วันนี้ตั้งประเด็นคุยเรื่องเบาๆครับ
เคยสังเกตมั้ยครับว่า เวลาตัวเองเขียนเรื่องสั้นไซไฟหรือนิยายไซไฟ ได้ใช้จินตนาการสร้างภาพรายละเอียดในความคิดให้เห็นภาพทุกรายละเอียดได้มากแค่ไหนก่อนจะเขียนบรรยายสิ่งที่อยู่ในความคิดออกมา
การเขียนลงรายละเอียดเกินไปอาจจะทำลายจินตนาการของคนอ่าน? คิดว่าจริงมั้ยครับ
ขอบคุณสำหรับทุกความเห็นครับ
ผมมองเป็นสองส่วน
ก่อนเขียน กับ ตอนเขียน
ความเห็นส่วนตัว
ก่อนเขียน คิดให้ละเอียดที่สุด ยิ่งมากยิ่งดี
ตอนเขียน ไม่ต้องบอกทั้งหมด บอกเฉพาะสิ่งที่จำเป็นกับเนื้อเรื่องและเหตุการณ์ของเรื่อง
และอย่าเสียดายสิ่งที่คิด เพราะมันจะทำให้สิ่งที่สำคัญกว่า(แก่นและการดำเนินเรื่อง)เสียหาย
จริงๆแล้วประเด็นนี้ ยังเป็นจุดอ่อนของผมอยู่มาก
เพราะผมไม่ถนัดเรื่องการบรรยายตัวละครและฉาก
แต่เท่าที่ทราบจากประสบการณ์ที่ผ่านมา(ในงานเขียนของตนเอง)
ถ้าบรรยายมากไป ผมจะเบื่อ
ถ้าบรรยายน้อยไป ผมจะนึกภาพไม่ออก
ซึ่งผมมองว่า แต่ละคนคงต้องไปหา “ตรงกลาง” ของตนเอง
ว่าตนเอง บรรยายขนาดไหน โดย ไม่ทำให้ตนเองรำคาญ
แต่ฉาก action ไม่ต้องบรรยายครับ มันแค่ วิ่งหนี หลบซ่อน โดนยิง แค่นี้ก็พอแล้ว … ความเห็นส่วนตัวนะครับ
เหมือนอ่านนิยายกำลังภายใน
คุณไม่ต้องบอกเขาหรอกว่า 1 ฟันเฉียงขึ้นจากซ้ายไปขวา 2 เอากระบี่สั้นที่มือซ้ายรับโดยการพับข้อศอก 1 เลยแทงปลอกจากมือซ้ายทางข้อเข่า …. โอย มาถึงตรงนี้ ผมก็กระโดดหาตอนจบแล้วว่าใครชนะ
(ในนิยายกำลังภายในอาจจะมีบรรยายลักษณะนี้อยู่บ้างแต่มักเป็นจังหวะสุดท้ายที่ชี้ผลแพ้ชนะ ไม่ใช่บรรยายการต่อสู้ทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบ)
การหา “ตรงกลาง” ของผู้อ่านเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก
สิ่งที่คุณจะได้คือ “แนวกลางๆ” ของผู้อ่าน
ซึ่งสุดท้ายก็จะกลายเป็น “ตรงกลาง” ของตัวคุณเอง
จะเรียกว่า style ของแต่ละคนก็ได้
ครับ
นอกเรื่องนิดหนึ่ง
ผมรู้สึกว่า คนที่อ่านนิยายกำลังภายใน มักอ่านนิยายวิทยาศาสตร์
(เอ… คนอ่านนิยายวิทยาศาสตร์ อ่านนิยายกำลังภายในด้วยหรือเปล่าหนอ?)
ไม่รู้จริงหรือเปล่า หรือว่าผมคิดไปเอง ?
ไหน ๆ ก็โยงมานิยายกำลังภายใน ผมขออนุญาตสานต่อนะครับ
โกวเล้งเคยบอกไว้ว่านิยายกำลังภายในเป็นได้ทุกอย่าง
เป็นนิยายรัก เป็นนิยายนักสืบ เป็นนิยายสยองขวัญ ล้วนเป็นได้ทั้งสิ้น
เสียดายที่นิยายกำลังภายในมิอาจเป็น “วรรณกรรม”
สิ่งที่โกวเล้งทำสำเร็จ(ในมุมมองของผม)คือยกระดับนิยายกำลังภายในให้เป็นวรรณกรรม
นับแต่ตะลุยอ่านนิยายโกวเล้งที่แปลเป็นไทยแล้วก็เลิกอ่านนิยายกำลังภายในตั้งแต่นั้นมา
ตอบคำถามคุณนิราจข้อหนึ่งแล้วว่าอย่างน้อยก็มีผมอีกคนที่อ่านทั้งสองแนวครับ
ว่าแล้วก็ให้นึกถึงนิยายวิทยาศาสตร์ เป็นได้ทุกอย่างเหมือนกัน…
(บรรทัดสุดท้ายนี้กล่าวด้วยความน้อยใจเล็กน้อย แต่ก็คาดหวังว่าจะได้เป็นวรรณกรรมกับเขาสักวัน)
ว่าถึงแนวการเขียนเรื่อง “บู้เฮียบ” ถ้าจะแยกก็คงได้สองสาย
สายหนึ่งคือกิมย้ง อีกสายคือโกวเล้ง (ผมแบ่งของผมเองนะครับ)
สายกิมย้ง ภาพในจินตนาการที่ยกออกมาได้ง่าย ๆ คือ “มังกรหยก”
กิมย้งเขียนฉากต่อสู้ในนิยายของตัวเองได้อย่างวิจิตรพิศดาร
งดงามและไหลลื่น ต่อเนื่องประดุจสายน้ำจากน้ำตก
ดึงดูดผู้อ่านให้ชื่นชมกับฉากการต่อสู้ในเรื่องได้อย่างไม่น่าเบื่อ
ส่วนโกวเล้งนั้นเขียนฉากต่อสู้แบบรวบรัด มองตัวละครจากภายใน
บางทีคู่ต่อสู้ยืนจ้องหน้ากันครึ่งค่อนวัน
ถึงเวลาดวลกันก็ยกดาบฟันฉับครั้งเดียวแล้วรู้ผล
เข้าเรื่อง…
ภาพรวมของเรื่อง สำหรับผมมีสามอย่างครับคือ
1. บอกไปตั้งแต่ต้นเรื่องเลย “ในปี ค.ศ…. ณดาว… อันนี้รวบรัดดี ให้คนอ่านสร้างจินตภาพไประดับหนึ่งก่อน แล้วค่อย ๆ อธิบายต่อไปเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นในประโยคถัดไปหรือแทรกเข้าไปกลางเรื่อง ถ้าต้องการให้คนอ่านยึดโยงเรื่องเข้ากับช่วงเวลาก็ใช้วิธีนี้ (เหมือนกับเป็นการตกลงกันไว้ก่อนแล้ว)
2. ค่อย ๆ แทรกเข้าไปทีละนิด น่าจะใช้ได้ดีกับเรื่องที่ไม่ต้องการเน้นฉาก เน้นกาลเวลา ให้คนอ่านค่อย ๆ รับรู้ไปทีละนิดว่าเรื่องที่เกิดขึ้นมีภูมิหลังและความเป็นมาอย่างไร เท่าที่จำเป็นครับ ที่เหลือก็ให้คนอ่านจินตนาการเอา
3. ไม่บอกเลย ไม่ให้รายละเอียดหรือภาพรวมของเนื้อหาเลย (เช่น Star Wars หลายคนคิดว่าเป็นเรื่องที่เกิดในอนาคต แต่ concept ของเรื่องคือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีต แล้วมีใครคนหนึ่งในปัจจุบันกาลสามารถรับรู้เรื่องเหล่านี้ได้) เนื้อเรื่องอาจเป็นสากล หรือกาลเวลา-สถานที่-สิ่งแวดล้อมอาจไม่มีส่วนสำคัญ ไปเน้นเอาที่เรื่องอื่น เช่นความสัมพันธ์ระหว่างตัวละคร ความรู้สึก หรือตรรกะ-เหตุผลแทนที่จะเน้นฉากหลัง
โดยส่วนตัวผมไม่ถนัดเลยกับการบรรยายแอ็คชั่นของตัวละคร
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องยาว ๆ ที่ตัวละครต้องทำโน่นทำนี่หลาย ๆ อย่าง
ยิ่งเรื่องบู้แอ็คชั่น ยิ่งไม่ถนัดเข้าไปอีกครับ
จะเห็นได้ว่าเรื่องที่เขียนมาลงในเว็บชมรมนี้ไม่เคยมีฉากแบบนี้เลยแม้แต่ครั้งเดียว
เรื่องของผมมันก็เลยเป็นเรื่อง “เนิบ ๆ” เน้นฉากที่คนพูดคุยกันหรือความรู้สึกของตัวละครเสียมากกว่า
แต่ชอบอ่านนะครับสำหรับงานที่มี action มาก ๆ
นิยาย best seller งานแปลคุณสุวิทย์ ขาวปลอด ของ Tom Clancy นี่ก็อ่านมากเหมือนกัน
ถึงกระนั้นก็ไม่รู้จะเขียนยังไงให้คนอ่านอ่านแล้วสนุกตามครับ
รวม ๆ แล้ว แนวทางของผมคงมีประมาณนี้ครับ
1. บรรยายบรรยากาศโดยรวมให้พอเห็นภาพคร่าว ๆ
(ผมไม่ชอบบรรยายละเอียด เหมือนมันยัดเยียดทุกอย่างให้คนอ่านมาเป็น package
แล้วจินตนาการก็สิ้นสุดตรงนั้น)
2. บรรยายความรู้สึกตัวละครในฉากนั้นด้วย
ให้มีอารมณ์-ความรู้สึกอยู่ในตัวละครให้ผู้อ่านรับรู้ด้วย
3. รวบรัด อย่างทีคุณนิราจบอกไว้ครับ ถ้าละเอียดเกินไปก็จะถูก skip ไปตอนจบของฉาก
แล้วที่บรรยายมายืดยาวก็แทบไม่มีความหมาย
เห็นด้วยกับคุณzhivago ครับ
และผมก็รู้จักอยู่แค่ กิมย้ง กับ โกวเล้ง เช่นกันครับ
แต่ติดอยู่แค่เรื่อง วรรณกรรม 😀
(เดี๋ยวคงได้”ถก”กันยาวว่า วรรณกรรม คืออะไร)
ถ้าตามตัวอักษร ทันทีที่เขียน ก็เป็นงาน วรรณกรรมแล้ว (ตรงตัวมากๆ)
แต่ถ้าตามที่ผมเข้าใจ
โกวเล้ง หมายถึงงานที่ได้รับการ”ยกย่อง”
ในมุมมองผม คืองานที่มีแก่นหรือประเด็นเรื่องไปถึงในระดับปรัชญาและมีวิธีการเล่าที่ลึกซึ้ง(เพียงพอ)
ซึ่งทำให้ผมมีมุมมองว่า
งานเขียนทุกแขนง สามารถเป็นวรรณกรรม ได้
ซึ่งทำให้ผมเชื่อว่า นิยายกำลังภายใน ก็สามารถเป็นงาน literature(ที่ได้รับการยกย่อง) ได้เช่นกัน (อันนี้ผมเห็นต่างจากโกวเล้ง ครับ)
ในมุมมองต่องาน sci-fi
ก็คงต้องถามว่า The Lord of the Rings , Frankenstein , Tarzan (มีอีกเยอะนอกเหนือจากนี้) ถือเป็น literature แล้วหรือไม่
เขียนมาถึงตรงนี้ เกิดคำถามต่อ
Sherlock Holmes(หนังสือ) , CSI(ซีรี่ย์ทางโทรทัศน์) ถือเป็น Sci-Fi หรือไม่?
ถ้าไม่ หมายความว่า Sci-Fi มีบริบท ของ เหตุการณ์(technology)ในปัจจุบันหรือไม่?
หุ หุ หุ
พาหัวข้อของคุณuranus ออกทะเลไปเสียแล้ว
ขออภัยด้วยครับ (แต่ยังคงทิ้ง comment ไว้ 😀 )
ในที่นี้ผมว่าเกี่ยวกับเรื่องมุมมองของผู้อ่านโดยตรง หากเป็นมุมมองบุคคลที่ 1 ลักษณะการบรรยายจะแตกต่างกับมุมมองของบุคคลที่ 3 ผมว่ามุมมองของบุคคลที่สามมักจะบรรยายสภาพรวมๆมากกว่า เอให้ท่านนิราจกับท่าน zhivago มาขยายต่อ
ส่วนตัวหากเล่นหักมุมหรือจิตๆหน่อยจะเลือกมุมมองของบุคคลที่ 1 เพราะใช้เทคนิคทางวรรณกรรมหลอกคนอ่านได้ง่าย เหมือนเรื่องยานอวกาศสุดขอบฟ้าบ้าๆ(space border)อะไรของผม
ส่วนการบรรยายโดยทั่วไปคิดว่าไม่ควรบอกไปตรงๆ การบอกไปตรงๆจะทำให้ผู้อ่านรู้สึกเฉยๆเหมือนอ่านรายงาน หรือสารคดี แต่การบอกอ้อมๆ โดยใช้ประสบการณ์ที่คนทั่วไปเคยประสบมาบรรยายได้อารมณกว่า คนอ่านจะเข้าใจลึกซึ้งกว่า เช่นประโยค “ยะเหยินขี่มอเตอร์ไซค์ฝ่าความหนาว” กับ “ยะเหยินละมือข้างซ้ายที่เย็นเฉียบจากแฮนมอเตอร์ไซค์ไปอังไว้ที่ปากก่อนจะเป่าลมอุ่นๆหวังจะไล่ความหนาวเย็นออกไป” ผมว่าคงมีหลายคนที่เคยเอามือเย็นๆไปอังปากเป่าลม คนอ่านคงจะได้อารมณ์ดีกว่า
การบรรยายฉากแอ็คชั่น เท่าที่อ่านก็มีผมด้วยละที่เขียนทำนองแอ็คชั่น (มีท่านนิราจอีกคน) ฉากแอ็คชั่นสำหรับผมต้องฉับไว ต้องบรรยายให้คนอ่านเข้าใจถึงท่าทางต่างๆอย่างชัดเจนแต่ไม่ควรเสียเวลาละเลียดกับฉากหลังให้มากนัก การบรรยายฉากหลังสามารถทำได้ก่อนเริ่มแอ็คชั่น พอเริ่มแอ็คชั่นแล้วควรกระชับ ชัดเจน เพราะคนอ่านจะอ่านช่วงนี้จะอ่านเร็วมาก(ด้วยความมันส์) ฉะนั้นฉากแอ็คชั่นต้องเป็นภาพที่ชัดเจนในหัวของคนเขียนแต่แรกจึงจะไม่มั่ว ถ้ามั่วหรือไม่ชัดจะอ่านแล้วงงมาก ยิ่งอ่านเร็วแล้วติดๆขัดๆ ต้องกลับอ่านซ้ำไปซ้ำมายิ่งอารมณ์เสีย ให้ลองนึกถึงหนังแอ็คชั่นดูละกันครับ ด้วยการเคลื่อนไหวที่รวดเร็วคนดูจะไม่สนใจกับฉากหลัง บางทีฉากทำไม่เนียนยังผ่านตาคนดูไปได้ เพราะสมาธิจดจ่อกับการเคลื่อนไหวที่รวดเร็ว (ยิ่งเร็วยิ่งไม่สนใจรายละเอียด) แต่ถ้าแอ็คชั่นมั่ว เช่นหันปืนไปยิงทางซ้ายแต่คนข้างบนตายร่วงลงมา คนดูจะสะดุด พอสะดุดจะเริ่มคิดว่ามัีนเกิดอะไรขึ้นในขณะที่ฉากต่อสู้ดำเนินต่อไปแต่คนดูยังติดกับความคิดนั้นจึงเลิกติดตามดูฉากต่อสู้ต่อ ยิ่งมีอะไรที่ผิดเข้ามายิ่ง interrupt ยิ่งอารมณ์เสีย
ส่วนความลื่นไหล น่าจะเป็นการเขียนบรรยายฉากต่อสู้ได้ต่อเนื่องและยาวเพียงพอโดยไม่มีอะไรผิด ติดขัด คนอ่านก็จะอิ่มเอมกับฉากต่อสู้นั้น สั้นไปก็ไม่สนุก ยาวไปก็น่าเบื่อ
พอจะช่วยได้ไหมครับ
ผมเป็นคนอ่านนิยายวิทยาศาสตร์ที่ไม่ได้อ่านนิยายกำลังภายในครับ ชอบอ่านนักสืบ ลึกลับผีสาง สยองขวัญ ตลก ไม่รู้ว่าเพราะยังไม่ได้ลองอ่านนิยายกำลังภายในจริงๆจังๆด้วยหรือเปล่า ไม่แน่ถ้าอ่านอาจจะติดใจได้ไม่ยาก
หมายเหตุ ขอโทษที่ตอบไปผิดกระทู้นะครับ
จะเข้ามาบอกต่อว่า ที่เคยอ่านและเคยดูภาพยนต์ เขาจะผูกเรื่องให้ตัวละครหรือหรือเหตุการณ์เกิดขึ้นในฉากจบ หรือฉากแอคชั่นนั้นๆก่อนซักบทหนึ่ง ซึ่งอาจมักจะเป็นเรื่องที่ไม่ถึงกับสำคัญมากนัก ผู้เขียนจะสามารถบรรยายถึงสถานที่ด้วยท่วงทำนองละเอียดอ่อนได้ เมื่อผู้อ่านเข้าใจถึงสถานที่ดังกล่าวแล้วผู้เขียนอาจจะตัดเรื่องไปอย่างอื่นก่อนจนกว่าจะมาถึงฉากแอคชั่นหรือฉากจบของเรื่อง ที่จะมาเกิดเหตุการณ์ในสถานที่ๆผู้เขียนได้นำผู้อ่านไปสัมผัสมาก่อนแล้วนั่นเอง พอผู้อ่านๆมาถึงฉากแอคชั่นหรือฉากจบแล้วก็จะมีความคุ้นชินกับสถานที่ทำให้ผู้เขียนไม่ต้องคอยพะวงกับการบรรยายฉากไปพร้อมกับการบรรยายแอคชั่น แต่ถ้าเรื่องดำเนินแบบไม่สามารถหาเหตุการณ์มาชักนำให้บรรยายฉากได้ เช่นไปพบห้องลับที่ถือเป็นฉากเด็ดของเรื่องไม่สามารถเปิดเผยให้คนอ่านรู้ก่อนได้ไม่เช่นนั้นจะไม่สนุก หรือไม่สามารถหักมุมได้ ก็ให้บรรยายฉากก่อนจะเข้าแอคชั่น
เท่านี้ครับ
ที่คุณhoono2000พูดถึงมุมมองในการเล่าเรื่อง (บุคคลที่1, บุคคลที่3)
เห็นด้วยทุกประการครับ
ไม่รู้จะขยายต่ออย่างไร 🙂