ก่อนอื่นต้องขอออกตัวไว้ก่อนว่าไม่ได้เป็นปรมาจารย์ด้าน Sci-fi ครับ แต่ชอบ
ขีดๆเขียนๆมาตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัย ส่งงานไปลงนิตยสาร สยอง มิติพิศวง (มีใครจำได้ไหมเอ่ย) สมัยที่นิตยสารสองเล่มนี้ยังอยู่ (น่าเสียดายที่ปิดตัวไปนานแล้ว)
จนมาถึงปัจจุบันมีหนังสือที่รับตีพิมพ์เรื่องแนวนี้เหลืออยู่สองเล่มคือ Update กับ นิตยสาร Sc-fi Club ของชมรมนิยายวิทยาศาสตร์ (หนังสือหัวอื่นนึกไม่ออกครับ)
บทความตอนนี้ผมได้นำวิธีการ (ที่ผมใช้อยู่) มาแบ่งปันให้เพื่อนๆ น้องๆที่สนใจอยากเขียนนิยายแนววิทยาศาสตร์และยังไม่รู้จะเริ่มยังไง จำไว้อย่างว่าไม่มีอะไรที่ตายตัวตามขั้นตอนดังกล่าวนะครับ เราสามารถปรับเปลี่ยนแต่ละข้อให้เข้ากับสไตล์การเขียนที่เราชอบหรือถนัดได้
จะเอาเรื่องอะไรมาเขียนดี?
วัตถุดิบอยู่รอบตัวครับ เราสามารถหาได้จากการอ่าน หนังสือพิมพ์ ข่าว อินเตอร์เนต หรือได้ฟัง ได้เห็น หรือพูดอะไรออกมาแล้วเกิดปิ้งไอเดียแบบปัจจุบันทันด่วน ก็เอามาเขียนได้ เพียงแต่สิ่งที่เราต้องทำคือ เอาวัตถุดิบเหล่านั้นมาแต่งเติมเสริมจินตนาการลงไป โดยเอาหลักเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์หรือแนวคิด (concept) จับไปที่วัตถุดิบที่เราจะเอามาเขียนด้วย งงไหมครับ? มายกตัวอย่างดีกว่า
เช่นผมไปอ่านข่าวเรื่องการแย่งชิงปราสาทหินโบราณระหว่างสองประเทศซึ่งไม่มีทีท่าว่าจะเลิกลา…(แย่งทำไมอ่ะ)ผมก็เอาตรงนี้มาคิดต่อ แต่ก่อนอื่นเราต้องตั้งคำถามแรกคือ จะเขียนเรื่องแนวไหน…?
แนวเรื่องที่เขียนมีดังต่อไปนี้ ยกตัวอย่าง (แต่จริงๆมีมากกว่านี้)
การเดินทางข้ามเวลาหรือ time travel
มนุษย์ต่างดาว
นักวิทยาศาสตร์อยากครองโลก
การทดลองที่ผิดพลาด
ปรากฎการเหนือธรรมชาติ
ชีวิตอมตะ
คอมพิวเตอร์ที่บ้าคลั่งและฉลาดสุดๆ
ชีวิตหลังความตาย
พลังจิต
องค์กรลับกับแผนการครองโลก
และอีกหลายๆแนวเรื่อง….
สมมติว่า ผมจะเลือกแนวเรื่อง “องค์กรลับ” ก็แล้วกัน คราวนี้พอได้แนวเรื่องเราก็หันกลับไปมองที่วัตถุดิบที่เราจะเอามายำ (ใส่จินตนาการและ concept) ในที่นี้คือ ปราสาทหินโบราณ… ดังนั้นเราจะได้องค์ประกอบคือ “ปราสาทหินโบราณ+องค์กรลับ” แล้วไงต่อ?
ต่อเลยครับ คราวนี้เราก็ต้องใช้หลักการที่เรียกว่า Who What Where When Why How… ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ ทำไมต้องทำ และทำอย่างไร ส่งผลกระทบต่ออะไร หรือสิ่งไหนบ้าง
และถามคำถาม What…if…
What..if อะไรจะเกิดขึ้นถ้า…. อะไรจะเกิดขึ้นถ้าองค์กรลับเกี่ยวพันกับปราสาทหินโบราณ???
“ปราสาทหินโบราณ+องค์กรลับ” เริ่มที่ใคร…พระเอกเป็นนักคอมพิวเตอร์ประมาณแฮกเกอร์ ติดคุกเพราะไปแฮกเงินแบงค์เพื่อไปรักษาพ่อที่ป่วยหนักพระเอกถูกทางการเรียกตัวเข้าพบเพื่อมอบหมายงานชิ้นหนึ่งให้ แลกกับอิสระภาพ เรื่องมีอยู่ว่า นักสำรวจได้พบชิ้นส่วนบางอย่างที่ฝังอยู่ใต้ปราสาทขณะที่ทีมงานเข้าไปซ่อมแซม (หลังจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ทำให้บางส่วนของปราสาทเสียหาย) ชิ้นส่วนที่พบเป็นชิ้นคล้ายบอร์ดของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และมันมีจุดเชื่อมต่อสัญญาณออกมาภายนอก นักวิทยาศาตร์พบรหัสที่เก็บไว้ในบอร์ดและเขาเชื่อว่ามันต้องเกี่ยวกับปราสาทแห่งนั้น แต่ข้อความถูกเข้ารหัสไว้…. ดังนั้นพวกเขาจึงต้องใช้คนที่เก่งที่สุดนั้นคือพระเอก…. บลาๆๆๆๆๆ
กลับมาตอบคำถาม…ดูว่าเราตอบได้ทุกข้อไหม
Who พระเอก
What ถูกเรียกไปถอดรหัส
Where ที่ปราสาทโบราณ
When หลังจากปราสาทถล่มและมีการค้นพบชิ้นส่วนบอร์ดอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งน่าจะเป็นข้อมูลที่นำไปสู่ความลับของผู้สร้างปราสาท
Why เพื่อพิสูจน์ความลับของผู้สร้างปราสาท และอาจจะเป็นลายแทงขุมทรัพย์??? (มหาเศรษฐีอยู่เบื้องหลัง ทุ่มเงินค้นหาสมบัติ)
คราวนี้เราก็ได้ plot คร่าวๆแล้วครับ มาถึงขั้นตอนต่อไปคือกำหนดตัวละครว่าจะให้มีตัวเอกกี่ตัว โดยปกติเรื่องสั้นจะมีประมาณ 2-3 ตัวครับ
คราวหน้าเราจะมาต่อเรื่องตัวละคร และการใส่แนวคิดเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ลงไปในเรื่องนะครับ
🙂 ดีเลยครับ แลกเปลี่ยน ประสบการณ์ กัน
แต่ละคนก็เอาไปปรับใช้ ให้เข้ากับ สไตล์ของตนเองก็น่าจะมีประโยชน์นะครับ
ผมว่าจะใส่ tag more ลงไปสักหน่อย หาที่ลงไม่ได้เลยครับ รบกวนคุณ c.pat พิจารณาด้วย ก็แล้วกันนะครับ (โบ้ยงานให้ครับ … หวังว่าคงไม่ว่าอะไร)
ท่านอื่นๆ มีความเห็น ประสบการณ์ อย่างไรบ้าง แลกเปลี่ยนกัน ครับ
ขอบคุณมากๆ ครับ
สวัสดีครับ โอ๊ะ ลืม more ไปครับ ต้องขออภัยด้วยครับ ^^
อืม ไม่ถนัดเรื่องสั้นเท่าไหร่ ผมถนัดเรื่องยาว กับเป็นบทความเชิงสารคดีหรือวิเคราะห์ไปเลย แต่ก็ขอมาอ่านเป็นความรู้ครับ
การเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ที่สำคัญก็คือ จะต้องพยายามหนีให้พ้นจากกรอบความคิดที่จำกัดจินตนาการของเราเอาไว้ครับ แต่เดี๋ยวนี้นักเขียนไทยหลายๆคนก็มีจินตนาการที่ไม่แพ้ต่างประเทศเลยครับ
วรากิจ