ในโลกวรรณกรรม ถ้าไม่จำกัดแนวเรื่องที่เขียน การใช้ภาษาในการเขียนนิยายหรือเรื่องสั้นมักถูกนำมาพิจารณาบ่อยว่า ผู้เขียนใช้ภาษาดี อ่านง่ายแค่ไหน
ภาษาอาจจะเป็นแค่สื่อที่ใช้สำหรับนำเสนอสารออกไปให้คนอ่าน?
สำหรับนิยายวิทยาศาสตร์จำเป็นไหมที่ภาษาต้องสละสลวยเพื่อจะได้อ่านง่าย หรือเพียงแค่เอาให้อ่านรู้เรื่องก็พอแต่ไปเน้นเรื่องไอเดีย แนวคิดทางวิทยาศาสตร์แทนครับ เพื่อนๆคิดเห็นยังไงบ้าง?
(ผมเคยอ่านงานไซไฟในเวปdek-d.com คนเขียนเป็นเด็กที่มีวัยในช่วงประมาณม.ปลาย – มหาวิทยาลัย) ภาษาที่เขาใช้จัดว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน แต่ไอเดียกับเนื้อเรื่องนี่ต้องยกนิ้วโป้งให้สิบนิ้วเลยครับ จากนั้นไม่นานเรื่องที่ผมอ้างถึงนี้ก็ได้พิมพ์เป็นเล่มออกมา
ในมุมมองของผม งานเขียนทุกชนิด เรื่องการใช้ภาษาเป็นสิ่งสำคัญ (ไม่ว่าจะเป็นนิยายประเภทไหนก็ตาม)
ประเด็นคือ ความงามมีความหลากหลาย (ลำดับชั้น)
เกณฑ์การใช้ภาษาของแต่ละคนจึงสามารถ ไม่เท่ากัน ได้ครับ
งานเขียนบางเรื่อง(ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสั้น หรือเรื่องยาว ก็ตาม) มีการใช้ภาษา เข้าใกล้บทกวี มากๆ
ขณะที่บางเรื่องก็เป็นภาษาพื้นๆ แต่สร้างผลกระทบเชิงอารมณ์ได้
ทั้งสองอัน(แนวทาง) สามารถเป็นงานเขียนที่ถูกยอมรับได้ทั้งคู่
ผมมองว่า เป็น style ของผู้เขียนมากกว่าเป็นข้อกำหนดของงานเขียน
ผมเคยอ่านงานบางส่วนของ “มหา’ลัย เหมืองแร่” ผมมองว่า เขาใช้ภาษาง่าย แต่กระทบอารมณ์ได้อย่างน่าสนใจ
ขณะที่อ่านงาน the lord of the ring ฉบับภาษาอังกฤษ บางช่วงเขาผูกประโยค แทบจะเป็นบทกวี จริงๆ
แต่อ่านงานแปล the power shift (บทความ) คนแปลใช้ภาษาสวยจนอ่านไม่รู้เรื่อง ต้องหาพจนานุกรม มาใช้อ่านประกอบ ซึ่งไม่ใช่ทางของผม ครับ
ส่วนหนึ่งที่สำคัญของการใช้ภาษาคือ การใช้คำที่ถูกต้อง และอ่านเข้าใจได้ เป็นข้อกำหนดเบื้องต้นที่ควรจะผ่าน
เช่น
“ผมเดินผ่านสากพัก ร้องจ้าก ดดนแทง วิ่งหายไป จมกองเรือดจนตาย”
ผมเชื่อว่าคนที่จะทนอ่านต่อจนจบเรื่อง คงหายไปเยอะทีเดียว (อ่านแล้วไม่รู้เรื่อง ใครโดนแทง ใครวิ่ง ใครตาย แถมพิมพ์ผิดอีกต่างหาก ไม่รู้ผิดจริงๆ หรือ จมอยู่ในกอง”เรือด”จริงๆ)
แต่ภาษาปรับปรุงได้ พัฒนาได้ แก้ไขได้ เรียนรู้ได้ ครับ
แต่ “ตัวเรื่อง” เป็นของแต่ละบุคคล เป็น idea ความคิด หรือ มุมมองของผู้เขียน นะครับ
มันส่งต่อ หรือ เรียนรู้ ไม่ได้(ง่ายๆ) ครับ
จากเรื่องที่คุณ ogravity ยกตัวอย่าง คงต้องดูว่า เมื่อพิมพ์ออกมามีการปรับปรุงการใช้ภาษาหรือไม่ ซึ่งนั่นผมถือเป็นความรับผิดชอบของ บรรณาธิการ ครับ
ในนิยายวิทยาศาสตร์ การใช้ภาษา ก็ต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ครับ
ผมเห็นด้วยกับการเขียนให้ถูกต้องตามหลักภาษา เช่น การใช้คำให้ถูก และการใช้ไวยากรณ์ เพราะบางครั้งสำนวนที่เราใช้เป็นสำนวนภาษาอังกฤษที่เวลาอ่านแล้วจะขัดๆ
ความสวยงามทางภาษาก็ไม่จำเป็นต้องสวยหรู เหมือนบทกวี
และที่สำคัญคืออ่านแล้วเข้าใจง่าย เช่น สิ่งของบางอย่างในนิยายวิทไม่มีอยู่จริงในปัจจุบัน ก็ต้องบรรยายให้คนอ่านเข้าใจได้
จริงๆก็แล้วแต่คน นิยายไซไฟบางเรื่องที่ใช้ภาษาสวยมาก มีการพรรณนา ใช้คำหรูๆ
ขึ้นอยู่กับพล็อตที่ใช้ด้วยล่ะนะครับ ถ้าใช้พล็อตทั่วไป เป็นเรื่องสั้นเกี่ยวกับคนธรรมดาๆ ก็คงใช้ภาษาหรูๆ ได้ไม่เหมาะนัก แต่หากเป็นพล็อตแฟนตาซีที่มีรูปแบบเกี่ยวโยงกับลำดับชั้นวรรณะ หรืออะไรพวกนั้น การจะใช้ภาษาบ้านๆ ก็คงไม่ได้นี่ครับ
เช่นเดียวกันกับชื่อเรื่อง และปกหนังสือ (หากได้รับการตีพิมพ์) การที่เราจะยกหนังสือสักเล่มขึ้นอ่าน เมื่อมองดูจากหน้าปกแล้วเราจะจินตนาการเนื้อในได้บางส่วน ถ้าผมยกหนังสือที่มีปกเป็นไซไฟแฟนตาซีล้ำๆ ขึ้นมาแล้วเจอสำนวนระดับ The Lord ที่มีศัพท์ชั้นสูงเพียบก็คงจะวางเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าสำนวนไม่ดี แต่มันขัดแย้งเกินไป
สำหรับในเว็บเด็กดีนั้น บางครั้งต่อให้ตีพิมพ์แล้วก็ยังไม่มีการปรับแก้ภาษาจากบรรณาธิการครับ แต่งมายังไงก็ไปอย่างนั้นเลย คำผิดเพียบ คล้ายกับพิมพ์ขายแฟนคลับมากกว่านะ ก็สงสัยมาตลอดแล้วเหมือนกันว่าทำไมเด็กระดับมหาวิทยาลัย แค่ผันวรรณยุกต์ยังไม่เป็นเลย (ล่าสุดมีคนสงสัยว่าคำว่า ‘ไหม’ กับ ‘ไม’ ต่างกันยังไง)
ขอพูดในฐานะผู้อ่าน(และนักพยายามเขียน)นิยายสีเทาๆ คนหนึ่ง
ถ้าเปรียบว่าเนื้อความ พล็อตต่างๆ ที่เราคิดมา เป็นวัตถุดิบ
การปรุงอาหาร ทำอย่างไรให้อาหารอร่อย น่ารับประทาน ก็คงจะเทียบได้กับการใช้ภาษา
เพราะว่าการใช้ภาษาก็คือสื่อศิลปะอย่างหนึ่ง ที่ทำให้ผู้ชมรับรู้และจินตนาการถึงความงาม และสิ่งที่เกิดขึ้นบนเนื้อหานั้นได้
แน่นอนว่า ภาษาที่ดี ที่ถูกต้อง ย่อมเป็นสิ่งที่คนรู้จักกันเป็นวงกว้าง ดูแล้วไม่รู้สึกขัดใจ เหมือนอย่างเช่น นิยายรักปกสีลูกกวาด ซึ่งจะเป็นที่รู้จักในกลุ่มวัยรุ่นผู้หญิงเสียส่วนมาก แต่ถ้าคนที่ไม่ชอบกับการใช้ภาษาลักษณะนี้ ก็จะเกิดอาการแอนตี้ทันที
และกลวิธีการใช้ภาษาคือ อาวุธสำคัญที่จะกระตุ้นให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกอยากจะติดตามเนื้องานของเรา การเปิดเรื่องที่ทำให้คนรู้สึกสนใจ ต่อมาคือการบรรยายเนื้อเรื่องให้สละสลวย อาจจะใช้คำเรียบง่ายหรือหรูหราก็ได้ ตามลักษณะและระดับของเนื้อหาที่ต้องการ
แต่บางครั้งการพรรณนาถ้าใช้ซ้ำซากและฟุ่มเฟือย อาจจะก่อให้เกิดความรำคาญแก่ผู้อ่าน
เหมือนอย่างการบรรยายลักษณะของตัวละคร ที่เห็นได้ทั่วๆไปในนิยายแฟนตาซี(จากบางเว็บ)
(เช่น “องค์หญิงแห่งอาณาจักร… ผู้มีนัยน์ตาสีมรกต เรือนผมสีทอง ฉลองพระองค์สีแดงเปล่งประกาย ราวทับทิม”… “ฉับพลัน นัยน์ตาสีมรกตที่จ้องมองนัยน์ตาสีไพลิน….”)
และสุดท้าย ควรทำให้ผู้ชมมีส่วนร่วมโดยการสอดแทรกประเด็นการนำเสนอที่ชวนให้ผู้ชมคิดตาม เหตุการณ์หนึ่งๆที่เกิดขึ้น อาจจะไม่มีใครเป็นคนที่ทำถูกต้องที่สุดก็ได้
(อย่างเช่น Light Novel เรื่อง Fate/Zero ที่มีเนื้อหาแนวสงคราม การบรรยายที่สั้นกระชับ
พร้อมกับการสอดแทรกประเด็นสำคัญอันยากที่จะหาข้อสรุปได้อย่างชัดเจน อย่างเรื่องของราชา(ใครคือผู้ปกครองที่ดีที่สุด) วิถีสงคราม เป็นต้น)
สำหรับผม ไอเดียและความเป็นวิทยาศาสตร์ของพล็อตนั้นเหมือนจะเป็นเรื่องรองครับ ทุกวันนี้คิด(เอาเอง)ว่าเราอยู่ในยุค post modern ที่ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนมีใครสักคนคิดเอาไว้แล้ว การสรรหาพล็อตเรื่องที่สร้างเสริมจินตนาการนั้น ถ้าไม่นับนิยายแฟนตาซี/surreal แล้ว นิยายวิทยาศาสตร์นี่แหละที่จะเป็นสัญลักษณ์บอกว่าสิ่งที่เราคิดนั้นมันบรรเจิดเพียงใด แต่ถ้าได้อ่านงานเก่า ๆ มาระยะหนึ่งจะรู้ว่าหลายเรื่องที่เราพยายามเขียนนั้นก็ไม่ได้แปลกใหม่จนเกินไปนัก
เช่นถ้าต้องการเขียนนิยายที่กล่าวถึงอาณานิคมในต่างดาว หากได้อ่านนิยายชุดสถาบัีนสถาปนา หรือชุด Dune หรือดูหนัง(อ่านนิยาย) Star Wars มาก่อน ก็จะพอเห็นภาพร่างของความลงตัวของนิยายเหล่านี้ได้ ปัญหาคือจะเขียนอย่างไรให้ต่างออกไป
หรือถ้าจะพูดถึงหุ่นยนต์ สิ่งที่เราจะคิดเป็นอันดับต่อไปก็คือ “กฎสามข้อ” ถ้าจะให้ออกจากเงาของกฎสามข้อ ก็อาจจะตั้งกฎของตัวเองขึ้นมาใหม่ ซึ่งก็เป็นเรื่องใหญ่เอาการ
ถ้าพูดถึงการเดินทางข้ามเวลา masterpiece ของงานกลุ่มนี้ก็คงจะเป็น The time machine ของ H. G. Wells ถ้าจะเขียนเรื่องเดินทางข้ามเวลาให้แตกต่างออกไปก็ต้องเขียนให้ฉีกจากแนวเรื่องของ H. G. Wells ให้ได้
ถึงจุดหนึ่งเราก็พอจะรู้ว่างานทั้งหลายที่คิดจะเขียนขึ้นมานั้นถ้าไม่อยากให้คล้ายกับงาน masterpiece เหล่านี้ก็จะต้องคิดนอกกรอบให้มากขึ้น และบางครั้งจินตนาการที่เพริดแพร้วเกินไปก็จะกลายเป็นฝันเฟื่อง science fiction ก็จะกลายเป็น fantasy fiction ไป ความแปลกของพล็อตในมุมมองของผมก็เลยไมใช่เรื่องที่ตัวเองเน้นหนัก
สิ่งที่ผมเน้นในการเขียนคือความถูกต้องในไวยากรณ์ + ความลื่นไหลของภาษา เรื่องเหล่านี้ไม่มีหลักการแน่นอนครับ ที่ผมเขียนมา(เคยเขียนแต่เรื่องสั้น)ก็ใช้หลักการของเรื่องสั้นทั่วไปคือตัวละครไม่มาก เนื้อเรื่องไม่ซับซ้อน ใช้ภาษาเหมาะสมกับเนื้อเรื่องและตัวละคร อ่านแล้วลื่นไหล ตอนจบมีหักมุม ที่เน้นหนักคือการใช้ภาษา ต้องเหมาะกับสถานการณ์ในเรื่อง ไม่ผิดกาลเทศะ ไม่เขียนคำผรุสวาท (อาจฟังดู conservative ไปหน่อย แต่ก็เป็นไปตามวัยครับ)
Stephen King เขียนไว้ใน On Writing ว่าการเขียนเหมือนกับการหยิบกล่องเครื่องมือกล่องหนึ่งไปทำงานชิ้นหนึ่ง ในกล่องเครื่องมือต้องมีอุปกรณ์ที่เหมาะสมกับงาน ไม่น้อยจนเกินไป และไม่มากจนเกินไปจะเทอะทะ
ผมเชื่อว่าการผสมผสานระหว่างจินตนาการ(พล็อต)กับการดำเนินเรื่อง(ภาษา)เป็นสิ่งที่ผู้เขียนแต่ละคนต้องเสาะหาความลงตัวเอาเองในงานเขียนของแต่ละคนครับ
ผมเห็นด้วยกับคุณzhivago ว่า ภาษาเป็นเรื่องของ style มากๆ ครับ
การใช้ภาษาก็มีเกณฑ์บางอย่างอยู่เหมือนกัน ซึ่งผมเองก็ยังมองชัดๆไม่ออก เพราะมันมีความกำ้กึ่งระหว่าง การสร้างสรร กับการบิดเบือนโดยไม่ตั้งใจ
โดยส่วนตัวผมไม่เชื่อเรื่องภาษาวิบัติ เพราะผมถือว่าภาษาไทยยังไม่ตาย แต่ผมเชื่อว่า ภาษาพูด กับภาษาเขียน เป็นคนละส่วนกัน ครับ
(ที่เกิดปัญหาอยู่ตอนนี้ ผมเข้าใจว่าเกิดจากการ chat เพราะมันคือการเอาภาษาพูดมาพิมพ์(เขียน) ก็เลยเกิดความสับสน ไปเข้าใจว่า ภาษาพูด คือ ภาษาเขียน ครับ)
“ไม”(จาก ไหม หรือ ทำไม) ในงานเขียน อาจจะสามารถมีได้ในบทพูด(ซึ่งจริงๆผมก็ว่าไม่จำเป็น) แต่ไม่ควรอยู่ในส่วนของการบรรยาย เป็นต้น
ผมพบว่า งานเขียนประเภทสืบสวน หรือ สยองขวัญ (ทั่วไป) ซึ่งมักไม่มีแก่นของเรื่อง(ในระดับปรัชญา) แต่เดินเรื่องด้วยเหตุการณ์ และ การใช้ภาษา เป็นหลัก
ความลื่นไหลของภาษาคือสิ่งเดียวที่สามารถชักพาผู้อ่านไปได้อย่างต่อเนื่อง
“สละสลวย” หรือไม่ ผมอาจจะต้องถามกลับไปว่า “สละสลวย” คืออะไร?
เพราะในมุมมองผม ความงามจริงแท้(absolute)นั้นไม่มี มีแต่ความเหมาะสม ครับ
ที่ผมพบว่าน่าสนใจคือ งานเขียนประเภทสืบสวน หรือ สยองขวัญ เมื่อกลายเป็นงาน วิทยาศาสตร์ มักสามารถไปถึงจุดของการตั้งคำถามถีง มนุษย์คืออะไร ชีวิตคืออะไร ความตายคืออะไร กันเลยทีเดียว
(ผมว่าน่าสนใจดี ไม่รู้ผมเป็นคนเดียวหรือเปล่า 😀 )
อ่านของตัวเองอีกรอบ ก็พบว่า ก็คิดเหมือนคนอื่นๆที่ comment นั่นแหล่ะ
แล้วเขียนทำไมหว่า 😀
(แต่ก็ยัง post ทิ้งไว้อยู่ดี 😀 )
ไม่ใช่เรื่องการใช้ภาษาหรูๆนะครับ
แค่เขียนให้คนอ่านแล้วรู้เรื่อง ตัดคำอธิบายที่เยิ่นเย้อรุงรังออกเสียบ้าง
คำเชื่อมระหว่างประโยคถูกกาละเทศะ
มันเป็นเรื่องของความรับผิดชอบด้วยครับ ไม่ใช่ว่าพล็อตเรื่องดีอย่างเดียว
เรื่องที่ได้พิมพ์เป็นเล่มแล้วโดนด่าตามหลังนี่ก็มีนะครับ โดยเฉพาะเครือ “แจ่มใส”
เราต้องส่งเสริมตัวอย่างที่ดีๆ
หลายความเห็นพยายามให้ความสำคัญเกี่ยวกับความสละสลวยและความลื่นไหล และบางความเห็นถึงกับบอกว่า ไอเดียและความเป็นวิทยาศาสตร์ของพล็อตนั้นเหมือนจะเป็นเรื่องรอง อ่านแล้วผมตกใจมาก และกลัวว่าคนที่มาอ่านความเห็นแบบนี้เข้าแล้วจะเชื่อตามไปด้วย ผมจึงต้องขอแสดงความเห็นบ้าง เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจความพิเศษของนิยาย sifi มันอยู่ที่ไหนและทำไมนักเขียนฝรั่งชั้นดีจนถึงชั้นครูเขาจึงเขียนนิยายด้วยภาษาสั้นๆง่ายๆอ่านได้ใจความพอเห็นภาพ ไม่ประดิษฐ์ประดอยถ้อยคำเหมือนนิยาย sifi ไทย
ในฐานะคนจบทางสาขาวิทยาศาสตร์และสาขาทางสังคมศาสตร์ควบคู่กัน ผมจะบอกว่า นิยายวิทยาศาสตร์อาจะแบ่งเป็นหลายแนว แต่นิยายที่มีความเป็นวิทยาศาสตร์สูงที่สุด คือนิยายในกลุ่ม sifi สังเกตุชื่อมันก็บอกอยู่แล้วคือการเสนอแนวคิดในรูปทฤษฎีหรือแนวปฏิบัติในรูปสิ่งก่อสร้าง สิ่งประดิษฐ์ภายใต้กรอบความเป็นวิทยาศาสตร์เพื่อความเหลือเชื่อ ถ้าไม่ใช้กรอบวิทยาศาสตร์ เช่นไปใช้กรอบไสยศาสตร์อธิบายความเหลือเชื่อ อย่างนั้นเรียกว่าแฟนตาซี ตัวอย่างเช่น แฮรี่ พอตเตอร์ หากอธิบายอำนาจในการแสดงอิทธิฤทธิ์ด้วยกรอบวิทยาศาสตร์ก็จะกลายเป็นนิยายวิทยาศาสตร์ ซึ่งมันอธิบายได้ถ้าคุณมีความรู้ทางวิทยาศาสตร์ดีพอ แต่เมื่อไม่รู้เรื่องใช้ไสยศาสตร์อธิบายมันง่ายกว่า เพราะทุกคนยอมรับว่าไสยศาสตร์ใช้ความเชื่อโดนไม่ต้องพิสูจน์ ถ้าคุณเชื่อเช่นนั้นก็จบ เหมือนคนที่เชื่อว่าพระเจ้ามีจริง เขจะไม่ไปหาหลักฐานพิสูจน์เพราะเขาเชื่อเช่นนั้น ก่อนจะขึ้นย่อหน้าใหม่ ผมจะขยายความอีกนิดว่าความรู้ทางวิทยาศาสตร์ดีพอ ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงว่าคุณจะต้องอธิบายถึงว่าแหล่งขับเคลื่อนพลังงานมันใช้ทฤษฎีวิทยาศาสตร์ข้อไหนในปัจจุบัน เพราะคุณอาจจะอธิบายไม่ได้ เนื่องจากทฤษฎีเหล่านั้้นตอนนี้ยังไม่มี เพราะยังสะสมความรู้อีกจำนวนมากเพื่อต่อยอดไปสู่ความรู้ใหม่ๆ เพียงอธิบายด้วยหลักเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ให้ผู้อื่นเข้าใจมันพอจะเค้าลางๆของวิธีทางวิทยาศาสตร์ในการอธิบายก็ใช้ได้แล้ว ถูกผิดไม่มีใครรู้ บางทีมันอาจจะไม่มีทางเป็นจริงในจักรวาลนี้ แต่เป็นจริงในอีกจักรวาลไปแล้ว หรือเป็นจริงในจักวาลนี้แต่ตอนนี้คนคิดว่าไม่จริง เพราะทฤษฎีและการทดลองในขณะนี้จึงให้ข้อมูลไปอีกทางหนึ่ง แต่เมื่อใดที่พบความรู้ใหม่ๆในบางเรื่องเอามาประกอบดัดแปลงทดลองเดิมๆ ผลคืออาจจะพบว่าไอ้ที่เคยเชื่อกันมาว่าถูกมันผิดได้ ก็เหมือนกฎของไอสไตน์ที่คนยอมรับ วันข้างหน้าอาจจะผิดก็ได้ ถ้ามันค้นคว้าจนเข้าถึงความรู้ใหม่ๆ แต่นั่นคือเรื่องของวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่นิยายวิทยาศาสตร์ในกลุ่ม sifi เพราะนิยาย sifi ต้องการแค่แนวทางกรอบของวิทยาศาสตร์อธิบายไม่ใช่ต้องการไถึงขั้นพิสูจน์มันถูกจริงไหม
คุณสงสัยบ้างไหมว่าทำไมนักเขียนนิยาย sifi ระดับชั้นดีจนถึงชั้นครูใช้สำนวนภาษาง่ายๆ พอแปลเป็นไทยแล้วมันออกห้วนๆ จนต้องไปดูต้นฉบับเปรียบเทียบมันก็ใช้ภาษาง่ายๆแบบนั้นจริง นั่นเพราะนักเขียนนิยายแนวนี้เขาเคารพกฎเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีอยู่ว่า สั้นๆเรียบง่าย ถูกต้องเสมออยู่เหนือกาลเวลาภายใต้ปัจจัยที่กำหนดไว้ เช่น F=ma , E=mc2 นักวิทยาศาสตร์อธิบายปรากฎการณ์แทบทั้งหมดด้วยข้อความสั้นๆแค่นี้ คนเห็นจะเข้าใจหรือไม่นั่นเป็นเรื่องของคุณไปขวนขวายศึกษารายละเอียดเอาเอง นิยาย sifi ยึดหลักแบบเดียวกันนี้ ผู้เขียนนิยายจึงพยายามใช้ภาษาเรียบง่าย สั้นๆอ่านได้ความหรือถ้าเป็นสิ่งประดิษฐ์พอให้รู้ว่าทำงานให้ผลยังไง ถ้าสามารถใส่ทฤษฎีอะไรลงไปได้ จริงมั่งไม่จริงมั่งไม่เป็นไรขอให้อยู่ในกรอบวิทยาศาสตร์ยิ่งดี อันนี้อาจจะทำให้เข้าตากรรมการจนถึงขั้นได้รางวัลนิยายวิทยาศาสตร์กลับบ้านไปด้วย โดยที่ผู้เขียนไม่ต้องมาอธิบายหน้าตาของเครื่องว่ารูปร่างแบบไหน มีรายละเอียดขนาดไหน อันนี้ละไว้ให้ผู้อ่านหรือผู้สร้างภาพยนต์ไปออกแบบกันเอาเอง
ผมขอย้ำว่า ไอเดียและความเป็นวิทยาศาสตร์ของพล็อตนั้นเหมือนจะเป็นเรื่องรอง เป็นความคิดที่ผิด มันเป็นแก่นแท้ส่วนสำคัญของนิยายเลย เพราะ sifi คือการเสนอเรื่องเหล่านี้ ถ้าคุณไม่เสนอสิ่งเหล่านี้แล้วมันจะเป็น sifi ได้ยังไง ที่ถูกแล้วสำนวนภาษาคือเรื่องรอง นิยายวิทยาศาสตร์ชั้นดีที่ฝรั่งเขียนจนถึงขึ้นหิ้งต้องอ่าน บางเรื่องผู้อ่านอ่านไม่รู้เรื่องก็มี เพราะเขาใช้ภาษากระชับ และอิงแนวคิดทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ ผู้อ่านต้องมีความรู้เรื่องนั้นมาบ้างจึงจะอ่านเข้าใจ คนไม่รู้เลย เลยอ่านไม่รู้เรื่องแล้วไปด่านักเขียนว่าทำไมมันเขียนออกมาอย่างนี้(วะ) อีกเรื่องหนึ่งคือ คำว่า post modern อยู่ในยุคที่คนอื่นคิดไว้หมดแแล้ว มันไม่มีหรอก เมื่สอร้อยปีก่อนคนส่วนใหญ่ก็คิดว่ามีม้าลากรถ ก็เชื่อว่ารู้หมดแล้วคิดใหม่ไม่ได้ ถัดมาร้อยปีสร้างรถยนต์ เครื่องบินได้ก็คิดว่าหมดแล้ว มายุคนี้สร้างยานอวกาศ มีทฤษฎีรูหนอน ก็เชื่อว่าคิดได้หมดแล้ว ไม่มีอะไรใหม่ไปกว่านี้แล้ว มันยังมีสิ่งที่ยังไม่รู้อีกมหาศาล จักรวาลกว้างใหญ่ขนาดไหน มีไม่รู้ต่อกี่ล้านต่อกี้ล้านกาแลคซี่ ความรู้ที่คนรู้ตอนนี้ไม่รู้ได้เท่าเม็ดทรายเม็ดเดียวจากทรายทั้งหาด ปัญหาที่นิยายเขียนกันออกมาวนอยู่ในกรอบเดิมๆ ไม่พ้นไอเดียเรื่องข้ามเวลา รูหนอน ยานอวกาศ สร้างอุปกรณ์ไฮเทค สัตว์ประหลาด นั่นเพราะว่าผู้เขียนส่วนใหญ่ไม่มีไอเดียทางวิทยาศาสตร์ มีแต่ไอเดียใหม่ในการคิดพลอตเรื่องฉีกแนวเดิม พูดง่ายๆคือไม่มีจินตนาการล้ำเกินยุคสมัยตัวเอง เลยต้องลอกไอเดียคนอื่น แล้วไปให้ความสำคัญที่เนื้อเรื่อง ลองถ้ามีผู้เขียนเสนอไอเดียใหม่ๆออกมาสักเรื่องหนึ่งที่เป็นไอเดียทางวิทยาศาสตร์ใหม่ เดี๋ยวก็มีผู้เขียนอื่นลอกไอเดียนั้นไปใช้ แต่นำเสนอโครงเรื่องใหม่ๆ
สำหรับนิยาย sifi ไทย ผมขอวิจารณ์ตรงๆซึ่งอาจจะทำให้หลายคนขุ่นเคืองบ้าง แต่ก็เป็นความเห็นของผมในฐานะคนอ่าน sifi ฝรั่งและคนในสาขาวิทยาศาสตร์ ผมบอกตรงๆว่าส่วนใหญ่ลอกฝรั่งมาแทบทั้งนั้น ไม่ใช่แค่ลอกไอเดียวิทยาศาสตร์แต่ยังลอกพล๊อตเรื่อง เอาหลายเรื่องผสมกับหนังฝรั่งมายำดัดแปลงนั่นนิดนี่หน่อยผสมออกมาเป็นของตนเอง อันนี้เราไม่ว่ากันเพราะนักเขียนฝรั่งดังๆมันก็ลอกทั้งไอเดียและพล๊อตเรื่องในนิยายบางเรื่องเหมือนกันแต่มองในแง่มุมต่างออกไป แต่ที่ผมอึดอัดใจอ่านนิยาย sifi ไทยไม่ได้ คือ การใส่สำนวนแสดงอารมณ์ คำพูดมากมาย อ่านไปผมนึกว่าผมอ่านนิยายทั่วๆไปไม่ใช่นิยาย sifi เพราะในแง่ความเป็น sifi มันน้อยเหลือเกินที่เหลือมีแต่ลีลาภาษา ถ้าใช้กฎเกณฑ์ของsifi ฝรั่ง นิยาย sifi หลายเล่มจบ อาจจะหดเหลือแค่เล่มเดียวจบก็ได้
ท้ายนี้ ไอเดียทางวิทยาศาสตร์มันมีอีกเยอะ แต่คนรู้จริงไม่ชอบเขียนหรือไม่ว่างจะเขียนออกมาในเชิงนิยาย ถ้าให้เขียนในเชิงตำราก็พอได้ คนไม่รู้ก็คิดว่ามันหมดแล้ว ถ้าคิดจะเป็นนักเขียน sifi ชั้นดีแบบฝรั่ง ค้นคว้าหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไว้บ้างจะได้คิดไอเดียใหม่ๆของตัวเอง อย่าลืมว่าแก่นแท้ความเป็น sifi สิ่งที่สำคัญที่สุด คือการเสนอจินตนาการทางทฤษฎีหรือปฏิบัติภายใต้กรอบวิทยาศาสตร์ สำคัญกว่าสำนวนภาษา ถ้าคุณยึดกฏนี้ได้ นิยายของคุณอาจจะกลายเป็นนิยายมีคุณค่าคว้ารางวัลทางสาขาวิทยาศาสตร์ เป็นที่ยอมรับของนักอ่าน sifi ทั่วโลก ถ้าคุณทำแบบนี้ไม่ได้อย่ามาคุยว่าคุณคิดเองไม่ได้ไแลอกใครเขามา เพราะมันโกหกทั้งเพ