ผู้รอคอย : รางวัลชนะเลิศการประกวดเรื่องสั้นไซ-ไฟ ครั้งที่ 2 หัวข้อ “ยานอวกาศ”

ชายชราขับรถบรรทุกแร่คันเก่าคืบคลานไปตามถนนที่ไม่ถูกใช้งานนานหลายปี ข้างตัวเขามีเด็กชายผู้กำลังจะย่างเข้าวัยรุ่นที่ดูจะตื่นเต้นเป็นพิเศษนั่งมาเป็นเพื่อน เขาเฝ้าแต่ชะโงกหน้ามองไปยังความมืดเบื้องหน้าตรงที่แสงไฟจากรถบรรทุกส่องไปไม่ถึงเหมือนกำลังรอดูอะไรบางสิ่ง เสียงก้อนกรวดบดกับตีนตะขาบดังสะท้อนก้องในห้องคนขับทำให้บรรยากาศไม่เงียบเหงาจนเกินไป

“เกือบถึงหรือยังครับคุณตา” เด็กชายเอ่ยขึ้นมาในที่สุด
“อีกไม่ไกลแล้ว” ชายชราตอบหลังจากเหลียวหน้ามองหลักไมล์ข้างทาง

ไฟหน้ารถจับไปบนท้องถนนก่อให้เกิดเงารูปร่างแปลก ๆ บนถนนสายเก่า ถ้าเงยหน้าขึ้นมองบนท้องฟ้าก็จะพบหมู่ดาวเรียงรายระยิบระยับลานตาจากขอบฟ้าด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่ง มันดูเหมือนผืนผ้าสีขาวแต้มด้วยหย่อมสีดำเสียมากกว่าจะเป็นผืนสีดำที่ประดับด้วยแสงดาวเป็นดวง ๆ แต่แสงเดียวที่ส่องทาบไปยังพื้นถนนก็ยังคงเป็นแสงจากหลอดไฟหน้ารถที่ติดอยู่เพียงดวงเดียว และมันไม่สว่างพอ แต่ไม่เป็นไรหรอก ชายชราคาดหวังว่าอีกไม่นานหลอดไฟสองข้างทางก็จะกลับมาสว่างไสวเหมือนเมื่อหลายปีก่อน และไม่ว่ากลางคืนจะยาวนานเพียงใด ถนนเส้นนี้ก็จะสว่างไปจนถึงเช้า และจะเป็นอย่างนั้นไปอีกหลายปี

“ผมจะได้เห็นยานอวกาศไหมครับคุณตา” เด็กชายถาม
“ได้เห็นแน่นอน รับรองได้” ชายชรายืนยัน ถึงมันจะไม่ใหญ่นัก แต่อีกไม่นานพวกลำใหญ่ก็จะตามมา และมันจะเหมือนงานเทศกาลที่ไม่มีวันหยุดไปอีกนาน ลำแล้วลำเล่าจะบินลงมา บินกลับขึ้นไปแล้วก็บินลงมาอีก ถึงเวลานั้นแม้ใครที่ไม่เคยเห็นมาก่อนก็จะได้ดูกันจนเบื่อไปเลยทีเดียว

………………………………………………………..

“โปรแกรมลงจอดเรียบร้อยดีใช่ไหม” กัปตันถามจากที่นั่งนักบิน
“เรียบร้อยครับ เช็คสองรอบตามมาตรฐานครับ” นักบินผู้ช่วยตอบอย่างมั่นใจ กัปตันยิ้มน้อย ๆ ที่มุมปากให้กับความกระตือรือร้นของ ‘เด็กใหม่’ งานนี้เป็นงานแรก ๆ ในฐานะนักบินผู้ช่วย และถ้าทำงานเต็มที่อย่างนี้อีกสักสิบหรือสิบห้าปี เจ้าหนุ่มคงจะเป็นกัปตันได้อย่างไม่ยากเย็นนัก

“กัปตันครับ ดาวดวงนั้นเป็นอย่างไรบ้างครับ” นักบินผู้ช่วยถามขึ้น
เขาเข้าใจเอาเองว่าผู้ช่วยคงไม่ได้หมายความถึงข้อมูลที่พิมพ์แจกในข้อมูลการบิน กัปตันเคยบินไปที่นั่นมาแล้วหลายครั้ง รู้จักใครหลายคนที่พอจะพูดคุยได้บ้าง ในคนเหล่านั้นมีบางคนที่เขารู้จักและคุ้นเคยเป็นอย่างดี

“ดาวเหมืองแร่ เป็นสมบัติของบริษัทหมดทั้งดวง ค่อนข้างล้าหลังและไม่มีอะไรโดดเด่น เทคโนโลยีล้าสมัยยกเว้นงานทำเหมือง ถ้าจะหาสาว ๆ สวย ๆ ละก็ คงหาไม่ได้หรอก”
“คือผมอยากรู้ว่าเขาอยู่กันอย่างไรครับกัปตัน ไม่ได้หมายถึงสาว ๆ ครับ” ผู้ช่วยพูดเพื่อแก้ความเข้าใจผิด
“ยากลำบาก ยากลำบากจริง ๆ” เสียงกัปต้นตอบทวนคำพูดเดิมช้า ๆ

………………………………………………………..

ชายชราเป็นชาวเหมืองมาตั้งแต่จำความได้ ถึงมันจะไม่ได้เป็นอาชีพเดียวที่ทำได้บนดาวที่ทุรกันดารดวงนี้ แต่กับคนที่เกิดและเติบโตท่ามกลางชาวเหมือง อาชีพที่ดีที่สุดที่รู้จักก็ต้องเป็นชาวเหมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทุกคนในครอบครัวเขาก็เป็นชาวเหมือง ลูกและเมียก็เป็นชาวเหมือง รวมถึงเจ้าหนุ่มน้อยหลานชายคนแรกของเขาคนนี้ที่ถึงจะยังเรียนหนังสือไม่จบก็ได้บรรจุเป็นชาวเหมืองไปแล้ว

“ยานอวกาศรูปร่างเป็นอย่างไรครับคุณตา” เด็กชายถาม
“คล้ายกับรถบรรทุกนี่แหละ แต่ใหญ่กว่ามาก ใช้ไอพ่นกับระบบต้านแรงโน้มถ่วง มันจะค่อย ๆ ลอยลงมาจากอวกาศ แล้วลงจอดที่ลาน” เขาทำท่าทางประกอบ

ชายชรายังจำความรู้สึกตอนที่เขาเห็นมันครั้งแรกได้ ยานลำมหึมาในกองยานสินค้าทยอยลงจอดเต็มลานกว้าง นักบินในชุดสะอาดสะอ้านตัดผมสั้นโกนหนวดเคราเกลี้ยงเกลา แม้กระทั่งช่างเทคนิคก็ยังแต่งตัวดี พูดเพราะ วางตัวดีสมกับเป็นคนมีการศึกษา ต่างจากคนเหมืองลิบลับ
“ผมขอคุยกับนักบินได้ไหมครับ” เด็กน้อยตั้งคำถามอีก
“ได้สิ” ชายชรารู้จักนักบินคนหนึ่ง เขาจะมากับยานลำแรกของกองยานเสมอ และครั้งนี้ก็เช่นกัน ชายชรารู้ว่าเขาจะกลับมา

………………………………………………………..

“กันดารอย่างนั้น ทำไมถึงมีคนอยู่ประจำละครับ” นักบินผู้ช่วยถาม
“เมื่อก่อนก็ไม่มีคนประจำหรอก เดิมทีช่วงที่ไม่ใช่ฤดูขนแร่นั้นพวกคนงานจะย้ายออกมาเกือบหมด เหลือแค่คนที่จำเป็นไว้เผื่อมีเหตุฉุกเฉินเพราะทรัพย์สินบริษัทมีค่ากว่าจะปล่อยทิ้งไว้ แต่พวกคนงานต้องจ่ายค่าเดินทางไปกลับแพงเอาการก็เลยมีคนขออยู่ประจำ ทีแรกก็ไม่กี่คน แต่ตอนที่เหมืองขยายออกไปก็มีคนขออยู่ถาวรมากขึ้น ช่วงหลังก็เลยกลายเป็นชุมชนใหญ่ มีทั้งโรงเรียน โรงพยาบาล โบสถ์ ร้านค้า ลูกหลานก็อยู่สืบต่อกันมา เป็นคนเหมืองต่อจากพ่อแม่ ลงทะเบียนเป็นลูกจ้างบริษัทตั้งแต่เริ่มทำงานได้ เป็นแบบนี้มารุ่นต่อรุ่นไปเรื่อย ๆ”

“แล้วลูกหลานอยู่กันแบบไหนครับ” นักบินผู้ช่วยลงนั่งประจำที่ เตรียมนำยานร่อนลง
“อยู่ในเหมืองนั่นแหละ ไม่มีที่อื่นจะให้ไป ทั้งอาหาร น้ำ อากาศ เครื่องมือเครื่องใช้ ต้องซื้อจากบริษัทเสียเป็นส่วนใหญ่ ลูกคนเหมืองเป็นหนี้บริษัทตั้งแต่แม่ตั้งท้องแล้ว คลอดออกมาก็ต้องทำงานหาเงินใช้หนี้ หมดหนี้แล้วถึงจะซื้อตั๋วออกจากดาวได้”
“ต้องทำงานกี่ปีครับ ถึงจะปลดหนี้ได้”
“คนหนึ่งที่ผมรู้จัก ทำมาเกือบหกสิบปีแล้ว” กัปตันตอบ นักบินผู้ช่วยชะงักไปชั่วครู่

………………………………………………………..

ชายชราขับรถเข้าไปในอาคารเก่าหลังหนึ่ง เสียงประตูอาคารเคลื่อนขึ้นลงดังสะท้อนขึ้นมาจากพื้นและตัวถังรถ หลังจากประตูปิดแล้วอากาศจึงถูกพ่นเข้ามาในอาคาร ออกซิเจนยี่สิบเอ็ดเปอร์เซ็นต์ ที่เหลือเป็นไนโตรเจนและกาซอื่น ๆ ผสมกับไอน้ำเล็กน้อยเพื่อไม่ให้มันแห้งจนเกินไป

“ลงจากรถ” ชายชราสั่ง
เด็กชายเปิดประตูรถ กระโดดลงแล้ววิ่งไปตรวจประตูอาคารว่าปิดสนิทเรียบร้อยดีโดยไม่มีช่องว่างให้อากาศรั่วไหลออกไปได้ นอกจากอากาศจะมีความสำคัญต่อชีวิต มันยังหมายความถึงเงินที่ต้องจ่ายเพื่อซื้อหามา

ชายชราปิดวาล์วอากาศในรถบรรทุกแล้วเดินนำเด็กชายเข้าไปในห้องควบคุม เปิดสะพานไฟ รออยู่สักครู่ก่อนจะเปิดคอมพิวเตอร์ ไฟในห้องค่อย ๆ สว่างขึ้น อากาศที่หนาวเย็นในตอนแรกเริ่มอุ่นขึ้น เขาเช็คทุกสิ่งทุกอย่างให้แน่ใจว่าอาคารหลังนี้พร้อมจะปกป้องสองชีวิตตาหลานและพร้อมจะรองรับการร่อนลงของยานอวกาศลำแรกหลังจากที่ท่าเทียบยานและอาคารหลังนี้ล้วนถูกปล่อยทิ้งร้างนานหลายปี…

“ทำไมต้องรอนานหลายปีถึงจะมียานอวกาศมาครับคุณตา”
“เพราะพายุสุริยะ” ชายเฒ่าหยุดไปครู่หนึ่งก่อนจะพูดต่อ “พายุจะมาทุกสิบปี หรืออย่างมากไม่เกินสิบสองปี มันจะพัดอยู่หกหรือเจ็ดปีก่อนจะสงบ ตอนพายุสุริยะพัด ยานอวกาศจะไม่ลงมา ต้องรอให้พายุสงบเสียก่อน” ตอนที่ยานลำสุดท้ายจากไปเมื่อเจ็ดปีก่อน หลานชายคนนี้เพิ่งจะย่างสี่ขวบและคงจะจำอะไรไม่ได้มากนัก
“หลังพายุสุริยะสงบ ขบวนยานอวกาศจะกลับมาอีกครั้ง”

………………………………………………………..

“อยู่ใต้ดินกันเกือบตลอดเวลา!” ผู้ช่วยนักบินกระชากเสียง
กัปตันดูดกาแฟจากถุงกันความร้อนก่อนจะตอบผู้ช่วย “กลางวันยาวหกเดือน กลางคืนอีกหกเดือน ที่พื้นผิวถ้าไม่ร้อนเป็นไฟก็ต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง มันไม่มีอะไรน่าอภิรมย์นักหรอก”
ผู้ช่วยนักบินนั่งนิ่ง กัปตันทำท่าเหมือนนึกอะไรขึ้นมาได้ก่อนจะพูดต่อ
“มีอยู่อย่างหนึ่ง ท้องฟ้ากลางคืนสวยมาก”
“จริงหรือครับ”
“ใช่ มันไม่มีบรรยากาศ แล้วกลุ่มดาวที่อยู่ลึกเข้าไปกลางทางช้างเผือกอย่างนี้บนท้องฟ้าจะมีดาวหนาแน่นมาก คุณจะหลงรักมันเลยแหละ แต่พอสักพักก็จะเบื่อ สิ่งบันเทิงเริงรมย์ไม่มีเลย เตรียมใจหน่อยก็แล้วกัน ถ้าโชคดีก็คงจะบินกลับได้ในสามหรือสี่วัน”
“นอกจากทำเหมืองแล้วเขาทำอะไรกันบ้างครับ” นักบินผู้ช่วยคาดคั้นถาม
“ไม่มี…เหมืองคือชีวิตของคนที่นี่ ด้วยความที่มันเป็นเหมืองใต้ดินก็เลยทำได้ทั้งฝั่งสว่างและฝั่งมืด ถึงพายุสุริยะพัดก็ยังขุดแร่ได้ ส่วนใหญ่อาคารก็จะอยู่ใต้ดินทั้งนั้น อาคารที่สร้างบนพื้นผิวมีน้อยมากจนดูแล้วเหมือนเป็นดาวร้าง ฟังดูหดหู่ไหม”
ชีวิตจริงไม่ได้แร้นแค้นจนเกินไปนัก เครื่องจักรทำงานอัตโนมัติเป็นส่วนใหญ่ มีบ้างที่ต้องแก้ไขหรือจัดการด้วยแรงคนแต่ก็ไม่มากนัก งานส่วนใหญ่ของมนุษย์จึงอยู่ที่การพยายามทำให้ชีวิตดำเนินไปได้ในสภาพที่ไม่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวงบวกกับการบริหารจัดการและการค้ำจุนโครงสร้างสังคมของคนเหมือง

………………………………………………………..

ชายชรานั่งมองหลานชายหยิบหีบเพลงปากออกมาเป่า มันยังไม่ไพเราะสักเท่าไหร่นัก แต่ด้วยวัยขนาดนี้เจ้าหนูน่าจะทำได้ดีขึ้นอีกในวันข้างหน้า ในชาวเหมืองก็มีกวี มีนักเขียน มีนักดนตรี มีนักปรัชญา มีทุกสิ่งทุกอย่างที่ดาวอื่นมี ขาดอยู่ก็แต่เพียงโอกาสที่จะได้ออกไปใช้ชีวิตเสรีเท่านั้นเอง ชายชราคิด
“ทำไมช่วงพายุสุริยะ ยานอวกาศถึงลงจอดไม่ได้ละครับ” เด็กชายถามหลังจากเล่นเพลงจบ
“มันจะมีปัญหากับอุปกรณ์ในยานอวกาศ นักบินก็มีอันตราย ช่วงพายุพัดเขาก็ไปรับแร่จากดาวอื่นแทน” ชายชราตอบ การเดินทางและการสื่อสารทั้งหมดถูกตัดขาดในช่วงพายุสุริยะโหมกระหน่ำ ระหว่างนั้นดาวดวงนี้จะถูกตัดขาดอย่างสมบูรณ์ อยู่อย่างโดดเดี่ยวเจ็ดปีเพื่อให้คนงานทำงานเก็บสะสมแร่ และพอยานอวกาศร่อนลงบนดาวได้อีกครั้งก็เริ่มค้าขายเพื่อเก็บเงิน ด้วยหวังว่าสักวันจะพาตัวเองออกจากดาวกรรมกรดวงนี้ไปได้

“คุณตาจะไปกับยานอวกาศไหมครับ” เด็กชายถาม
“ไม่รู้สิ” ชายชราเบือนสายตาจากหลานชายก่อนจะตอบ เขาเอื้อมมือไปกดปุ่มบนแผงควบคุมสองสามครั้งแล้วไฟนอกอาคารก็สว่างขึ้นทีละจุด เด็กชายเหลียวหน้ามองออกไปที่ด้านนอก ลานกว้างถูกปลุกให้สว่างขึ้นด้วยแสงไฟสว่างจ้าที่อยู่รายรอบ
“คอยดู ยานอวกาศจะลงจอดที่ลานหน้าตึก” เขาชี้ไปที่จุดหนึ่งข้างนอกอาคาร เด็กชายเหลียวมองตามช้า ๆ

………………………………………………………..

ยานอวกาศลำแรกกำลังจะลงจอด มันมีขนาดเล็ก นอกจากกัปตันและนักบินผู้ช่วยแล้ว ยังมีช่างเทคนิคโดยสารมาเพียงไม่กี่คนเพื่อทำหน้าที่ประจำลานจอดและควบคุมการจราจรทางอากาศ นักบินผู้ช่วยง่วนอยู่กับการปรับอุปกรณ์บนแผงหน้าปัดในขณะที่กัปตันมองออกไปข้างหน้า

“เขาบริหารจัดการกันอย่างไรครับ ถึงอยู่อย่างไม่พึ่งพาใครได้ตั้งหลาย ๆ ปี”
“เรียนรู้จากทุกสิ่งทุกอย่าง” กัปตันตอบ “ต้องบริหารการขุดให้มีแร่เพียงพอ เอาของใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ สร้างกฎของตัวเอง ควบคุมจำนวนประชากร ถ้าไม่ทำอย่างนั้นเหมืองจะล่มเพราะขาดเงินหรือไม่ก็มีแต่เด็ก ๆ ที่ทำงานไม่ได้ แย่ที่สุดคือขาดอาหารหรือขาดอากาศตายและสังคมคนเหมืองพังทลาย บริษัทเองนั้นไม่ต้องทำอะไรมาก แค่รับซื้อแร่แลกเปลี่ยนกับเครื่องมือเครื่องใช้ อาหาร อากาศ ที่เหลือก็จ่ายเป็นเงินค่าจ้าง ไม่ต้องลงมาบริหารเหมืองเอง ทุกฝ่ายก็ได้ประโยชน์ คนเหมืองเองก็ต้องเตรียมตัวให้พร้อมเพื่ออยู่รอดด้วยตัวเองตอนพายุกระหน่ำครั้งละหกหรือเจ็ดปี”
“กัปตันเคยบอกว่ารอบนี้จะมีคนออกจากดาวด้วยใช่ไหมครับ”
กัปตันพยักหน้า “ใครคนหนึ่งซื้ออิสรภาพ เขาจะกลับไปกับเรา”

………………………………………………………..

เด็กชายมองเห็นยานอวกาศแต่ไกล มันลอยลงมาอย่างช้า ๆ ดูราบลื่นและทรงพลัง ถึงรูปทรงของมันจะไม่สวยงามอย่างที่เคยจินตนาการไว้และสีสันไม่สะท้อนแสงแวววับ เครื่องหมายที่ด้านข้างก็เป็นตราบริษัทที่เขาเห็นจนชินตา แต่มันก็ยังดูน่าเกรงขามอยู่นั่นเอง มันลงจอดอย่างนิ่มนวลผิดกับขนาดของมัน จากนั้นทางเชื่อมค่อย ๆ ถูกขับเคลื่อนให้ไปต่อกับประตูยานอวกาศ
“คุณตาจะไปกับยานอวกาศลำนี้ใช่ไหมครับ” เด็กชายถามอีกครั้ง

ชายชราจ้องออกไปนอกกระจกหน้าต่าง มองดวงดาวที่มีอยู่มากมายจนนับไม่ถ้วน
“ตาจะไม่ออกไปจากดาวดวงนี้” เสียงของเขาสั่นเล็กน้อย “หลานรู้ไหมว่าพอเป็นคนเหมืองได้สักพักเราจะทำอย่างอื่นไม่เป็น เราขับยานอวกาศไม่ได้ ทำงานอื่นไม่ได้ เราใช้ชีวิตนอกบริษัทไม่ได้ และจะไปอยู่ที่ดาวดวงไหนไม่ได้อีกต่อไป อย่างมากเราก็ได้แค่ซื้ออิสรภาพให้ตัวเองแล้วก็ไปจบลงที่สถานสงเคราะห์คนชราบนดาวอีกดวงที่ไม่รู้จัก แล้วอิสรภาพจะมีประโยชน์อะไรถ้ามันมีความหมายเพียงแค่รอเวลาให้ชีวิตผุพังลงไป”

ชายชราจับไหล่สองข้างของหลานชายเบา ๆ “หลานจะเป็นคนที่ออกไปจากที่นี่ คนที่มากับยานลำนี้จะพาหลานออกไป เขาเป็นลูกหลานคนเหมืองเหมือนพวกเรา เรารวบรวมเงินซื้ออิสรภาพให้กับเขาตอนที่ยังเป็นเด็ก และเขากลับมาช่วยคนของเราเสมอ”
มีเสียงเดินเบา ๆ สะท้อนก้องมาตามทางเชื่อม ค่อย ๆ ดังขึ้นเรื่อย ๆ
“มันเป็นวิธีเดียวที่จะทำให้ลูกหลานของเราเป็นอิสระได้ หลานจำหนังสือที่เคยอ่านได้ไหม หนังสือที่เขียนว่าสิ่งที่เราทำเพื่อตัวเองจะตายไปกับเรา แต่สิ่งที่เราทำให้ผู้อื่นและให้โลกจะยังคงอยู่และไม่มีวันตาย” เด็กชายพยักหน้า นัยน์ตามีน้ำตาเอ่อท้นอยู่
ประตูทางเชื่อมเปิดออก กัปตันหยุดยืนอยู่ที่ประตูชั่วครู่ ยิ้มทักทายชายชราด้วยความคุ้นเคยก่อนจะเดินเข้ามาในห้องแล้วก้มลงทักทายเด็กชาย

“สวัสดีหนุ่มน้อย อยากไปขึ้นยานอวกาศกับลุงไหม”
เด็กชายยิ้มรับ

กาณฑ์อวกาศ

8 ความเห็นบน “ผู้รอคอย : รางวัลชนะเลิศการประกวดเรื่องสั้นไซ-ไฟ ครั้งที่ 2 หัวข้อ “ยานอวกาศ””

  1. อ่านจบแล้วรู้สึกว่าเรื่องนี้เจือด้วยกลิ่นไอของเรื่อง “บันทึกชาวดาวอังคาร”/The Martian Chronicles (ของ เรย์ บรอดเบอรี่) + งานของอาเธอร์ ซีคล๊าก เรื่อง “ประหนึ่งจะเย้ยรัตติกาล” / AGAINST THE FALL OF NIGHT

    เรื่องนี้เขียนได้ดีครับ เล่าเรื่องไปเรื่อยๆผ่านไดอะล็อกของตัวละคร โดยตัดซีนระหว่างนักบิน และคุณตากับหลานชาย รวมถึงให้อารมณ์อบอุ่นตลอดทั้งเรื่อง
    มีที่comment จุดนึงครับ เรื่อง climax ยังไม่โดดพอจนมองเห็นได้ชัด?

  2. ขอบคุณครับสำหรับคำวิจารณ์

    งานของ Ray Bradbury ที่อ่านจริงจัง สำหรับผมคือ Farenheit 451 ครับ กับ “บันทึกชาวอังคาร” นั้นเท่าที่จำได้คืออ่านไม่จบครับ ตอนนั้นยังเด็กมาก เลยยังรับได้ไม่เต็มที่นัก แต่ก็พอจะจำเนื้อเรื่องได้บ้างคร่าว ๆ (Farenheit 451 นี่เพิ่งมาอ่านเอาเมื่อไม่กี่ปีมานี้นี่เองครับ)

    ส่วนงานของ Clarke ที่เคยอ่านก็มี 200-2010-2061-3001 และ THE FOUNTAINS OF PARADISE (มีสองสำนวนแปล ผมอ่านแล้วทั้งสองสำนวน) และ “ดุจดั่งอวตาร” และ “นรกใต้ทะเลฝุ่น” น่าเสียดายที่ “ประหนึ่งจะเย้ยรัตติกาล” นั้นกลับไม่เคยได้อ่านเลย

    ผมพยายามจะเขียนถึงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลมากกว่าจะเขียนถึงจินตนาการครับ บางทีอ่านแล้วก็ัยังติด ๆ อยู่เหมือนกันว่ามันจะออกมาเป็นนิยายวิทยาศาสตร์พอหรือเปล่า และสำหรับ climax นั้นยอมรับว่าหมดมุขจริง ๆ ครับ พยายามเขียนออกมาหลายแบบ แต่สุดท้ายก็มาลงที่แบบนี้ครับ อ่านแล้วมันดูจะเรียบ ๆ ไปนิด แต่ตอนเขียนก็มองว่ามันออกแนว drama มาตั้งแต่ต้น ถ้าจบแบบหวือหวาไปนิดจะหลุดจากแนวเรื่องไปหรือเปล่า ? ก็เลยต้องออกมาแบบนี้ในที่สุดครับ

    ขอบคุณคณะกรรมการตัดสิน คณะกรรมการชมรม และทุกท่านที่เข้ามาอ่านด้วยครับ

  3. แวบแรกหลังอ่านจบ
    ผมบอกตัวเองว่าผมอยากเห็น ความเป็น “ยานอวกาศ” มากกว่านี้
    ผมมองในเรื่อง รูปลักษณ์, เทคโนโลยี่, ฯลฯ
    หลังผ่านไปสักระยะ
    เรื่องนี้ยังติดอยู่ในหัวผม
    ผมถามตัวเองว่าทำไม

    ผมสันนิษฐานว่าเป็นเพราะแก่นของเรื่องครับ
    เพราะมันคือคำถามถึง “ความเป็นมนุษย์”

    ยานอวกาศ ก็เลย ไม่ใช่ “เป็นอย่างไร” แต่ “เพื่ออะไร” และ “ทำไม”
    คำว่า “ทำไม” ไม่มีคำตอบครับ แต่การทิ้งให้คิด ก็เป็นวิธีการหนึ่งที่เหมาะสมสำหรับ พื้นที่ที่จำกัด แล้วครับ

    จุดเด่นคือ กระชับ ตรงไปตรงมา
    การเข้าประเด็นอย่างรวดเร็วน่าจะเป็นการแก้ปัญหาพื้นที่ที่จำกัดที่ดีครับ
    ตอนจบน่าจะเดาเรื่องได้ตั้งแต่กลางๆเรื่องแล้ว แต่ผมกลับไม่รู้สึกขัดอะไร
    เพราะการดึงอารมณ์ ไปจนถึงตอนจบทำได้ดีครับ

    เรื่องนี้จุดเด่นจึงไม่ใช่การหักมุม แต่เป็นการดึงอารมณ์ผู้อ่านอย่างนุ่มนวลไปสู่ตอนจบที่ชัดเจนอยู่แล้ว
    อาจจะไม่ถึงขั้นบีบคั้นอารมณ์ แบบเรื่อง น้องที่แอบขึ้นยานอวกาศไปหาพี่ชาย (ซึ่งผมจำชื่อเรื่องไม่ได้แล้ว)
    แต่ก็ถือว่า ทำได้ดีแล้วครับ

  4. ปล่ิอยไก่ไปจนหมดหันมาปล่อยหมูแทน 555
    ไม่รู้จะติอะไรครับ งานเนียน คิดได้เป็นระบบ ทั้งระบบการเป็นอยู่การปกครอง ตอนจบแบบนี้ก็ดีนะครับ ยอดเยี่ยมเอาไปเรยครับผม

    ยังคิดว่า shivago เป็นกรรมการอยู่เรย พึ่งจะรู้ตอนนี้เอง

  5. ขอบคุณทุกท่านครับ Zhivago ไม่ได้เป็นกรรมการครับ
    อ่านมากแต่ไม่มีประสบการณ์เขียนเลย
    งานที่เห็นในเว็บนี้เป็นงานรุ่นที่หนึ่งทั้งนั้นครับ

    สิ่งที่อยากได้จากสมาชิกทุกท่้านคือ comment ครับ
    คนเขียนงาน ไม่ว่าจะเป็นวรณณกรรม นิยาย เรื่องสั้น หรือกวี
    ถ้าขาดคน comment ก็จะไม่รู้จุดเด่นหรือจุดด้อยของตัวเอง

    อยากให้ทุกท่านที่ร่วมส่ง ไม่ว่าจะ post ที่หน้าเว็บหรือส่งประกวด
    ช่วยกัน comment ครับ ไม่ว่าจะเป็นการให้กำลังใจหรือบอกข้อด้อยข้อดี
    เพื่อให้คนเขียนได้ปรับปรุงผลงานครับ

  6. ของผมนั้นงานชิ้นแรกที่ส่งประกวดคือเรื่องสั้น ส่งเวทีเล็กครับ ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถึงตอนนี้ก็นับปีลำบากแล้วครับ (เรียนอยู่ม.2 ครับ) ว่างเว้นเอาตอนเรียน ม. ปลาย จนถึงเรียนจบมหาวิทยาลัย (มีเรียนต่อหลังจบปริญญาด้วย) ก็นับได้เป็นสิบปีเหมือนกัน ระยะหลังเริ่มลงตัวมากขึ้น งานยังหนักแต่ก็พอจะหาเวลาว่างได้ เลยเริ่มขีด ๆ เขียน ๆ เรื่อยมาครับ

    เรื่องที่คุณ NiRaj กล่าวถึงคือ Cold equation ของ Tom Godwin ครับ ผมได้อ่านฉบับแปล ลงในหนังสือมิติที่สี่หรือทักษะ ฯ(ของ se-ed. จำไม่ได้ชัดเจนว่าเล่มไหน) เป็นเรื่องสั้นวิทยาศาสตร์เรื่องหนึ่งที่ประทับใจมากเช่นกันครับ ยังติดอยู่ในใจจนปัจจุบันนี้ครับ เขียนได้บีบคั้นอารมณ์และสะเทือนใจมาก

    *สำหรับคนที่ยังไม่เคยอ่านเรื่องนี้นะครับ เรื่องนี้เป็นเรื่องของนักบินในยานอวกาศลำหนึ่ง บินไปปฏิบัติภารกิจสำคัญชิ้นหนึ่ง ขณะที่ยานบินออกไปแล้วนักบินก็พบว่าอัตราการเผาผลาญเชื้อเพลิงกับออกซิเจนนั้นมากผิดปกติ ตอนหลังไปค้นพบว่ามีเด็กผู้หญิงคนหนึ่งซ่อนอยู่ในยานอวกาศด้วยคาดหวังว่ายานลำนั้นจะพาไปจุดหมายได้

    ปัญหาก็คือยานนั้นบรรทุกพลังงาน-อากาศที่ต้องใช้สำหรับคนแค่คนเดียว ถ้ายังมีคนสองคนอยู่บนยาน ยานก็จะไปไม่ถึงที่หมาย จะขาดทั้งพลังงานและอากาศจนตายทั้งสองคน นักบินลองทำทุกวิถีทางแล้ว เช่นทิ้งของที่ไม่จำเป็น แต่ก็ไม่สามารถช่วยได้ ตอนหลังต้องตัดสินใจว่าจะทำอย่างไร ?

    มีคนทำเป็นหนังด้วย (น่าจะเป็นหนังทีวีจบในตอนครับ)

  7. ขอบคุณ คุณzhivago มากเลยครับ

    ก็เลยเข้าไปค้นต่อใน google
    http://www.spacewesterns.com/articles/105/
    มีทำเป็นหนัง ผมคิดว่าน่าจะเป็น Twilight Zone (เพราะไม่น่าจะมีชุดอื่น)
    http://www.imdb.com/title/tt0734745/
    Twilight Zone ชุดปี 1985 มี sci-fi เยอะมากเลยครับ

    ขอบคุณอีกครั้งครับ

ใส่ความเห็น