ทางเลือก

กลิ่นหอมของเมล็ดกาแฟลอยวนในบรรยากาศ เสียงเพลงแจ๊สเปิดคลออยู่เบาๆ ผมคงรู้สึกผ่อนคลายมากกว่านี้นัก หากมิได้กำลังนั่งรอคอยคนที่จะตัดสินชี้ชะตาอนาคตอยู่ ผมมาถึงที่นัดก่อนเวลา15นาที ไออุ่นสีขาวลอยคละคลุ้งขึ้นจากแก้วกาแฟตรงหน้า ผมเพียงแต่นั่งมองฟองนมตกแต่งลายสวย ไม่มีใจจะยกขึ้นดื่มด่ำกับรสขมปร่า แต่น่าลิ้มลองนั้น หัวใจเต้นเป็นจังหวะตามเข็มวินาที พยายามซ่อนความรู้สึกกระวนกระวายอยู่ในส่วนลึกของจิตใจ

ผมมักจะติดนิสัยเช็คอีเมลตอนเช้าหลังตื่นนอนพร้อมแก้วกาแฟในมือเสมอ ไม่เว้นวันหยุดเสาร์อาทิตย์  วันนั้นเป็นเช้าวันเสาร์ที่แสนจะธรรมดาอีกวันหนึ่ง ผมค่อยๆไล่อ่านอีเมลที่ถูกส่งมาให้ทีละฉบับอย่างไม่รีบร้อน จนกระทั่งมาถึงอีเมลฉบับนั้น ซึ่งถูกส่งมาจากคนที่ผมไม่รู้จัก เนื้อความในจดหมายแจ้งว่าอยากคุยกับผมเรื่องสิ่งประดิษฐ์ที่ผมกำลังคิดค้นทดลองอยู่ โดยเขายินดีจะสนับสนุนโครงการนี้และออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด ผมเหลือบมองเวลาที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ เวลานัดคืออีกหนึ่งชั่วโมง ที่ร้านกาแฟซึ่งอยู่ห่างจากบ้านผมไปไกลพอสมควร ผมเทกาแฟที่เหลือในแก้วทิ้งและรีบไปเตรียมตัว  ตัดสินได้ทันทีโดยไม่ต้องคิด ไม่ว่าคนคนนั้นจะคือใครก็ตาม เขาอาจจะเป็นเพื่อนของเพื่อนหรือคนที่ติดตามผลงานของผมผ่านบล็อกในอินเตอร์เน็ต เขารู้เรื่องสิ่งประดิษฐ์นี้ได้อย่างไร จากใคร ไม่สำคัญเลย แต่ผมจะไม่มีทางพลาดโอกาสที่จะได้เงินสนับสนุนมูลค่ามหาศาลนี้โดยเด็ดขาด… ไม่ใช่ว่าผมหน้าเงินหรอกนะครับ แต่ความฝันของนักประดิษฐ์ก็คือการทำให้สิ่งที่คิด ออกมาสู่โลกแห่งความเป็นจริง ซึ่งนั่นก็ต้องใช้เงินตราเป็นแรงขับเคลื่อนจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว

 

กริ๊ง! เสียงระฆังเงินใบจิ๋วที่ถูกแขวนไว้กับบานประตูกระจกส่งเสียงกังวานใส คล้ายกับกำลังร้อง “ยินดีต้อนรับ” ลูกค้าผู้มาเยือน

ชายสองคนก้าวเข้ามาในร้าน คนแรกสวมเสื้อเชิ้ตสีอ่อนท่าทางภูมิฐาน มีแว่นตากันแดดอันใหญ่ปิดบังใบหน้า ส่วนอีกคนดูหนุ่มกว่ามาก แต่งตัวทะมัดทะแมง เขานั่งโต๊ะห่างออกไปพอสมควรแต่ยังคงจ้องมองมาอย่างระแวดระวัง

“สวัสดีครับ ดร.ชนวีร์” ชายท่าทางภูมิฐานเอ่ยทัก ก่อนจะนั่งลงฝั่งตรงข้าม เขาเลื่อนแว่นกันแดดลง เผยให้ผมเห็นใบหน้าชั่วครู่ ก่อนจะใส่กลับเข้าที่เดิม เกรงว่าถ้ามีคนจดจำเขาได้คงจะไม่ใช่เรื่องดีนัก

“ท่านรัฐมนตรี!” ผมเผลอร้องอุทานเสียงดัง ก่อนจะเหลือบไปเห็นสายตาดุๆเป็นเชิงปรามมาจากบอดี้การ์ดที่นั่งห่างออกไป

“ขอโทษครับ ผมแค่ไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะเป็นท่าน” ผมรีบเบาเสียงลงจนแทบเป็นกระซิบ

“ไม่เป็นไรหรอก” ท่านส่งรอยยิ้มอย่างเป็นกันเองกลับมาให้ ก่อนจะเอ่ยต่อไป “คุณก็คงจะทราบอยู่แล้วว่ากระทรวงศึกษาธิการของผมไม่มีผลงานดีๆมานานมาก ไม่ว่าจะพยายามปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างไร ก็ไม่มีคนเห็นดีเห็นงามด้วย ผมถูกประชาชนวิจารณ์ก็ไม่เป็นไรหรอก แต่ผมก็ยังคงอยากเห็นประเทศเราพัฒนา เดินหน้าไปในทางที่ถูกต้องเสียที”

ทุกวันนี้มีแต่ข่าวเกี่ยวกับนโยบายการศึกษาแนวใหม่ (ซึ่งคงจะถูกเปลี่ยนอีกภายในสองปี เหมือนทุกๆแนวที่ผ่านมา) มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยซึ่งออกมาวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างดุเดือด

เพื่อตอบสนองนโยบายใหม่ของรัฐบาลที่ต้องการพัฒนาให้ประชาชนมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านอย่างแท้จริง เด็กจะเรียนวิชาพื้นฐานทั้งหมดถึงชั้นประถมศึกษาปีที่สี่ และมีการแยกสายเรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ห้า โดยแยกละเอียดยิบยิ่งกว่าสมัยก่อนขึ้นมาก แบ่งเป็น ศิลป์ภาษาต่างๆ ศิลป์สื่อสารมวลชน ศิลป์ศิลปะ ศิลป์ดนตรี ศิลป์นาฎศิลป์ ศิลป์สังคมศาสตร์ ศิลป์การโรงแรม ฯลฯ ศิลป์คำนวณ-การจัดการบริหาร วิทย์วิศวะ วิทย์สาธารณสุข วิทย์เทคโนโลยี วิทย์การบิน ฯลฯ นอกจากนั้นยังมีสายทหาร ตำรวจ ฯลฯ แต่ละสายจะถูกแยกย่อยลงไปอีกเมื่อถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่หนึ่ง เช่น สายศิลป์สังคมศาสตร์ แยกเป็น รัฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ นิติศาสตร์ มนุษยศาสตร์ สายวิทย์สาธารณสุขแยกเป็น แพทยศาสตร์ สัตวแพทย์ เภสัชศาสตร์ พยาบาล ทันตแพทย์ และบางสายอาจถูกแยกอีกครั้งเมื่อถึงมัธยมศึกษาปีที่สาม เช่น แพทย์ แยกเป็น กุมารแพทย์ วิสัญญีแพทย์ อายุรแพทย์ สูตินรีแพทย์ ศัลยแพทย์ จักษุแพทย์ จิตแพทย์ และอีกมากมาย

หลังจากแยกสายตอนป.5แล้ว เด็กๆจะเรียนแต่เฉพาะวิชาที่จำเป็นต่อสายงานตัวเองเท่านั้น นอกนั้นจะกลายเป็นสิ่งไม่จำเป็นที่ทำให้ “รกสมองเปล่าๆ” เหมือนที่เมื่อก่อนคนมักตั้งคำถามว่า หากต้องการจะเป็นล่ามจะให้มานั่งเรียนแคลคูลัสไปทำซากอะไร เรียนไปก็ไม่เคยได้ใช้ ปวดหัว เสียเวลาเปล่า

นายกฯคนใหม่ของประเทศเลยชูนโยบายมุ่งสู่ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน อะไรที่ไม่จำเป็นก็ไม่ต้องเรียน ไม่เปลืองเวลา ทุกคนจะมีความรู้ความสามารถในด้านใดด้านหนึ่ง เรียกได้ว่ารู้ลึกรู้จริง ซึ่งสามารถทำงานได้ตั้งแต่จบม.6! รัฐบาลมองว่า นี่ถือเป็นการพัฒนากำลังของชาติ ทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ เพราะเมื่อเดินตามแผนนี้แล้วจะทำให้ประเทศมีประชากรที่สามารถทำงานได้ตั้งแต่ช่วงอายุ18-60ปี (สำหรับบางคนที่ขยายอายุการเกษียน อาจทำงานได้ถึง75ปี) จะเห็นได้ว่าช่วงทำงาน ทำรายได้ให้ประเทศจะมีมากขึ้น เป็นการลดภาระของประเทศอีกทางหนึ่ง

แต่ขณะเดียวกัน เด็กๆก็เหมือนถูกบังคับให้ต้องเลือก โดยที่ตัวเองก็ยังไม่รู้เรื่องอะไร อายุ10-11ปีนั้น ยังอ่อนวัยเกินกว่าจะรู้ชัดว่าตัวเองชอบสิ่งใดกันแน่ ยังรู้จักอาชีพบนโลกนี้ไม่ครบเสียด้วยซ้ำ เด็กๆก็ได้แต่เลือกตามครอบครัว ตามเพื่อน เลือกจากที่ตนเคยพบเห็น บางคนถึงขั้นต้องพึ่งพระพึ่งเจ้า ดูดวง เสี่ยงทายทำนายชะตากันไป เลือกผิดเลือกถูก บางครั้งต้องเสียเวลาเริ่มต้นใหม่ซ้ำซากเสียเวลาไปมากกว่าจะพบสิ่งที่ตนชอบจริงๆ

“ตอนนี้คุณพอจะอธิบายเรื่องเจ้าสิ่งประดิษฐ์ที่คุณคิดอยู่ให้ผมฟังได้รึเปล่า” ท่านรัฐมนตรีกล่าวต่อไป

“ครับท่าน ได้แน่นอนครับ” ผมจัดแจงเปิดกระเป๋า หยิบเอกสารปึกหนาประกอบคำบรรยายออกมาตั้งบนโต๊ะ ผมจะเล่าว่าคิดค้นเรื่องนี้ได้อย่างไร มันทำงานอย่างไร กลไกของมันสุดยอดแค่ไหน มีสูตรคำนวณเป็นล้านสูตรและความคิดสร้างสรรค์ระดับอัจฉริยะอีกร้อยแปด ราวกับกำลังจะกล่าวอภิปรายเปิดตัวต่อคนทั้งโลก แต่แล้ว ความคิดหอมหวานนั้นก็กลับถูกขัดขึ้นเสียก่อน

“เดี๋ยวดร. ผมขอแบบฟังง่ายๆ กระชับ เป็นภาษาคน ไม่เอาศัพท์เทคนิค ผมไม่ค่อยถูกกับเทคโนโลยีซะเท่าไหร่” ท่านมองมาที่ปึกเอกสารมือของผม “หากดร.จะให้ผมนั่งฟังทั้งหมดนั่น.. เกรงว่าจะมีเวลาไม่มากนัก”

ผมรู้สึกห่อเหี่ยวใจอยู่ลึกๆที่งานอภิปรายอันยิ่งใหญ่ต้องปิดฉากลงตั้งแต่ยังไม่เริ่ม ผมเลือกกระดาษแผ่นหนึ่งจากปึกใหญ่ทั้งหมดนั้นออกมา บนนั้นมีรูปร่างหน้าตา การทำงานของเจ้าสิ่งประดิษฐ์ที่ผมกำลังจะพูดถึง

“นี่ครับ สิ่งประดิษฐ์ที่ท่านกำลังสนใจอยู่ ผมได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพยนตร์พ่อมดชื่อดังในยุคย่าทวดโน่น ในเรื่องจะมีหมวกคัดสรร คอยคัดเด็กนักเรียนแยกไปตามบ้านต่างๆ หากท่านอยากดู ผมคิดว่ายังพอจะหาโหลดได้ในอินเตอร์เน็ตนะครับ” ท่านรัฐมนตรียิ้มให้ผมเล็กน้อย ไม่ตอบคำ เหมือนกับจะอยากให้ผมเข้าเรื่องเสียที

“เจ้าเครื่องนี้ทำงานเหมือนหมวกคัดสรร กล่าวคือมันทำงานคัดแยกและระบุความสามารถของบุคคลที่สวมใส่ไปตามสายงาน” ผมชี้ไปที่ภาพขณะบรรยาย รูปร่างของมันเหมือนหมวกกันน็อคขนาดใหญ่ที่ใส่ครอบทั้งหัว ผมขอตั้งเรียกมันว่า “หมวกคัดสรร” ตามต้นแบบของแรงบันดาลใจ ด้วยการวิเคราะห์ที่แม่นยำของหมวกคัดสรรนี้เอง ปัญหาที่น่าหนักใจจะหมดไป ทั้งปัญหาเลือกไม่ถูก ซิ่วซ้ำซ้อน ประกอบอาชีพไม่ตรงกับสายงานที่เรียนจบมา ฯลฯ”

“มันทำได้ยังไง”

“เป็นคำถามที่ดีมากครับ” ผมเอ่ยอย่างตื่นเต้น สิ่งที่จะพูดต่อไปเป็นความภูมิใจที่ยิ่งใหญ่ของผมเลยทีเดียว

“หมวกคัดสรรเปรียบเสมือนเครื่องสแกนสมองขนาดพกพา มันจะทำงานวิเคราะห์การทำงานของสมอง ปฏิกิริยาตอบสนอง ผ่านคำถาม ภาพเหตุการณ์ต่างๆ ฯลฯที่จะปรากฏขึ้นภายในหมวกเมื่อถูกสวมใส่

อย่างที่ท่านรัฐมนตรีก็น่าจะทราบแล้วว่าสมองของคนเรานั้น แบ่งเป็นสองซีก ซ้าย-ขวา จะมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่สมองสองซีกถูกแบ่งด้วยเส้นบางๆจนดูเหมือนสองซีกจะกลืนเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งคนเหล่านั้นมักเป็นอัจฉริยะอย่างเช่นไอน์สไตน์ที่เป็นทั้งนักคิดวิเคราะห์ และจินตนาการสร้างสรรค์ในคนคนเดียว

แต่คนทุกคนไม่ได้เป็นอย่างไอน์สไตน์ ดังนั้นจึงมักมีบางสิ่งที่เราถนัดทำได้ดีกว่าอีกสิ่งเสมอ นั่นก็มีสาเหตุมาจากความสามารถในการทำงานของสมองซีกซ้ายซีกขวา มนุษย์ส่วนใหญ่มักจะมีข้างที่ถนัดมากกว่าอีกข้างเสมอ

สมองซีกซ้ายนั้น ทำหน้าที่เกี่ยวกับการคำนวณ การใช้กล้ามเนื้อแขนขา การคิดเป็นเหตุเป็นผล ความสามารถในการพูด การเขียน การวิเคราะห์ การรับรู้ด้านภาษา การจัดลำดับก่อนหลัง การควบคุมพฤติกรรมต่างๆ เป็นต้น และสมองซีกขวาก็ทำหน้าที่ด้านความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ อารมณ์ ความรู้สึก มิติสัมพันธ์ ความสามารถในการใช้ภาษาท่าทาง ศิลปะ ฯลฯ

ปกติสมองทั้งสองซีกจะทำงานร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว เช่น เวลาเราอ่านหนังสือ สมองซีกซ้ายจะทำหน้าที่ถอดความหมาย และซีกขวาจะรวบรวมความคิด แต่ถ้าเราเหนื่อยหรือเครียด สมองอาจทำงานได้ข้างเดียว เท่ากับความสามารถในการใช้สมองลดลง ไม่สามารถรวบรวมความคิด พูดอธิบายอย่างชัดเจน ใช้ความคิดเชิงสร้างสรรค์ได้”

“ครับ แล้วเครื่องนี้จะทำประโยชน์อะไรได้บ้าง” ท่านรัฐมนตรีเอ่ยตัดบท ใบหน้ายังคงเรียบเฉย หากท่านมิใช่คนสุภาพที่ต้องรักษาภาพพจน์แล้วละก็…. ท่านคงจะถลึงตาใส่ผมและบอกว่า “รวบรัดหน่อยได้ไหม ผมไม่ได้ว่างงานพอจะมีเวลามานั่งฟังคุณพล่ามทั้งวันได้หรอกนะ!” ไปแล้ว

“เอ่อ…. หมวกคัดสรรจะทำให้เรารู้ว่าคนคนนั้นมีความถนัดด้านไหนเป็นพิเศษ หรือนั่นก็คือการวิเคราะห์หาพรสวรรค์ที่ซ่อนอยู่ภายในตัวเรานั่นเอง… อย่างที่ทราบกันนะครับว่า คนทุกคนล้วนเกิดมาพร้อมกับพรสวรรค์ไม่ด้านใดก็ด้านหนึ่ง อยู่ที่ว่าเราจะหามันเจอหรือไม่ คนที่หาเจอคงจะเป็นคนที่โชคดีมากนะครับ และสิ่งประดิษฐ์ของผมก็จะช่วยผู้คนตามหาสิ่งที่ตัวเองถนัดที่สุดนั่นเองครับ” ผมยิ้มปิดท้ายคำพูดอย่างภูมิใจ

“ไม่ว่าสิ่งประดิษฐ์ของคุณจะทำงานอย่างไร ใช้งบประมาณสักเท่าไหร่ ผมยินดีจะช่วยให้ความคิดของคุณออกมาโลดแล่นในโลกความเป็นจริง ผมแน่ใจว่ามันต้องสามารถนำประเทศของเราสู่ความศิวิไลซ์ได้อย่างแน่นอน คุณจะกลายเป็นคนดัง ส่วนผมจะมีเกียรติได้รับความชื่นชม…. เพราะฉะนั้นเดินหน้าโครงการนี้เต็มที่เลยครับดร. ผมต้องการให้ผลงานออกมาดีที่สุดและเร็วที่สุดด้วย”

ผมตอบตกลงด้วยความยินดี จับมือกับท่านรัฐมนตรีก่อนที่ท่านจะเดินทางกลับไปพร้อมกับบอรี้การ์ด ผมกระโดดโลดเต้นออกจากร้านอย่างลิงโลด กาแฟที่ถูกวางทิ้งไว้ยังคงเต็มแก้ว แต่นั่นไม่สำคัญอะไรอีกแล้ว ตอนนี้ผมรู้สึกกระชุ่มกระชวยสามารถทำงานได้ทั้งวันทั้งคืนเลยเสียด้วยซ้ำ

หลังจากนั้นสิ่งประดิษฐ์ของผมก็ประสบความสำเร็จ ผมดังเป็นพลุแตกชั่วข้ามคืน ส่วนท่านรัฐมนตรีก็ได้รับความนิยมชื่นชม อย่างที่ท่านว่าไว้  ส่วนประเทศของเราจะมุ่งสู่ความเป็นศิวิไลซ์ได้หรือไม่นั้น ผมไม่อาจยืนยันได้ในทันที

จากตอนแรกหมวกคัดสรรเปิดให้บริการเป็นเพียงทางเลือกสำหรับเด็กที่ไม่รู้ว่าจะเลือกเรียนทางใด หลังจากนั้นเมื่อรัฐบาลเริ่มเห็นผลดีของมัน ก็สนับสนุนผลักดันให้กลายเป็นกระบวนการขั้นตอนหนึ่งก่อนแยกสาย กล่าวคือ ทุกคนต้องผ่านหมวกคัดสรรนี้และต้องเดินตามทางที่ประมวลผลได้จากหมวก เหมือนในภาพยนตร์ต้นแบบแรงบันดาลใจ ต่างก็ตรงที่ว่าเด็กสมัยนี้ไม่มีทางเลือก ไม่ว่าเขาจะพยายามกระซิบบอกความต้องการลึกๆของตัวเองกับหมวกเท่าไหร่ มันก็ไม่เคยตอบกลับมา ผลวิเคราะห์ออกมาเช่นไหร่ต้องเป็นไปตามนั้น นั่นก็เพื่อผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ดังที่รัฐบาลได้ประกาศว่าประชาชนทุกคนจะมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ซึ่งเป็นด้านที่วิเคราะห์แล้วว่าคุณถนัดที่สุด ทำได้ดีที่สุด ไม่มีการเลือกผิดเลือกถูกอีกต่อไป มีแต่ทางที่ใช่! ใครๆต่างต้องอิจฉาเด็กรุ่นคัดสรรทั้งนั้นเพราะไม่ต้องเสียเวลาตามหาพรสวรรค์ของตัวเองอีกต่อไป

 

ผ่านมาหลายปีหลังจากนั้น มีโรงเรียนเฉพาะทางผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด และเด็กยุคคัดสรรเติบโตเป็นผลผลิตออกสู่สังคม ทุกคนล้วนเก่งกาจเชี่ยวชาญเฉพาะด้านสมดังความตั้งใจตามนโยบายรัฐ แต่ผลที่ตามมาพร้อมกับความสำเร็จนี้ช่างน่าตกใจนัก ผมไม่อาจปฏิเสธได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมิได้เป็นผลพวงจากสิ่งประดิษฐ์ของผม ปัญหาใหญ่ของประเทศขณะนี้ไม่ใช่เรื่องการศึกษา หรือรายได้ แต่เป็นปัญหาเรื่องสุขภาพจิต! จนรัฐบาลตั้งเป็นวาระแห่งชาติและระดมผู้เชี่ยวชาญมาแก้ปัญหา แต่ก็ยิ่งเหมือนเรื่องราวจะไปกันใหญ่เพราะผู้เชี่ยวชาญเหล่านั้นกลับเป็นคนไข้ที่มีความเครียดเช่นกัน และอีกปัญหาหนึ่งที่ตามมาคือ ปัญหาขาดแคลนแรงงานในบางสายอาชีพ (บางสายงานก็แทบไม่มีผู้เชี่ยวชาญเลย ในขณะที่บางสายงานก็มีมากจนเดินชนกันให้ทั่ว)

ปัญหาทั้งหมดทั้งมวลที่เกิดขึ้นนั้นเป็นผลมาจากการส่งเสริมให้เรียนแต่เฉพาะวิชาที่จำเป็น หมวกคัดสรร นโยบายที่มุ่งสู่ความเชียวชาญเฉพาะด้านและม.6จบแล้วทำงานได้เลย เนื่องจากวัยทำงานในปัจจุบันนั้นยังเด็กเกินไป มีความรู้จริงแต่ขาดวุฒิภาวะ ไม่มีประสบการณ์ทางโลกเพียงพอ ประกอบกับการถูกบังคับให้เรียนเพียงสิ่งเดียวทางเลือกเดียวนั้น ก็ยิ่งทำให้ความเข้าใจในโลกลดต่ำลง วิชาความรู้ขาดการบูรนาการแบบข้ามสาย ไม่เคยมีสิ่งประดิษฐ์ แนวคิด จินตนาการใหม่ๆ การทำงานซ้ำเดิมมากๆ เรียนมาในสภาวะแก่งแย่งชิงดีกัน (เพราะอยู่ในสังคมที่มีแต่คนเก่งในสายเดียวกัน) ก็ทำให้เกิดความเครียดได้

คนเราไม่ได้มีความชอบเพียงหนึ่งเดียว ไม่ได้เกิดมาถนัดอย่างเดียว อาจจะมีสิ่งที่ถนัดที่สุด เป็นพรสวรรค์ แต่ไม่ได้แปลว่าเราจะเกิดมาเพื่อสิ่งนั้นสิ่งเดียว นั่นไม่ได้เป็นการตัดสิทธิ์เราที่จะมีความสุขกับสิ่งอื่น สิ่งที่รัฐบาลทำคือการตัดทางเลือกของเด็ก เหมือนม้าแข่งที่ถูกใส่ที่บังตาให้มองไปข้างหน้า และควบไปตามลู่ที่ขีดไว้เท่านั้น… มันไม่เคยได้เพลิดเพลินกับธรรมชาติรอบตัวระหว่างทางเลย

 

ยุคถัดมาคือยุคที่รัฐบาลชุดใหม่ต้องปวดหัว ตามแก้ปัญหาที่ชุดที่แล้วๆมาก่อไว้ยาวเหยียด ผมขอตั้งชื่อว่ายุค “Back to basic” เพราะผู้นำชุดนี้ชูนโยบายแก้ปัญหาโดยการตัดสินใจให้ทุกอย่างกลับไปเหมือนจุดเริ่มต้น ท่านคงจะเชื่อตามเสียงเรียกร้องของประชาชนที่ว่า “แบบเดิมก็ดีอยู่แล้ว จะเปลี่ยนทำไม” แล้วนี่ก็เป็นจุดสิ้นสุดของหมวกคัดสรรและชื่อเสียงของผม ที่ผมเองก็ไม่ได้คาดหวังอะไรเรื่องชื่อเสียงอยู่แล้ว ผิดกับท่านรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการที่คาดหวังว่าตนจะมีเกียรติ กลับกลายเป็นมี (คน) เกลียดไปซะนี่ และท่านก็เงียบหายไปจากวงการเมือง (ผมได้ข่าวลือว่าท่านผันตัวเองจากนักการเมืองไปเป็นนักลงทุนเล่นหุ้นแล้ว ซึ่งดูจะรุ่งกว่ากันเยอะ ดูสิ! ขนาดตัวท่านเองก็ยังพบทางเลือกใหม่ที่ดีกว่าเดิม แต่ผมก็ไม่รู้หรอกนะว่า มันจะเป็นทางที่เหมาะกับท่านที่สุดหรือไม่… ก็ผมไม่ใช่หมวกคัดสรรนี่ครับ!)

Back to basic… กลับไปที่จุดเริ่มต้น กลับไปให้เวลามนุษย์ได้เรียนรู้และเลือก “ทางเลือก” ด้วยหัวใจตัวเอง มันอาจถูกบ้างผิดบ้าง แต่ชีวิตก็มีความสุขดีมิใช่หรือ เพราะทุกครั้งที่เลือกไม่ว่าท้ายที่สุดแล้ว จะเป็นทางที่ถูกหรือผิด เราก็มักได้รับสิ่งอื่นกลับมาเสมอ ได้เจอผู้คน พบมิตรภาพ ความรัก ประสบการณ์ที่ล้ำค่า ได้รู้จักกับสิ่งต่างๆที่อาจจะมีประโยชน์ต่อเราในอนาคตบนเส้นทางนั้น (ถึงตอนนี้จะยังไม่เห็นค่าก็ตาม)

สิ่งที่ทำให้มนุษย์เกิดการเรียนรู้ไม่ใช่มีเพียงสิ่งที่ดี แต่รวมถึงสิ่งที่ไม่ดีด้วย ความเลวร้าย ยากลำบากเมื่อผ่านมันมาได้ สุดท้ายก็มักจะทำให้เราเข้มแข็งและเป็นบันไดสู่ความสำเร็จเสมอ อย่างน้อยจากร้อยทางเลือก ถ้าทางนี้ไม่ใช่ เราก็จะได้รู้ไว้ และถึงจะไม่พบทางที่ใช่ เราก็ประสบความสำเร็จในการลดจำนวนทางที่ “อาจจะใช่” ลง เหลืออีกเก้าสิบเก้าทางให้ลอง เหมือนกับที่โธมัส อัลวา เอดิสัน นักประดิษฐ์ผู้ยิ่งใหญ่ที่เคยกล่าวไว้อย่างไม่เคยท้อถอยว่า “I have not failed, I’ve just found10,000 ways that won’t work….ผมไม่ได้ล้มเหลวผมแค่ค้นพบเส้นทางที่ยังไม่ใช่หนึ่งหมื่นหนทางเท่านั้น”

สิ่งที่เรามองว่าไม่สำคัญจำเป็น สุดท้ายเมื่อนำมาบูรนาการร่วมกัน เราจะได้ค้นพบสิ่งใหม่ๆเสมอ เช่น สตีฟ จ็อบส์ได้กล่าวไว้ในปาฐกถาพิเศษที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด  ว่าเขาเคยลงเรียนคอร์สสอนการออกแบบตัวอักษรที่มหาวิทยาลัย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็ไม่ได้ช่วยอะไรในชีวิตเลย จนกระทั่งสิบปีต่อมาเมื่อเขาออกแบบคอมพิวเตอร์ แมคอินทอชเครื่องแรก เขาจึงได้ใช้ความรู้ที่เรียนมาประดิษฐ์ตัวฟอนท์ที่สวยงาม  สตีฟกล่าวว่า “เราไม่สามารถต่อจุดให้เป็นรูปร่างได้โดยการมองไปข้างหน้า เราจะทำได้ก็ต่อเมื่อเรามองย้อนหลังไป” … เพราะฉะนั้นแล้ว บางทีสิ่งที่คิดว่าไร้ประโยชน์ ไม่ได้ใช้ แต่จริงแล้วเราอาจจะได้ใช้ในอนาคต หรือเราอาจจะเผลอใช้มันในชีวิตประจำวันไปแล้วก็ได้ ดังเช่นเรื่องราวทั่วๆไปทางวิทยาศาสตร์

 

ผ่านมาหลายสิบปีแล้ว แต่ผมก็ยังคงติดนิสัยอ่านอีเมลตอนเช้าพร้อมแก้วกาแฟในมืออย่างเคย แม้ร่างกายจะชราภาพลงแต่ผมก็ไม่เคยหยุดคิดค้นทำงานเลย ถึงสิ่งประดิษฐ์ส่วนใหญ่ของผมจะไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไหร่ อย่างไรเสียหน้าที่การบรรยายพิเศษและสอนหนังสือก็เป็นไปได้ด้วยดี ยังคงมีอีเมลจากลูกศิษย์ลูกหามาให้ผมตอบกลับอยู่เสมอ

อีเมลจากคนแปลกหน้าที่ไม่รู้จักปรากฏอยู่เบื้องหน้า ทำให้ผมหวนคิดถึงเหตุการณ์ครั้งนั้น สถานทีนัดคือร้านกาแฟร้านเดิม ผมลังเลชั่ววูบก่อนจะตัดสินใจออกไปตามนัด

กลิ่นหอมของเมล็ดกาแฟลอยวนในบรรยากาศ เสียงเพลงแจ๊สเปิดคลออยู่เบาๆ ผมปล่อยใจให้เพลิดเพลินกับเสียงเพลงขณะจิบกาแฟอย่างสงบ ผมมาถึงที่นัดก่อนเวลา15นาทีและยังคงเลือกนั่งที่เก้าอี้ตัวเดิม วันนี้จะมีคนมาคุยกับผมด้วยเรื่องเดิม “หมวกคัดสรร”

 

กริ๊ง! เสียงระฆังเงินใบจิ๋วที่ถูกแขวนไว้กับบานประตูกระจกส่งเสียงกังวานใส คล้ายกับกำลังร้อง “ยินดีต้อนรับ” ลูกค้าผู้มาเยือน

ชายสองคนก้าวเข้ามาในร้าน คนแรกสวมสูทสีดำท่าทางทันสมัย มีแว่นตากันแดดอันใหญ่ปิดบังใบหน้า ส่วนอีกคนแต่งตัวทะมัดทะแมง เขานั่งโต๊ะห่างออกไปพอสมควรแต่ยังคงจ้องมองมาอย่างระแวดระวัง

“สวัสดีครับ ดร.ชนวีร์” ชายหนุ่มที่ใส่สูทเอ่ยทัก ก่อนจะนั่งลงฝั่งตรงข้าม เขาเลื่อนแว่นกันแดดลง เผยให้ผมเห็นใบหน้าชั่วครู่ ก่อนจะใส่กลับเข้าที่เดิม เกรงว่าถ้ามีคนจดจำเขาได้คงจะไม่ใช่เรื่องดีนัก

“ท่านสส.” ผมทักกลับ

“ดร. คุณดูไม่แปลกใจเลยนะครับ หรือคุณรู้อยู่แล้วว่าเป็นผม”

“เชื่อสิ ผมเคยเจอเรื่องที่น่าแปลกใจมากกว่านี้มาแล้ว” ผมยิ้มเมื่อหวนระลึกถึงอดีต อาจเป็นเพราะอายุที่มากขึ้นเลยทำให้ผมรู้สึกสงบราวกับรู้จักโลกนี้เป็นอย่างดี แค่เห็น ผมก็พอจะเดาได้แล้วว่าท่านสส.ต้องการสิ่งใด…และผมมาที่นี่เพื่อเอ่ยปฏิเสธ

“งั้น ผมจะเข้าเรื่องเลยแล้วกันนะครับ ผมได้รู้มาว่าดร.เป็นคนที่ประดิษฐ์หมวกคัดสรร ผมนัดพบดร.ก็เพื่อเสนอให้ดร.ประดิษฐ์หมวกคัดสรรอีกครั้ง โดยพัฒนาปรับปรุงจากเวอร์ชั่นเก่า เช่น เพิ่มตัวแปรด้านจิตใจความชอบเข้าไปด้วยและให้หมวกมีโปรแกรมสถิติบันทึกด้วยว่าเคยส่งคนไปสายงานไหนแล้วบ้าง จำนวนเท่าไหร่ ถ้ามากแล้วก็จะได้เลือกส่งไปยังสายงานที่ถนัดรองลงมา เพื่อลดปัญหาขาดแคลนแรงงาน… คราวนี้หมวกคัดสรรจะถูกใช้ในการเลือกสายของคนที่มีวุฒิภาวะมากพอแล้ว ผมเชื่อว่าจะไม่มีปัญหาดังเช่นอดีตอีก ดร. ผมชื่นชมในสิ่งประดิษฐ์ของคุณจริงๆนะครับ ผมเชื่อมั่นว่ามันจะเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้นได้”

ผมถอนใจกับความคิดนั้น แต่อีกใจหนึ่งก็อยากรู้ว่าจะทำได้จริงไหม และผลลัพธ์จะดีกว่าเครื่องยุคก่อนอย่างไรบ้าง หากเรื่องที่ผ่านมาคือความผิดพลาด เป็นไปได้ไหมว่าเราจะทำให้มันถูก อย่างว่า…ความฝันของนักประดิษฐ์คือการได้เห็นสิ่งที่ตนคิดมีประโยชน์ ใช้ได้จริง และผมก็ยังคงเป็นนักประดิษฐ์ธรรมดาๆคนหนึ่งเท่านั้น

“ครับ” ผมตกลง ลืมความตั้งใจแรกที่มาที่นี่ไปเสียสนิท “ว่าแต่คุณจะเอาหมวกคัดสรรไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไร”

“คุณคงยังไม่ทราบว่ามีโผแต่งตั้งลับๆของคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ออกมาแล้ว ผมจะได้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ” สส.หนุ่มท่าทางไฟแรงยิ้มอย่างภาคภูมิใจ

…. รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการอีกแล้วหรือนี่ ผมยังไม่เคยเห็นรมต.กระทรวงนี้ทำอะไรถูกใจคนในประเทศสักคน ทำไมคนเขาถึงแย่งชิงกันเป็นนักนะ…..

 

 

4 ความเห็นบน “ทางเลือก”

  1. ชอบมากครับ มันให้ความรู้สึกหมดหวัง ขบขันแบตลกร้าย เสียดสีแบบไม่รู้สึกหยาบคาย นับเป็นงานชิ้นยอดชิ้นหนึ่งเลยครับ ทีแรกผมคิดว่าจะตัดจบตรงที่ความล้มเหลวของสิ่งประดิษฐ์ (ซึ่งดูแล้วเหมือนจะง่ายไปนิด) แต่ก็มีหักมุมชั้นที่สองที่ทำให้คนอ่านประทับใจได้

    เป็นงานที่วิพากษ์ระบบการศึกษาได้ดีชิ้นหนึ่ง รวมไปถึงวิพากษ์ระเบียบวิธีคิด โดยเฉพาะการคิดในแบบไทย ๆ (นักการเมืองมาอ่านก็คงแสบ ๆ คัน ๆ ไปบ้างเหมืิอนกัน) และทำออกมาได้ดีมากครับ

    ผมเชื่อว่าสิ่งประดิษฐ์นี้สักวันหนึ่งจะมีขึ้นมาจริง ๆ นะครับ

ใส่ความเห็น