เรื่องสั้นส่งประกวด ในหัวข้อ “พลังงานอนาคต”: โคลด์ ฟิวชั่น

เรื่องสั้นส่งประกวด หัวข้อ “พลังงานอนาคต” ขออนุญาตนำมาลงในเว็บนะครับ


ผมอยู่ในประเทศเล็ก ๆ ในเอเชียใต้ กำลังพยายามจะสัมภาษณ์ผู้ชายที่หาตัวยากที่สุดในโลกคนหนึ่ง

………………………..

“ปิดมันเสียเถอะ คุยกันไปเรื่อย ๆ ดีกว่า ผมเชื่อว่าคุณเรียบเรียงมันได้แน่”

ชายชรารูปร่างผอมเกร็งที่นั่งอยู่ตรงหน้าบอกให้ผมปิดเครื่องบันทึกเสียงที่เตรียมมา เขาไม่ใช่คนแรกที่บอกให้ผมทำแบบนี้ ปกติแล้วคนพวกนี้ถ้าไม่เชื่อมั่นในตัวเองจนสุดกู่ก็เป็นพวกที่ไม่อยากผูกมัดตัวเองด้วยคำพูดที่อาจผิดขึ้นมาเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ผมเชื่อว่าเขาเป็นอย่างแรก

ผมปิดมันตามที่เขาบอกก่อนจะเก็บลงไปในเป้ที่ใช้งานมาอย่างคุ้มค่า การขาดเครื่องบันทึกเสียงทำให้ต้องมีสมาธิมากขึ้น

“เดินทางลำบากหน่อยนะ” เขาพูดขึ้นมาลอย ๆ ก่อนยกถ้วยชาขึ้นจิบ ชาร้อนส่งไอกรุ่นทำให้อบอุ่นขึ้นในบรรยากาศฉ่ำชื้นของฝนที่ตกมาตลอดวัน

ชายชราที่นั่งอยู่ตรงหน้าไม่มีเค้าของผู้เคยทรงอิทธิพลในวงการพลังงานเหลืออยู่แม้แต่น้อย เขานั่งหลังตรงหน้าเตาถ่านไม้ในกระท่อมโกโรโกโสประดับด้วยลวดลายเกินพอดีหลังนี้  สองมือกุมถ้วยชาแน่นเหมือนจะพยายามดูดซับเอาพลังความร้อนที่ถ่ายเทออกมาเข้าสู่ร่างกาย มันแย้งกับความจริงที่ว่าครั้งหนึ่งเขาเคยร่วมประดิษฐ์นวัตกรรมพลิกโลกชิ้นหนึ่งมาแล้ว และนั่นยังไม่รวมชุดประจำชาติของคนแปลกถิ่นที่เขาสวมอยู่อย่างไม่ขัดเขินอีกด้วย

………………………..

ผมล้วงเข้าไปในเป้ หยิบของชิ้นหนึ่งขึ้นมา เหมือนกับแววตาของเขาจะส่งประกายวูบขึ้น แต่ถึงจะเป็นเช่นนั้นจริงเขาก็กลบเกลื่อนได้เร็วมาก มันเป็นกล่องแบนสีดำด้าน ขนาดพอ ๆ กับคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก  มีตราสัญลักษณ์บริษัทที่เขาเคยเป็นผู้ร่วมก่อตั้งประทับติดอยู่ที่ผิวด้านบน

“ผมอยากคุยกับคุณเรื่องนี้” ถ้าเขาไม่ไล่ผมกลับ เขาก็จะพูดถึงมัน

“รุ่นที่สามใช่ไหม” เขาพูดสั้น ๆ จ้องมองที่วัตถุชิ้นนั้นไม่วางตา ผมตัดสินใจกดดันเขาอีกนิด

“ครับ รุ่นที่สาม กะทัดรัดขึ้น คุณอาจอยากได้ไว้สักเครื่อง” ราคาของมันแพงเอาเรื่อง แต่ผมต้องเสี่ยงว่าเขาน่าจะปฏิเสธมัน และของสิ่งนี้จะเป็นเหมือนกุญแจเปิดไปสู่ความลับที่ใครหลายคนอยากรู้มานาน

“ผมไม่ต้องการมันหรอก ผมมีเกินพอแล้วที่นี่” เขาผายมือข้างหนึ่งไปที่เตาไฟ ถ่านไม้ลุกโชนอยู่ข้างในทำให้กระท่อมรูปทรงแปลกตาหลังนี้แห้งและอบอุ่น ขณะที่ข้างนอกมีฝนโปรยปรายตลอดเวลา แต่สำหรับผมแล้ว ไม่ว่าเตาถ่านไหน ๆ ก็ไม่มีทางสู้ของชิ้นที่ผมกำลังถืออยู่นี้ได้เลย

“ผมอยากฟังเรื่องที่ไม่เคยมีใครเล่ามาก่อน” ถ้าอยากให้หนังสือขายได้ก็ต้องเขียนเรื่องที่ไม่มีใครเขียน ข้อมูลที่หาได้จากเว็บไซท์ไม่เคยทำให้หนังสือขายดี ด้วยเหตุนี้ผมจึงต้องเดินทางไกลจากบ้านเกิด เปลี่ยนเที่ยวบินสองครั้ง จากนั้นก็นั่งรถอีกหลายชั่วโมงเพื่อมาพบคนคนนี้

ถึงสายการบินจะผุดเป็นดอกเห็ดจนนักบินผลิตออกมาแทบไม่ทัน แต่กับสนามบินที่เอาเครื่องขึ้นลงยากที่สุดในโลกแห่งนี้ก็ยังมีนักบินเพียงแค่หยิบมือรับอาสาพาผู้โดยสารมาเสี่ยงชีวิตด้วย มันอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่เขาหลบมาอยู่ที่นี่ในช่วงหลายปีหลัง

“ผมจะเล่าให้ฟัง คุณจะเอาไปตีพิมพ์หรือไม่ขึ้นอยู่กับคุณ แต่ผมจะปฏิเสธทุกอย่างหากมีคนถาม” ตาของเขาจ้องเขม็ง จากนั้นยกถ้วยชาขึ้นจิบและพูดช้า ๆ

“ผมทำดวงอาทิตย์แช่เย็นไว้ขายที่บ้าน”

………………………..

“ถ้ามีใครพูดอย่างนี้เมื่อสามสิบปีที่แล้วคงถูกหาว่าบ้า แต่เราได้พยายามทำ ‘โคลด์ ฟิวชั่น’ ในโรงรถจริง ๆ … เรื่องมันเริ่มต้นคล้ายกับทุกเรื่องนั่นแหละ นักศึกษาปริญญาโทสองสามคนคิดโครงการวิทยานิพนธ์ขึ้นมาเรื่องหนึ่ง โครงการเล็ก ๆ ที่อาจารย์ที่ปรึกษาอาจตีกลับเสียด้วยซ้ำ แต่แนวคิดพื้นฐานของมันเป็นเรื่องปฏิเสธไม่ได้ว่ามีความเป็นไปได้ และวันหนึ่งมันก็เป็นจริงขึ้นมา”

เขาหยุดเพื่อจิบชา ผมยกมันขึ้นจิบตามทั้งที่คิดไว้แต่แรกว่าจะไม่ลองอะไรแปลก ๆ แบบนี้ รสเค็มมันแผ่ซ่านในปากแทบจะกลบรสชาหมดสิ้น เขายิ้มเล็กน้อยให้กับสีหน้าของผม

“มันไม่ได้ง่ายนักหรอก เราพยายามทำให้เกิดปฏิกิริยาฟิวชั่นเหมือนกับที่เกิดบนดวงอาทิตย์ แต่ทำมันที่อุณหภูมิห้อง เรื่องพวกนี้คุณคงรู้มาหมดแล้วละ ผมว่ามันอาจพิมพ์ไว้ที่แผ่นพับประชาสัมพันธ์ที่บริษัทเสียด้วยซ้ำ”

ใช่ ข้อมูลที่เขาพูดมานั้นผมมีอยู่เต็มมือแล้ว ผมอยากได้สิ่งที่เขาเก็บงำมาตลอดช่วงหลายปีหลัง ตั้งแต่การลาออกจากบริษัทที่เขาร่วมสร้างขึ้นมาและการหายตัวไปในเอเชียใต้หลังจากนั้นไม่นาน

“ผมอยากรู้เรื่องปัญหาในบริษัท ผู้บริหารคนอื่นไม่มีใครยอมให้ผมสัมภาษณ์”

“ผมไม่ได้บริหารบริษัทมาหลายปีแล้ว ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตอนนี้เขาไปไกลถึงไหน” เขาหยุดไปชั่วครู่ ทำท่าเหมือนกำลังคิดถึงเรื่องอะไรบางอย่าง จากนั้นจึงพูดขึ้นอีกครั้ง

“ถ้าไม่นับเรื่องเงินทุนที่ขัดสนอยู่บ้าง ตอนแรกมันก็ไม่มีอุปสรรคอะไรนัก   เราทำเรื่องนี้เพราะอยากให้พลังงานเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ สิ่งประดิษฐ์ของเราจะต้องให้พลังงานปริมาณมาก สม่ำเสมอ สะอาด และราคาถูก นิวเคลียร์ฟิวชั่นจึงเป็นทางเลือกหนึ่ง มันผลิตพลังงานได้มาก และเกิดรังสีน้อย และยิ่งถ้าทำให้เกิดขึ้นได้ที่อุณหภูมิต่ำด้วยแล้ว มันก็จะสามารถเอามาใช้ในชีวิตประจำวันได้ คิดแล้วก็น่าขำ เราทำตัวเป็นนักปฏิวัติสังคมแห่งศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด ทั้งที่อุดมการณ์แบบนั้นมันตายไปก่อนหน้าหลายปีแล้ว”

“เกิดอะไรขึ้นตอนที่คุณประดิษฐ์มันขึ้นมาได้สำเร็จ” มีเรื่องเล่าว่าพวกเขาไม่นำเสนอผลงานชิ้นนี้จนกระทั่งหลายปีให้หลัง

เขากระตุกหัวเราะ “เราไม่รู้จะทำอย่างไรกับมัน”

            ………………………..

“ลองคิดดูสิ เราประดิษฐ์เครื่องปฏิกรณ์โคลด์ ฟิวชั่นเครื่องแรกของโลกสำเร็จ มันใช้จุดเตาผิง อบขนมในเตา เปิดหลอดไฟทุกดวงในบ้าน เดินเครื่องทำความร้อน ทั้งหมดนี้ใช้น้ำแค่ไม่ถึงแก้ว ปกติแล้วนักวิทยาศาสตร์ไม่ศรัทธาศาสนามากนักหรอก แต่ตอนนั้นผมถึงกับคิดว่าพวกเรานี่แหละที่ใกล้เคียงกับพระเจ้ามากที่สุดแล้ว”

เขานั่งนิ่ง สูดลมหายใจลึก แววตาส่งประกายเหมือนกับเพิ่งค้นพบสิ่งนี้มาเมื่อสักชั่วโมงหรือไม่กี่นาทีที่ผ่านมา

“ทำไมพวกคุณถึงรออยู่ตั้งหลายปี” ผมถามเข้าประเด็น

“เรากลัว เรารู้สึกว่าการค้นพบของเรานั้นทรงพลังมากเกินกว่าที่ปุถุชนจะรับเอาไว้ได้ พอได้มาคิดย้อนหลังแล้วผมกลับรู้สึกว่ามันเป็นความเห็นแก่ตัวและดูแคลนความเป็นมนุษย์เอามาก ๆ แต่ถึงตอนนั้น แม้แต่กับคำถามง่าย ๆ ว่าถ้ามันตกไปอยู่ในมือผู้ก่อการร้ายผู้พร้อมที่จะเอาไปดัดแปลงเป็นระเบิดนิวเคลียร์ฟิวชั่น เราจะรับผิดชอบมันได้หรือเปล่า ในตอนนั้นเรายังตอบไม่ได้เลยด้วยซ้ำ”

“แต่พวกคุณก็แก้ปัญหานี้ได้ในที่สุด”

“ไปเดินเล่นข้างนอกกันเถอะ ฝนหยุดแล้ว” เขาเปลี่ยนเรื่องคุย ดูเขาจะอึดอัดไม่น้อยที่จะต้องเล่าเรื่องนี้

………………………..

ผมเดินถัดไปข้างหลังเล็กน้อย เขาชี้ทิศทางให้เดินไปยังสิ่งก่อสร้างรกร้างข้างหน้า มันเก่าแก่ หักพังและรกครึ้มไปด้วยต้นไม้รายรอบ นักท่องเที่ยวกลุ่มเล็กกำลังเดินอยู่ข้างหน้า มุ่งไปยังสิ่งก่อสร้างนั้น

“จุดเริ่มต้นของรอยร้าวในกลุ่มของเราเกิดขึ้นเมื่อฝ่ายหนึ่งอยากให้ตีพิมพ์เป็นผลงานวิชาการแล้วทำให้มันปลอดลิขสิทธิ์ จากนั้นใครก็สามารถเอาไปต่อยอดความคิดได้ พวกเราก็แค่นั่งรอให้บริษัทพลังงานดี ๆ สักแห่งมาจ้างไปเป็นที่ปรึกษา แต่อีกฝ่ายอยากให้จดสิทธิบัตรแล้วผลิตออกขายทำกำไร”

“คุณอยู่ฝ่ายไหน” ผมถามแทรกขึ้นมา เรื่องนี้ผมจำเป็นต้องรู้

“แล้วคุณคิดว่าผมอยู่ฝ่ายไหน” เขาหยุดเดิน เอี้ยวตัวกลับมา กางมือสองข้างออกเล็กน้อย จ้องหน้าผมชั่วครู่แล้วออกเดินต่อไป “มันอาจเป็นความโลภเพียงชั่ววูบ ท้ายที่สุดเราตกลงกันว่าจะจดสิทธิบัตร จากนั้นก็พัฒนาให้ใช้ทางอุตสาหกรรมพร้อมกับลดขนาดมันลงให้เอาไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ และสร้างระบบป้องกันการลอกเลียน ไม่ให้ผู้ก่อการร้ายหรือนักลอกเลียนจากเอเชียตะวันออกเอาไปผลิตซ้ำ กว่าเราจะพบวิธีป้องกันการลอกเลียนก็ใช้เวลาหลายปี ทั้งหมดนี้ฟังดูดีใช่ไหม แต่นี่แหละเป็นหายนะของวิทยาศาสตร์เลย”

“ทำไม” ผมไม่เข้าใจ ทุกวันนี้ชีวิตความเป็นอยู่ของเราดีขึ้นเพราะสิ่งประดิษฐ์นี้ เราใช้ไฟฟ้าราคาถูกเหมือนได้เปล่า ยานพาหนะแทบทุกชนิดเปลี่ยนไปใช้พลังงานฟิวชั่น เรากำลังเปิดประวัติศาสตร์พลังงานหน้าใหม่กันอยู่ จะมีข้อเสียก็ตรงที่ราคาของมันเท่านั้นเอง

“มันเป็นหายนะตรงที่เราไม่ได้มองมันเป็นวิทยาศาสตร์ เรามองมันเป็นเพียงสิ่งประดิษฐ์ชิ้นหนึ่ง หรือไม่เช่นนั้นเราก็ลืมอุดมการณ์ดั้งเดิมของพวกเราไปหมดแล้ว”

เรามาถึงทางเข้าโบราณสถานหลังจากเดินอ้อมเนินขึ้นไปเกือบครบรอบ ป้อมปราการเก่าสูงใหญ่กว่าที่คิด ต้องแหงนคอตั้งกว่าจะเงยขึ้นไปเห็นยอดเชิงเทินได้ ถึงจะเป็นซากปรักหักพังแต่ก็ยังเหลือร่องรอยของความยิ่งใหญ่ให้รู้สึกได้

“… คุณรู้ไหมว่าทำไมผมถึงได้มาอยู่ที่นี่” เขาถามขึ้นมาอย่างไม่ทันตั้งตัว

………………………..

“เครื่องต้นแบบเทอะทะมาก เรื่องทำให้มันใหญ่ขึ้นเพื่อจะผลิตพลังงานมากขึ้นนั้นไม่เป็นปัญหา แต่เรื่องทำให้มันกะทัดรัดขึ้นนั้นยากขึ้นไปอีกขั้น เราตัดสินใจเข้าสู่วงการธุรกิจเต็มตัว จ้างคนเพิ่ม วิจัยเพิ่ม ใช้เงินเพิ่ม และมันก็ดึงเราให้เข้าวังวนธุรกิจลึกลงไปจนถอนตัวไม่ขึ้น”

มันเป็นเทคโนโลยีผูกขาด ไม่มีใครสามารถลอกเลียน รัฐบาลที่แม้จะมีประสิทธิภาพที่สุดก็ยังไม่สามารถพลิกกฎหมายป้องกันการผูกขาดมาจัดการได้ บริษัทของเขาโดดเด่นขึ้นมาในวงการพลังงานอย่างไร้คู่แข่ง

ไม่มีอีกแล้วสำหรับน้ำมันราคาแพง ญี่ปุ่นซื้อเครื่องขนาดใหญ่ไปทดแทนพลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์ฟิชชั่นสำหรับทั้งประเทศ อเมริกาเหนืออบอุ่นไปด้วยไฟฟ้านิวเคลียร์ฟิวชั่น ยุโรปกลายเป็นทวีปที่ไม่เคยมืดมิด นาซ่าซื้อเครื่องรุ่นที่สองประเดิมเป็นหน่วยงานแรกเพื่อใช้ในโครงการสำรวจดาวอังคาร การปฏิวัติพลังงานเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ในยุคของเราแล้ว

เครื่องรุ่นที่สามที่ผมพกมานั้นให้พลังงานไฟฟ้าทั้งกระแสสลับและกระแสตรง ให้แอมแปร์มหาศาล โฆษณาบอกไว้ว่า ‘เพียงเติมน้ำเปล่า ที่เหลือปล่อยให้เป็นเรื่องของโคลด์ ฟิวชั่น’ มันให้พลังงานได้นานแสนนาน ผมสามารถหอบหิ้วเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิดไปต่อพ่วงได้ทุกที่ตราบเท่าที่ผมสามารถขนไปได้ ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก เตาอบไมโครเวฟ โทรทัศน์ จานรับสัญญาณดาวเทียม เครื่องปรับอากาศ หรือจะต่อเข้ากับรถยนต์ที่ดัดแปลงแล้วก็ได้

“ปัญหาอยู่ที่ความไม่รู้จักพอของเรา พลังงานหาได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องพึ่งเขื่อน ไม่ต้องสร้างกังหันลม ไม่ต้องกังวลรังสีรั่วไหล แล้วเกิดอะไรขึ้นกับพวกเราล่ะ เมืองใหญ่เปิดไฟสว่างไสวจนกลางคืนแทบจะสว่างกว่ากลางวัน รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานฟิวชั่นทำเอาบริษัทน้ำมันจากตะวันออกกลางล้มคว่ำ แต่เรากลับใช้พลังงานกันโดยไม่เคยเหลียวมองคนที่ขาดแคลนโอกาสเข้าถึงพลังงานที่เกือบจะไม่จำกัดนี้ สิ่งที่ผมกลัวคืออนาคตต่อจากนี้ไป”

“นั่นคือเหตุที่คุณต้องหนีไปจากบริษัท”

“ผมแตกหักกับกรรมการบริหารคนอื่นตอนที่บริษัทตัดสินใจจะไม่ชดเชยรายได้ที่สูญเสียไปให้ประเทศนี้ คุณรู้ไหมว่าครั้งหนึ่งที่นี่เคยขายไฟฟ้าพลังน้ำให้อินเดียแล้วเอาเงินมาใช้พัฒนาประเทศ แต่หลังจากเราขายเครื่องปฏิกรณ์ให้อินเดียแล้ว ไฟฟ้าพลังน้ำก็ไม่จำเป็นอีกต่อไป”

“แต่เขื่อนพลังน้ำก็ยังคงใช้ได้”

“คนที่นี่ไม่ได้ขาดแคลนพลังงาน ผมบอกคุณแล้วว่าที่นี่มีพลังงานเพียงพอ แต่พวกเขาขาดโอกาสต่างหาก ถ้าพวกเขาขายไฟฟ้าให้อินเดียได้ก็จะมีเงินหมุนเวียน ถ้าพวกเขาเข้าถึงโคลด์ ฟิวชั่นได้ ภาระดูแลเขื่อนกับเครื่องผลิตไฟฟ้าก็จะหมดไป หรืออย่างน้อยเราก็น่าจะช่วยเหลือเขาได้บ้าง”

เขาเว้นคำพูดไปช่วงหนึ่ง

“แต่พวกเขาไม่เคยได้โอกาส มันเป็นรูปแบบซ้ำ ๆ ที่เกิดกับประเทศด้อยพัฒนาแทบทั้งหมด ในขณะที่คนในประเทศหนึ่งมีพลังงานแทบไม่จำกัดและผลาญมันอย่างบ้าคลั่ง คนในอีกประเทศกลับต้องขาดแคลนจนถึงที่สุดและด้อยพัฒนาอย่างนึกไม่ถึง มันไม่ใช่แนวคิดดั้งเดิมของพวกเราแน่”

“คุณมาที่นี่เพื่อไถ่บาป” หลังจากถามออกไปแล้วผมกลับคิดว่าไม่ถามเสียจะดีกว่า

“ผมเป็นนักวิทยาศาสตร์ ไม่เชื่อเรื่องไถ่บาปหรอก ที่ผมมาที่นี่ อย่างน้อยก็ได้แสดงให้ใครต่อใครเห็นว่ามนุษย์สามารถใช้แหล่งพลังงานที่มีจำกัดได้ …ถ้าจะมีใครสักคนมองเห็น”

“ถ้ามีโอกาส คุณจะกลับไปที่บริษัทอีกไหม”

เขาไม่ตอบ

………………………..

ถึงกระนั้นท่าทางของเขาผ่อนคลายลงหลังจากได้พูดออกมา นักท่องเที่ยวที่เดินอยู่ข้างหน้าทำท่าผิดหวังและเดินกลับลงเนินไป ภายในสิ่งก่อสร้างหักพังเป็นป้อมปราการใหญ่ กำแพงด้านหนึ่งล้มลงไป แต่เชิงเทินสองสามแห่งยังทรงตัวอยู่ได้ ภายในได้รับการดูแลแต่พองาม ต้นหญ้าถูกตัดอย่างลวก ๆ ในขอบเขตของกำแพงไม่มีต้นไม้ใหญ่ มันดูเงียบเหงาวังเวง

“สิ่งก่อสร้างแบบนี้เรียกว่า ‘ซอง’ เป็นป้อมปราการที่ใช้ต่อต้านการรุกรานจากทิเบตเมื่อหลายร้อยปีก่อน ตอนที่กองทัพบุกเข้ามา ทุกคนในอาณาบริเวณจะอพยพเข้ามาอยู่ในนี้ ทรัพยากรทุกอย่างในนี้มีจำกัด ทั้งอาหารและเชื้อเพลิง ผู้รุกรานจะล้อมอยู่รอบเชิงเขา ถ้าจะบุกขึ้นมาก็ต้องใช้ทางที่เราเดินขึ้นมา วิ่งวนขึ้นเนินมาเรื่อย ๆ สู่ยอดเนิน ระหว่างนั้นคนที่บุกขึ้นมาจะเป็นเป้าให้พลธนูที่อยู่บนเชิงเทินยิงลงมา”

ผมเห็นด้วยกับที่เขาเล่า มันเป็นการตั้งรับที่ดี คุณไม่มีทางวิ่งเข้ามาปะทะที่กำแพงหรือไปที่ประตูได้โดยตรง ต้องวิ่งวนรอบเนินเขาเพื่อจะขึ้นไปที่กำแพงป้อม และมันจะทำให้กลายเป็นเป้าซ้อมยิงไปได้ง่าย ๆ

“สิ่งที่คุณจำเป็นจะต้องมีในนี้ยามที่ถูกปิดล้อมก็คือวินัย ที่สำคัญที่สุดคือวินัยในการใช้ทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นอาหาร น้ำ หรือเชื้อเพลิง แต่พวกเขาก็ยืนหยัดอยู่ได้ ทั้งที่ฝ่ายปิดล้อมมีทุกอย่างที่มากกว่า และเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ฝ่ายทิเบตไม่เคยย่างกรายเข้ามาที่นี่อีกเลย”

ผมพยักหน้ารับ เขาไม่ต้องบอกอะไรมากกว่านี้อีกแล้ว

“ผมเปลี่ยนใจแล้ว คุณส่งฉบับร่างมาให้ผมพร้อมกับสัญญาเปิดเผยข้อมูล ผมจะยอมรับทุกเรื่องที่พูดไป ถ้าคุณจะตีพิมพ์มัน”

เขาพูดสั้น ๆ ก่อนจะพาผมไปส่งที่รถ

………………………..

ผมนั่งจดบันทึกสิ่งที่ได้คุยกับเขาในวันนี้อย่างละเอียดระหว่างนั่งเครื่องบินกลับ คำพูดสุดท้ายของเขายังก้องอยู่ในโสตประสาท เขาอ้างคำพูดของมหาบุรุษผู้หนึ่ง ‘มหาตมะ คานธี’

“โลกใบนี้มีเพียงพอสำหรับความต้องการของทุกคน แต่ไม่เคยพอสำหรับความละโมบของคนแม้เพียงคนเดียว”

7 ความเห็นบน “เรื่องสั้นส่งประกวด ในหัวข้อ “พลังงานอนาคต”: โคลด์ ฟิวชั่น”

  1. อ่านเรื่องนี้แล้วจินตนาการต่อไปได้อีกไกลเลยครับ อีตาเฒ่านั่นมัน สตีฟ จ๊อบ แม่นบ่ครับ

    ในส่วนเครื่องขนาดใหญ่ผมว่าปัจจุบันมีโครงการก่อสร้างกันอยู่แล้วคงไม่ผูกขาดหรอกครับ เช่นโครงการ iter , hiper, nif ซึ่งจะเริ่มทดลองเดินเครื่องกันประมาณปี 2568

    เรื่องลิขสิทธิ์ หลักการคือไม่สามารถจดลิขสิทธิ์ในหลักการวิธีการของสิ่งที่ประดิษฐ์ได้ จดได้แต่ลักษณะเฉพาะของสิ่งประดิษฐนั้น ซึ่งในเรื่องก็กล่าวว่าใช้วิธีอื่นๆในการป้องกันการเลียนแบบไปด้วย

    สิ่งชวนคิดคือผู้ด้อยโอกาสในการเข้าถึงพลังงานโคล์ดฟิวชั่น อาจจะต้องไปใช้พลังงานอื่นๆที่สร้างมลพิษมากกว่า เช่นถ่านหิน ซึ่งถ้ามีเจ้าเครื่อง โคล์ดฟิวชั่นจริง ราคาของพลังงานชนิดอื่นน่าจะต่ำลงมาบ้างตามหลักอุปสงค์อุปทาน แรกที่เดียวราคาเครื่องโคล์ดฟิวชั่นที่สูงจะทำให้ไม่จูงใจในการซื้อหามาใช้ พลังงานดั้งเดิมน่าจะยังมีต่อไปอีกพักใหญ่ให้คนค่อยๆปรับตัว แต่ที่สุดก็จะมีคู่แข่งทางอ้อมที่หาวิธีการใหม่ๆอื่นๆผลิตเครื่องแข่ง การผูกขาดไม่น่าจะนานมากนัก เหมือนเครื่องเล่น vhs ผูกขาดตลาดวีดีโอเกือบยี่สิบปี แต่ต้องเลิกผูกขาดเพราะ VCD เข้ามาแทนที่

    กลยุทธที่นิยมใช้กันในวงการอุตสาหกรรมอย่างหนึ่งคือ เมื่อมีความต้องการสูงมากขึ้นเขาจะไม่ผลิตเองแต่จะขายสิทธิ์ในการผลิตไปให้ประเทศที่ค่าแรงถูกอย่างจีน แต่ที่ยังผลิตเองแบบ intel ก็ยังคงมีอยู่ครับ

    การดำเนินเรื่องชวนติดตามอยากให้รู้ ละเมียนละไมตามแบบ Zhivago ถ้าบรรยากาศของท้องเรื่องเป็นไปในช่วงที่มีความแร้นแค้นทางพลังงานอย่างสูงจะบีบคั้นส่งให้เรื่องดูโดดเด่นในการช่วงชิงได้มาซึ่งพลังงาน ความแตกแยกทางสังคม ช่องว่างระหว่างคนรวมและจน

    บทสรุปคล้ายเรื่องทรอนภาคสองครับ ที่สุดท้ายก็ก่อให้เกิดลีนุกซ์ สมบูรณ์กว่าและเปิดเผย
    เรื่องนี้เป็น soft sci-fi ครับ เพราะไม่ได้อธิบายหลักการสร้างโคล์ดฟิวชั่นขนาดเล็กอย่างไร

  2. จุดเด่นของคุณ zhivago คือ การใช้ภาษา และ วิธีการดำเนินเรื่อง
    ซึ่งถึงจุดนี้ คงม่ใช่ข้อสงสัย

    โดยส่วนตัว จุดที่ติดขัด(ใจ)คือความเป็นนิยายวิทยาศาสตร์ เพราะมันบางมาก ครับ
    จนเหมือนบทความเชิง วิพากษ์ธุรกิจหรือระบบทุนนิยม ทั่วๆไป

    อาจจะเป็นเพราะว่าผมคาดหวัง “อะไร” มากกว่านี้ ครับ

  3. ผมนึกถึงเรื่องความพอเพียงอย่างเสียไม่ได้ บางครั้งคนเราก็ต้องขึ้นไปจู่สุดสูงสุดเพื่อจะได้มองย้อนกลับลงมา
    เรื่องของcold fusion เราสามารถเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นได้ง่ายๆที่สร้างพลังงานไม่จำกัดและประหยัดที่สุด
    ผมพอเคยได้ยินเรื่องของcold fusionมาบ้างว่ามีนักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มออกตัวว่าสามารถทำได้จริงแต่สุดท้ายก็ไม่สามารถทดลองซ้ำได้

  4. เรื่องนี้ผู้เขียนทำการบ้านมาพอสมควรเกี่ยวกับพลังงานโคลด์ฟิวชั่นและจบด้วยคำคมที่กินใจ มีประเด็นเรื่องโคลด์ฟิวชั่นที่น่าสนใจครับ มีการค้นคว้าที่ทำให้เรื่องดูหนักแน่นจริงจัง เป็นนักเขียนที่มีอนาคตอีกท่านหนึ่งครับ แต่ควรระบุเจ้าของคำพูดในเครื่องหมายคำพูดบ้างครับ เพื่อจะได้รู้ว่าใครพูด

  5. เป็น ฮาร์ดไซ-ไฟ ที่ดีเรื่องหนึ่ง ภาษาดี ให้อารมณ์แบบเรื่องแปลสมัยยุค นิตยสารมิติที่4

    ถ้าใครเคยอ่านเรื่อง “บอนไซ” ที่เล่าเรื่องชายที่แยกตัวอยู่อย่างโดดเดี่ยว แต่รู้วิธีรักษามะเร็งโดยใช้ยาจากพืช แล้วเขามาเจอกับเด็กสาวที่เป็นมะเร็ง เรื่องนั้นกินใจผมอย่างมาก

    เรื่อง โคลด์ฟิวชั่นนี้ไปสูสีกับอารมณ์กระแทกใจแหวกแนวของเรื่อง ข้าพเจ้า เขา เตียงฯ

    นัย pommm

  6. ขอบคุณสำหรับทุก comment ครับ เรื่องความหนักแน่นเชิงวิทยาศาสตร์นั้นต้องยอมรับว่ามีน้อยไปจริงครับ กลับไปอ่านดูแล้วก็ชวนให้คิดว่าน่าจะเพิ่มอีกสักหนึ่งหรือสองย่อหน้าให้เนื้อหาสมบูรณ์ขึ้นจริง ๆ

    comment ของคุI Hoono2000 เปิดประเด็นได้ดีครับ ตอนเขียนผมไม่ได้คิดถึงเรื่องนี้เลย ภาพที่คิดไว้ของประเทศสมมตินี้คงเทียบได้ประมาณเนปาลหรือภูฏานที่ถูกล้อมไว้ด้วยประเทศใหญ่คืออินเดียและจีน ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างต้องพึ่งพิงสองประเทศนี้ รายได้ของคนในประเทศที่เป็นกอบเป็นกำก็คือไฟฟ้าพลังน้ำที่ขายให้อินเดีย ก็เลยคิดไปว่าถ้าอินเดียได้เครื่องที่ว่านี้ไปแล้วพาลไม่ซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจากประเทศที่ว่านี้ และถ้าจะให้ประเทศนี้ซื้อมาใช้ก็ไม่มีเงิน หรือถึงซื้อมาแล้วก็ไม่จำเป็นต้องใช้เพราะคนในพื้นที่ไม่ได้ขาดแคลนพลังงาน ก็เลยเป็นที่มาของแนวคิดของเรื่องครับ

    ส่วนเรื่อง “บอนไซ” นั้นผมเคยอ่านตอนเป็นเรื่องสั้นแปลในหนังสือ ประทับใจมากเพราะเอาหลักการมาพูดสั้น ๆ แล้วประยุกต์ใช้เป็นเครื่องรักษามะเร็งกันเลยโดยไม่ต้องลงรายละเอียด เข้าทำนองให้จินตนาการเอาเอง (ผมชอบแนวนี้มาก แต่จริง ๆ แล้วบางเรื่องมันก็เกินจินตนาการของเราไปเหมือนกันครับ)

ใส่ความเห็น