนตร์ (จักรกลมนุษย์)
    และ digital ครอบคลุมทุกอย่างแล้ว
    (analog คือ digital ที่มีความละเอียดสูงมากๆ)
    มนุษย์ส่งผ่าน program ผ่าน DNA
    (ผมกำลังพยายามสรุปว่า เราถูกสร้างจากสิ่งมีชีวิตอื่นอีกที)
    และ เลขฐานสอง สมบูรณ์ที่สุดแล้ว
    จนผมติดที่ ค่า pi
    ทฤษฎีผมเลยล้มไป 😀

    เข้าเรื่อง

    ความคิดสร้างภาษา แต่ ภาษาสร้างความคิดจริงหรือไม่?
    ผมว่าไม่จริง
    เพราะผมคิดเป็น ภาพ

    “ความคิด>>สร้างภาษา โดยความคิดน่าจะหมายถึงสมองซะมากกว่า สมองก็เป็นผลผลิตจากพันธุกรรมนั่นเอง”
    ผมว่า ประโยคนี้ คุณสรุป logic เร็วไปหน่อย
    “สมอง เป็น ผลผลิตจากพันธุกรรม” จริงหรือ ?
    แล้วกระบวนการเรียนรู้ อยู่ตรงไหนของสมการ
    โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระบวนการเรียนรู้ที่ไม่เกี่ยวกับ ภาษาเช่น “น้ำเดือด โดนแล้วร้อน มือจะพอง” กระบวนการเรียนรู้เกิดจาก โดนน้ำร้อนก่อน แล้วค่อยเอาภาษามาจับว่า “โอ้ นี่เรียกว่าน้ำเดือด นี่เรียกว่าร้อน”

    เด็กที่ไม่มีภาษา มีกระบวนการเรียนรู้หรือไม่ ?
    ถ้าเราเชื่อในทฤษฎีของ ชาลส์ ดาร์วิน เราคงต้องเชื่อว่า มี
    เพราะ สัตว์มีการพัฒนาตัวมันเองโดยไม่ได้ใช้ภาษา แต่เป็นการคัดกรองทางธรรมชาติ …
    … หรือเปล่า?

    กรณีชนเผ่า เขาไม่ต้องการ เลขที่มากกว่านั้น เพราะในบริบทของเขามันไม่จำเป็น
    เหมือนเรื่องหนึ่งที่อ่านนานมากแล้ว จนจำไม่ได้ ว่ามีเผ่าหนึ่งจะมีลูกแค่สองคน เพราะหากเกิดเหตุอะไร เขาจะอุ้มหนีได้แค่สองคนเท่านั้น
    (ถ้ามีคนที่สามเขาจะฆ่าทิ้ง)

    หรือ พฤติกรรมครอบครัวของชาวเอสกีโม

    ฉะนั้น สถาพแวดล้อม และ กระบวนการทางวัฒนธรรมต่างหากที่เป็นตัวกำหนด พฤติกรรม และการพัฒนา
    ภาษาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกระบวนการทางวัฒนธรรม แต่ไม่ใช่ทั้งหมด
    (เคยดูสารคี river monster ปลาที่คนละฝั่งของสายน้ำอเมซอน มีการวิวัฒนาการที่ต่างกันเพราะกระแสน้ำเชี่ยวที่ขั้นกลางแม่น้ำ)

    ในมุมมองของผม โดยตัว “ภาษา” เอง จึงไม่ได้มีความสำคัญขนาดนั้น

    และ ภาษา เปลี่ยนแปลงได้ ตามผู้ใช้ (กรณีกลุ่มเด็กที่คุณพูดถึง) ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร
    นอกจากจะเป็นภาษาที่ตายแล้ว(ไม่มีคนใช้แล้ว) ภาษาจึงจะหยุดการเปลี่ยนแปลง

    เอ๊ะนี่เราถกเรื่องอะไรกันเนี่ย ?
    สรุปประเด็นหน่อยดีไหมครับ 😀
    ๑. ภาษา สร้างความคิด : ผมว่าไม่จริง
    ๒. ภาษาต่างกัน สร้างความคิดที่ต่างกัน : ผมว่าไม่จริง
    หรือ ประเด็นมันคือ ตรงไหน กันแน่
    (สรุปประเด็นก่อน แล้วค่อยสรุปข้อโต้แย้ง ครับ)

    สงสัยจะเรื่องยาว 😀

  14. คงจะยาวจริงด้วยแฮะ
    โดยส่วนใหญ่ผมเห็นด้วยกับคุณนิราศ แต่เข้าใจว่าคุณนิราศไม่ได้สื่อสารก๊ะผ๋ม 555 เอิ๊ก
    ผมเป็นอีกคนละที่คิดเป็นภาพก่อน ข้ามขั้นของภาษาไปเลย เช่นถามว่าร้านสเต๊กนั้นอยู่ตรงไหน ในหัวจะมีภาพแผนที่เมืองกางขึ้นมาทันทีและตำแหน่งก็ถูกระบุออกมาอย่างกะ gps เลย จากนั้นจึงต้องเรียบเรียงเป็นคำพูด

    แปลกแฮะ เรื่องสั้นผมกลับไม่รู้สึกสนุก แต่มาสนุกตอน discuss กัน

  15. ผมเข้าใจ(เอาเอง)ว่า คุณHooNo2000 มองคล้ายๆผมนะครับ 😀
    ในประเด็น “ความสำคัญของ ภาษา”

    ผมว่าจริงๆ(ตั้งแต่เกิดมา) เราคิดเป็นภาพนะ
    แต่ที่เราคิดเป็นภาษา เพราะเราคิดถึง คำพูด(และการสื่อสาร)ต่างหาก
    หรือเปล่า?
    เดี๋ยวต้องลองพยายามจับความคิดตัวเอง อิ อิ

    และนี่เป็นอีกหนึ่งนิสัยเสียของผม ในเรื่อง ประเด็น หรือ logic บางอย่าง
    ที่ถ้าผมเห็นว่า “ไม่ใช่นะ” ผมก็จะมีอาการแบบนี้ล่ะครับ
    (ได้โปรดยกโทษให้ผมด้วย 😀 )

  16. 555 ดีครับ ๆมาถกกัน
    ผมขอตกผลึกอย่างที่พี่ nirajบอกจริงๆ ยังไม่ค่อยเคลียร์เท่าไหร่ ขอไปหาข้อมูลมาเพิ่มด้วย 55

    แต่ผมยังยืนยันในเรื่องพันธุกรรมสร้างสมอง ยีนเป็นตัวที่สร้างสมองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
    โดยถึงจุดๆหนึ่งอาจจะเหมือนว่ายีนปล่อยให้เราคิดเป็นอิสระ
    การเรียนรู้ก็เป็นหนึ่งในลักษณะที่ผ่านการคัดเลือกทางธรรมชาติมา โดยการเรียนรู้จะเพิ่มโอกาสความอยู่รอดให้กับมนุษย์ จึงถูกคัดให้อยู่
    ลองคิดถึงแมงมุมที่ออกไข่ สร้างรัง ห่อไข่ และำใส่ในรัง สิ่งที่มันทำเป็นรีเฟล็กซ์ (สัญชาติญาณธรรมชาติที่ถูกบันทึกไว้ในยีน!!!)
    ถ้าเราขัดขวางมันระหว่างที่มันกำลังห่อไข่ด้วยใยของมันอยู่นั้น (อย่างเช่นขโมยไข่ไป) มันจะไม่รู้เลยว่าเราทำอะไรกับมัน แมงมุมก็ยังจะสร้างรังของมันต่อไปโดยไม่มีไข่!!
    แต่ถ้าเป็นมนุษย์ เราสามารถเรียนรู้ คิดถึงเหตุการณ์ล่วงหน้า และวางแผนได้
    http://www.youtube.com/watch?v=q40YgjU1cs8&feature=related
    ลองดูชิมตัวนี้ (คิดว่าเป็นคนล่ะกัน) สามารถแก้ปัญหาได้โดยไม่มีใครสอน
    สิ่งนี้เกิดจากอะไร
    สมองใช่หรือไม่ แล้วอะไรล่ะเป็นตัวสร้างสมองที่เต็มไปด้วยการวางแผน การเรียนรู้ และการคิดถึงเหตุการณ์ล่วงหน้า
    ผมคิดว่าทั้งยีน และสิ่งแวดล้อม ที่สร้างสิ่งเหล่านี้
    ยีนเหมือนเป็นขีดจำกัดความเป็นไปได้ของการใช้สมอง และสิ่งแวดล้อมเหมือนน้ำที่เติมเต็มขีดจำกัดนั้น

    คิดเห็นอย่างไรบ้างครับ

  17. ขอต่ออีักนิด มนุษย์ยังมีขีดจำกัดของการใช้ภาษาอีกด้วย (ที่เกิดจากสมอง จากยีน) เพราะฉะนั้น สิ่งที่เติมเต็มขีดจำกัดนั้น คือ การอยู่ร่วมกันของมนุษย์ที่เป็นสัตว์สังคม จะเห็นได้จากงานวิจัยเด็กที่ถูกสอนภาษาอย่างง่ายๆ แต่ภาษากับทวีความซับซ้อนขึ้น โดยไม่มีคนสอน มีแต่การใช้งานกันในสังคมของเด็ก

    ขีดจำกัดของภาษาคือ การออกเสียง ไวยากรณ์(น่าจะมีบ้าง) และอื่นๆ (ที่ไม่รู้แล้ว)

    ความคิดจึงก่อภาษาได้ ถ้าจะพูดถึงความคิดว่ามันเป็น สมอง

    ส่วนเรื่อง ภาษา shapes ความคิด นั้น เดี๋ยวไปหามาครับ

  18. ผมขอ อุดรอยรั่วที่ผมทิ้งไว้ 555 สิ่งที่ shape ความคิดของเรา มีทั้งสิ่งแวดล้อม และ สิ่งที่เราคิดภายใน (ตกผลึก) เดี๋ยวจะหาว่าผมลอกมาอย่างเดียว ไม่ได้คิดเองเลย 555 และก็ ความคิด คือ สมอง ขอใช้คำใหม่ ว่า ความคิดเกิดจาก สมอง น่าจะโอเคกว่า (คือน่าจะเข้าใจอยู่แล้ว ไม่งั้นความคิดจะมาจากไหน ตับ? ม้าม? หัวใจ? – -”)

    เอ๋ พี่niraj ที่คิดแล้วติดค่า pi นี่ติดตอนไหนครับ 555 ผมคิดว่าภาษาเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์เป็นมนุษย์ในปัจจุบันนี้ เป็นเครื่องมือที่ทรงพลังมาก
    พี่hoono ผมคิดว่าภาษาเป็นตัวที่ทำให้เทคโนโลยีต่อยอดขึ้นไปได้ก็เพราะว่า
    การลอกเลียนแบบนั้นไม่รวดเร็วเท่ากับภาษา ลองย้ัอนไปสมัยมนุษย์ลิงดู
    (นอกเรื่องหน่อย การที่คนเราลอกเลียนแบบและทำตามได้เพราะมี mirror neuron ที่ระบบประสาทจะทำตามสิ่งที่มองเห็น )
    และยอมรับว่ามนุษย์และบรรพบุรุษเป็นสัตว์สังคม แต่สังคมก็จะไม่ขยายใหญ่ขนาดนี้ถ้าไม่มีภาษา เีราไม่สามารถอยู่ร่วมกัน แบ่งปัน กำหนดกฏเกณฑ์ได้ ถ้าสื่อสารกันไม่ได้ เราคงอยู่รวมกลุ่มเป็นชุมชนเล็กๆ เท่านั้นเอง

    เดี๋ยวก่อน ภาษานี่เรารวมอะไรบ้างเนี่ย ภาษา=สัญลักษณ์? หรือ ภาษา=ภาษาพูดเท่านั้น

  19. ผมมองในประเด็นว่าถ้าไม่มีภาษาจริงๆ ความเป็นมนุษย์จะยังคงอยู่หรือไม่ หรือกลายเป็นสัตว์ป่าตามต้นเรื่องท้ายเรื่อง เมื่อวิเคราะห์ภาษามันก็คือมีเดียหนึ่ง ที่สะดวกรวดเร็ว สามารถบันทึกได้และนำกลับมาใช้ใหม่ได้ทำให้ช่วงแรกของการพัฒนาสังคมเป็นไปได้อย่างราบรื่น

    ถ้าหากในยุคสมัยก่อนมีกล้องวิดีโอมาบันทึกวิธีการต่างๆ มันก็สามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีจากรุ่นสู่รุ่นและต่อยอดได้เหมือนกัน แต่สมัยนั้นไม่มี ก็ใช้ภาพวาดและภาษาบรรยาย ซึ่งก็สะดวกรวดเร็วดีครับ

  20. นี่ละครับที่ผมอยากให้สรุปประเด็นก่อน

    ๑. ว่าประเด็นของเราคืออะไร
    “ภาษาทำให้เกิดความเจริญ” ?
    (หรืออะไร)
    คุณขอบโลก ลองสรุปให้ได้ในประโยคเดียวนะครับ

    ๒. นิยาย คำกล่าวให้ชัดเจน เช่น
    ภาษาหมายถึงอะไรบ้าง
    ความเจริญคืออะไร

    ยกตัวอย่างประสบการณ์(ที่ไม่ค่อยน่าอภิรมย์สักเท่าไร)
    ผมเคยเจอคนเปิดประเด็นว่า “ทุกศาสนามี นิพาน ทั้งนั้น ฉะนั้น จะ นิพาน ใช้ศาสนาไหน ก็ได้”
    ผมนั่งเถียงกับมันอยู่ตั้งนาน
    จนสรุปได้ว่า
    นิพาน ของผม คือ การไม่ เกิด,แก่,เจ็บ,ตาย (หรือหยุด ทุกข์ นั่นเอง)
    แต่ นิพานของเขา คือ “เป้าหมายสูงสุดของศาสนา” (ไม่ว่าเป้าหมายนั้นจะเป็นอะไรก็ตาม)
    สรุปคือ ที่ถกกันมา เสียเวลาเปล่า ครับ

    ฉะนั้น ก่อนจะไปไกล(มึนงง)ไปมากกว่านี้
    สรุปสองอย่างนี้ให้ได้ก่อนนะครับ

    แล้วเปิดเป็น post ใหม่เลยก็ได้นะครับ ผมว่า

  21. การใส่ข้อมูลทางวิชาการอาจทำให้เรื่องดูสมจริงมีที่มาที่ไปไม่ใช่เป็นเพียงจินตนาการเพ้อเจ้อก็จริง แต่ถ้ามากเกินไปก็ทำให้เสียอรรถรสในการอ่าน เพราะจะกลายเป็นตาราวิทยาศาสตร์ไปและดูยัดเยียด ไม่ควรให้ข้อมูลความรู้หลากหลายประเด็นนัก ควรเน้นประเด็นหลักเพียงหนึ่งหรือสองก็พอครับ
    ผมขอชมแนวคิดที่แปลกแหวกแนวดี วิธีการนำเสนอคล้ายเรื่องสั้นหลายๆเรื่องมาต่อๆกันเป็นเรื่องเดียว แต่ผมสายตาไม่ค่อยดี อ่านค่อนข้างยาก ควรจัดบรรทัดให้ดูสบายตาขึ้น และไม่ควรมีวงเล็บในเครื่องหมายคำพูดครับ

    วรากิจ

  22. ขอบคุณครับ

    ปล.ผมแก้เรื่องก่อนๆไปบ้างนิดหน่อย แต่ไม่อยากแก้มากจะได้เห็นวิวัฒนาการ ไว้เขียนเรื่องใหม่ดีกว่า
    ปลล.อีกสามวันก็จะสอบเสร็จแล้ว วันหยุดยาวนี้หวังว่าจะเขียนเรื่องใหม่เสร็จซักเรื่อง พล็อตจำนวนมากกำลังรอให้เขียนอยู่ เย้!

  23. 10 หน้ากระดาษ A4 ผมเข้ามาอ่านไม่ทันจบต้องมีธุระทุกที
    รอบนี้พิมพ์ลงกระดาษเก็บไว้อ่านเรียบร้อยแล้วครับ
    อ่านเสร็จแล้วจะแวะมาคุยนะครับ

  24. “วอ หนึ่ง เรียก วอ สอง ” โค้ด ว. แบบนี้ไม่มีครับ ถึงจะเป็นนิยายวิทย์แต่ต้องไม่ละเลยคำพูดที่ใช้ในชีวิตประจำวัน

    แนวคิดเรื่องการสื่อสารด้วยภาษา “ภาษากีดขวางการสื่อสาร และความคิด ความต้องการพื้นฐาน ” ภาษามี2แบบครับ วัจนะภาษา กับ อวัจนะภาษา ลองศึกษาเรื่องภาษาดู อาจจะเป็นเพราะผู้เขียนศึกษาเรื่องของภาษาน้อยไปนิดหนึ่ง

    นัยpommm

  25. ก่อนอื่นต้องขออภัยที่เข้ามาตอบช้าครับ ช่วงนี้งานยุ่งมาก แต่ก็ได้อ่านจนจบเรื่อง ผมอ่านสองรอบและอยากจะบอกว่าเข้าใจทั้งหมดที่ผู้เขียนต้องการสื่อสารออกมาครับ จริง ๆ เรื่องนี้น่าจะเขียนให้ยาวกว่านี้ แตกประเด็นให้มากขึ้นให้เป็นเรื่องยาวเรื่องหนึ่ง เนื่องจากเนื้อเรื่องมีกลวิธี มี timeline มีประเด็นให้แตกย่อยออกไปได้อีกมาก เสียดายหากจะจบลงที่เรื่องสั้นเรื่องหนึ่ง

    เรื่องการตัดต่อยีนส์และการนำเข้าสู่สมองผ่าน blood brain barrier นั้นอ่านแล้วเข้าใจทั้งหมดครับ (ผมอยู่ในแวดวงนี้อยู่แล้ว) เคยมีการทดลองพยายามรักษาเนื้องอกในสมองด้วยการทำให้เกิดการติดเชื้อขึ้น โดยการใส่เชื้อแบคทีเรียบางชนิดที่ตัดต่อยีนส์แล้วเข้าไปในสมองสัตว์ทดลอง โดยมีความพยายามทำให้แบคทีเรียชนิดนี้จะใช้เซลล์เนื้องอกเป็นอาหารแต่เพียงอย่างเดียว ไม่สามารถย่อย-ทำลายเซลล์สมองปกติได้ ผลที่คาดไว้ก็คือเมื่อฉีด/ผ่าตัด/ฝังเชื้อตัวนี้เข้าไปในเนื้องอกในสมอง เชื้อจะเข้าไปย่อยสลายเนื้องอก ทำให้เนื้องอกหมดไปจากสมอง หลังจากนั้นแบคทีเีรียก็จะหมดอาหารและตายไป (ปัจจุบันยังไม่ได้นำมาทดสอบกับคนครับ คิดว่าคงอีกนาน) หลักการที่ใช้ก็คล้ายกับที่เขียนในเรื่องสั้นเรื่องนี้

    ประเด็นที่ผมติดใจสงสัยมากคือโรคติดต่อชนิดนี้ incubation period มันสั้นเกินไป นั่นคือเชื้อสามารถแพร่กระจายได้เร็วมากและถ้าเป็นอย่างที่กำหนดในเรื่อง เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนจะติดเชื้อนี้โดยเร็วครับ (ลองนึกถึงหนังเรื่อง 28 days later ที่การติดเชื้อทำให้มนุษย์คุ้มคลั่งเกิดขึ้นเร็วมาก พวกนี้จะทำให้คนติดเชื้อโดยที่ไม่สามารถหาทางป้องกันได้ ยกเว้นคนที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมแบบปิดซึ่้งในความเป็นจริงหาได้ยากมาก ๆ )

    ส่วนเรื่องอื่นนั้นหลายท่านได้วิจารณ์ไปแล้ว (โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็น “ว.1 เรียก ว.2” ซึ่งถือเป็นจุดด้อยที่ชัดเจนจุดหนึ่ง)

    ภาพรวมผมถือว่างานชิ้นนี้เขียนได้ดี แต่จำกัดในเรื่องการบรรยายให้คนทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ในวงวิชาการสายนี้เข้าใจได้ ถ้าขยายเรื่องให้ยาวขึ้นแล้วเรียบเรียงให้ดีจะดีกว่านี้ครับ

ใส่ความเห็น