คู่มือการเขียนนิยายวิทยาศาสตร์(1): วิทยาศาสตร์ในนิยายวิทยาศาสตร์

วิทยาศาสตร์ในนิยายวิทยาศาสตร์
โดย รศ.ดร.ชัยวัฒน์ คุประตกุล

นิยายวิทยาศาสตร์: จินตนาการไม่จำกัด
1. อะไรจะเกิดขึ้น/ถ้า…
2. ถ้าเพียงแต่…
3. ถ้าสิ่งนี้เกิดขึ้นต่อๆไป…

นิยายวิทยาศาสตร์นับเป็นวรรณกรรมประเภทหนึ่งที่กำลังได้รับความสนใจอย่างมากในโลกปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก หรือมีการใช้ภาษาอังกฤษอย่างแพร่หลาย ทั้งนี้เพราะว่าประเทศหลักที่ผลิตนิยายวิทยาศาสตร์ที่สำคัญที่สุดในโลกปัจจุบัน คือ สหรัฐอเมริกา และรองลงมาก็คือ อังกฤษ

ใครบ้างอ่านนิยายวิทยาศาสตร์
ผู้อ่านหรือนักอ่านนิยายวิทยาศาสตร์ทั่วโลกเป็นบุคคลหลายประเภท หลายอาชีพ ส่วนใหญ่จะเป็นนักศึกษา นักเรียน ครู อาจารย์ นักวิทยาศาสตร์ วิศวกร ช่างเทคนิค และแม่บ้าน (ครับ ใช่…แม่บ้าน) ตลอดรวมทั้งนักอ่านประเภทหนอนหนังสือที่อ่านหนังสือได้ทุกประเภทด้วย

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้นิยายวิทยาศาสตร์ได้รับความสนใจ ได้รับการยกย่องขึ้นเป็น “วรรณกรรม” สำคัญประเภทหนึ่งก็เป็นเพราะว่า นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงโด่งดังหลายคนเป็นนักวิทยาศาสตร์เองหรือเป็นผู้มีอาชีพหรือเคยมีอาชีพคลุกคลีอยู่กับวิทยาศาสตร์รูปใดรูปหนึ่ง เช่น วิทยาศาสตร์ประยุกต์ในรูปของเทคโนโลยี คือ วิศวกร หรือ วิทยาศาสตร์การแพทย์ คือ หมอ ตัวอย่างนักวิทยาศาสตร์ที่กลายเป็นนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์จนมีชื่อเสียงรู้จักกันดีก็มี อาทิเช่น ไอแซก อาซิมอฟ (นักชีวเคมี) , อาเธอร์ ซี.คล้าก (นักฟิสิกส์และคณิตศาสตร์) , เฟรดฮอยล์ (นักดาราศาสตร์) และ ฮิวโก เกอร์นส์แบ็กค์ (นักวิศวกรไฟฟ้า)

นิยายวิทยาศาสตร์คืออะไร
เมื่อเราจับนวนิยายขึ้นมาเล่มหนึ่งแล้วถามใครๆว่า หนังสือที่จับขึ้นมานั้นเป็น “นิยายวิทยาศาสตร์” หรือไม่ เราก็มักจะตอบกันได้ไม่ยากนัก
แต่ถ้าหากจะถามว่า นิยายวิทยาศาสตร์คืออะไร คำตอบจะหากันได้ไม่ง่ายนัก และดูเหมือนจะไม่มีนิยามชัดเจนซึ่งเป็นที่ยอมรับกันอย่างแท้จริง

โดยทั่วๆไปอาจกล่าวได้ว่า “…นิยายวิทยาศาสตร์ คือ เรื่องแต่งที่เกี่ยวพันกับวิทยาศาสตร์ หรืออาศัยวิทยาศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินเรื่อง หรือเป็นฉาก หรือแสดงผลกระทบของวิทยาศาสตร์ต่อมนุษยชาติ…”
อีกความหมายหนึ่งของนิยายวิทยาศาสตร์ที่ใช้กันบ่อยๆก็คือ “…นิยายวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องแต่งอันน่าทึ่งเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ของมนุษย์ ความขัดแย้ง และการผจญภัย ซึ่งสืบเนื่องมาจากการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ของโลกอนาคต…”

แต่นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์แต่ละคนซึ่งประสบความสำเร็จแล้วก็ดูจะมี “นิยาม” ของ “นิยายวิทยาศาสตร์” เป็นของตนเอง อาทิเช่น

ไอแซก อาซิมอฟ (Isaac Asimov) นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อที่สุดของโลกคนหนึ่งกล่าวว่า “…นิยายวิทยาศาสตร์มีอยู่สามแบบ คือ หนึ่ง แบบ WHAT IF…(อะไรจะเกิดขึ้น ถ้า…) สอง แบบ IF ONLY…( ถ้าเพียงแต่…) และ สาม แบบ IF THIS GOES ON…(ถ้าสิ่งนี้เกิดขึ้นต่อๆไป…)

โรเบิร์ต เอ.ไฮน์ไลน์ (Robert A. Heinlein) นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ของสหรัฐซึ่งได้รับรางวัลสำคัญอยู่บ่อยๆ ผู้เขียนเรื่อง Starship Troopers ได้ให้คำนิยามของนิยายวิทยาศาสตร์ว่า “…นิยายวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องของการคาดคะเนเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยอาศัยความรู้ของโลกปัจจุบันและอดีต และโดยอาศัยความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในธรรมชาติและความสำคัญของระเบียบวิธีวิทยาศาสตร์…”

เฟรดเดอริกค์ โพฮ์ล (Frederick Pohl) นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์อีกคนหนึ่งที่เคยได้รับรางวัลสำคัญบ่อยๆก็ให้คำนิยาม “…นิยายวิทยาศาสตร์เป็นนวนิยายที่แสดงผลที่ตามมา เป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการศึกษาผลกระทบจากการกระทำและสิ่งประดิษฐ์ของมนุษย์…”

แซม มอสโควิศช์ (Sam Moscowitz) นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์และอาจารย์สอนวรรณกรรมนิยายวิทยาศาสตร์ให้คำนิยามว่า “…นิยายวิทยาศาสตร์เป็นประเภทหนึ่งของจินตนิยายที่มีลักษณะพิเศษคือ ช่วยผ่อนคลายความไม่อยากเชื่อของฝ่ายผู้อ่าน โดยการสร้างบรรยากาศความเป็นไปได้ทางวิทยาศาสตร์ เพื่อการคาดคะเนอย่างพิสดารเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์กายภาพ อวกาศ เวลา สังคมศาสตร์ และปรัชญา…)

ฮิวโก เกอร์นส์แบ็กค์ (Hugo Gernsback) ให้ความหมายของนิยายวิทยาศาสตร์ที่เขาต้องการไว้ในบทบรรณาธิการของนิตยสาร Amazing Stories ที่เขาเป็นบรรณาธิการเมื่อปี ค.ศ.1926 ว่า “…หมายถึงนวนิยายตามแบบฉบับของจูลส์ เวอร์น , เอช.จี.เวลล์ และเอ็ดการ์ อัลแลน โพ กล่าวคือ เรื่องการผจญภัยคละเคล้าด้วยหลักความจริงของวิทยาศาสตร์ และการทำนายเหตุการณ์ในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ความหมายของนิยายวิทยาศาสตร์ที่ดูจะเข้าใจง่ายที่สุดเห็นจะเป็นคำนิยามของจอร์จ เฮย์ (George Hay) ซึ่งกล่าวไว้ว่า “…นิยายวิทยาศาสตร์ คือ สิ่งที่คุณพบในชั้นหนังสือที่ถูกจัดกลุ่มให้เป็นประเภท “นิยายวิทยาศาสตร์” ในห้องสมุด…”

นอกจากนั้น ยังมีนิยามของนิยายวิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจอีกความหมายหนึ่งเป็นของ เบรียน ดับเบิลยู. อัลดิส (Brian W. Aldiss) ซึ่งเคยกล่าวไว้ในทำนองล้อเลียนว่า “…นิยายวิทยาศาสตร์หรือ…ไม่มีหรอก…”

ทัศนะของนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ที่กล่าวมาทั้งหมด เราอาจตีความหมายได้อย่างค่อนข้างลึกซึ้งว่า…เนื่องจากคำว่าวิทยาศาสตร์มีความหมายกว้างมาก นั่นคือ โดยทั่วๆไป วิทยาศาสตร์อาจแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทคือ 1. วิทยาศาสตร์กายภาพ (Physical Science) 2. วิทยาศาสตร์ชีวภาพ (Biological Science) และ 3. สังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์ (Social Science และ Humanities) ดังนั้นจึงไม่มีอะไรที่ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ และดังนั้น การที่จะพยายามจัดว่าอะไรเป็นวรรณกรรมที่เรียกว่า “นิยายวิทยาศาสตร์” จึงไม่มีความหมาย เพราะทุกสิ่งทุกอย่างนั้นล้วนแต่เป็นวิทยาศาสตร์ทั้งสิ้น

จากที่กล่าวมาจึงเป็นที่ชัดเจนว่า “นิยายวิทยาศาสตร์” มีความหมายมากมายหลายอย่างเหลือเกิน และขอบเขตของ “นิยายวิทยาศาสตร์” ก็กว้างขวางมากเหลือเกินเช่นกัน ดังนั้น จินตนาการของนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์จึง “ไม่จำกัด” ดังชื่อเรื่องของข้อเขียนนี้

แต่…ความ “ไม่จำกัด” ของจินตนาการก็มีกฎเกณฑ์บางอย่างที่นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ที่ดีต้องรักษาไว้ นั่นก็คือ นิยายวิทยาศาสตร์ : จินตนาการไม่จำกัด นั้น จริง…แต่ก็ต้องมีคำว่า…”แต่”…ตัวโตๆต่อท้ายด้วย ซึ่งประเด็นนี้ผู้เขียนจะขอกล่าวถึงในภายหลัง และซึ่งจะมีความสำคัญเป็นพิเศษสำหรับผู้ที่รักหรืออยากจะเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ต่อไป

เรื่องราวของนิยายวิทยาศาสตร์ที่เขียนกันมา เราพอจะแยกลักษณะออกเป็นประเภทใหญ่ได้ ดังนี้
1. เรื่องประเภทการเดินทางไปในอวกาศระหว่างดวงดาว ระหว่างระบบสุริยะ ระหว่างแกแล็กซี การบุกเบิกอวกาศ การสำรวจอวกาศและดาวเคราะห์ในแกแล็กซี ปละในจักรวาล รวมทั้งการเผชิญหน้ากับสิ่งมีชีวิตที่มีปัญญาจากโลกอื่นหรือในโลกอื่น
2. การเดินทางไปกับเวลา สู่อนาคตหรืออดีต
3. การเปลี่ยนแปลงทางชีววิทยาและทางจิตวิทยาของมนุษย์ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากวิทยาศาสตร์หรือธรรมชาติ
4. พลังทางกายหรือทางจิต “เหนือมนุษย์ธรรมดา” อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากความก้าวหน้าหรืออุบัติเหตุทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
5. ผลกระทบจากการประยุกต์วิทยาศาสตร์โดยตรงหรือโดยทางอ้อม ต่อความสัมพันธ์ของมนุษย์ทั้งในด้านสร้างสรรค์และด้านทำลาย

ทั้งหมดเหล่านี้เป็นเพียงลักษณะที่สำคัญของ “นิยายวิทยาศาสตร์” จากสมัยที่เริ่มมีนิยายวิทยาศาสตร์อย่างจริงๆจังถึงปัจจุบัน แต่ในยุคของโลกวิทยาศาสตร์ปัจจุบัน ในยุคความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอันรุดหน้าอย่างชนิดตามกันไม่ทัน ขอบเขตของนิยายวิทยาศาสตร์ ลักษณะของนิยายวิทยาศาสตร์ก็ยิ่งขยายกว้าง ขยายไกล และขยายลึกมากยิ่งขึ้นไปอีก

ใส่ความเห็น