พลวัต ฮอลลีวูด กับ ซีไอเอ.
ฮอลลีวูด กับ ซีไอเอ.
ภาพยนตร์บู๊แบบไซ-ไฟล่าสุดเพิ่งออกจากโรงในอเมริกาและเมืองไทยเรา รวมทั้งในตลาดทั่วโลก ได้รับการเปิดเผยว่าเป็นภาพยนตร์ที่ได้รับเงินสนับสนุนการสร้างและเครื่องมือบางส่วนจากซีไอเอ. หน่วยงานข่าวกรองกลางของรัฐบาลอเมริกัน
ไม่ใช่ครั้งแรก และไม่ใช่ครั้งสุดท้าย ที่นักสร้างและผู้ผลิตภาพยนตร์ฮอลลีวูด ได้รับการอุดหนุนทางการเงินจากซีไอเอ. เพราะภาพยนตร์ เป็นส่วนหนึ่งของสงครามวัฒนธรรม และชิงพื้นที่ข่าว ในความหม่ายของนักต่อสู้ในสงครามจิตวิทยา
เช่นเดียวกันกับภาพยนตร์การ์ตูนของญี่ปุ่นได้รับเงินสนับสนุนจากมิติ(MITI) เพื่อช่วยสร้างภาพลักษณ์ให้คนในโลกมองเห็นคนญี่ปุ่นเป็นพวก”คิกขุ อาโนเนะ”แทนที่จะเป็น”กองทัพซามูไร”อันเหี้ยมโหดในสงครามเอเชียบูรพาในอดีต
ก่อนหน้านี้ ซีไอเอ. สนับสนุนทางการเงินให้กับภาพยนตร์ของซิลเวสเตอร์ สตาโลน ในชุด”แรมโบ้” และดาย ฮาร์ด เพื่อสร้างภาพลักษณ์ใหม่ฮีโร่แบบอเมริกัน นอกเหนือจากแบทแมน ซูเปอร์แมน สไปเดอร์แมน หรือ X-Men แม้กระทั่งภาพยนตร์อย่าง สตาร์ วอร์ส หรือ ชุดอินเดียน่า โจนส์ ยนักโบราณคดีที่ผจญภัยเกินภารกิจหลัก รวมทั้งภาพยนตร์สงครามใหญ่อย่าง Saving Private Ryan
แม้กระทั่งภาพยนตร์จารกรรมไซ-ไฟที่โม้สุดๆของทอม ครุซ อย่างชุด Mission Impossible ทุกตอนก็มีคนเชื่อว่า ได้รับการสนับสนุนจากซีไอเอ.เช่นกัน
ขนาดภาพยนตร์การ์ตูนมิคกี้ เม้าส์และอื่นๆของวอลท์ ดีสนีย์ก็ยังเคยได้รับการสนับสนุนจากซีไอเอ.ไม่มากก็น้อย
ไม่ต้องนับภาพยนตร์อย่างชุดเจมส์ บอนด์สายลับอังกฤษจอมเจ้าชู้ที่โลดแล่นมายาวนานกว่า 30 ปีแล้ว ยังไม่ยอมแก่สักที นั่นก็หนีไม่พ้นแน่นอน
แม้กระทั่งภาพยนตร์อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ก็ยังมีเงินจากซีไอเอ.เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย
เรียกว่าเอากันให้ครบสูตรไปเลย ทางไหนก็ได้ ขอให้สร้างภาพลักษณ์ให้ดีก็แล้วกัน
มีคำอธิบายสูตรสำเร็จในการอุดหนุนภาพยนตร์ของซีไอเอ.เอาไว้ค่อนข้างชัดเจนก็คือว่า ส่วนใหญ่จะเป็นภาพยนตร์ที่เน้นวัฒนธรรมแห่งชัยชนะ และวัฒนธรรมดังกล่าวเห็นได้ง่ายที่สุด ผ่านภาพยนตร์สงคราม ไม่ว่าจะเป็นสงครามแบบไหน
ภาพยนตร์ถือเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมแบบกระแสนิยมที่ต้องกระตุ้นตลอดเวลาแบบเดียวกับดนตรี และรายการโทรทัศน์สารพัด เมื่ออเมริกาต้องการรักษาภาพลักษณ์ในการเป็นเจ้าโลกผ่านกำลังทหารที่เหนือกว่าทุกชาติต่อไป ภาพลักษณ์ของทหารอเมริกันในการปกป้องโลกจึงต้องถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับการปฏิบัติการดังกล่าว ไม่ว่าจะจำเป็นมากแค่ไหน
ปัจจุบัน งบประมาณทางทหารของรัฐบาลอเมริกันต่อปีนั้น อยู่ในระดับเท่ากับ 40% ของงบประมาณทางทหารของชาติต่างๆทั่วโลก และกองทหารอเมริกัน มีปฏิบัติการในจุดยุทธศาสตร์สำคัญของโลก เรือบรรทุกเครื่องบิน 13 ลำของอเมริกัน ประจำการในน่านน้ำสำคัญของโลก(ยกเว้นในมหาสมุทรอินเดีย เพราะเกรงใจอินเดีย) ในขณะที่เรือบรรทุกเครื่องบินชาติอื่นๆนั้น มีเพียงแค่เรือขนาดกลางถึงเล็กไม่กี่ลำเท่านั้น (รัสเซียมีแค่ 2 ลำที่ประจำการในท้องทะเลของตนเอง มิใช่น่านน้ำสากล)
ภาพยนตร์สงคราม และวีรบุรุษสงครามของอเมริกันทั้งที่เป็นคนดีในระบบ และคนดีนอกคอกจึงต้องถูกผลิตกันขึ้นมากระตุ้นเตือนให้คนอเมริกันและคนทั่วโลกคุ้นเคยเสียจนกระทั่งไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาด
ข้อเด่นของภาพยนตร์สงครามก็คือ มันสามารถนำมาสร้างเกมต่อสู้บนจอคอมพิวเตอร์ได้อีก ถือเป็นการต่อยอดของธุรกิจ และวัฒนธรรมอันแนบเนียน เพราะเด็กที่ไม่เคยดูภาพยนตร์ หรือ เข้าไม่ถึงสาระของภาพยนตร์ ก็สามารถที่จะเข้าใจหรือรับเอาความรู้สึกจากเกมคอมพิวเตอร์ได้ง่ายดายมาก
จากนั้นบริษัทผลิตของเด็ดเล่น ก็จะรับเอาไปทำตุ๊กตาขายอีกชั้นหนึ่ง แบบเดียวกับบาร์บี้ หรือ อื่นๆ
สุตรเช่นนี้ วงการภาพยนตร์ฮอลลีวูดเรียกว่าเป็นการสร้างมายา-ประวัติ (มายาคติผสมเข้ากับประวัติศาสตร์ประดิษฐ์) ซึ่งไม่ว่าจะได้ผลมากหรือน้อย ก็ถือเป็นภารกิจที่จะต้องกระทำเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของการสร้างความเคยชิน
กระบวนการผลิตภาพยนตร์และวีรชนสงครามเช่นนี้ เป็นการต่อยอดวัฒนธรรมแห่งชัยชนะที่จักรวรรดิอเมริกาหรือ Pax Americana ให้ยาวนานที่สุด
สูตรสำเร็จของสงครามวัฒนธรรมซึ่งรัฐบาลอเมริกันโดยซีไอเอ.กระทำผ่านวงการภาพยนตร์และล่าสุดเกมคอมพิวเตอร์ อยู่ที่การวิเคราะห์ แล้วแบ่งการโฆษณาชวนเชื่อออกมาเป็น 3 ส่วน คือ
-โฆษณาชวนเชื่อแบบขาว White Propaganda เป็นการสร้างภาพลักษณ์ทางบวกให้เห็นถึงบทบาทของรัฐบาลอเมริกันในการปกป้องโลก
-โฆษณาชวนเชื่อแบบเทา Gray Propaganda เป็นการโฆษณาชวนเชื่อว่า รัฐบาลหรืออเมริกันถูกร้องขอให้จำต้องเข้าไปแทรกแซงในกิจการของชาติอื่นๆเช่นธิเบต หรือ อัฟดานิสถาน เพราะความจำเป็น โดยท้ายสุดก็ต้องเข้าไปในหลายรูปแบบ แม้ไม่อยากกระทำ
-โฆษณาชวนเชื่อแบบดำ Black Propaganda เป็นการกล่าวหาโดยตรงว่า ชาติหรือคนที่เป็นผู้ร้ายและเป็นภัยต่อชาวโลกนั้น มีใครบ้าง เพื่อที่จะได้เข้าไปจัดการอย่างสาสม เช่น พวกมุสลิมในตะวันออกกลาง เกาหลีเหนือ อิหร่าน หรือ เมียนมาร์ หรือ ชาติแอฟริกาเล็กอย่างอังโกล่า หรือ โมซัมบิก
สิ่งที่ตามมากับภาพยนตร์สงคราม และวีรชนสงครามเหล่านี้ก็หนีไม่พ้น การสร้างผู้ร้ายที่เป็นกลุ่มเป้าหมายที่จะต้องถูกทำลายอย่างราบคาบ นั่นหมายความว่า คนอเมริกันนั้น ต้องเรียนรู้วิธีการคิดแบบแยกพระเอกกับผู้ร้ายจากกันให้ชัดเจน เพื่อจะได้มีศัตรูตามยุคสมัยตลอดไปข้อเท็จจริงเช่นนี้ คือเหตุผลที่ว่า ทำไมภาพยนตร์ฮอลลีวูด จึงไม่เคยตกต่ำ และอยู่รอดมาได้ท่ามกลางมรสุมธุรกิจรอบด้านมาอย่างเหนียวแน่น
ปล่อยให้ธุรกิจภาพยนตร์ชาติอื่นที่ไม่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลมากมาย เช่นไทย ผลิตภาพยนตร์ผี หรือ ตลกปนผีไปพลางๆอย่างกระท่อนกระแท่น………………bb
////////////////////////////////////
ขอขอบคุณหนังสือพิมพ์ข่าวหุ้น วันที่ ๓ กันยายน ๒๕๕๒