เขียนอย่างไรให้ได้ “อารมณ์” ในนิยายไซไฟ?

ขออนุญาตเปิดประเด็นในหัวข้อ เขียนอย่างไรให้ได้”อารมณ์”ในนิยายไซไฟ ครับ

เคยสังเกตมั้ยครับว่า นิยายหรือเรื่องสั้นบางเรื่อง อ่านแล้วสนุกวางไม่ลง ลื่นไหล ได้อารมณ์มากๆ (อารมณ์สนุกนะครับ ไม่รวมอารมณ์อย่างอื่น แหะๆ)

ขณะเดียวกันก็มีนิยายไซไฟ หรือเรื่องสั้นไซไฟบางเรื่อง อ่านแล้วจืดชืดสิ้นดี เหมือนกินก๋วยเตี๋ยวแต่ขาดเครื่องปรุงอะไรประมาณนั้น แต่แก่นของเรื่องหรือ idea ที่ผู้เขียนนำเสนอสุดเจ๋งเอามากๆจนทึ่งว่า เขาคิดได้ยังไง

ผมจะไม่กล่าวถึงองค์ประกอบเรื่องอื่นนะครับนอกจาก”ภาษา”ที่นักเขียนนำมาใช้

ถ้าเรามองในตัวภาษา… เราต้องเลือกคำมาเขียนให้คนอ่านได้อารมณ์ร่วมไปด้วย? แล้วเจ้าคำที่ว่านี่ในความคิดของเพื่อนๆ น้องๆ จำเป็นมั้ยครับว่า ต้องเป็น”คำที่แสดงความรู้สึกของตัวละครเพียงอย่างเดียว” หรือต้องบรรยายแอ็คชั่นตัวละครเยอะๆ ใช้ภาษาที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวขึ้นในความคิด จินตนาการของคนอ่าน หรือมีคำชนิดอื่นๆด้วย? คิดเห็นอย่างไรครับ

โดยส่วนตัวผมคิดว่าเรื่องนี้สำคัญมากๆครับ ต่อให้เรื่อง plot ดีหรือ idea เจ๋งแค่ไหน ถ้าอ่านแล้วแห้งๆ โอกาสที่คนอ่านจะวางงานเรา (เอาไว้ก่อน) ทิ้งเพื่อรออ่านต่อนี่สูงมากๆ

ถาม คคห. จากเวปมาสเตอร์, ท่านประธานชมรม ,คุณ หูโน, Zhivago, คุณนิราจ และเพื่อนๆท่านอื่นด้วยครับ มาแชร์ไอเดียกัน

 

9 ความเห็นบน “เขียนอย่างไรให้ได้ “อารมณ์” ในนิยายไซไฟ?”

  1. ผมแยกประเด็นนะครับ
    อ่านแล้วสนุก, วางไม่ลง, ลื่นไหล, ได้อารมณ์
    คือถ้ามองแบบผม
    มันไม่ใช่เรื่องภาษาอย่างเดียวสิครับ

    ซึ่งสิ่งเหล่านี้(รวมทั้งภาษา)หลอมรวมเป็น style งานของผู้เขียน

    ถ้าในแง่ “ภาษา” เพียงอย่างเดียว
    ผมมองเฉพาะประเด็นความลื่นไหล(ในการอ่าน)เท่านั้นนะครับ
    คืออ่านไม่สะดุด
    (แต่ถ้าวางเหตุการณ์ต่อเนื่องไม่ลงตัว คนอ่านก็สามารถสะดุดได้เหมือนกันนะครับ แต่ไม่ใช่เพราะ”ภาษา”นะครับ, งง ไหมครับ)

    ความน่าสนใจ
    ผมว่าขึ้นอยู่กับ
    ๑. แก่น หรือ theme ของเรื่อง (น่าสนใจหรือไม่ หนักแน่นเพียงพอหรือไม่ อย่างที่ผมบอกก่อนหน้า คือ เป็นเรื่องส่วนตัว, เป็นเรื่องในระดับสังคม, หรือในระดับปรัชญา ยิ่งมีความเป็น ปรัชญามากเท่าไร ก็สามารถจะทำให้เรื่องน่าสนใจได้มากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ราโชมอน)
    ๒. เหตุการณ์ในเรื่อง (น่าสนใจหรือไม่ เช่น ถ้าซุปเปอร์แมนสู้กับโจรจี้ปล้นข้างถนนทั้งเรื่อง คงน่าเบื่อน่าดู)
    ๓. การใช้ภาษา(ซึ่งมีเรื่อง style ของผู้เขียนรวมอยู่ด้วย)
    ๔. กลวิธีในการเล่าเรื่อง (ลำดับเรื่องสับสนหรือไม่? ลื่นไหลหรือไม่? อ่านแล้วงง ไหม?)

    ต้องเขียนบรรยายเยอะๆหรือไม่?
    ก็เป็นเรื่องของ style งานนะครับ
    อย่างงานของคุณวรากิจ หรือ คุณZhivago อารมณ์จะเยอะ
    ฉะนั้นจะรวบรัดไม่ได้ครับ

    ขณะที่งานของผม จะมุ่งเน้นเหตุการณ์เป็นหลัก ฉะนั้นภาษาผมจะรวบรัดมากกว่า(จนบางครั้งรวบรัดเกินไป) ครับ

    “… หรือต้องบรรยายแอ็คชั่นตัวละครเยอะๆ ใช้ภาษาที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวขึ้นในความคิด จินตนาการของคนอ่าน …”
    ผมกลับมองกลับกันครับ
    เพราะยิ่งบรรยายเยอะ พื้นที่จินตนาการ ก็จะน้อยลง
    ผมเลยมองว่า ในทางตรงกันข้าม บรรยายแอ๊คชั่น น้อยๆ ดีกว่าครับ

    ทั้งนี้ไม่ใช่หมายถึงการบรรยายลักษณะตัวละครนะครับ เพราะนั่นเพื่อสร้างการจดจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่มีตัวละครมากๆ
    เพราะไม่เช่นนั้นผู้อ่านจะนึกไม่ออกว่าเป็นใคร แล้วจะพาลจำเหตุการณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับตัวละครนั้นๆไม่ได้เอานะครับ
    (ช่วยให้ผู้จำตัวละครได้ง่ายขึ้น และจดจำเหตุการเกี่ยวเนื่องกับตัวละครตัวนั้นได้ดียิ่งขึ้น)

    trick
    ผมว่าระหว่างเขียนลองจับอารมณ์ตัวเองไปด้วยครับ
    แล้วเราจะรู้เองว่า ช่วงไหนยังปล่อยไหลได้อยู่ ช่วงไหนเริ่มยืดเยื้อ ช่วงไหนต้องการเหตุการณ์กระตุ้น ฯลฯ ครับ

    จริงๆเป็นเรื่องของ style ส่วนตัวมากๆเลยนะครับ
    บอกยาก ครับ

    ดูว่า วิธีไหน ที่เหมาะกับตนเองที่สุด
    (เขียนแล้วสบายๆ ไม่เครียด เพราะถ้าเราเครียด ก็เป็นไปได้ว่าผู้อ่านจะยิ่งเครียดกว่า)
    น่าจะดีที่สุด ครับ

  2. งานส่งประกวดรอบล่าสุดนี้ผมเขียนไปไม่เต็ม 4 หน้า A4 ครับ เล่นกับอารมณ์ล้วน ๆ ตรรกะเหตุผลนี่แทบไม่ต้องพูดถึงเลย ถือว่าเป็นเรื่องสั้นที่เขียนได้รวบรัดมาก ๆ ของผมแล้วครับ (จะเป็นอย่างไรนั้นต้องรอลุ้นผลกันดูครับ)

    ประเด็นที่ว่าเขียนแล้วลื่นไหลนั้นตอบยากจริง ๆ ครับ บางทีอ่านบทละครอะไรบางเรื่องก็รู้สึกว่ามันลื่นไหลในตัวอยู่แล้ว มิหนำซ้ำยังรู้สึกถึงอารมณ์ที่สื่อออกมาทางตัวบทได้อีกต่างหาก(ไม่มีการแสดงอารมณ์ให้เห็นเพราะต้องไปดูจากละคร-อาจมีเขียนบอกไว้บ้าง)

    สำหรับเรื่องสั้นนั้นผมถือว่าการกลมกลืนกันของพล็อตเรื่องและกลวิธีการเขียนจะเป็นตัวบอกได้ว่าเรื่องนั้นได้อารมณ์หรือไม่ครับ เขียนแล้วสามารถดึงให้คนอ่านอ่านเรื่องของเราต่อจนจบได้โดยไม่วางถือเป็นความสำเร็จข้อแรกครับ ถึงตอนจบจะหักมุมได้ดีอย่างไร แต่ถ้าไม่สามารถดึงคงอ่านให้อ่านไปถึงตอนจบได้ก็ถือว่าไม่ประสบความสำเร็จในเบื้องต้นครับ ส่วนเรื่องสั้นนั้นจะดีหรือไม่ดีนั้นขึ้นอยู่กับผู้ที่อ่าน(จบ)แล้วให้ความเห็นในภายหลังครับ

    สำหรับเรื่องยาว ผมถือกฎสามข้อ (ไม่ใช่ของหุ่นยนต์นะครับ) คิดขึ้นมาเองครับ
    เรียกว่ากฎ ดูด-ถีบ-ฝัง

    1. เรื่องที่ดีต้องดึง “ดูด” คนอ่านให้อ่านต่อไปเรื่อย ๆ จนจบได้ นิยาย first deadly sin ของ lawrence sanders เขียนห้าร้อยหน้า ดำเนินเรื่องอืดเป็นเรือเกลือ แต่ไม่กล้าหยุดอ่านเพราะต้องรู้ให้ได้ว่ามันจะจบอย่างไร หรือถ้าเป็นเรื่องไทยก็ต้อง “เพชรพระอุมา” ที่เขียนยาวยืดหลายสิบเล่มแต่ก็สนุกและมีคนติดตามมากมาย (ผมไม่กล้าอ่าน กลัวต้องอ่านต่อจนจบ)

    2. อ่านจบแล้วต้อง “ถีบ” คนอ่านให้ไปหาหนังสือเรื่องอื่นของคนเขียนคนนี้ หรือเรื่องแนวนี้ของคนเขียนคนอื่น หรือเรื่องอื่นที่เขียนแย้งกับเรื่องนี้มาอ่านต่อยอดต่อไปให้ได้ พวกนิยาย bestseller ทั้งหลายจะออกแนวนี้ครับ มีัตัวละครที่สมจริง เนื้อเรื่องที่อ่านแล้วสนุกชวนติดตาม เป็นตัวอย่างของเรื่องที่ “ถีบ” คนอ่านให้ออกไปหาเรื่องอื่นมาอ่านต่อ สำหรับเรื่องแนววิทยาศาสตร์ เรื่อง The Grand Design ของ Stephen Hawking เป็นตัวอย่างที่ดีครับ ฮอว์กิ้งเขียนแทบจะท้าทายว่าไม่มีหรอกสิ่งที่เหนือธรรมชาติ ธรรมชาิตินั้นเป็นที่สุดของความมหัศจรรย์แล้ว มีคนเขียนแย้งเรื่องนี้มากมาย และต่างก็น่าอ่านทั้งสิ้นครับ (ถกกันในแนวปรัชญามากกว่าฟิสิกส์)

    3. เรื่องราวต้อง “ฝัง” เข้าไปในหัวครับ ไปอ่านเรื่องแนวเดียวกันของคนอื่นก็จะต้องนึกย้อนกลับมานึกถึงเรื่องนี้ให้ได้ ผมชอบยกตัวอย่าง “เจ้าชายน้อย” ของอังตวน ฯ ซูเปรี ใคร ๆ ก็ชอบอ่านเจ้าชายน้อย (แต่ผมอ่านไม่จบครับ) จนมันฝังหัวแล้วว่าเจ้าชายน้อยคือซูเปรี ซูเปรีคือเจ้าชายน้อย แต่กับเรื่องอื่นของซูเปรี เฉพาะที่แปลเป็นไทยมี ไปรษณีย์ใต้-เที่ยวบินกลางคืน-แผ่นดินของเรา สามเรื่องนี้เป็นนิยายที่อ่านแล้วให้ความรู้สึกประทับใจและเชื้อเชิญให้อ่านเป็นอย่างยิ่ง (แต่กลับหาซื้อยาก คนอ่านไม่ค่อยชอบ ไม่เหมือนเจ้าชายน้อยที่พิมพ์ซ้ำ-แปลซ้ำหลายสิบครั้ง) เหมือนกับว่า “เจ้าชายน้อย” ฝังหัวเราจนไม่หันไปมองเรื่องอื่นของซูเปรี (แรงดึงดูดดี ฝังหัว แต่ไม่มีแรงถีบ)

    ได้สามอย่างนี้สำหรับผมถือว่าเป็นการอ่านเรื่องยาวที่ได้อารมณ์ครับ

  3. ยังไม่ได้อ่านความคิดเห็นของท่านอื่นนะครับ ส่วนตัวเวลาอ่านหนังสือแล้ววางไม่ลงอันแรกจริงๆเลยคือความอยากรู้อยากเห็นครับ อยากรู้ว่าต่อไปจะเป็นอย่างไร ส่วนใหญ่หนังสือจะมีพวกความลับซ่อนไว้ให้เราอยากค้นหา พอหาเจอแล้วยิ่งปริศนาต่อให้ค้น(อ่าน)ต่อไปอีก ยิ่งวางไม่ลง เรื่องทั้งเล่มก็ไม่ใช่มีปริศนาเดียวแต่มีหลายปริศนา พออ่านจบแล้วเฉลยเซอร์ไพรซ์ ยิ่งประทับใจ อย่างสถาบันสถาปนาชุดแรกก็งั้นๆแนวประวัติศาสตร์โรมัน พอมีมโนมัย(ฮิตเลอร์) ก็ยังมีสถาบันสถาปนา (เมืองหลวงสำรอง) ให้ได้ประทับใจอีก

    หรืออย่างสตาร์วอร์ เขาไม่เริ่มที่ episode 1-3 ก่อน เขามาเริ่มที่ 4-6 ซึ่งซ่อนความลับเกี่ยวกับ dark vader เอาไว้ให้ต๊กใจเล่น อันนี้ก็ทำให้เรื่องดูมีกึ๋น มีความลับซับซ้อนน่าค้นหา ถ้า star war เริ่มที่ 1-3 อาจไม่ดังเท่าเริ่ม 4-6 ก็เป็นได้ครับ

    harry potter ก็เป็นหนึ่งตัวอย่างที่มีความลับแทรกตลอดเรื่อง

    ความอยากรู้อยากเห็นอาจไม่อยู่ในรูปปริศนาแต่อาจจะเขียนให้ลุ้น เช่นลุ้นว่าพระเอกจะจูบนางเอกไหม ต้องอ่านตอนต่อไปถ้าอยากรู้

    คิดว่าเรื่องปริศนาเป็นตัวเสริมเรื่องให้ชวนติดตามซึ่งควรจะวางไปพร้อมๆกับพล็อตเรือง เป็นกลวิธีในการเล่าเรื่องอย่างหนึ่งคือไม่บอกไปตรงๆ แต่บอกนิดๆหน่อยๆให้คนอ่านสงสัยเหมือนผู้หญิงใส่ชุดว๊อบๆแวมๆ มีผ่าโน่น แหกนี่ บางทีดูน่าสนใจน่าลุ้นกว่าแก้ผ้าอล่างฉ่างเสี่ยอีก

    การวางพล็อตก็ควรแก้ไปพร้อมๆกับการวางปริศนาแก้กลับไปกลับมาหลายๆรอบ เสริมตรงนั้น เพิ่มตรงนี้ตัดตรงโน้นจนจังหวะจะโคนสวยงามก็จะสนุกจนว่างไม่ลงเลยทีเดียวนะขอรับ

  4. ผมเข้ามาอ่านเก็บรายละเอียดซ้ำอีกรอบครับ ครั้งแรกอ่านจบไปแล้วแต่ไม่ได้พิมพ์ตอบ
    จากที่อ่านมาทั้งหมดได้ไอเดีย มุมมองและความรู้มากๆครับ

    ขอบคุณคุณนิราจ คุณ zhivago และคุณหูโน มากครับที่สละเวลามาให้คำแนะนำและเสนอมุมมองส่วนตัว

  5. ในที่นี้ผมว่าเกี่ยวกับเรื่องมุมมองของผู้อ่านโดยตรง หากเป็นมุมมองบุคคลที่ 1 ลักษณะการบรรยายจะแตกต่างกับมุมมองของบุคคลที่ 3 ผมว่ามุมมองของบุคคลที่สามมักจะบรรยายสภาพรวมๆมากกว่า เอให้ท่านนิราจกับท่าน zhivago มาขยายต่อ

    ส่วนตัวหากเล่นหักมุมหรือจิตๆหน่อยจะเลือกมุมมองของบุคคลที่ 1 เพราะใช้เทคนิคทางวรรณกรรมหลอกคนอ่านได้ง่าย เหมือนเรื่องยานอวกาศสุดขอบฟ้าบ้าๆ(space border)อะไรของผม

    ส่วนการบรรยายโดยทั่วไปคิดว่าไม่ควรบอกไปตรงๆ การบอกไปตรงๆจะทำให้ผู้อ่านรู้สึกเฉยๆเหมือนอ่านรายงาน หรือสารคดี แต่การบอกอ้อมๆ โดยใช้ประสบการณ์ที่คนทั่วไปเคยประสบมาบรรยายได้อารมณกว่า คนอ่านจะเข้าใจลึกซึ้งกว่า เช่นประโยค “ยะเหยินขี่มอเตอร์ไซค์ฝ่าความหนาว” กับ “ยะเหยินละมือข้างซ้ายที่เย็นเฉียบจากแฮนมอเตอร์ไซค์ไปอังไว้ที่ปากก่อนจะเป่าลมอุ่นๆหวังจะไล่ความหนาวเย็นออกไป” ผมว่าคงมีหลายคนที่เคยเอามือเย็นๆไปอังปากเป่าลม คนอ่านคงจะได้อารมณ์ดีกว่า

    การบรรยายฉากแอ็คชั่น เท่าที่อ่านก็มีผมด้วยละที่เขียนทำนองแอ็คชั่น (มีท่านนิราจอีกคน) ฉากแอ็คชั่นสำหรับผมต้องฉับไว ต้องบรรยายให้คนอ่านเข้าใจถึงท่าทางต่างๆอย่างชัดเจนแต่ไม่ควรเสียเวลาละเลียดกับฉากหลังให้มากนัก การบรรยายฉากหลังสามารถทำได้ก่อนเริ่มแอ็คชั่น พอเริ่มแอ็คชั่นแล้วควรกระชับ ชัดเจน เพราะคนอ่านจะอ่านช่วงนี้จะอ่านเร็วมาก(ด้วยความมันส์) ฉะนั้นฉากแอ็คชั่นต้องเป็นภาพที่ชัดเจนในหัวของคนเขียนแต่แรกจึงจะไม่มั่ว ถ้ามั่วหรือไม่ชัดจะอ่านแล้วงงมาก ยิ่งอ่านเร็วแล้วติดๆขัดๆ ต้องกลับอ่านซ้ำไปซ้ำมายิ่งอารมณ์เสีย ให้ลองนึกถึงหนังแอ็คชั่นดูละกันครับ ด้วยการเคลื่อนไหวที่รวดเร็วคนดูจะไม่สนใจกับฉากหลัง บางทีฉากทำไม่เนียนยังผ่านตาคนดูไปได้ เพราะสมาธิจดจ่อกับการเคลื่อนไหวที่รวดเร็ว (ยิ่งเร็วยิ่งไม่สนใจรายละเอียด) แต่ถ้าแอ็คชั่นมั่ว เช่นหันปืนไปยิงทางซ้ายแต่คนข้างบนตายร่วงลงมา คนดูจะสะดุด พอสะดุดจะเริ่มคิดว่ามัีนเกิดอะไรขึ้นในขณะที่ฉากต่อสู้ดำเนินต่อไปแต่คนดูยังติดกับความคิดนั้นจึงเลิกติดตามดูฉากต่อสู้ต่อ ยิ่งมีอะไรที่ผิดเข้ามายิ่ง interrupt ยิ่งอารมณ์เสีย

    ส่วนความลื่นไหล น่าจะเป็นการเขียนบรรยายฉากต่อสู้ได้ต่อเนื่องและยาวเพียงพอโดยไม่มีอะไรผิด ติดขัด คนอ่านก็จะอิ่มเอมกับฉากต่อสู้นั้น สั้นไปก็ไม่สนุก ยาวไปก็น่าเบื่อ

    พอจะช่วยได้ไหมครับ

    ผมเป็นคนอ่านนิยายวิทยาศาสตร์ที่ไม่ได้อ่านนิยายกำลังภายในครับ ชอบอ่านนักสืบ ลึกลับผีสาง สยองขวัญ ตลก ไม่รู้ว่าเพราะยังไม่ได้ลองอ่านนิยายกำลังภายในจริงๆจังๆด้วยหรือเปล่า ไม่แน่ถ้าอ่านอาจจะติดใจได้ไม่ยาก

  6. ผมคงต้องแย้งความเห็นเจ้าของกระทู้ในเรื่องเขียนอย่างไรให้ได้อารมณ์นิยายไซไฟหน่อยครับ รวมทั้งอีกหลายคนที่บางคนอาจจะเป็นนักเขียนนิยายไซไฟไทยด้วยที่เห็นด้วยกับเจ้าของกระทู้ กล่าวคือการตีความนิยายวิทยาศาสตร์ที่ใช้ภาษาห้วน (ผมเดาว่าคงหมายถึงนิยายที่เขียนหรือแปลออกมาในแนวนี้ซึ่งจะพบมากในนิยายหนังสือแปลของออบิท)เหมือนกินก๊วยเตี๊ยวไม่ใส่เครื่องปรุง

    ผมคิดว่าการที่พวกคุณเปรียบเช่นนั้น นั่นเพราะคุณใช้กรอบแนวการเขียนในปัจจุบันไปตีค่างานเขียนที่ต่างออกไปว่าไม่มีเสน่ห์ (โดยเฉพาะงานเขียนไซไฟยุคก่อนที่เน้นภาษาเรียบง่ายจนออกไปในทางห้วนๆ) คุณต้องทำความเข้าใจด้วยว่า ลักษณะของนิยายไซไฟนั้นมันอยู่เหนือกาลเวลา หมายถึงว่าแม้สิ่งต่างๆจะเปลี่ยนไปแต่ความป็นไซไฟมันจะเป็นเช่นนั้นเพราะมันคือความจริงที่ไม่ต้องพิสูจน์ในความคิดของผู้เขียนกลุ่มไซไฟแท้จริง เหมือนพระธรรมในทางวิทยาศาสตร์นั่นแหล่ะ

    ดังนั้นผู้เขียนนิยายไซไฟชั้นดีจนถึงชั้นครูจึงใช้ภาษาเรียบง่ายๆสั้นๆ หลีกเลี่ยงการใช้ภาษาแสดงอารมณ์ เพราะนั่นเป็นแนวอีโรติคทางอารมณ์ แต่ไซไฟคือวิทยาศาสตร์แม้ตอนนี้จะยังประดิษฐ์ออกมาไม่ได้เพราะเทคโนโลยียังไปไม่ถึง แต่แก่นแท้ของวิทยาศาสตร์คือความเรียบง่าย ทดสอบและจริงเสมอภายใต้ปัจจัยที่ควบคุม นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ในยุคก่อนจะยึดกฎเกณฑ์นี้ ให้ดูไอแซค อาซิมอฟ จะพรรณารายละเอียดและอารมณ์สั้นๆ อาเธอร์ ซีคลาก ซึ่งอาจจะพรรณาและบรรยายอารมณ์มากหน่อย แต่ก็ยังอยุ่ในกรอบไม่เยิ่นเย้ยอ้อยอิ่งหรือบู๊ล้างผลาญโลดโผน นิยายวิทยาศาสตร์มันมีกรอบของมันอยู่แบบนี้ ซึ่งนักเขียนรุ่นก่อนและนักเขียนชั้นดีในปัจจุบันยังยึดกรอบนี้อยู่ รูปแบบการเขียนสั้นๆห้วนๆเป็นเพราะต้องการรักษากรอบนี้เอาไว้ ผมเรียกว่ากรอบของไซไฟแท้จริง ส่วนเรื่องความรู้สึกให้เป็นหน้าที่ของผู้อ่านหรือผู้สร้างภาพยนต์เอาไปตีความกันเอาเอง อันนี้คือการแยกออกระหว่างวิทยาศาสตร์กับอีโรติกในตัวนิยาย

    นิยายไซไฟปัจจุบัน โดยเฉพาะนิยายไทย ที่ไปนำลีลาการเขียนแนวอีโรติคผสมแนวแอ๊คชั่นปนลงไปมาก ถ้าอ่านกันจริงๆแล้วตัดลีลาการเขียนพรรณาแบบน้ำท่วมทุ่ง หนังสือหนาหกเจ็ดเล่ม ถ้าให้นักเขียนฝรั่งชั้นดีเขียนเรื่องเดียวกันนี้บ้างแค่เล่มหนาๆเล่มเดียวจบ นั่นเพราะเขาอิงกรอบกติกาของไซไฟแท้ๆตามที่กล่าวข้างต้น ที่จริงผมไม่อยากจะวิจารณ์นักเขียนไซไฟไทยเท่าไรหรอก แต่อยากเตือนสติของบางท่านที่เขียนนิยายไซไฟออกมาขายดีได้เล่มหรือหลายเล่มแล้วทึกทักว่ากลายเป็นกูรูนิยายไซไฟไปวิจารณ์ตีค่านิยายไซไฟฝรั่ง ผมจะบอกว่าไอ้วิธีเขียนแบบอีโรติกพรรณาลงรายละเอียดทางอารมณ์บู๊ล้างผลาญน่ะ นักเขียนไซไฟฝรั่งเขาคิดได้ก่อนพวกคุณเกิดมาดูโลกอีกด้วยซ้ำ แต่นักเขียนชั้นดีเขาไม่ทำแบบนั้น ผลคือนิยายของเขาจึงดังมาจนถึงทุกวันนี้บางเรื่องขึ้นหิ้งวรรณกรรมไปเลย เพราะเขาจับผู้อ่านหลากหลายให้ไปตีความทางอารมณ์เอาเอง ส่วนของพวกคุณน่ะหายไปกับกาลเวลา เพราะนิยายของพวกคุณมันจับอารมณ์ผู้อ่านเฉพาะกลุ่ม ถ้าคนกลุ่มนี้เบื่อแนวการเขียนแบบนี้ เพราะมีแต่คนเขียนบ้าพลัง ทำให้เฝือ เขาหยุดอ่านแนวนี้ นิยายคุณก็ตาย

    ท้ายนี้ ผมจะบอกว่าถ้าวันนี้คุณตีค่านิยายไซไฟโดยใช้กรอบปัจจุบัน ในอนาคตเมื่อกรอบเปลี่ยนไป ผู้อ่านเลิกสนใจพรรณาอ่านแต่เนื้อความแท้ๆ เขาก็จะตีความนิยายไซไฟคลั่งอารมณ์ว่านิยายลูกกวาดใส่สีเละเทะ เมื่อพูดถึงนิยายไซไฟ ก็อดไม่ได้ต้องพูดถึงนิยายกำลังภายใน สำนวนการแปลนิยายกำลังภายในของเดิมมีเสน่ห์ของมันอยู่แบบหนึ่ง นักแปลไทยรุ่นใหม่หรือนักเขียนไทยที่เขียนนิยายจีนมันก็รูปแบบไปอีกแนวทางหนึ่ง การตีค่าสำนวนโดยใช้กรอบมันก็ให้ผลต่างกัน อย่างผมชอบอ่านนิยายจีนสำนวนเก่ามาเจอสำนวนยุคนี้ บอกตรงๆกากสิ้นดี แต่ไม่ได้หมายความว่าผมถูก เพราะคนชอบสำนวนแนวใหม่ที่นำอีโรติคไปใส่นิยายจีนก้อบอกว่าน่ารักดี ฉะนั้นอย่าตีความดีกว่า โดยเฉพาะหากคุณยังไม่เข้าใจกฎเกณฑ์ที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังการเขียนนิยายแนวนั้น

  7. เรื่องถัดมาที่อยากกล่าวถึงคือเรื่องการจำแนกหมวดหมู่นิยาย

    โดยส่วนตัวผมเห็นว่านิยายที่มีแบ๊คกราวด์(ใช้ทับศัพท์ไม่กล้าใช้คำไทยเดี๋ยวคามหมายเพี้ยน)เป็นวิทยาศาสตร์ บางทีอาจจะทำให้ผู้อ่านทึกทักว่านิยายไซไฟ ที่จริงมันก้อใช่อยู่หรอก เพระมันมีความเป็นไซไฟเจือปนอยู่ แต่มันไม่ใช่ไซไฟแท้จริง เพราะองค์ประกอบอื่นมันมากกว่าความเป็นไซไฟ ขอยกตัวอย่างเรื่องสตาร์วอร์ เป็นไซไฟไหม มันก้อเป็นเพราะมันมียานอวกาศ หุ่นยนต์ ของเล่นไฮเทคเพรียบ แต่แก่นแท้จริงๆของมันคือขุมพลัง อันนี้ไม่ใช่ไซไฟ มันคือแฟนตาซี ยิ่งไปดูโครงเรื่องหลักตัดอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ออกไป มันใช่เลยแฟนตาซี นิยายไซไฟแท้ๆผู้เขียนจะพยายามอธิบายหลักการทฎษฎีทางวิทยาศาสตร์แฝงลงไปตามความรู้และจินตนาการของตัวเอง ซึ่งถือเป็นหลักความจริงในจักรวาลนี้ หรือจักรวาลอื่นเพราะกฎเกณฑ์นั้นมันยังขัดแย้งทฤษฎีทางวิทยศาสตร์ที่เราคิดได้ตอนนี้ ก้ออย่างที่บอกกฎเกณฑ์ไซไฟแท้จริงิงพระธรรมในทางวิทยาศาสตร์ ส่วนในสตาร์วอร์มันไม่ได้อธิบายเหรื่องเหล่านี้ แต่ไปเน้นอธิบายเรื่องพลังที่เหนือธรรมชาติ สตาร์วอร์มันจึงเป็นนิยายฟนตาซีโดยมีวิทยาศาสตร์เป็นองค์ประกอบเสริม กล่าวกันจริง สตาร์วอร์มันก็คือนิยายกำลังภายในแฟนตาซีจีนนั่นแหล่ะ เพราะการเข้าถึงขุมพลังของเจไดที่มีด้านสว่างและมืดแท้จริงคือคำอธิบานการฝึกวิชากำลังภายในในนิยายจีนที่บ่งเป็นสายธัมมะกับสายอธรรม สายธัมมะฝึกยากต้องไปทีละขั้นเว้นแต่หัวดีไปเร็วหน่อย ส่วนสายอธรรมฝึกง่ายเพราะเรียนลัดเน้นข้ามขั้น วิธีเรียนลัดเช่นใช้วิธีดูดพลังผู้อื่น ดูดพลังพิษจากสัตว์ ฐานจึงไม่แน่น ยิ่งฝึกยิ่งนิสัยชั่ว บางครั้งคนฝึกสายธัมมะฝึกผิดวิธีเผลอข้ามขั้นเพราะใจร้อนอยากเก่งเร็วๆหรือใจวอกแวกขาดสมาธิผลคือไฟธาตุแตก ความหมายคือเสียสตินั่นแหล่ะ ได้พลังเก่งสมใจ แต่จิตใจขาดสติ ต้องย้ายสังกัดไปอยู่ฝ่ายอธรรมแทน ของฝรั่งมันก็คือดาร์ดเวเดอร์และเจไดธัมมะคนอื่นๆที่กลายเป็นฝ่ายอธรรมในยุคสาธารณรัฐเก่า (ก่อนยุคสตาร์วอร์ขึ้นไปอีกเป็นพันหรือหมื่นๆปี) สรุปคืกสตาร์วอร์มันคือนิยยแฟนตาซีจีนที่เปลี่ยนเหตุการณ์จากสมัยโบราณไปเป็นเหตุการณ์ในอนาคตอันไกลโพ้นในจักรวาลอันแสนไกลไกลมากมากมาก………โดยคนเขียนฝรั่งจอร์จ ลูคัส ผมเดาว่าแกคงชอบอ่านนิยายกำลังภายในจีนมาก่อน เลยยืมแก๊กส์เขามาใช้

    เรื่องดังถัดมาคือชุดสถาบันสถาปนาของอาซืมอฟ อันนี้ไซไฟเกือบร้อยเปอร์เซนต์ เพราะไม่พยายามพูดถึงอำนาจที่นอกเหนือกฎเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ จริงๆมันก็มีอยู่นิดๆ แต่ไม่ให้ความสำคัญพูดนิดเดียวแล้วข้ามไปเลย อ่านผานไวไวแทบไม่เห็นเลย ต่างจากสตาร์วอร์อธิบายสิ่งนอกเหนือกฎวิทยาศาสตร์ได้เป็นเล่มๆ ส่วนที่ผสมเข้ามาในสถาบันปนาคือการเอาประวัติศาสตร์โรมันมาตีความใหม่ สถาบันสถาปนามันจึงเป็นไซไฟผสมประวัติศาสตร์การสร้างอารยธรรมในสมัยโบราณอยู่นิดๆ

    เรื่องดังถัดมาชุดสองพันสามพันสี่พันอีกหน่อยคงถึงหมื่นถ้ามีคนแต่งต่อของอาเธอร์ อันนี้เป็นไซไฟเกือบร้อยเหมือนกัน แม้เรื่่องการเวียนว่ายเกิด แก่ เจ็บ ตาย มันจะเป็นแนวคิดทางศาสนาพุทธ แต่ท่านเฒ่าอาเธอร์ก้อพยายามเขียนอธิบายในกรอบเชิงวิทยาศาสตร์ไม่หลุดไปไหน ถ้าแกอธิบายในเชิงไสยศาสตร์คงได้ไปอยู่กลุ่มแฟนตาซีแทน ต้องยอมรับว่าผมอ่านผลงานของแกไม่ค่อยจะรู้เรื่อง ไม่รู้เพราะคนแปลเข้าไม่ถึงหรือเพราะสำนวนแกลึกและทิ้งเอาไว้ให้ผู้อ่านคิดต่อมากไปหน่อย น่าจะเพราแกได้รับอิทธิพลแนวคิดปรัชญาเรื่องจิตวิญญาณมากไปหน่อย ซึ่งเป็นเรื่องพิสูจน์ไม่ได้ ไม่งั้นคงไม่ไปอยู่อินเดียซะหลายปี สำนวนแกจึงเอียงไปทางปรัาญาทิ้งท้ายให้ผู็อ่านอยากคิดยังไงก็อย่างนั้นแหล่ะ ถูกทั้งหมด ตอนผมอ่าน 2001 ครั้งแรก เจอตอนจบแก ผมงงมาก ต้องอ่านอีกหลายสิบรอบ แล้วถามตัวเองมันจบแล้วเหรอ ข้ามอวกาศมาตั้งไกลเพื่อมานอนหลับบนเตียงในห้อง ทำไมเป็นอย่างนั้น ผ่านมาอีกนับสิบปีแกถึงมาเขียนตอนต่อ โดยส่วนตัวผมคิดว่าแกคงจบแล้วตั้งแต่ 2001 ไม่คิดจะเขียนต่อ ให้ผู้อ่านไปนึกต่อเอาเอง แต่เพราะหนังมันดังและนิยายค้างคา มันทำให้ผู้อ่านยื่งอยากจะรู้้ว่าคิดตรงกับผู้้เขียนไหมและผู้สร้างเกิดความอยากได้ตังจากผุ้ชม คงเอาเงินล่อใจแกจนต้องกลับมาเขียนต่อ จนออกมาอีกหลายพัน

    ส่วนแฮรี่พลอตเตอร์นี้ไม่พูดมาก มันแฟนตาซีร้อยเปอร์เซนต์ไม่ใช่ไซไฟ เพราะมันเป็นไสยศาสตร์ในแนวฝรั่ง ถ้าแนวไทยต้องมีหัวกระโหลกแล้วก้สายสิญจ์พร้อมหม้อหนึ่งใบ

    ที่พูดยาวมาทั้งหมด แค่ต้องการบอกว่า นิยายไซไฟแท้ๆน่ะมันมีลักษณะยังไง ถ้ามันถูกเอาสิ่งอื่นมาเจือปนมากเท่าไร ความเป็นไซไฟมันก็หดไปเท่านั้น ดังนั้นจะเอาแนวนิยายที่ไม่ใช่ไซไฟแท้ๆไปตีค่านิยายไซไฟแท้ มันไม่ถูกต้อง เพราะจะตีค่าได้ยังไงในเมื่อคุณยังจำแนกนิยายไซไฟเป็นหมวดหมู่ยังไม่ได้เลย

ใส่ความเห็น