All money is a matter of belief. -Adam Smith
“คุณเฉิน เอกสารวิชาการที่ผมส่งไปได้รับหรือยังครับ” เสียงของชายหนุ่มพูดภาษาอังกฤษสำเนียงไทยดังผ่านสายโทรศัพท์
“ได้รับแล้วครับ คุณสิทธิกร มันช่างน่าทึ่งมาก คุณทำได้ยังไง” เสียงของชายแซ่เฉินตอบกลับไปด้วยภาษาอังกฤษสำเนียงจีน
“ทำยังไงไม่สำคัญ สิ่งที่สำคัญคือความร่วมมือของคุณ”
“คุณสิทธิกร คุณก็รู้ ว่าผมจะร่วมมือ”
“ขอบคุณนะครับ เราจะร่วมกันเปลี่ยนโลก”
ในมือของชายแซ่เฉินมีแฟ้มกระดาษถูกส่งมาจากประเทศไทย จ่าหน้าถึงธนาคารเคลลิ่งแอนด์เรลล์ สาขาสิงคโปร์
…………………………………………………
“สวัสดีครับ ศาสตราจารย์ดอกเตอร์ สิทธิกร คุณรู้สึกอย่างไรบ้างกับการได้รับรางวัลโนเบลเป็นคนแรกของประเทศไทย” นักข่าวจากทุกสำนักทั่วประเทศไทยต่างจ่ออุปกรณ์ขยายเสียงหลากหลายขนาด เสียงคำถามดังเซ็งแซ่ แฟลชจากกล้องนับไม่ถ้วนสว่างวูบวาบ “ผมรู้สึกปลาบปลื้มที่ได้สร้างชื่อเสียงแก่ประเทศไทยครับ ถึงแม้ผมเป็นคนแรกของประเทศไทยที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ แต่ผมเชื่อว่าผมไม่ใช่คนไทยคนสุดท้ายที่ได้รับรางวัลนี้ ผมขอเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นๆทำสิ่งที่คิดว่าเป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้”
“…แล้วอีกอย่าง ผมหวังว่าองค์ความรู้ที่ผมได้สร้างขึ้นจะช่วยพัฒนาสังคม ไม่ใช่แค่ประเทศไทย แต่เป็นทั้งโลก”
“คุณคะ อีกคำถามค่ะ มีนักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากโต้แย้งการให้รางวัลในครั้งนี้ พวกเขากล่าวว่างานของคุณไม่ควรได้รับรางวัลโนเบล”
“อ๋อ เป็นเรื่องปกติครับที่จะมีคนโต้แย้ง ผมยอมรับว่างานของผมเป็นงานเล็กๆ แต่ผมก็มั่นใจว่างานเล็กๆของผมจะก่อให้เกิดประโยชน์มหาศาล จากอัลกอริทึมที่ผมสร้างขึ้น ผมสามารถคำนวณได้ว่าพรุ่งนี้หุ้นถ่านหินบีพีจะลดลงเจ็ดจุด และใครที่มีหุ้นนี้อยู่ก็ขายตอนบ่ายสองวันนี้ คุณจะได้กำไรมากโขทีเดียว” แสงแฟลชสว่างวาบเป็นสองเท่า ทุกคนจับจ้องอยู่กับประโยคที่เขาพูดไป
“นี่คุณกำลังพิสูจน์ทฤษฎีเคออสของคุณอยู่ใช่มั้ยครับ ถ้าคุณรู้อนาคตของตลาด คุณก็สามารถโกยกำไรมหาศาลเลยสิครับ” นักข่าวช่องสิบเจ็ดถามเข้าประเด็น
“ไม่ถึงขนาดนั้นหรอกครับ ผมไม่สามารถยืนยันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ตลาดหลักทรัพย์มันซับซ้อนมากมีหลายปัจจัยที่ต้องคำนึงถึง”
“แล้วคุณสิทธิกรมั่นใจกี่เปอร์เซ็นต์ครับ” นักข่าวอีกคนซักไซร้ต่อ
“ประมาณเก้าสิบเก้าเปอร์เซ็นต์น่ะครับ”
บ่ายสองวันนั้นปริมาณเงินที่เทขายหุ้นบีพีนับหมื่นล้านบาท วันถัดไปหุ้นตกลงมาเจ็ดจุดตามที่เขาได้คาดการณ์ไว้ จากเหตุการณ์นั้นมีเศรษฐีเงินล้านเกิดขึ้นในวันนั้นหลายร้อยคน บริษัทถ่านหินบีพีฟ้องร้องศ.ดร.สิทธิกร อภิวานิช แต่ศาลยกฟ้อง
………………………………………………
บริษัทเคลลิ่งแอนด์เรลล์ (Kelling and Rail company) เป็นผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกามาหลายทศวรรษ มีธุรกิจจำนวนมากในเครือของบริษัท เช่นธนาคารที่ขยายสาขาไปทั่วโลก แต่ตอนนี้บริษัทกำลังเผชิญหน้ากับคู่แข่งรายใหม่ บริษัทอีโคอีเนอร์จี (Eco Energy Company) ซึ่งเป็นบริษัทแรกที่เสนอพลังงานทางเลือกที่สะอาด หลากหลาย ใช้ได้จริง และมีประสิทธิภาพสูง หุ้นของบริษัทจึงเป็นบวกทุกวันเพราะประชาชนจำนวนมากเล็งเห็นปัญหาสภาพแวดล้อมที่หนักขึ้นจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยเฉพาะคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเช่น น้ำมัน ถ่านหิน แก๊ซธรรมชาติ แต่น้อยคนนักที่รู้ว่าบริษัทที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมอย่างบริษัทอีโคอีเนอร์จี มีบริษัทค้าน้ำมันออยเอน(Oil En.Corp.)เป็นบริษัทลูกที่สร้างกำไรมหาศาล ผู้บริหารสูงสุดหรือซีอีโอของบริษัทเคลลิ่งแอนด์เรลล์จึงอยู่เฉยไม่ได้ เขาดำเนินกลยุทธ์ทุกวิถีทางเพื่อจะชนะคู่แข่ง ทั้งการรวมบัญชีของฝ่ายลงทุนของธนาคารกับบริษัทเป็นหนึ่งเดียวกัน และการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ โดยกุนซือของบริษัทซึ่งเป็นผู้ที่วางกลยุทธ์เกือบทั้งหมด คือ นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ศ.ดร.สิทธิกร อภิวานิช
“ให้เข้ามาได้” ประตูไม้บานยักษ์เปิดด้วยระบบอัตโนมัติเปิดขึ้นช้าๆ ชายหนุ่มเชื้อสายเอเชียใส่ชุดสูทภูมิฐานเดินเข้ามาในห้องผ่านพรมผืนยักษ์ลวดลายวิจิตรจากประเทศอิหร่าน โคมไฟระย้าคริสตอลเพชรราคาแพงหูฉี่ประดับอยู่บนเพดานห้อง ชายชราที่นั่งอยู่หลังโต๊ะกำลังเล่นกับหลานสาววัยกระเตาะ ชายชราผู้นั้นคือซีอีโอของบริษัทเคลลิ่งแอนด์เรลล์ เป็นมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของโลก เขาคือ ‘พอร์เตอร์ ฟัลเชอร์’
“วันนี้ราคาหุ้นจะเป็นอย่างไรคุณสิทธิกร”
“นี่ครับ เอกสาร” ศาตราจารย์สิทธิกรวางเอกสารไว้บนโต๊ะ “…หลานสาวท่านน่ารักมากครับ”
“มานี่คุณกร มาเล่นกับหลานผม เธอชอบเจอผู้คน”
“…หนูน้อย เล่นกับพี่กร พี่เค้าฉลาดมาก โตไปหนูจะได้ฉลาดๆเหมือนพี่เค้า” ชายชราลงไปนั่งที่พื้น หยิบของเล่นมาเล่นกับหลาน สิทธิกรทำตาม “ชื่ออะไรครับเนี่ย คุณพอร์เตอร์” “แอน…นี่” เด็กสาวตัวน้อยตอบคำถามแทนปู่ ทั้งสองคนหัวเราะ
“ฉลาดมากๆ โตไปคงฉลาดเหมือนพี่เค้า”
“ไม่หรอกครับ เธอคงฉลาดกว่าผม”
“นี่คุณกร คุณก็ทำงานกับผมมาครบปีแล้ว คุณคนเดียวทำเงินให้ผมหลายแสนล้านดอลล่าร์ โลกนี้ไม่มีใครเก่งเท่าคุณอีกแล้วจริงๆนะ คุณใช้วิธีอะไรถึงทำได้ขนาดนี้”
“คุณพอร์เตอร์ ผมเป็นนักคณิตศาสตร์ ผมก็แค่เขียนอัลกอริทึม และก็ใส่ตัวแปรทั้งหมดเข้าไป ทั้งราคาของหุ้นทุกตัวทุกประเภท สภาพอากาศ สภาพการเมือง อัตราแลกเปลี่ยนเงิน และอีกสองสามตัวแปร”
“คุณกร คุณเปลี่ยนการเมืองให้เป็นตัวเลขได้ ผมนับถือจริงๆ ผมไม่คลางแคลงใจสงสัยในตัวคุณหรอกนะไม่ต้องกังวลไป ผมเห็นผลงานของคุณแล้ว ผมแค่อยากรู้อยากเห็นเพราะตอนเด็กๆผมชอบเครื่องบิน คนชอบเครื่องบินมักจะอยากรู้อยากเห็นใช่มั้ยล่ะ คุณกร… ผมอยากรู้ว่าเครื่องบินทำงานได้อย่างไร ประกอบด้วยอะไร อะไรทำให้มันต่างกัน อย่าว่าผมเลยนะ จนตอนนี้ผมก็ยังไม่รู้ ฮ่าๆๆ”
“ครับๆ ฮ่ะๆ ถ้างั้นผมจะอธิบายให้ฟัง…”
ดอกเตอร์สิทธิกรหยุดคิดสองสามวินาทีก่อนจะพูดต่อ
“อัลกอริธึมของผมเกี่ยวข้องกับทฤษฎีเคออสน่ะครับ คุณพอร์เตอร์เคยได้ยิน เรื่องบัตเตอร์ฟลาย เอฟเฟกต์หรือเปล่า” ตอนนี้แอนนี่คลานไปนอนบนตักปู่
“อ๋อ เคยสิ ที่ผีเสื้อกระพือปีกที่จีนแล้วเกิดพายุที่อเมริกาอะไรนั่นใช่มั้ย แบบว่าอะไรเล็กๆสามารถทำให้เกิดอะไรใหญ่ๆได้”
“ใกล้เคียงครับคุณพอร์เตอร์ คืออย่างนี้ครับ ผมจะลองอธิบายให้คุณฟัง คุณลองดูสมการนี้” สิทธิกรหยิบกระดาษกับปากาบนโต๊ะ พร้อมเขียนสมการ ‘x=r*n(1-n) ‘
“…แล้วก็ลองแทนค่าดูให้ r เท่ากับ 3.7 แล้วก็ลองแทน n ให้อยู่ระหว่าง 0 กับ1 สมมติว่า0.4000 ก็จะได้เป็น” เขาเขียน ‘x=3.7*0.4000(1-0.4000)’
“…ก็จะได้ x เท่ากับ 0.5920 ถ้าเอาค่านี้ไปแทนที่n อีกครั้ง ให้r เท่าเดิม คือ3.7 จะได้x ตัวใหม่คือ 0.8936832 แล้วก็เอาไปแทนใน n อีกครั้ง วนเป็นวัฐจักรไปเรื่อยๆซักยี่สิบครั้ง แล้วเปรียบเทียบกับ แทนค่าตั้งแต่แรกแต่เปลี่ยนจาก0.4000 เป็น 0.4001 ทำเหมือนเดิมไปยี่สิบครั้ง จะเห็นว่าคำตอบจะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง โดยจะเห็นว่าเราเปลี่ยนตัวแปรต้นไปเพียงแค่ 0.0001 เท่านั้นเอง”
“แล้วตกลงหมายความว่าอะไรคุณกร ผมแก่แล้วไม่ค่อยเข้าใจอะไรพวกนี้หรอก หลานผมฟังจนหลับแล้ว ผมขอภาษาคนปกติได้มั้ย คุณกร” ชายชรายิ้ม
“ถ้างั้น ผมจะเท้าความถึงทฤษฎีต่างๆที่นักวิทยาศาสตร์คิดค้นขึ้น นิวตันเคยให้คำอธิบายเกี่ยวกับการเคลื่อนที่ของอนุภาคและพลังงานไว้จนเหมือนว่ากฎของนิวตันสามารถอธิบายจักรวาลได้เลย จนมีคนบอกว่าถ้าเรารู้โมเมนตัมและตำแหน่งของทุกอนุภาคในจักรวาล เราจะสามารถทำนายอนาคตได้ แต่ต่อมานักวิทยาศาสตร์ได้รู้ว่ากฎของนิวตันนั้นผิด สิ่งที่ค้นพบใหม่คือทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอสไตน์ และทฤษฎีควอนตัม ผมจะไม่พูดถึงทฤษฎีสัมพัทธภาพเพราะเราคงไม่ใช้มันคำนวณราคาหุ้นหรอกนะครับ…” ฟัลเชอร์หัวเราะ “ผมเห็นด้วยกับคุณ”
“…ทฤษฎีควอนตัมอ้างอิงถึงความน่าจะเป็น เพราะเราไม่สามารถคำนวณตำแหน่งและโมเมนตัมของอนุภาคที่ประพฤติตัวเป็นคลื่นพร้อมๆกันทั้งสองค่าได้ เราจึงใช้ความน่าจะเป็นแทน บางคนกลับเห็นต่างออกไป พวกเขาคิดว่าทุกเหตุการณ์ในธรรมชาติเกิดขึ้นอย่างมีเหตุ ไม่ได้เป็นเพียงเหตุการณ์สุ่ม
“… พวกเขาเหล่านี้เชื่อเหมือนนิวตันที่ว่า เราสามารถรู้ทุกเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ถ้าเรารู้ตัวแปรต้นได้มากและดีพอ การทำนายอนาคตของเหตุการณ์เหล่านี้ซับซ้อนกว่า ทฤษฎีเคออสคือสิ่งนั้น ทฤษฎีเคออสไม่ได้หมายถึงระบบที่ไม่แน่นอนหรือระบบแบบสุ่ม แต่เคออสพูดถึงระบบที่แน่นอนเพียงแต่คาดเดาผลได้ยากเพราะมันซับซ้อน การเปลี่ยนตัวแปรเพียงนิดเดียว ผลลัพธ์ที่ได้จะแตกต่างกันมาก
“…ตลาดหลักทรัพย์ก็เป็นระบบนี้เช่นกัน ถ้าผมรู้ตัวแปรต้นของทุกอย่างที่ทำให้ราคาหุ้นเปลี่ยน ผมก็สามารถทำนายอนาคตได้ แต่ผมต้องรู้ค่าของตัวแปรต้นอย่างสมบูรณ์ ไม่งั้นค่าก็จะผิดเพี้ยนอย่างสิ้นเชิง”
ฟัลเชอร์แย้ง “แล้วคุณรู้ตัวแปรต้นทั้งหมดแล้วหรือ คุณรู้ใช่มั้ยว่าราคาหุ้นมันขึ้นกับหลายปัจจัยมากเช่นการตัดสินใจของซีอีโอ และก็อะไรที่ควบคุมไม่ได้อย่างเช่นการเมือง หรือภัยธรรมชาติ”
“เรื่องนี้ต้องขอบคุณอดัม สมิธ เขาเป็นคนคิดทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ คุณพอร์เตอร์ คุณรู้จักมือที่มองไม่เห็น หรือเปล่า” สิทธิกรถามชายที่รวยที่สุดในโลก
“ผมเคยได้ยินมาก่อนแล้วมันเกี่ยวกันยังไงล่ะ”
“มือที่มองไม่เห็นคือตัวที่ทำให้เกิดกลไกตลาด การค้าแบบเสรีทำให้สิ่งนี้มีขึ้น สมมติว่าถ้าราคาสินค้าแพงเกินไป ความต้องการที่จะซื้อก็จะน้อยลง ผู้ขายก็จะปรับลดราคาลงมา แต่ถ้าราคาต่ำไป ความต้องการซื้อก็จะมากขึ้น ใครล่ะจะไม่ต้องการของถูกจริงมั้ย พอร์เตอร์ แต่หลังจากนั้นสินค้าที่มีจะลดน้อยลงจนขาดตลาด อาจจะมีผู้ขายบางรายกักตุนสินค้าไว้ แต่สุดท้ายก็ต้องขายอยู่ดี หลังจากนั้นราคาก็จะถีบตัวสูงขึ้น ความต้องการซื้อก็จะลดลง สิ่งนี้แหละเหมือนมือที่มองไม่เห็นคอยควบคุมราคาทุกอย่างในตลาด
“…ในตลาดทุนก็เช่นกัน บริษัทต่างต้องการทุนมาใช้ในการผลิต สิ่งที่ระดมทุนได้รวดเร็วและมั่นคงคือตลาดหลักทรัพย์ซึ่งเป็นหนึ่งในตลาดทุน การซื้อหุ้นของบริษัทคือการให้ทุนแก่บริษัท โดยมีผลตอบแทนเป็นเงินปันผลที่มาจากกำไร แต่ตลาดมีความผันผวน ราคาของหุ้นจึงไม่แน่นอน แต่มีสิ่งเดียวเท่านั้นที่กำหนดราคาหุ้น นั่นคือความต้องการซื้อหุ้นหรือดีมานด์(demand) เพียงแต่เราต้องหาให้ได้ว่าดีมานด์จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เราจะรู้ราคาหุ้นในช่วงเวลาต่างๆได้ มีไม่กี่อย่างหรอกที่ส่งผลต่อดีมานด์ของหุ้น สิ่งนี้ทำให้เราตัดปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาหุ้นได้มากทีเดียว ไม่งั้นชาตินี้ผมคงไม่สามารถคิดอัลกอริธึมนี้ขึ้นมาได้”
“อัลกอริธึมอะไรของคุณ”
“อัลกอริธึมที่ใช้คำนวณราคาหุ้นไงล่ะ ทำให้ผมทำนายอนาคตของหุ้นแต่ละตัวได้ในระยะเวลาสั้นๆ โดยผมใช้แค่ตัวแปรสำคัญๆบางตัว แต่ไม่ใช่ทั้งหมด ผมไม่จำเป็นต้องใช้ผีเสื้อที่เมืองจีนเพื่อที่จะคำนวณราคาหุ้นในวอลล์สตรีท”
ฟัลเชอร์หัวเราะ “ฮ่าๆๆ ดีมากๆ คุณกร เราไปข้างนอกกันดีกว่า ผมอยากรู้ว่าแผนการลงทุนไตรมาสหน้ามีอะไรบ้าง” คุณปู่พอร์เตอร์อุ้มหลานสาวขึ้นอย่างเอ็นดู
………………………………………………………………
รถลิมูซีนสีดำสิบประตู มีรถขับเคลื่อนสี่ล้อขนาบหน้าหลัง เดินทางไปยังรีสอร์ทส่วนตัวของเศรษฐีค้าน้ำมันอันดับหนึ่งของโลก
“ผมจะพาคุณมารีสอร์ทของผม เราจะมาออกรอบกันหน่อย”
“ผมไม่ได้เอาไม้กอล์ฟมา” สิทธิกรหันไปมองชายชราแล้วหันไปมองนอกหน้าต่างรถ
“ไม่ต้องห่วงหรอก คุณกร ผมสั่งให้ลูกน้องไปเอาไม้มาจากบ้านคุณแล้ว”
“อะไรนะ” เขาหันขวับมามองพอร์เตอร์
“คุณตกใจอะไร ผมไม่ได้ขโมยของอะไรจากบ้านคุณซักหน่อย ผมให้ภรรยาคุณเอามาให้” พอร์เตอร์ ฟัลเชอร์ทำหน้าฉงน
“เปล่าครับ ไม่มีอะไร”
ควับ! เสียงหวดลูกกอล์ฟของพอร์เตอร์ ฟัลเชอร์ ลูกผ่านอากาศไปตกระยะสามร้อยหลา “ฝีมือผมตกไปเยอะ คุณกร เรามาคุยเรื่องหุ้นกันดีกว่า โครงการใหญ่ที่คุณว่า” ชายชราวางไม้ แล้วนั่งลงข้างๆสิทธิกร ใช้ผ้าขนหนูปาดเหงื่อ
“โครงการนี้เป็นโครงการใหญ่ ผมคำนวณได้ว่าหุ้นน้ำมันของบริษัทออยเอน ซึ่งเป็นอันดับสองรองจากเคลลิ่งแอนด์เรลล์จะร่วงต่ำที่สุด เวลานี้เป็นเวลาดีที่คุณจะทุ่มซื้อ ครั้งนี้บริษัทออยเอนท์ทั้งบริษัทจะเป็นของคุณอย่างแน่นอน แล้วที่สำคัญกว่านั้น จะทำให้บริษัทอีโคอีเนอร์จีขาดทุนมหาศาลเพราะบริษัทน้ำมันเป็นเครือข่ายเดียวกับบริษัทอีโคและเป็นแหล่งสร้างกำไรอย่างงามของบริษัทอีโค”
“ผมเห็นด้วยกับคุณ ผมเล็งหาโอกาสควบรวมกิจการมานานแต่ผลประกอบการของออยเอนดีมาโดยตลอด แล้วทำไมจะมาตกในช่วงนี้ล่ะ”
“เพราะธนาคารเคลลิ่งแอนด์เรลล์ของเราจะถอนเงินลงทุนออกจากบริษัทออยเอนท์ แล้วจากการที่ผมใช้อัลกอริธึมของผมคำนวณราคาของมันจะตกลงไปถึงจุดต่ำสุด เราแค่สะกิดตลาดเพียงนิดเดียวแต่กำไรที่เราสร้างจะมหาศาล”
“โอเค สิทธิกร ผมถามตรงๆเลยนะ กำไรครั้งนี้เท่าไหร่”
“มากกว่าที่คุณทำมาทั้งชีวิต”
“แล้วโอกาสผิดพลาดละ”
“แค่หนึ่งเปอร์เซนต์เท่านั้น เผื่อโอกาสอัลกอริธึมของผมผิด”
…………………………………………………………………
“ฮัลโหล คุณเฉิน ถอนเงินได้แล้ว”
“ได้ครับ คุณสิทธิกร”
คืนนั้น หุ้นบริษัทออยเอนท์ร่วงลง จากการถอนตัวออกของธนาคารเคลลิ่งแอนด์เรลล์ในสิงคโปร์ ตามมาด้วยบริษัทต่างๆในเอเชีย
ตอนเช้า บริษัทแม่ของเคลลิ่งแอนด์เรลล์ซื้อหุ้นทั้งหมดของออยเอนท์มูลค่าห้าแสนล้านดอลล่า เคลลิ่งแอนด์เรลล์กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ราคาหุ้นของบริษัทอีโคตกลง
“ดีมาก สิทธิกรคุณทำนายได้แม่นมากจริงๆ”
“ผมไม่ได้ทำนายครับ ผมคำนวณ”
“นั่นแหละๆ” ฟัลเชอร์ยิ้มกริ่ม เขาดีใจเป็นพิเศษ
“ผมไปก่อนนะครับ”
“ขอบคุณมากนะ คุณสิทธิกร”
“ไม่เป็นไรครับ”
ติ๊ดๆ ติ๊ดๆ เสียงคนขอเข้าพบ สิทธิกรเดินออกจากห้อง ขณะที่เลขาฯของฟัลเชอร์เดินเข้ามา
“เข้ามาได้” ชายชราเรียกเลขาฯเข้ามา “มีอะไรหรอ คุณเวโรนิกา”
“แย่แล้วค่ะ ธนาคารของเราที่สิงคโปร์ล้มละลาย และบริษัทออยเอนด้วย ตอนนี้บริษัทเราล้มละลายแล้วค่ะ”
“อะไรนะ จะเป็นไปได้ยังไง”
“คุณเฉิน ผู้จัดการธนาคารสาขาสิงคโปร์ส่งบัญชีปลอมมาให้เราเป็นปีแล้ว เขาส่งมาแต่การลงทุนที่ทำให้เกิดกำไร รายได้ของเราจากการลงทุนเป็นเพียงแผ่นกระดาษ”
“แล้วทุนที่เหลือล่ะ” ฟัลเชอร์ใช้มือกุมอก
“หุ้นของทุกบริษัทที่เราครอบครองตกลงหมดเลยค่ะ เกิดจากบริษัทอีโคขายหุ้นส่วนใหญ่ออกไป แล้วบริษัทออยเอนเป็นเพียงบริษัทที่ตบตา ทรัพย์สินของบริษัทมีเพียงโรงกลั่นน้ำมันแห่งเดียว เราเสียเงินห้าแสนล้านดอลล่าไปให้บริษัทอีโค แล้วบริษัทอีโคยังเสนอขอควบรวมกิจการของเรา”
ชายชรากุมอกแน่นขึ้นพร้อมร้องครางด้วยความเจ็บปวดอยู่หลังโต๊ะ “อั่กๆ เกิด..อะไร…ขึ้น”
“คุณฟัลเชอร์ทำใจดีๆก่อนนะคะ ช่วยด้วยค่ะ ใครก็ได้ช่วยด้วย”
……………………………………………………………
“คุณสิทธิกร คุณร้ายกาจมาก แล้วอัลกอริธึมนั่น” ชายสำเนียงจีนนั่งข้างๆสิทธิกรบนเครื่องบินแอบัสมุ่งสู่ประเทศไทย
“ไม่มีใครบนโลกจะคิดอัลกอริธึมแบบนั้นได้หรอก คุณเฉิน” สิทธิกรจิบไวน์แดงปีแปดแปด
“…เว้นแต่คุณจะเป็นหมอดู ฮ่าๆๆ คนเรามันซับซ้อนเกินกว่าสมการคณิตศาสตร์จะใช้คำนวณได้ มีอย่างเดียวที่เหมือนกันคือความละโมบ ทั้งตาแก่ฟัลเชอร์เอย กรรมการโนเบลไพรซ์เอย”
“คุณก็หนึ่งในนั้นนะ คุณสิทธิกร”
“ที่ผมทำคือการช่วยโลกนะคุณเฉิน ผมล้มบริษัทน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้ และยังทำให้บริษัทพลังงานทดแทนมีเงินล้นเหลือ โลกเราจะได้ไม่เกิดโลกร้อนยังไงล่ะ”
“ฮ่าๆๆ จริงของคุณ แล้วในบัญชีคุณมีเงินอยู่เท่าไหร่ล่ะ”
“อ๋อ ก็แล้วแต่คุณจะให้ คุณเฉิน ซีอีโอเคลลิ่งแอนด์เรลล์คนใหม่ ยังไงก็ต้องขอบคุณคุณที่ช่วยปั่นหุ้นในตลาดเล็กๆน้อยๆ ถ้าไม่ได้คุณตาแก่ฟัลเชอร์ก็คงไม่เชื่อใจผม”
“ไม่เป็นไร งานนี้มันผลงานของคุณ คุณสิทธิกร ซีอีโออีโคอีเนอร์จี”
นึกถึงหนังเรื่องหนึ่งที่พูดถึงการทำนายอนาคต(จำชื่อได้นะ แต่เดี๋ยวมันจะ spoil )
โดยมีประโยคหนึ่งตั้งคำถามว่า
เพราะคำทำนายมันตรง(เป็นจริง) หรือ เพราะเราเชื่อคำทำนาย เราเลยทำให้มันตรง(เป็นจริง)
เคยคุยกับคนที่ไปสัมมนาด้วยกัน(เรื่องอื่น ไม่เกี่ยวกับ นิยายวิทยาศาสตร์)
แล้วเกิดคำถามว่า ความจริง คืออะไร
ความจริง คือ สิ่งที่คนส่วนใหญ่ “เชื่อ” ใช่หรือไม่
(นึกถึง wiki pedia)
ก็คิดเล่นสนุกๆเรื่อยเปื่อยครับ
ต้องขอโทษจริงๆ ไม่มี comment สำหรับเรื่องที่เขียนครับ 😛