วิธีการในงานเขียนของผม (๑)

ก่อนอื่นต้องออกตัวว่า ข้อเขียนนี้ เป็นการย่อยสิ่งที่เรียนรู้มาจาก การอบรม และ การอ่านหนังสือที่พูดถึงวิธีการในงานเขียน
ไม่ได้หมายความว่า จะตั้งตัวเป็นปรมจารย์งานเขียน แต่ประการใด
และสิ่งที่ผมจะเขียนต่อไปนี้ ไม่ได้หมายความว่าผมทำได้(ตามเป้าหมายที่ตนเองตั้งไว้)ทุกๆชิ้น
แต่คิดว่าการเขียนบทความทิ้งไว้ให้เป็นข้อเตือนใจของตนเอง และหวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อคนอื่นๆด้วย
ครับผม

หัวข้อจะแบ่งเป็น
๑. มีเรื่องจะเล่า เอาอะไรมาเล่า และ เล่าทำไม
๒. วางแผนการเล่า และ โครงสร้าง (structure)
๓. ลงมือเล่า
๔. ทิ้งระยะเพื่ออ่านทบทวน และ การตรวจสอบตวามผิดพลาด
๕. rewrite rewrite rewrite
๖. ข้อแตกต่างระหว่าง เรื่องทั่วไป กับ นิยายวิทยาศาสตร์

เพราะผมมองว่า นิยายทั่วไป และ นิยายวิทยาศาสตร์ มีข้อแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย
(นิยายวิทยาศาสตร์ เป็น sub set อยู่ในนิยายทั่วไป)
ฉะนั้น การเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ ไม่ได้ยากไปกว่าการเขียน นิยายทั่วไป ต่างกันเพียงเงื่อนไขบางอย่างเท่านั้น

เริ่มกันเลยก็แล้วกัน

๑. มีเรื่องจะเล่า
-เอาอะไรมาเล่า (idea)
ส่วนใหญ่มาจากสิ่งที่เราสนใจเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว แล้วประกอบกับเรื่องที่เข้ามากระทบเช่น ข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ ภาพยนตร์ที่กำลังดู หรือการพูดคุยกับเพื่อนๆ ฯลฯ

-น่าสนใจแค่ไหน เล่าทำไม ทำไมต้องเล่า (Theme)
ความน่าสนใจของเรื่อง ผมมองว่า สามารถพัฒนาได้ตามการกำหนดระดับเชิงมุมมองของผู้เขียน
ยกตัวอย่างเช่น

“ผมเห็นคนแก่คนหนึ่งเดินข้ามถนน” ก็สามารถ เป็นเรื่องที่จะเล่าได้
แต่เรื่องที่”จะเล่า”อยู่ในระดับความคิดระดับใด?
ถ้าจบแค่นี้ก็จะได้แค่ “เหรอ” “แล้วไง” เพียงแค่ผู้ฟัง(ผู้อ่าน)เขาอาจจะไม่ออกเสียงออกมา

แต่ถ้า
“ผมเห็นคนแก่คนหนึ่งเดินข้ามถนน… นึกถึงคุณลุงที่บ้านจัง”
หลายๆคนอาจจะมีคุณลุงที่บ้าน อาจจะทำให้นึกถึงคนชราที่บ้าน
นี่เริ่มส่งผลเชิงอารมณ์ในระดับ บุคคล
แต่บางคนที่ไม่มีคนชราที่บ้าน ก็อาจจะไม่รู้สึกอะไรเลย

แต่ถ้า
“ผมเห็นคนแก่คนหนึ่งเดินข้ามถนน น่าสงสาร แกแก่แล้วคงเดินขึ้นสะพานลอยไม่ไหว”
เรื่องนี้ ยกระดับขึ้นเป็นเรื่องเชิงสังคม เพราะสิ่งที่ตามมาคือ “นั่นสิ ทำไมไม่นึกถึงคนแก่กันบ้าง”

แต่ถ้า
“ผมเห็นคนแก่คนหนึ่งเดินข้ามถนน น่าสงสาร เพราะคงเดินขึ้นสะพานลอยไม่ไหว … ทำเหมือนคนแก่ไม่ใช่คน”
เรื่องนี้กำลังถูกยกระดับขึ้นสู่ ระดับปรัชญา ในแง่ของเรื่อง คุณค่าของความเป็นคน

ไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่ใช่ว่าทุกเรื่องจะสามารถมี “แก่นของเรื่อง” ที่อยู่ในระดับ ปรัชญา(หรืออภิปรัชญา)ได้
แต่หากไม่คิดไว้ตั้งแต่แรก ก็จะยิ่งยากที่สิ่งเหล่านี้ จะมีโอกาสปรากฎอยู่ในเรื่อง

-โดยความเป็นจริง คนเรามักจะดึงเรื่องที่เราพบเห็น เข้าสู่มุมมองที่เราสนใจโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว
เช่นถ้ากำลังสนใจเรื่องของชนชั้นในสังคม เรื่องการเมือง เรื่องละครไทย ฯลฯ เราก็มักที่จะนำมันมาเป็นหัวข้อสนทนา อยู่เสมอ

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่ ประเด็นเหล่านี้ก็จะปรากฎออกมาในงานเขียนของแต่ละคน
การหา idea อาจจะเป็นการมองออกไปไกลๆ แต่การหาแก่นเรื่องกลับเป็นการมองย้อนเข้าไปในความคิดของตนเอง และหลายๆครั้งก็เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว
จนบางครั้งมีคำกล่าวว่า งานเขียน สามารถใช้เป็นการบำบัดได้เช่นกัน

แก่นของเรื่อง จำเป็นต้องมี เพื่อสร้างพลังและการจดจำเรื่อง
เรื่องแต่ละเรื่องควรมีแก่นหลักเพียงแก่นเดียว(ย้ำว่าแก่นหลัก)เพราะไม่เช่นนั้นจะสร้างความสับสนและลดทอนพลังของงานเขียน
(sub-plot หรือ แก่นย่อย(sub-theme) มีได้นะครับ ผมจะอธิบายในหัวข้อถัดไป)
แก่นหลัก ต้องสามารถครอบคลุมเนื้อหา, ประเด็น, แง่มุม ทั้งหมดของงานเขียนนั้นๆได้
เนื่องจาก เรื่องสั้น จะมีพื้นที่ในการเล่าที่น้อยอยู่แล้ว จึงมักจะมีแก่นเพียงแก่นเดียวเท่านั้น(ไม่มี sub-plot, ไม่มี sub-theme)

theme หรือ แก่นหลัก โดยทั่วไปที่เรามักพบเห็นกัน ความดีชนะความชั่ว, ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว, ฯลฯ
ในการเล่า มักจะ แสดงตัวตน หรือ ความคิดเห็น ของผู้เล่า แต่ ควรมีจุดมุ่งหวังในการสร้างสิ่งที่ดีขึ้น เช่น สังคมที่ดีขึ้น, แนวคิดต่อชีวิตที่ดีขึ้น หรือ มุมมองที่ดีขึ้น ฯลฯ

มีคนบอกผมว่า การเขียนเรื่องก็เหมือนกับการปั้นรูปปั้น
แก่น(theme) เหมือน โครงกระดูก หรือ โครงหลักของรูปปั้น
ผู้เขียนค่อยๆพอกกล้ามเนื้อ พอกเส้นเอ็น ลงไป
ถ้าพอกอย่างเหมาะสม ก็จะได้รูปปั้นที่ดูสมบูรณ์ สมส่วน
หากพอกไม่ดี บางส่วนมากเกินไป บางส่วนน้อยเกินไป
ก็จะได้รูปปั้นไม่สมส่วน จนอาจจะถึงขั้นอัปลักษณ์ได้

แต่เหนือสิ่งอื่นใด แก่น(theme) ของเรื่องมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นโครงสร้างหลักของเรื่อง
อาจจะไม่ค่อยได้เห็นความสำคัญในเรื่องขนาดสั้นมากนัก แต่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในเรื่องขนาดยาว
หากแก่น(โครงหลักของเรื่อง)ไม่ดี ก็ความเป็นไปได้สูงที่จะ บิดเบี้ยว ล้มเหลว ตั้งแต่ต้น
ครับ

(ยังมีต่อ นะครับ)



7 ความเห็นบน “วิธีการในงานเขียนของผม (๑)”

  1. คุณ niraj ครับ ผมสะดุดและสนใจเรื่อง “น่าสนใจแค่ไหน เล่าทำไม ทำไมต้องเล่า (Theme)” ครับ

    ประเด็นนี้ไม่ง่ายเลยครับ (สำหรับผม) ไอ้ความน่าสนใจ บางทีเราคิดว่ามันน่าเขียน มันแปลก แต่พอส่งให้กับ บก. กลับกลายเป็นว่า ในสายตาของ บก. ดูธรรมดาเกินไป เรามีวิธีพิจารณาด้วยตัวเองมั้ยครับ ว่าเรื่องนี้ที่จะเอามาเขียนมันน่าสนใจจริงๆ

    ผมยกตัวอย่าง เรื่อง เรือดำน้ำไปเจอซากยานอวกาศจมอยู่ในทะเล ต่อจากนั้นมีวิธีไหนที่เราจะเล่าออกมาให้น่าสนใจ ?

  2. ความน่าสนใจ จริงๆแล้ว ต้องเริ่มที่ ผู้เขียน สนใจก่อน นะครับ
    แต่สิ่งที่ผู้เขียนสนใจ ก็ไม่แน่ว่า คนอื่นจะต้องสนใจด้วย นะครับ
    และจะต้องแปลกหรือไม่ ผมก็ว่าไม่น่าจะเป็นประเด็น นะครับ

    ประเด็นเรื่อง “ความสนใจ” นี้แตกเป็นสองทาง คือ
    (๑)แล้วเราควรจะต้องเขียนสิ่งที่คนอื่นสนใจด้วยเสมอ หรือ (๒)ไม่จำเป็น เราสนใจคนเดียวก็พอ
    เพราะบางครั้ง(บ่อยครั้ง)มันต้องมีเรื่องออกไปก่อน จึงจะรู้ว่าคนอื่น สนใจหรือไม่?

    ในมุมมองผม ผมกลับมองว่า อาจจะเป็นทางสายกลาง ไม่ก็ข้อ ๒
    เพราะการมุ่งเน้นที่จะเขียนเรื่องที่คนอื่นสนใจ(โดยไม่สนใจว่าตัวเราเองสนใจหรือไม่)ดูจะเป็นวิธีการที่ขาดชีวิตจิตใจ เกินไป
    ครับ
    และถ้าเรื่องนี้เราสนใจ แต่คนอื่น(ยัง)ไม่สนใจ งานเขียนสามารถปลุกเร้าความสนใจได้(ถ้าเขียนได้ดีพอ) ครับ

    อีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยได้คือ การยกระดับ ประเด็นของเรื่อง
    อย่างเรื่อง”คุณลุงข้ามถนน”ที่ผมยกมาอ้าง
    จะเห็นว่ามีระดับของ ตั้งแต่ ระดับ เรื่องส่วนตัว, สังคม, ไปจนถึงระดับปรัชญา
    ซึ่งทำให้ “วง”(การรับรู้และเข้าถึง) ขยายกว้างออกไปด้วย ตามระดับของมัน

    แต่ประเด็นที่ว่านี้ มันคนล่ะเรื่องกับ “เรือดำน้ำไปเจอซากยานอวกาศจมอยู่ในทะเล” นะครับ
    เพราะนี่เริ่มเข้าสู่ระดับของ plot แล้วครับ

    plot นี้ไม่ใช่ของใหม่ เพราะ Sphere (http://www.imdb.com/title/tt0120184/) และ The Abyss (http://www.imdb.com/title/tt0096754/) ก็ใช้มาแล้ว

    ฉะนั้น ถ้าถามว่า แล้ว แก่น(theme) ของ “เรือดำน้ำไปเจอซากยานอวกาศจมอยู่ในทะเล” ของคุณuranus คืออะไร?

    ยกตัวอย่างเปรียบเทียบ
    Sphere แก่นของมันเป็นเรื่องของความเป็นมนุษย์(ความไม่สมบูรณ์ของมนุษย์) คือกิเลส และ ความกลัว
    The Abyss ก็อาจจะเป็นเรื่องสงคราม และ ความหวาดระแวง

    ฉะนั้น ถ้าจะถามว่า “เรือดำน้ำไปเจอซากยานอวกาศจมอยู่ในทะเล” น่าสนใจตรงไหน
    น่าจะขึ้นอยู่กับว่า “คุณพยายามจะบอกอะไรผู้อ่าน” ซึ่งนั่นจะทำให้รู้ว่า การเจอ”ซากยานอวกาศ”นั้น คุณต้องเจออะไรบ้าง

    ส่วนจะเล่าออกมาอย่างไรให้น่าสนใจ อันนั้นเป็นเรื่องกลวิธีการนำเสนอแล้ว ซึ่งผมก็มองว่าเป็นประเด็นรองๆ เช่นกัน
    จับ theme ให้มั่นก่อน
    ครับ

    ถ้าเป็นไปได้ ไปคุยกันในงานอบรมงานเขียน น่าจะสามารถอธิบายได้ละเอียด และตรงกับความต้องการของคุณuranus มากกว่านะครับ
    http://thaiscifi.izzisoft.com/?p=1895
    (เลยถือโอกาสโฆษณาเลย :D)

  3. ไม่ได้ถามผมหรอก แต่ขอแจมด้วย

    เรื่องสั้นหรือเรื่องยาวครับท่าน U

    เรื่องยาวถ้าแค่เปิดเรื่องคงไม่เป็นไรมั้งครับ มันน่าจะเป็นพล็อตต่อจากนั้นว่าเจอแล้วจะยานอวกาศแล้วจะเป็นอย่างไร

    อันที่จริงมันจะเจอตรงไหนก็ได้ เจอในหิมะ แบบ the thing หรือเจอกลางทะเลทราย มันก็ไม่ค่อยต่างกันมันเป็นไปตามท้องเรื่อง เข้าใจว่าในเรื่อง the thing ที่เขาให้ยานอวกาศดึกดำบรรพ์ ไปหล่นเสียที่ขั้วโลกส่วนหนึ่งเพราะต้องการควบคุมงบประมาณในการถ่ายทำ เหตุเพราะจำกัดสถานที่ นักแสดงไม่ต้องมาก ฉากไม่ต้องใหญ่ อีกส่วนคงเป็นเนื้อเรื่องที่ต้องการเล่นกับอารมณ์ตัวละคร เอทำให้นึกถึงละครเวทีเรื่อง Phone booth ขึ้นมาเชียว สถานที่เดียวคือตู้โทรศัพท์ นักแสดงหลักแทบจะคนเดียว ที่เหลือคือบทที่จะพาเรื่องราวไป

  4. ขอบคุณครับคุณนิราจ จากที่อ่านมา ดูเหมือนว่า เราต้องถามตัวเองก่อนว่าธีมของเราคืออะไร เริ่มจากตรงนั้น จากนั้นก็ค่อยว่าด้วยเรื่อง plot ว่าจะวางออกมาให้สนุก น่าสนใจ ทำให้คนอ่านพลิกหน้ากระดาษอ่านจนจบ
    ประเด็น เราก็เขียนได้ถ้าเราสนใจ นี่จริงๆแล้วถ้าเขียนเอามันส์ ไม่ได้ส่งพิมพ์ มันก็น่าจะพอไปได้ครับ แต่พอมีคนที่สองเข้ามาเกี่ยว (ในที่นี้คือ บก.) เราก็ต้องเดาทางของ บก. ว่าเขาจะสนใจเรื่องของเราแค่ไหน
    ผมเห็นด้วยครับที่คุณนิราจบอกไว้ ที่ว่า เรื่องธีมก่อน ถ้าธีมแน่น plot ติดตาม ความน่าสนใจก็จะตามมาด้วยเอง เพราะเรื่องเรามันก็จะมีคุณค่าของตัวมันเอง?

    คุณ HooNo2000
    เรื่องสั้นครับผม
    ผมคิดถึงเรื่องสั้น ต้องกระชับ มีประเด็นเดียว ยืดยาดไม่ได้
    ขอบคุณครับที่เข้ามาแจม ดูเหมือนว่า คุณหูโน (ขอเรียกแบบนี้นะครับ^^) จะเน้นที่ plot เราจะเปิดอะไรก็ตาม ถ้า plot ต่อมาวางไว้ดี ทุกอย่างก็จะน่าสนใจเอง ผมเข้าใจถูกมั้ยครับ

  5. เรื่อง email แจ้งนี้ผมไม่ค่อยแน่ใจครับ
    เข้าใจว่าระบบจะแจ้งเฉพาะเจ้าของ post (หรือไม่แจ้งก็ไม่รู้ 😀 )

    เรื่อง theme นี่ลืมบอกไปอย่างนะครับ
    คือมันเป็นสิ่งที่ควรจะมี นะครับ
    แต่หลายๆครั้ง(หลายๆเรื่อง)ก็ไม่มีครับ
    (อย่างเรื่อง “กู้ภัย” ที่ผมเขียน จริงๆไม่มี theme นะครับ ผมนึกถึงเหตุการณ์แล้วผมก็เขียนเลย)
    คือถ้ามีได้ ก็จะดี และทำให้เรื่องทั้งหมดแข็งแรงขึ้น

    หรือบางกรณีก็เป็นนามธรรมมากๆจนยากจะอธิบายด้วยคำพูดได้
    (แต่โดยหลักเขาบอกว่าควรสรุปได้ในหนึ่งประโยค ครับ)

ใส่ความเห็น