เส้นทางนิยายวิทยาศาสตร์ไทย

หากเราพยายามมองหาหนังสือนิยายวิทยาศาสตร์ซึ่งเขียนโดยคนไทยในร้านหนังสือสักร้าน เราจะพบว่า หาได้ยากยิ่งราวกับงมเข็มในมหาสมุทร วงการหนังสือบ้านเราไม่ได้ขาดแคลนนักเขียนมีฝีมือหรอกครับ หากแต่กระแสในตอนนี้ นักเขียนรุ่นใหม่มักจะเขียนนวนิยายแนวแฟนตาซีเสียเป็นส่วนมาก อาจจะเนื่องจากอิทธิพลของภาพยนตร์เรื่องแฮรี่ พ็อตเตอร์ซึ่งทำเอาแฟนพ่อมดน้อยคลั่งไคล้กันไปทั่วโลกอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนก็ได้ หรืออาจจะเป็นเพราะนักเขียนรุ่นใหม่ๆเข้าใจว่า การเขียนนวนิยายในแนวแฟนตาซีนั้น สามารถใช้จินตนาการได้อย่างไม่มีขอบเขตจำกัด ตรงกันข้ามกับการเขียนนวนิยายในแนววิทยาศาสตร์ ซึ่งจะต้องอาศัยกฎเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์เข้ามาประกอบอย่างสมเหตุสมผล ซึ่งอาจทำให้รู้สึกว่า การเขียนนิยายวิทยาศาสตร์นั้น เขียนได้ยากกว่า

อันที่จริงแล้ว ยังมีคนไทยที่มีความสามารถในการเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ได้อย่างมีคุณภาพอยู่อีกมากมาย สังเกตได้จากเรื่องสั้นที่ลงตีพิมพ์ในนิตยสารบางฉบับ เช่น อัพเดท เราจะพบว่า เรื่องสั้นไซ-ไฟส่วนมากที่เผยแพร่ในนิตยสารฉบับนี้ เป็นเรื่องสั้นไซ-ไฟที่มีคุณภาพ หลายเรื่องได้มาตรฐานไม่แพ้เรื่องสั้นไซ-ไฟซึ่งเขียนโดยนักเขียนต่างประเทศเลยทีเดียว นอกจากนั้น ก็ยังมีการจัดประกวดเรื่องสั้นวิทยาศาสตร์และนวนิยายวิทยาศาสตร์ขึ้นในวงการหนังสือบ้านเราอยู่เป็นประจำทุกปี และก็มีผู้ส่งผลงานเข้าประกวดเป็นจำนวนมาก แต่ก็น่าแปลกใจเป็นอย่างมาก ที่มีนักเขียนที่ผ่านการประกวดหรือได้รับรางวัลน้อยมาก ที่จะหันมาจับงานเขียนนิยายวิทยาศาสตร์อย่างจริงจัง และหลายๆผลงาน ก็มักจะมีเนื้อหาที่คล้ายคลึงกันไปเสียหมด กล่าวคือ มักจะเป็นนิยายวิทยาศาสตร์ที่นำเสนอเรื่องราวที่สะท้อนปัญหาสังคม เช่น สภาวะโลกร้อน ปัญหามลพิษต่างๆ สงคราม และโรคภัยไข้เจ็บที่อาจทำให้มนุษยชาติต้องสูญสิ้นไป โดยมักจะมีทัศนคติว่า มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ชั่วร้ายซึ่งชอบทำลายโลกของตัวเอง ทั้งๆที่ยังมีประเด็นอีกมากมายที่สามารถนำเสนอในนิยายวิทยาศาสตร์ได้

ปัญหาก็คือ นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ส่วนหนึ่งอาจจะยึดติดกับกรอบความคิดมากจนเกินไป จนทำให้กรอบความคิดนั้นจำกัดศักยภาพและจินตนาการของตนเอาไว้อย่างน่าเสียดาย เหมือนกับผู้ผลิตสื่ออื่นๆ อย่างเช่น ละครโทรทัศน์ หรือเกมส์โชว์ ซึ่งถูกกรอบความคิดบางอย่างทำให้ไม่สามารถผลิตรายการให้มีคุณภาพได้ โดยมักจะมีเนื้อหาวนเวียนอยู่แต่เรื่องเดิมๆและคล้ายคลึงกันไปหมดอย่างที่เรารู้กันดี หากผู้ผลิตรายการรายใดสามารถทำลายกรอบความคิดนี้ลงได้ ผลงานของผูผลิตรายนั้นก็จะโดดเด่นเป็นที่กล่าวขวัญไปทั่วประเทศเลยทีเดียว ยกตัวอย่างเช่นหลายๆรายการของบริษัทเวิร์คพอยท์ฯเป็นต้น

การเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ก็เช่นเดียวกัน หากนักเขียนสามารถทำลายกรอบความคิดที่กักขังจินตนาการของตนเองลงได้ เขาก็ย่อมสามารถสร้างผลงานนิยายวิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจมากขึ้นได้เช่นเดียวกัน

อีกประการหนึ่งก็คือ นิยายวิทยาศาสตร์ที่เขียนโดยคนไทย ส่วนมากจะเป็นซอฟไซ-ไฟ เนื่องจากนักเขียนส่วนมากไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ที่รอบรู้เกี่ยวกับกฎเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์อย่างลึกซึ้ง ซึ่งต่างจากนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงของโลก มักจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ผันตัวเองมาเป็นนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ ทำให้สามารถเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ที่เรียกกันว่า ฮาร์ด ไซ-ไฟ ซึ่งอัดแน่นไปด้วยประเด็นทางวิทยาศาสตร์ที่เข้มข้นและลึกซึ้งได้เป็นอย่างดี ซึ่งต่างจากนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ของไทยที่ส่วนมากไม่ใช่นักวิทยาศษสตร์หรือเป็นผู้ที่มีความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ในระดับถึงแก่น ทำให้จำเป็นต้องเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ที่เป็น ซอฟท์ ไซ-ไฟ หรือเป็นไซ-ไฟ แฟนตาซีซึ่งเน้นจินตนาการมากกว่าหลักเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์

ปัญหาอักประการหนึ่งของนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ไทยก็คือ การมีมีสนามหรือเวทีที่จะใช้เผยแพร่ผลงานอย่างจำกัด ทำให้นักเขียนขาดเวทีที่จะสามารถนำเสนอผลงานได้อย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังดีที่มีผู้ที่เล็งเห็นความสำคัญของนิยายวิทยาศาสตร์ได้จัดการประกวดนิยายวิทยาศาสตร์ขึ้นมาอย่างเช่น รางวัล เนชั่น บุ๊คส์ อะวอร์ด ซึ่งเป็นการประกวดเรื่องสั้นวิทยาศาสตร์ , รางวัลแว่นแก้ว ของสำนักพิมพ์นานมีบุคส์ ที่ถึงแม้จะเป็นการประกวดวรรณกรรมเยาวชน แต่ก็มักจะมีนิยายวิทยาศาสตร์ได้รับรางวัลนี้อยู่เสมอ

จึงได้แต่หวังว่า จะมีผู้เห็นความสำคัญของนิยายวิทยาศาสตร์ให้มากขึ้นและเปิดช่องทางใหม่ๆให้กับนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ได้มีโอการนำเสอผลงานเพื่อเป็นการส่งเสริมและพัฒนางานเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ของไทยให้เจริญเติบโตเทียบเท่านิยายวิทยาศาสตร์ในประเทศที่เจริญแล้วต่อไป

หนึ่งความเห็นบน “เส้นทางนิยายวิทยาศาสตร์ไทย”

  1. เมื่อ วันเสาร์ ได้คุยกัน
    ได้ประเด็นน่าสนใจคือ ช่วง เวลานี้ เทียบกับ ช่วงเวลา (อดีต) ของเรา
    ที่มี ข้อมูล หลายๆ เรื่อง ที่น่าสนใจ
    ปลุกเร้า จินตนาการ
    เช่น ข่าวเกี่ยวกับ ufo
    สัตว์ประหลาด ล๊อคเนส ฯลฯ
    อารยธรรม โบราณ ต่างๆ รวมทั้ง ทฤษฎี มนุษย์ต่างดาวต่างๆ ที่เกี่ยวพันถึง

    ผมว่าสิ่งเหล่านั้น ปั้น คำถาม มากมายให้แก่ผม
    สร้าง จินตนาการ มากมาย

    ซึ่งผม ไม่เห็น ในปัจจุบัน !

    แต่หากจะเทียบดู
    การ์ตูน ที่ดังๆ(ประสบความสำเร็จ) ใน ปัจจุบัน อย่าง
    โดเรมอน (อันนี้ sci-fi เห็นๆ)
    detective conan (ผมว่านี่ก็ sci-fi นะ ทั้งการเปลี่ยน อายุ ทั้ง อุปกรณ์)

    สรุป อาจจะเป็นว่า
    เราอาจจะต้องชี้ให้พวกเขาเห็นว่า sci-fi ไม่ใช่เรื่องไกลตัว หรือ ยากเย็น แสนเข็ญ อย่างที่เขาเข้าใจกันอยู่

    หรือ เขาแค่ไม่สนใจ เพราะ มันเชย … อันนี้ คงต้องไป วิเคราะห์ กลุ่มเป้าหมายกันอีกที

ใส่ความเห็น