ตัวกินยูเรเนียม

ตัวกินยูเรเนียม  (เรื่องสั้นๆ)

อาร์ดีสามสองแปดเดินทางกลับมายังอดีต ปรากฎตัวขึ้นหลังจากยานเวลาจอดสนิท เขาเข้าไปในห้องแยกยูเรเนียม ห้องหัวใจหลักของเครื่องจักรกลบินได้ที่ใหญ่ที่สุดที่มนุษย์สร้างขึ้น ที่นั่นช่างเทคนิคกะกลางคืนกำลังนั่งควบคุมเครื่องปั่นยูเรเนียม 238 อยู่

……..

ช่างเทคนิคเห็นอาร์ดีสามสองแปดแล้วตกใจ

“แกเป็นใคร เข้ามาในนี้ได้ยังไง” ช่างเทคนิคถาม เขาคว้าประแจตัวใหญ่มาไว้ในมือ เจ้าสิ่งที่อยู่ตรงหน้าดูคล้ายมนุษย์โลกแต่ไม่ทุกอย่าง

“ฉันคือผู้ที่มนุษย์จากโลกอนาคตส่งมา” ผู้มาเยือนตอบ “เราสามารถสร้างยานเวลาให้เดินทางไปได้ทุกที่”

“แกต้องการอะไร เข้ามาในนี้ทำไม” ช่างเทคนิคลุกขึ้น กระชับประแจอันโตที่เขาคิดว่าพอจะใช้เป็นอาวุธได้

อาร์ดีสามสองแปดไม่ตอบ มันกรอกดวงตามองไปรอบๆตัว ดวงตาของมันมองรอบๆได้สามร้อยหกสิบองศา

“ในนี้เต็มไปด้วย แร่กัมมันตรังสี” มันบอก ขณะที่ดวงตาสีแดงทั้งสองดวงยังหมุนวนเรื่อยๆไปรอบศรีษะ “ฉันได้รับหน้าที่ให้กำจัดสิ่งที่คาดว่าจะส่งผลต่อโลกอนาคต อดีตที่เลวร้ายย่อมทำให้อนาคตเลวร้าย”

“ที่นั่น โลกอนาคต ที่แกพูดถึง มันเกิดอะไรขึ้น” ช่างเทคนิคไม่เชื่อสายตาว่าเขากำลังคุยกับตัวอะไรสักอย่างที่คล้ายมนุษย์ มีแขน มีขา ลำตัวตั้งตรง และศรีษะที่ใหญ่กว่าปกติกับดวงตาคู่นั้น เขาเพิ่งสังเกตพบว่ามันไม่มีปาก

“โลกอนาคตเต็มไปด้วยรังสีแห่งความตาย” มันตอบสั้นๆ

“แล้วแกจะทำอะไรกับที่นี่…” ช่างเทคนิคค่อยๆถอยหลังออกไป จนหลังพิงผนังห้อง เขารู้สึกว่าผู้อยู่ตรงหน้าเต็มไปด้วยอันตราย

อาร์ดีสามสองแปดไม่ตอบ ดวงตาของมันหยุดหมุนวน ช่องว่างตรงใบหน้าเริ่มเปิดอ้า จากนั้นลำแสงสีแดงก็พุ่งออกจากช่องที่ว่าไปทุกทิศทุกทาง  แทรกไปตามรอยต่อเล็กๆระดับนาโนของเครื่องปั่นนับร้อยๆตัวที่เดินเครื่อง กำลังแยกยูเรเนียม 235 ออกจาก 238 ลำแสงประหลาดรวมตัวกับแร่ยูเรเนียมทั้งหมด แรงระเบิดในระดับอะตอมเกิดขึ้น ลำแสงสีแดงเปลี่ยนความรุนแรงของการระเบิดให้เบาบางราวกับขนนก เงียบ แสงแห่งสันติ ครู่เดียว ทุกอย่างก็หยุดลง

แร่ยูเรเนียมหายไปจากห้องแยก เครื่องแยกทุกๆตัวว่างเปล่า ความเงียบเข้าครอบคลุม ช่างเทคนิคตาเบิกค้างขณะที่มองผู้มาเยือนตรงหน้า ซึ่งมันเพิ่งจะกินแร่กัมมันตรังสีเข้าไปหมาดๆ จากนั้นช่างเทคนิคก็มองเห็นร่างของอาร์ดีสามสองแปดเรือนหายไปช้าๆ

วินาทีนั้น เขาถึงกับร้องออกมาอย่างสิ้นหวัง…

“แล้วทีนี้…ยานอวกาศของเราจะเดินทางไปดาวอังคารได้ยังไง ในเมื่อแร่ที่เป็นเชื้อเพลิงถูกกินจนเรียบหมด”

ช่างเทคนิคทรุดตัวลงนั่งกับพื้น สิบห้าวินาทีถัดมา คอมพิวเตอร์ประจำยานก็ส่งเสียงเตือนเรื่องระดับพลังงานยูเรเนียมที่ลดฮวบลง อีกไม่นาน ยานลำนี้ก็คงเหมือนเศษเหล็กที่ลอยล่องไปในจักรวาลอย่างไร้จุดหมายพร้อมกับลูกเรือซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักวิทยาศาสตร์ราวหนึ่งพันห้าร้อยชีวิตจากดาวโลก

3 ความเห็นบน “ตัวกินยูเรเนียม”

  1. อันนี้อ่านแล้วงงเล็กน้อยครับ

    หุ่นยนต์มาจากโลกไหน โลกมนุษย์หรือดาวอังคาร ?
    แล้วมาจากอนาคตของโลกมนุษย์หรืออนาคตของดาวอังคาร ?
    และท้ายที่สุด นักวิทยาศาสตร์ยกขโยงกันไปดาวอังคารทำไม ?

    เดาแบบคนมองโลกในแง่ร้ายของผมก็คงจะได้ประมาณว่าโลกแตกสลาย
    แล้วขบวนอพยพแบบเรือโนอาห์โดยมีนักวิทยาศาสตร์เป็นส่วนใหญ่กำลังอพยพไปดาวอังคาร
    (สำหรับบางประเทศอาจมีนักการเมืองอยู่บนยานมากกว่านักวิทยาศาสตร์)
    แล้วไปทำให้ดาวอังคารเปรอะเปื้อนไปด้วยรังสีึ (แต่ดาวอังคารก็เป็นอย่างนั้นอยู่แล้วนี่ !)

    แต่ก็พอจะจับใจความที่ต้องการสื่อออกมาได้ในระดับหนึ่งนะครับ

    ปล. มันจะ paradox มากถ้าหุ่นยนต์ตัวนี้ถูกสร้างโดยลูกหลานของนักวิทยาศาสตร์บนยานลำนั้น

  2. อยากจะเข้าใจว่า หุ่นยนต์ตัวนี้กลับมาเพื่อกำจัดความเป็นไปได้ทั้งหมดในการสร้างระเบิดนิวเคลียร์ แต่ดันไปกำจัดยูเรเนียมที่เป็นเชื้อเพลิงของยานอวกาศทำให้คนตายมากมาย

  3. ผมกำลังประมวลความคิดอยู่ครับ 😀

    ประเด็นแรกที่รู้สึกคือผู้เขียนพยายาม surprise ตอนจบ แต่กลัวไม่ surprise เลยพยายามปกปิดทุกอย่างมากเกินไป

    (โดยส่วนตัว ผมชอบ surprise ที่มี clue บอกล่วงหน้า แบบ the sixth sense ที่พยายามเฉลยอย่างรุนแรงตลอดเวลา)

    ผลเลยกลายเป็น impact ที่ไม่แรงเท่าที่ควร (เพราะคำถามที่ตามมาคือ “แล้วไง?”)

    ถ้าเกริ่นว่า นักวิทยาศาสตร์เห็นอันตรายของยูเรเนี่ยม และมีโครงการจะเดินทางไปค้นหาแร่ธาตุชนิดอื่นมาทดแทน แล้วหุ่นยนต์เองก็มาทำให้การเดินทางนั้นล้มเหลว impact ก็อาจจะเป็นอีกแบบหนึ่ง
    แต่ก็ยังไม่แรงอยู่ดี เพราะสุดท้าย หุ่นยนต์ก็ถือว่า ได้ทำงานบรรลุจุดประสงค์แล้ว

    หรือจะปรับให้ ร่างของหุ่นยนต์ค่อยๆสลายขณะดูดกลืน ยูเรเนียม เพราะหุ่นยนต์ก็ถูกพัฒนาจากพื้นฐานพลังงานของยูเรเนียม เช่นกัน (paradox) แต่อาจจะซับซ้อนเกินไป

    (ดูตัวอย่าง terminator ภาคแรก จะเห็นวิธีเล่นกับ surprise ของการเดินทางข้ามเวลาได้ดีทีเดียว)

    เรื่องนี้ แสดงให้เห็นถึงการแก้ปัญหา(ยูเรเนียม) แต่กลับสร้างความเสียหาย(ชีวิตนักวิทยาศาสตร์) แต่ไม่ได้แสดงถึงผลกระทบจากความเสียหายนั้น ครับ
    ซึ่งถ้าเล่นตรงนี้ได้(ผลกระทบต่อเนื่อง) impact น่าจะแรงได้มากกว่านี้
    ครับ

ใส่ความเห็น