ข่าววิทยาศาสตร์

  ‘อวัยวะเทียม’เทคโนโลยีแห่งอนาคต  
   
         ต้องยอมรับว่าการใช้ชีวิตประจำวันของคนเรามีสิ่งที่เรียกว่า “วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” มาเกี่ยวข้องทั้งสิ้นและแทบทุกด้าน โดยเฉพาะในแง่ที่ทำให้ใช้ชีวิตได้อย่างปรกติสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีอายุยืนนานดังนั้น เทคโนโลยีแห่งอนาคตที่ทุกคนต้องจับตามองจึงรวมถึงเทคโนโลยีทางการแพทย์หรือด้านสุขภาพด้วยเช่นกัน จากการมองแนวโน้มเทคโนโลยีที่จะมาแรงและเข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้นในปัจจุบันและอนาคต รวมถึงภาคธุรกิจของ ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในการบรรยายหัวข้อ “10 เทคโนโลยีที่น่าจับตามองสำหรับธุรกิจ” (10 Technologies to Watch) ในงาน “NSTDA Investors Day ประจำปี 2554” ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ ได้แก่

เทคโนโลยีด้านซ่อมเสริมเติมสร้างหรืออวัยวะเทียม (Artificial Organ) มีความสำคัญเพราะทุกชีวิตต้องเกิด แก่ เจ็บ ตาย เทคโนโลยีด้านนี้ซึ่งเป็นการสร้างสรรค์อุปกรณ์สำหรับนำฝังในร่างกาย เพื่อทดแทนอวัยวะธรรมชาติ รวมถึงกระดูก ข้อต่อต่างๆ หรือแม้แต่การสร้างอวัยวะใหม่ด้วยเซลล์ต้นกำเนิดหรือสเต็มเซลล์ที่มีนักวิทยาศาสตร์หลายทีมทั่วโลกกำลังทำอยู่ ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็เพื่อช่วยบำรุงซ่อมแซมอวัยวะที่เสื่อมลง ให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขและยืดอายุขัยให้ยืนยาว จะเป็นประโยชน์ทั้งผู้ป่วย ผู้สูงอายุและผู้พิการโดยทั่วไป

ตัวอย่างอวัยวะเทียม เช่น ประสาทหูเทียมสำหรับหู กล้ามเนื้อหูรูดเทียม แก้วตาเทียม หัวใจเทียมและลิ้นหัวใจเทียม ผิวหนังเทียม เครื่องมือกระตุ้นประสาท (Brain pacemakers) และเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าในสมอง (deep brain stimulation-DBS) และอื่นๆอีกมากมาย

ที่ผ่านมายังคงมีรายงานความก้าวหน้าในการพัฒนาเทคโนโลยีสร้างอวัยวะเทียมมาอย่างต่อเนื่อง ดังเมื่อเร็วๆนี้มีรายงานความคืบหน้าของนักวิจัยมหาวิทยาลัยเทลอาวีฟในอิสราเอล ที่พัฒนาชิพทำงานเลียนแบบพื้นที่สมองคุมการเคลื่อนไหว (cerebellum) และนำฝังในหนู พบว่าช่วยฟื้นการทำงานด้านความทรงจำภายในสมองของหนูได้ อนาคตอาจเป็นประโยชน์ช่วยคนป่วยโรคสมองเสื่อมวิกลจริต โรคหลอดเลือดสมอง หรือแม้แต่ช่วยเพิ่มพลังสมองให้กับคนไม่ป่วยได้

ในขณะที่นักวิจัยสถาบันเฟราน์ฮอเฟอร์ในเยอรมนีได้นำเครื่องพิมพ์ 3D มาใช้พัฒนาหลอดเลือดเทียม โดยผสมผสานกับเทคนิคขึ้นรูปอย่างรวดเร็วด้วยเลเซอร์ที่เรียกว่า multiphoton polymerization ส่วนบริษัททัช ไบโอนิคส์ ในสกอตแลนด์ พัฒนาระบบถ่ายภาพใหม่ที่เรียกว่าระบบโฟโตกราฟิค เพื่อช่วยให้สร้างอวัยวะเทียม เช่น แขน ขาได้สมจริง ด้านนักวิจัยของสถาบันเทคโนโลยีโตเกียวของญี่ปุ่น มีแนวคิดสร้างสรรค์ด้วยการพัฒนากระดูกเทียมจากเกล็ดปลา

สำหรับการสร้างอวัยวะใหม่ทั้งชิ้นจากสเต็มเซลล์เป็นความหวังของเหล่านักวิจัยทั่วโลก เพื่อใช้สำหรับปลูกถ่ายแทนอวัยวะเก่านอกเหนือจากใช้สเต็มเซลล์ซ่อมแซมอวัยวะที่ชำรุดเสียหายโดยตรง ซึ่งที่ผ่านมามีนักวิจัยหลายทีมมีความคืบหน้าเช่นกัน โดยศาสตราจารย์เปาโล แมคเชียรินี แห่งสถาบันแคโรลินสกา ในสวีเดน เปิดเผยที่งานประชุมด้านเทคโนโลยีเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาเคมบริดจ์ในอังกฤษ ช่วงต้นเดือนกันยายนนี้ว่า นักวิทยาศาสตร์ค้นพบวิธีสร้างอวัยวะใหม่ๆสำหรับปลูกถ่ายมากกว่า 20 วิธี โดยเวลานี้พบวิธีพัฒนากระเพาะปัสสาวะ ท่อปัสสาวะ และหลอดลม ที่ถูกนำไปฝังในผู้ป่วยแล้วในการทดลองทางคลินิก และเมื่อไม่นานมานี้เขาเพิ่งนำหลอดลมที่สร้างขึ้นจากสเต็มเซลล์ของผู้ป่วยในห้องทดลองไปปลูกถ่ายคืนให้กับผู้ป่วยซึ่งเป็นมะเร็งคอหอย

คงต้องจับตามองความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการแพทย์ด้านนี้กันอย่างใกล้ชิดต่อไป เพราะมีความสำคัญต่อการมีชีวิตอยู่ไม่แพ้การพัฒนายา วัคซีน และเทคโนโลยีด้านอื่นๆ

สำหรับเทคโนโลยีที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ระบบส่งยานำวิถีด้วยนาโน (Drug Delivery System หรือ DDS) ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้ยา โดยสามารถนำส่งยาได้ตรงต้นตอของโรคได้ดีขึ้น ควบคุมการปลดปล่อยได้ และติดตามผลการรักษาได้ ด้านจิโนมิกส์ส่วนบุคคล (Personal Genomics) เป็นเทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยและการรักษาทางการแพทย์ โดยใช้เทคนิคการหาลำดับเบสของสารพันธุกรรม (DNA Sequencing) ซึ่งจะช่วยให้แพทย์ป้องกันความเสี่ยงเกิดโรค การแพ้ยา และการรักษาที่เหมาะสมเฉพาะบุคคลได้

ในด้านพลังงานสะอาด (Green Energy) นั้นเป็นอีกเรื่องที่โลกให้ความสำคัญ เช่น การใช้พลังงานชีวภาพ (Cellulosic biofuel) พัฒนาเอทานอลจากเศษวัสดุการเกษตร พืช/ไม้โตเร็ว ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนพลังงานและช่วยลดโลกร้อน การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ผ่านเซลล์แสงอาทิตย์ประสิทธิภาพสูง (High Efficiency Solar Cell) การพัฒนาพลาสติกฐานชีวภาพ (Future Bio-based Plastics) ย่อยสลายได้ เพื่อช่วยแก้ปัญหาของปริมาณวัตถุดิบจากปิโตรเลียมที่มีจำกัด และช่วยลดปัญหาโลกร้อนที่เกิดจากกระบวนผลิต

การพัฒนาจีโอโพลีเมอร์ (Geopolymer) วัสดุจำพวกอะลูมิโนซิลิเกต ที่มีสมบัติทางกลดีมาก ทนไฟ และทนทานต่อสารเคมี ซึ่งจะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เช่นเดียวกับกราฟีน (Graphene) วัสดุมหัศจรรย์ แข็งกว่าเหล็กกล้าและเพชร ยืดหยุ่นได้ นำไฟฟ้าได้ดีกว่าทองแดง และโปร่งแสง จึงนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น วงจรอิเล็กทรอนิกส์ จอภาพที่ใช้งานด้วยการสัมผัส (Touch screens) โทรศัพท์มือถือ และชิพคอมพิวเตอร์ความเร็วสูง เซ็นเซอร์ตรวจวัด และเป็นโซลาเซลล์ เป็นต้น

สำหรับเทคโนโลยีอีกอย่างที่จะมาแรง ได้แก่ จอแสดงภาพ 3 มิติ (3D Display) และเทคโนโลยีที่เรียกว่าเว็บไซต์สู่เว็บเชิงความหมาย (Semantic Web) ซึ่งหมายถึงเทคโนโลยีที่มีแนวคิดที่จะเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวข้องกันเข้าด้วยกัน และผู้ใช้สามารถจัดการกับเว็บไซต์ของตนเองได้อย่างอิสระ

ที่มา : หนังสือพิมพ์โลกวันนี้รายวัน ปีที่ 12 ฉบับที่ 3149 ประจำวันจันทร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ.2554 คอลัมน์ มุมชีวิต โดย สิริรัตน์ วารี

หนึ่งความเห็นบน “ข่าววิทยาศาสตร์”

  1. งานนี้ว่าจะไปเหมือนกันครับ
    แต่ติดเวลา สุดท้ายเลยไม่ได้ไป

    เทคโนโลยี่เหล่านี้ ถือเป็นแหล่งข้อมูลและแนวทางสำหรับงานเขียนได้ดีมากๆ

    ก่อนหน้านี้เคยคิดจะเขียนเกี่ยวกับอะหลั่ยมนุษย์ (คล้ายๆ island แต่เน้นไปที่คนทั่วไปที่พึ่งรู้ความจริง)
    แต่ก็ต้องเลิกเขียนไป เพราะเทคโนโลยี่ ที่ผลิตเฉพาะชิ้นส่วนมันเกิดขึ้น

    ขอบคุณสำหรับ บทความ(และข้อมูล) ครับ

ใส่ความเห็น